Skip to main content
sharethis


 


 


โดย  อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 


สงครามอิรักคงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากความร่วมมือระหว่างทุนสื่อกับรัฐ


 


และสงครามอิรักก็คงจะดำเนินมาจนทุกวันนี้ไม่ได้....ถ้าสื่ออเมริกันจะเล่นบทที่แตกต่างออกไป


 


และต่อไปนี้คือ  "หัวข้อข่าวอันตราย"  ที่ผู้บริหารสื่ออเมริกันนิยมเซ็นเซอร์ หลีกเลี่ยง หรือกล่าวถึงด้วยอาการตัวเกร็ง-ระมัดระวังสุดๆ : ดีลน้ำมันและการเข้าไปวุ่นวายกับทรัพย์สินของอิรัก การผลักดันนโยบาย "เสรีนิยมใหม่" ในอิรัก (เปิดเสรีการค้า-การลงทุน แปรรูปกิจการของรัฐ ฯลฯ) ฐานทัพถาวรและศูนย์บัญชาการไฮเทคของอเมริกัน การโจมตีทางอากาศ การก่ออาชญากรรมสงครามของกองทัพอเมริกัน โดยเฉพาะ...ในรายละเอียดที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายของเหยื่ออิรักจำนวนมหาศาล


 


ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้านักดูทีวีตั้งแต่อเมริกายันไทย (เมืองขึ้นทางข่าวต่างประเทศ)...จะไม่เคยได้เห็น "สงครามจริง" ในอิรัก


 


เอมี กูดแมน (Amy Goodman) แอคทิวิสต์สื่อชื่อดังค่าย Democracy Now! สื่อทางเลือกที่มีเครือข่ายกว้างขวาง และมีคุณภาพโดดเด่นที่สุดรายหนึ่งของอเมริกา เคยพูดไว้ว่า


 


"ถ้าประชาชนคนอเมริกันทั่วไป ได้เห็นภาพที่แท้จริงของสงคราม เด็กเล็กๆ ที่ต้องเสียชีวิต ผู้หญิงที่ขาถูกระเบิดเป็นชิ้นๆ ศพทหาร หรือทหารที่กำลังจะตายแล้วละก็...พวกเขาก็จะไม่เอาด้วยกับสงครามแน่ๆ"


 


จูดิธ โคเบิร์น (Judith Coburn) สื่อรุ่นเวียดนามที่ผ่านการทำข่าวสงครามมาอย่างโชกโชน เรียกสงครามอิรักอย่างที่สื่อยุคนี้พยายามนำเสนอ (แบบแดกๆ) ว่า "สงครามจากกาแล็กซี่อื่น"


 


แต่คุณภาพที่เสื่อมทรามลงของสื่อหลักๆ วันนี้ ก็เป็นเพียง "โศกนาฏกรรมทางวารสารศาสตร์" แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งที่เหลือมาจากสถานการณ์ในอิรักและความสามารถพิเศษของเพนตากอนล้วนๆ


 


ตั้งแต่เปิดฉากสงครามอิรัก มีนาคม 2003 เป็นต้นมา หลังเพนตากอนประกาศนโยบายไม่รับรอง "ความปลอดภัยของนักข่าวอิสระ" นักข่าวที่ต้องการทำข่าวอิรักแต่ไม่ค่อยอยากมีความเสี่ยง...จึงสมัครใจทำงานแบบฝังตัวไปกับกองทัพจำนวนมาก ผลลัพธ์ของ Embedded Journalism นี่เอง ที่นำมาซึ่งการรายงานข่าวสงครามที่หาสาระและศักดิ์ศรีอะไรไม่ได้ สุดท้าย สงครามที่แสนจะโหดร้าย...จึงมีหน้าตาไม่ต่างจากสงครามในวิดีโอเกม


 


ระเบิดบึ้ม ตระการตา สะใจ ไม่มีเหยื่อ ไม่มีชื่อ ไม่มีหน้า ไม่มีคนร้องไห้ ไม่มีคนเจ็บ ไม่มีคนตาย ไม่ต้องรู้สึกผิด


 


เท่านั้นยังไม่พอ จนข้ามมาถึงปี 2004 ท่ามกลางการปะทะที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างฝ่ายต่อต้านกับกองทัพอเมริกัน (ซึ่งนิยมเรียกให้ดูคลุมเครือและมีความชอบธรรมว่า "กองทัพฝ่ายพันธมิตร") ความปลอดภัยในท้องถนนกลายเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสของคนทำข่าว และจนถึงปี 2005 วารสารศาสตร์ในอิรักก็ได้ถูกบีบให้ตกต่ำ (นิวโลว์) มากยิ่งขึ้น พร้อมกับการมาถึงของศัพท์ใหม่อีกคำหนึ่ง  


 


รอเบิร์ต ฟิสก์ (Robert Fisk) สื่ออังกฤษรุ่นเก๋าประจำตะวันออกกลางที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างท่วมท้นทั่วโลก เรียกปรากฏการณ์ในช่วงหลังนี้ว่า - Hotel Journalism


 


