แฉขบวนการค้ามนุษย์สุดโหดหลอกเด็กส่งเรือประมง

ประชาไท -23 พ.ค. 2549  "มอ." เปิดข้อมูลวิจัยแรงงานประมงเด็ก แฉขบวนการค้ามนุษย์โฉดเดินสายหลอกเด็ก ย่านหัวลำโพง - สนามหลวง ส่งลงเรือประมง เผยสภาพสุดเวทนา ถูกใช้งานหนักไม่ยอมให้หยุดพักผ่อน แล้วยังไม่ได้ค่าแรง แถมเจ็บป่วยถูกนำไปทิ้งเป็นคนไข้ไร้ญาติ

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดสัมมนาเรื่องสภาพการใช้แรงงานเด็กในภาคประมงของจังหวัดปัตตานีและสงขลา มีผู้เข้าร่วม 30 คน

 

นายธวัช ทันโตภาส อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องสภาพการใช้แรงงานเด็กในภาคประมงของจังหวัดปัตตานีและสงขลา นำเสนอผลการเก็บข้อมูลตัวอย่างแรงงานเด็กในภาคประมงของจังหวัดสงขลาและปัตตานี 300 คน พบว่าร้อยละ 79 เป็นแรงงานเด็กต่างด้าวที่ติดตามพ่อ - แม่มาทำงานเมืองไทย โดยเข้าสู่การขายแรงงานจากการสนับสนุนของพ่อ - แม่เด็กเอง อายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 6.7 ที่เหลืออายุ 15 - 18 ปี มีเด็กที่ต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 62.7 ประกอบอาชีพประมงน้ำลึกมากที่สุด รองลงมาทำงานคัดปลา และประมงพื้นบ้านตามลำดับ

 

นายมานพ จิตต์ภูษา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รองหัวหน้าโครงการฯ นำเสนอว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่า แรงงานเด็กส่วนมากทำงาน เพราะต้องการช่วยเหลือครอบครัว แต่เด็กหลายคนไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะนายจ้างได้ให้ค่าจ้างกับพ่อ - แม่ ทั้งที่เป็นค่าจ้างของเด็ก

 

นางสมภพ คงรอด นิติกร 6 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา เปิดเผยต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ขบวนการนายหน้าจัดหาแรงงานเด็กผิดกฎหมายเพื่อส่งไปทำงานบนเรือประมงน้ำลึกยังมีอยู่ เนื่องจากมีนายทุนสนับสนุน ทำให้การปราบปรามทำได้ยากมาก คนกลุ่มนี้จะไปหาเด็กแถวสถานีรถไฟหัวลำโพง และสนามหลวง เด็กที่ถูกหลอกจะถูกส่งไปขึ้นเรือประมง ที่ท่าเรือมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ท่าเรือประมงสงขลา และท่าเรือประมงปัตตานี ส่วนใหญ่เป็นเด็กจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

นายสมภพ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับจังหวัดสงขลา มีปัญหาเด็กถูกหลอกไปใช้แรงงานบนเรืองประมงเป็นประจำ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ที่หายสาบสูญกลางทะเลก็มีบ่อย เหตุที่ทราบก็เนื่องมาจากเด็กที่ถูกหลอกจะเขียนจดหมายถึงพ่อแม่ โดยแอบฝากมากับเรือลำอื่น พ่อ - แม่ก็จะไปขอความช่วยเหลือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดของตน ซึ่งจะส่งเรื่องมาให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลาช่วยเหลือ หรือประสานงานทวงค่าแรงให้กับเด็ก ในกรณีที่เด็กได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเด็กบางคนที่กระโดดน้ำหนี โดยลอยคออยู่กลางทะเล รอการช่วยเหลือจากเรือลำอื่น หรือจากการช่วยเหลือของทหารเรือ

 

"การช่วยเหลือเด็กที่ถูกหลอกเหล่านี้ บางครั้งจะใช้มาตรการทางกฎหมายไม่ได้ เพราะนายจ้างหรือเจ้าของเรือจะไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเกรงจะถูกดำเนินคดี จึงต้องใช้วิธีเจรจาขอให้ปล่อยตัวเด็กออกมา เพื่อรักษาชีวิตของเด็กเอาไว้" นายสมภพ กล่าว

 

นายสมภพ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการใช้แรงงานแบบเวียนเทียน ซึ่งพบทั้งกรณีการแรงงานเด็กผิดกฎหมาย และการใช้แรงงานผู้ใหญ่ ส่วนนี้จะพบในเรือประมงที่ออกทะเลเป็นเวลานาน เช่น 30 วัน ถึง 3 เดือนเข้าฝั่ง 1 ครั้ง แทนที่จะให้เด็กพักผ่อน กลับส่งไปอยู่บนเรือลำอื่นที่กำลังจะออกไปจับปลา ทำให้เด็กต้องหนี เพราะทนสภาพงานหนักไม่ได้ บางคนพอเรือเทียบท่าก็ต้องรีบกระโดดหนีคนคุมทันที หลายรายกระโดดหนีจมหายลงใต้ทะเล

 

นายสมภพ กล่าวด้วยว่า จากการติดตามปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ยังพบว่า เด็กไม่มีโอกาสต่อรองค่าแรงกับนายจ้าง เพราะไต้ก๋งเรือตกลงกับเจ้าของเรือไว้ก่อนแล้ว เมื่อได้รับค่าแรงไต้ก๋งจะหักค่าหัวคิว แล้วแบ่งบางส่วนให้กับเด็ก ค่าแรงที่ได้มาจะถูกหักค่าของใช้ เช่น ยาสีฟัน สบู่และของใช้อื่นๆ บนเรือ ส่งผลให้บางคนรายได้ติดลบขึ้นฝั่ง โดยเด็กไม่มีโอกาสรู้เลยว่า ปลาที่จับได้เมื่อขึ้นฝั่งแล้วมีมูลค่าเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสุขภาพ เช่น เด็กที่บาดเจ็บ ก็จะถูกนำมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล แล้วนายจ้างก็หนีไป

 

นายสมภพ เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้รับหนังสือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ ขอให้ช่วยติดต่อกับเจ้าของเรือประมงพาณิชย์รายหนึ่งในจังหวัดสงขลา เพื่อให้จ่ายค่าจ้างที่ยังค้างอยู่ให้กับญาติของลูกเรือชาวจังหวัดสุรินทร์ ที่เสียชีวิตบนเรือประมงขณะออกทะเล แต่ไม่สามารถนำศพกลับมาได้ โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 จะมีหารือในเรื่องนี้เพื่อหาทางดำเนินการต่อไป

 

นายสนั่น ลิ้มวิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผย "ประชาไท" ว่า การใช้แรงงานเด็กในเรือประมงน้ำลึก อาจจะมีอยู่บ้างแต่คงจะน้อย เพราะการใช้แรงงานเด็กไม่คุ้มค่า เนื่องจากสภาพร่างกายแข็งแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำงานไม่คล่องแคล่ว มีโอกาสได้รับบาดเจ็บสูง เจ้าของเรือจึงไม่นิยมใช้แรงงานเด็ก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท