Skip to main content
sharethis


ค่ำวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2549 เป็นวาระปกติเหมือนกับทุกๆวันศุกร์ ที่ชาววิทยาลัยวันศุกร์ ต้องไปพบปะกัน ณ ห้อง E 105 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อร่วมกันเรียนร่วมกันสอน ในประเด็นที่หลากหลาย ทั้งสังคม การเมืองเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ศิลปะ วิชาการ เป็นเวลาต่อเนื่องกันมา 7 ปีแล้ว

 


สำหรับในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดประเด็นการเมืองที่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือหลังจากที่วิทยาลัยวันศุกร์ ได้ร่วมกับบรรดาผู้รักประชาธิปไตย รักความถูกต้องเป็นธรรมทั่วประเทศ ขับเคี่ยวและขับไล่ระบอบทักษิณมาเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุดชาววิทยาลัยวันศุกร์ก็เห็นร่วมกันว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ได้เดินทางถึงจุดที่ต้องลงมือปฏิบัติในประเด็นว่าด้วยการ "ปฏิรูปการเมือง" ครั้งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว จึงได้ตกลงกันเปิดฉากฤดูการแห่งการปฏิรูปการเมืองด้วยการย้อนมองเชิงวิเคราะห์ ในประเด็นที่ตั้งไว้ว่า "อะไรคือปุ๋ยที่ทำให้ระบอบทักษิณเติบโต" 


 


ผลการเรียนรู้ร่วมกันกว่าสามชั่วโมง ชาววิทยาลัยวันศุกร์ ได้ประเด็นร่วมกันที่น่าสนใจ 11 ประเด็น ดังต่อไปนี้ (แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ประเด็นสรุป หากแต่เป็นประเด็นเปิด เพื่อการเติมเต็มให้มากขึ้นในโอกาสต่อๆไป)


 


1.ประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม วิเคราะห์กันว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่มีส่วนเอื้อให้ระบบทักษิณเติบโต โดยการพิจารณาเปรียบเทียบ การที่ระบอบดังกล่าวเติบโตได้ดีในภาคอีสาน และเหนือ แต่กลับไม่ค่อยโตในภาคกลาง โดยเฉพาะแทบจะแจ้งเกิดไม่ได้เอาเลยในภาคใต้


 


ข้อวิเคราะห์ต่อประเด็นนี้อยู่ที่ว่า ทางเหนือและอีสานต้องมีปัจจัยบางอย่างที่เอื้อต่อระบอบทักษิณ ขณะที่ในภาคใต้กลับมีแต่ปัจจัยบั่นทอน ซึ่งมีแนววิเคราะห์ว่าสังคมเหนือ/อีสาน ยังเป็นสังคมที่คนเชื่อการนำ เชื่อผู้มีอำนาจอิทธิพล มากกว่าคนทางภาคกลางและใต้ ทำให้มีแนวโน้มที่สามารถถูกครอบงำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อได้ง่าย ในขณะที่สังคมคนใต้เป็นสังคมถกเถียง มีแนวโน้มไม่เชื่อ และชอบที่จะตรวจสอบผู้นำ มีนิสัยค่อนข้างอวดโชว์ความรู้ จึงไม่ค่อยยอมเชื่อใครง่ายๆ และพยายามค้นหาข้อมูลความรู้มาหักล้างโต้แย้ง ทำให้คนใต้ชอบสื่อสาร ชอบพบกันตามร้านน้ำชา ทำให้มีทักษะการสื่อสาร มีข้อมูลมาก จนถูกครอบงำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อได้ยากกว่าคนในภูมิภาคอื่นโดยเปรียบเทียบ


 


2.ประเด็นสถาบันสื่อมวลชน มีการวิเคราะห์กันว่าสถาบันสื่อมวลชนในไทยไม่เข้มแข็งพอที่จะทัดทานการครอบงำจากอำนาจรัฐได้ ทั้งนี้โดยมีการนำไปเปรียบเทียบกับสื่อในประเทศญี่ปุ่นว่าเข้มแข็งกว่ามาก ในไทยสื่อหลักๆ ที่คนส่วนมากเข้าถึงคือโทรทัศน์และวิทยุนั้นมีเสรีภาพต่ำ หมายถึงถูกกำกับสั่งการจากอำนาจรัฐเป็นหลัก ในทางตรงกันข้ามสื่อวิทยุและโทรทัศน์ไทยยังเน้นนำเสนอแต่รายการมอมเมาประชาชน ทำให้ประชาชนขาดทั้งความตื่นตัวและข้อมูลทางสังคมการเมือง ส่งผลให้ระบอบทักษิณสามารถใช้จุดนี้สร้างการเติบโตให้กับตน ด้วยการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้น (ประเด็นนี้จะเชื่อมโยงกับข้อ 1 คือการโฆษณาชวนเชื่อจะได้ผลอย่างมากในบางสังคม/วัฒนธรรม)


 