วารสารศาสตร์ฉบับการโรงแรม ในความหมายที่สั้นที่สุดก็คือ การทำข่าวของสื่อต่างประเทศที่หันมาทำข่าวด้วยวิธีพิเศษ-ไม่ต้องออกไปนอกโรงแรม อาจจะด้วยความกลัวตาย ขี้เกียจทำข่าว ถูกหัวหน้าสั่งไม่ให้ออกไป หรือถูกแทรกแซงจากที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย รวมทั้งรูปแบบของการประกันภัยก็ตาม นักข่าวตระกูลนี้จะนิยมใช้มือถือโทรเช็คข่าวกับสถานทูตบ้าง คณะผู้บริหารอิรักบ้าง โดยจะยึดข้อมูลจากกองทัพและการแถลงข่าวในกรีนโซนเป็นหลัก แต่ส่วนที่แย่ที่สุดก็คือ นักข่าวบางรายที่ทำข่าวด้วยวิธีนี้กลับนำเสนอข้อมูลราวกับว่า...มีการออกไปหาข่าวข้างนอกจริงๆ


 


พร้อมกับปรากฏการณ์นี้ ในอีกด้านหนึ่ง สื่อใหญ่ๆ บางรายก็หาทางออกด้วยการว่าจ้าง "นักข่าวท้องถิ่น" มารับช่วงต่อ


 


ด้วยเหตุนี้  "แนวหน้าค้นหาความจริง" ในสงครามอิรักระยะหลัง...จึงเป็นเรื่องของนักข่าวอิสระชาวต่างชาติจำนวนน้อยมากๆ (พรางตัวสุดฤทธิ์เพื่อไปทำข่าว) ผู้เล่นส่วนใหญ่คือนักข่าวอิรัก (รวมอาหรับ)  และทั้งหมดนี้ต่างก็ แลทงหมดนก


"เสี่ยงตาย" กันถ้วนหน้าเพื่อออกไปควานหาข่าวภาคสนาม


 


ไม่ใช่แค่เสี่ยงตายจากความรุนแรงในท้องถนนเท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือ...เสี่ยงตายจาก "ภัยคุกคามเพนตากอน" อีกต่างหาก


 


ตั้งแต่เริ่มสงครามอิรัก เพนตากอนได้ถูกวิจารณ์ถึง "เจตนา" ที่จะเล่นงานนักข่าวอิสระ (ไม่ฝังตัว) ด้วยกรรมวิธีสารพัดมาตลอด รายงานของ  IFJ (International Federation of Journalists) ที่ออกมาต้นปี 2006 ระบุว่า มีนักข่าวและลูกทีมอย่างน้อย 18 รายที่ต้องเสียชีวิต "ด้วยการลงมือของกองทัพพันธมิตร"


 


และถ้าจะนับสถิติจำนวนศพของคนข่าวเป็นหลัก (ยอดใกล้ร้อยเข้าไปทุกที) จนถึงวันนี้ ความจริงในสงครามอิรักมี "ราคาแพง" กว่าสงครามเวียดนาม และสงครามโลกครั้งที่สองไปแล้ว !!


 


อเมริกาไม่อยากให้โลกเห็น...สงครามจริง


 


สื่อส่วนใหญ่ (อะเจนดานายทุน) ก็ไม่สนใจที่จะตามล่าหาความจริง


 


โชคดีที่เรายังมีนักข่าวดื้อเอ็มไพร์ นักข่าวเดนตาย สื่อที่สนใจจะขุดคุ้ยหาความจริงทั้งจากภาคสนามในอิรัก หรือจากศูนย์กลางอำนาจอย่างวอชิงตัน เพนตากอน ฯลฯ และไม่ว่าความจริงของพวกเขาจะถูกเนรเทศไปซ่อนไว้ถึงหน้าในสุดของหนังสือพิมพ์ (ประมาณ A18, A23) ซุกตัวอยู่ในกรอบเล็กๆ หน้าตาจุ๋มจิ๋ม หรือเป็นข่าวลีด-บทวิเคราะห์เด่นบนเว็บไซต์ชายขอบที่ไหน...เราจะนำเรื่องราวเหล่านั้นมาบอกต่อใน "ประชาไท"


 


Iraq : the Real War กำลังจะมาเปิดโรงฉายที่นี่


 


อะไรก็ตามที่อเมริกาถือเป็นสิ่งต้องห้าม เราจะแตะต้องและตั้งคำถาม อะไรก็ตามที่อเมริกาอยากขุดหลุมฝัง เราจะขุดขึ้นมาเปิดเผย และอะไรก็ตามที่อเมริกาไม่อยากให้คุณเข้าใกล้ คุณจะได้เข้าใกล้กว่าที่เคย


 


ปิดทีวี (จากดาวอังคาร) ไปเลยค่ะ ถ้าคุณอยากเห็นหน้าตาของสงครามอิรักให้มันชัดๆ


 


 


0 0 0


 


 






 


คุณพอจะนึกออกมั้ยว่า


เวลาที่เพื่อนร่วมชาติจำนวนมากของคุณถูกฆ่าตายทุกวันๆ


ขณะที่โลกยังคงหมุนไปเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาวด้วย...


มันให้ความรู้สึกยังไง?


 


 


พบกับตอนแรก Iraq : The Real War "กี่ศพในความเงียบ?"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net