Skip to main content
sharethis

 



 


หลังจากที่ชาวบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กลุ่มหนึ่งที่มีอาชีพประมงจับปลาบึกในแม่น้ำโขง ได้พากันเลิกจับปลาบึก ซึ่งหวั่นเกรงกันว่าจะสูญพันธุ์ ซึ่งมีทั้งคนชื่นชม และคนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมวิถีชาวบ้านมาเนิ่นนาน


 


ล่าสุด นายสมเกียรติ์ เขื่อนเชียงสา ผอ.โครงการแม่น้ำและชุมชน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ "มองคนละมุม" FM.100 สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้แสดงความคิดเห็นว่า การให้ชาวประมงหยุดล่าปลาบึก ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง


 


มีความคิดเห็นอย่างไร กรณีชาวบ้านเลิกจับปลาบึกในแม่น้ำโขง?


สถานการณ์แม่น้ำโขงในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องปลาบึกเป็นอย่างมาก หลายส่วนเห็นว่าปลาบึกลดลงเป็นเพราะชาวประมงในลุ่มน้ำโขงเป็นตัวการ ส่งผลให้ช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ชาวประมงกลุ่มนี้ ในนามชมรมปลาบึกประกาศเลิกล่าปลาบึก แต่โดยส่วนตัว ตนเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมองแค่ปลาบึกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ภาพรวมในแม่น้ำโขงที่ปัจจุบันกำลังถูกกระทำอย่างหนักจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ด้วย ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นว่านอกจากปลาบึกลดลงเพราะชาวประมงล่าแล้ว โครงการพัฒนาเหล่านี้ก็ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปลาบึกลดจำนวนลงเช่นกัน


 


สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อปลาบึก สัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งพันธุ์พืชริมแม่น้ำเกิดจากหลายสาเหตุซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก


 


ที่ผ่านมา จากการศึกษาเราได้ข้อสรุปว่า ระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง มีเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายปัจจัย เช่น การสร้างเขื่อนในประเทศจีนที่ทำให้ระดับน้ำ กระแสน้ำเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือ ที่มีการดำเนินการไปแล้วในเขตจีน รวมทั้งเขตรอยต่อระหว่างพม่ากับลาว ซึ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง นอกจากนี้การเปิดการสัญจรทางเรือเพิ่มขึ้นก็มีผลต่อการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง รวมทั้งผลกระทบด้านการเกษตรริมแม่น้ำโขงด้วย


 


เหมือนกับว่า การอนุรักษ์ปลาบึก ยังมีทางออกอีกหลายทาง?


ใช่ จริง ๆแล้ว ยังมีทางออกอื่น ๆ ที่ดีกว่านี้ เช่น วิธีการจัดการทรัพยากรในอนาคตเราต้องจัดการเรื่องอะไรบ้าง แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำโขงควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีความยากเพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ ไหลผ่าน 6 ประเทศการจะไปพูดเรื่องแนวทางการอนุรักษ์ร่วมกันเป็นเรื่องที่ยาก


 


ประเด็นการอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง หากมองเฉพาะแค่ตัวปลาบึกว่าต้องอยู่ได้โดยไม่ลดจำนวนลง ถือเป็นการมองที่แคบ ระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำโขงมีอะไรมากกว่านั้น ขณะเดียวกันหากมองแค่เอาปลาบึกเป็นตัวตั้งนักอนุรักษ์ก็จะมองว่าการจับปลาบึกเป็นสาเหตุ ดังนั้นตรงนี้ก็จะถูกหยิบขึ้นมาพูดได้ง่ายแต่ภาพรวมทั้งระบบไม่ได้มีการตระหนักและแก้ไข


 


แต่มีหลายฝ่ายออกมาชี้ชัดว่า หากต้องการอนุรักษ์ปลาบึก ต้องให้ชาวบ้านหยุดล่าปลาบึกเท่านั้น?


การออกมาฟันธงว่า ชาวประมงต้องหยุดล่าปลาบึก ตนเห็นว่าไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง แต่เราต้องมาคุยว่า แนวทางการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เช่น ที่เรากำลังทำอยู่คือ "โครงการรักษ์ปลาบึก รักษ์แม่น้ำโขง" ที่เรากำลังทำอยู่ เช่น การศึกษาข้อมูลความรู้เรื่องปลาบึกที่ต้องทำเป็นอันดับแรก ซึ่งคนในพื้นที่ต้องเป็นหลักในการศึกษารวบรวมข้อมูล หลังจากได้ความรู้ตนคิดว่าเรื่องอื่นๆก็จะตามมา เช่น เราจะจัดการทรัพยากรต่างๆที่เหลือน้อยลงอย่างไร


 


หากศึกษาข้อมูลตรงนี้แล้วเสร็จ ตนคิดว่าจะสามารถมองภาพได้ว่ากรณีปลาบึกเราจะจัดการอย่างไร คำตอบก็อาจจะออกมา อาทิ ต้องหยุดล่าปลาบึกไปเลย หรือต้องเว้นวรรคการล่า หรือล่าเพื่อศึกษาวิจัย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันและต้องผ่านฐานข้อมูลความรู้ที่ท้องถิ่นได้ทำการศึกษา และหากดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ตนคิดว่านอกจากปลาบึกจะเพิ่มจำนวนแล้ว สัตว์น้ำ พันธุ์พืชอื่นๆก็จะเพิ่มจำนวนตามขึ้นไปด้วย


 


ในระดับท้องถิ่น ต้องเริ่มพูดถึงแนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา รวมทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและที่วางไข่ของปลาบึก แนวทางนี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายทั้งชุมชน หน่วยงานรัฐ เหล่านี้คือการทำงานในระดับพื้นที่ ขณะที่การดำเนินการระหว่างประเทศก็ต้องประสานความร่วมมือเพราะแม่น้ำโขงไหลผ่านหลายประเทศ อาจต้องหารือที่ว่าโครงการพัฒนาต่างๆในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในจีนส่งผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำอย่างไร ต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net