3.ประเด็นการทุ่มซื้อองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสมาชิก วิเคราะห์กันว่าความสำเร็จในด้านนี้ ทำให้การดำเนินการทุกอย่างของระบอบทักษิณเป็นไปอย่างสะดวก โดยบุคคลและองค์กรเหล่านั้นได้ทรยศต่อหลักการในหน้าที่ของตนเอง ที่บางหน่วยมีหน้าที่ กลั่นกรอง ตรวจสอบ กระทั่งถ่วงดุลอำนาจรัฐบาล มารับใช้ระบอบทักษิณอย่างเต็มที่ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งที่เปิดเผยได้ และที่ปิดลับต่อสาธารณะชน


 


4.ประเด็นการแก้ไข/ตัดทอน/เพิ่มเติม กฎหมายให้เป็นคุณแก่ฝ่ายตน วิเคราะห์กันว่าระบอบทักษิณนั้นขณะที่ทำผิดกฎหมายไปพลาง ก็แก้กฎหมายไปพลางเพื่อให้การกระทำของตนถูกกฎหมายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจะได้อ้างได้ว่า สิ่งทีทำนั้นไม่ผิดกฎหมาย โดยมีนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญคอยจัดการเรื่องนี้ให้ ทั้งนี้นับรวมการที่ไม่แก้กฎหมาย แต่เป็นการใช้กฎหมายอย่างพลิกแพลง หาช่องว่าง เพื่อประโยชน์สูงสุดของระบอบทักษิณเข้าไปด้วยแล้ว ระบอบทักษิณก็ใช้กฎหมายดังกล่าวนี้เอง ลากจูง สั่งการให้ กลุ่ม องค์กร หน่วยราชการต่างๆ ดำเนินงานทุกอย่างไปตามที่ตนต้องการ คือเป็นการรับใช้ระบอบทักษิณนั่นเอง


 


5.ประเด็นมายาคติของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากมายาคติของนักวิชาการรัฐศาสตร์ นักกฎหมายมหาชน ที่มีแนวโน้มเชื่อว่า การเมืองที่มีสองพรรคใหญ่ "ดีและก้าวหน้าที่สุด" ทำให้ออกแบบรัฐธรรมนูญให้เอื้อไปในแนวทางนั้น โดยที่กลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ ในช่วงนั้นก็เออออห่อหมกด้วย ซึ่งในที่สุดเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า มายาคติดังกล่าวไม่ถูกต้อง และกลับไปสร้างพรรคไทยรักไทย และระบอบทักษิณขึ้นมา จนเป็นเหตุให้สังคมไปสู่วิกฤติ


 


6.ประเด็นการหลงนิยมมายาคติ "โลกาภิวัตน์" ประเด็นนี้มีแนววิเคราะห์ว่า ในช่วงหนึ่งสังคมไทยหลงใหลแนวคิดโลกาภิวัตน์มาก และในช่วงนั้นเองสังคมไทยก็ได้มีผู้นำที่มีรูปลักษณ์แบบโลกาภิวัฒน์ นั่นคือนายอานันท์ ปันยารชุน ทำให้คนไทยติดใจผู้นำแบบโลกาภิวัฒน์ หลังสมัยของคุณอานันท์ผู้คนจึงมองหาผู้นำแบบดังกล่าว ซึ่งนายชวน หลีกภัย ก็ไม่ใช่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ไม่ใช่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ไม่ใช่  ครั้นมาถึง พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร ผู้คนจึงรู้สึกว่าใช่แน่แล้ว นี่คือบุคคลที่สังคมรอคอย จึงพากันเปิดใจรับเต็มที่ ทำให้ในระยะแรกระบอบทักษิณจึงมีโอกาสฟักตัวและเติบโตอย่างไร้อุปสรรค จนกระทั่งสังคมไทยมาตื่นรู้ตัวถึงอันตรายของระบอบนี้ในปัจจุบัน


 


7.ประเด็นการสูญเสียระบบถ่วงดุลอำนาจ วิเคราะห์กันว่า ระบอบทักษิณได้ทำลายหลักการสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา นั่นก็คือหลักการการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยระบอบทักษิณได้เข้าครอบงำเหนืออำนาจนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยเฉพาะวุฒิสภาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ออกแบบให้มีอำนาจทั้งถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจบริหาร กลับถูกเข้าครอบงำจนแสดงออกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณอย่างออกหน้าออกตา นอกจากอำนาจนิติบัญญัติจะถูกครอบงำแล้ว อำนาจตุลาการบางส่วน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญก็ ถูกตัดสินจากความเห็นของสาธารณะชนไปแล้วว่า มีความเอนเอียงไปทางระบอบทักษิณอย่างชัดเจนมาเป็นลำดับ


 


8.ประเด็นระบบการศึกษาที่พิกลพิการ วิเคราะห์กันว่า ระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหามานานด้วยการมุ่งผลิตแต่คนที่อยากรวย อยากประสบความสำเร็จส่วนตัว ทำให้คนที่ผ่านระบบการศึกษา เป็นคนที่ไม่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประโยชน์สุขของตัวเองกับประโยชน์สุขของสังคม ปัญหาสาธารณะจึงได้รับการหันหลังให้ ทำให้พลังการตรวจสอบระบอบทักษิณเกิดขึ้นได้ยาก ส่วนมากจะเกิดขึ้นจากคนรุ่นเก่าที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป และกว่าจะรวมตัวกันติดก็ต้องใช้เวลานาน นอกจากนี้แม้แต่ตัวสถาบันการศึกษาเองก็ไม่ได้ออกมาตรวจสอบระบอบทักษิณอย่างเพียงพอ ซ้ำบางแห่งยังเลือกยืนข้างเดียวกับระบอบทักษิณเสียด้วย


 


9.ประเด็นของการใช้พลังเงิน วิเคราะห์กันว่าระบอบทักษิณมีความโดดเด่นในการใช้เงินทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ กล่าวคือ ในด้านปริมาณได้ทุ่มเทเงินมหาศาลเพื่อซื้อและครอบครองมติสาธารณะในทุกช่องทาง เพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ และในทางคุณภาพจะมีความฉลาดในการรู้จักที่จะเลือกทุ่มเงินไปในจุดที่ให้ผลสูงต่อการความต้องการของตัวเอง ทั้งนี้เงินที่ได้มานั้นก็ได้มาจากเงินของประชาชน เงินของประเทศ ที่อาศัยกลไกการบริหารที่บิดเบือน นำเอามาใช้สนองความต้องการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ระบอบทักษิณยังใช้เงินนำหน้าทุกสิ่งทุกอย่าง ชักจูงให้ประชาชนอยากรวยแล้วให้โอกาสสร้างหนี้ผ่านนโยบายประชานิยม คุณทักษิณไม่มีวันไหนเลยที่ไม่พูดเรื่องเงิน หรือลากเงินเข้าไปเกี่ยวข้องได้ในทุกประเด็น


 


10.ประเด็นการทำลายสิ่งที่จะมาเป็นอุปสรรคของตัวเอง วิเคราะห์กันว่าระบอบทักษิณมีความฉลาดมากในการที่จะตรวจหาและทำลาย สิ่งที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอุปสรรคอำนาจของตัวเอง และพยายามทำลายเสียตั้งแต่ต้น เช่น ขัดขวาง ถ่วงเวลา กฎหมายที่จะเป็นอุปสรรคของตน แทรกแซงกระบวนการสรรหาขององค์กรอิสระที่จะมาตรวจสอบตน เช่น ป.ป.ช. หรือ กสช. แทรกแซงการดำเนินงานขององค์กรอิสระที่มีผู้นำไม่อยู่ข้างเดียวกับตัวเอง เช่น สตง. เป็นต้น รวมทั้งการบั่นทอนกลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ ด้วยการกล่าวหาโจมตีอย่างรุนแรง เช่น กล่าวหานักวิชาการว่าเป็นพวกขาประจำ กล่าวหาเอ็นจีโอว่าเป็น นายหน้าค้าความจน กล่าวหาคนที่ประท้วงว่าเป็นพวกเสียผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังใช้การตรวจสอบภาษี และวิธีการอื่นๆ มาเล่นงานกลุ่มเหล่านี้


 


11.ประเด็นอำนาจรวมศูนย์ วิเคราะห์กันว่า ระบอบทักษิณได้ใช้วิธีการรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในสังคมไทย มีการรวมศูนย์ทุกอย่าง จัดระเบียบและจดทะเบียนทุกสิ่งทุกอย่าง ละเอียดยิบและมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนแทบไม่มีประชนชนในส่วนใดที่ไม่ถูกจัดระเบียบ และจดทะเบียนในส่วนหนึ่งส่วนใด เมื่อจัดระเบียบและจดทะเบียนแล้วก็นำเอาไปผูกโยงกับนโยบายประชานิยม เป็นการผูกมัดให้ประชาชนต้องทำตามหรือสนับสนุนระบอบทักษิณต่อไป


 


ชาววิทยาลัยวันศุกร์จึงคิดเห็นกันว่า ด้วยประเด็นเหล่านี้และประเด็นอื่นๆที่อาจมีอีกมากที่มีการพูดถึงกันมาตลอดในสังคม เป็นสิ่งยืนยันว่าการปฏิรูปการเมืองเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนยิ่งของประชาชนทุกคน โดยชาววิทยาลัยวันศุกร์มองเห็น "ธง" ร่วมกันในเบื้องต้นคือ



  1. ลดการเมืองแบบตัวแทนเพิ่มการเมืองทางตรง

  2. ทำให้การเมืองถ่วงดุลกันได้ง่ายขึ้น

  3. ทำให้การเมืองตรวจสอบได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะการตรวจสอบโดยตรงจากประชาชน

 


 


..........................................................


จำนงค์ บัวเนียว สังเคราะห์/เรียบเรียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net