รายงานพิเศษ เมื่อคนเหนือลุกทวงถามประชาธิปไตยรากหญ้า ชี้ท้องถิ่นยังถูกส่วนกลางครอบงำ

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคมภาคเหนือ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม และภาคีคนฮักเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดเวทีประชาธิปไตยขึ้น ภายใต้ชื่องาน"เวทีแลกเปลี่ยนประชาธิปไตยแผ่นดินแม่"

ในเวทีมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการใช้ประชาธิปไตยในระดับชาวบ้าน โดยมีแนวคิดว่าเมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเรื่องของการจัดการของกลุ่มคนชั้นกลาง ส่วนบทบาทของชาวบ้าน ชุมชนเป็นเพียงผู้รับการปฏิบัติเกี่ยวกับประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ขณะที่ภาครัฐและกลุ่มคนชั้นกลางกำลังถกเถียงกันถึงทางออกที่เหมาะสมของประชาธิปไตย ด้านหนึ่งของชาวบ้านก็ได้ใช้ระบอบประชาธิปไตยของพวกเขาผ่านหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต.

ตัวแทน อบต.เผยชุมชนถูกแทรกแซงจากคนของรัฐ

 ตัวแทนชุมชน อบต.ห้วยปูลิง จ.แม่ฮ่องสอน เล่าถึงประชาธิปไตยในชุมชนของตนเองว่า ในชุมชนมักถูกแทรกแซงจากคนของรัฐ กลายเป็นระบบตอบแทนบุญคุณแบบบังคับ เมื่อรับเงินจากใครก็ต้องเลือกคนนั้น ทำให้การเมืองของชุมชนขาดความสมบูรณ์ ตัวแทนชุมชนถูกชักใยอยู่เบื้องหลัง ทำให้การทำงานขาดอิสระภาพ การบริหารชุมชนก็ไม่เจริญ แต่ในการทำงานของชุมชนห้วยปูลิงเป็นการทำงานภายในชุมชนแบบเครือข่ายโดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อม

ส่วนตัวแทน อบต.ชุมชนห้วยน้ำเกี๋ยน จ.น่าน กล่าวว่า มีการใช้ประชาธิปไตยที่ผลของการใช้จะตกอยู่กับชาวบ้านเป็นบุคคลสุดท้าย และภายในชุมชนต้องมีความเป็นพี่น้อง เพราะการเลือกคนที่จะมาเป็นผู้นำชุมชน ต้องมีการะบวนการคัดกรองจากระบบเครือญาติก่อนทุกครั้ง ก่อนที่จะออกมาเป็นมติของชุมชน

ด้าน ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า ประชาธิปไตยในชุมชน เริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับบริบทต่างกับประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่การมีอุดมการณ์ที่ลอยๆ ซึ่งความแตกต่างของแต่ละชุมชนไม่ใช่ปัญหา ประชาธิปไตยจะเดินไปได้ต้องมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยในท้องถิ่นไม่ใช่อุดมการณ์แต่เป็นการปฏิบัติ การจะใช้ประชาธิปไตยในระดับชาวบ้านให้เกิดพลัง ต้องเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยส่วนกลาง

ชุมชนปรับตัวเข้าสู่การเมืองระดับชาติน้อย

ในขณะที่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ รักษาการวุฒิสมาชิก จ.เชียงราย กล่าวว่า ชุมชนยังไม่สามารถปรับตัวเองไปสู่การเมืองประชาธิปไตยในระดับชาติได้ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้จากการบทบาทด้านการเมือของชุมชนอยู่สูงสุดแค่ อบต. บทบาทของผู้หญิงด้านประชาธิปไตยก็มีน้อย ดังนั้นช่องทางในการขยายกำลังของชาวบบ้านในการเข้าไปมีส่วนร่วมด้านประชาธิปไตยในระดับบนคือ สื่อ ซึ่งจะเป็นช่องทางขยายพื้นที่ชุมชนร่วมกัน เช่น วิทยุชุมชน และประชาชนก็ต้องมีความรู้ ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย เช่นการถ่วงดุลอำนาจ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ความร่วมมือเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน เช่น การเกิดสมัชชาคนจน การเกิดม็อบท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย

ประชาธิปไตย เป็นเพียงกลยุทธ์เชิงการตลาดของทุนเสรีนิยม

ด้าน ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เหตุผลว่า ชาวบ้านต้องทำความเข้าใจว่าประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ไม่ใช่อุดมการณ์ แต่เป็นกลยุทธ์เชิงการตลาดของทุนเสรีนิยม ที่อยู่ในรูปแบบของการอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เบื้องหลังของประชาธิปไตยแบบทุนเสรีนิยมมีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง ประชาชนถูกมองให้เป็นแค่ผู้รับสาร เป็นผู้บริโภคเท่านั้น ไม่สามารถเดินสู่เจตจำนงของตนเองได้ เสรีนิยมจึงวิเคราะห์ผู้บริโภคว่าควรเอาอะไรมาขายให้ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ประชาธิปไตยเช่นนี้ไม่ได้สร้างความกินดีอยู่ดีอย่างที่ชุมชนต้องการได้ ประชาธิปไตยในตอนนี้ถูกใช้โดยชนชั้นปกครอง ที่ใช้สื่อของตนเองสร้างภาพลักษณ์ให้ดูน่าเชื่อถือ ชาวบ้านต้องรู้จักต่อรอง

ทั้งนี้ ในการประชุมดัง ทางกลุ่มชุมชนและผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ยื่นข้อเสนอ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยโดยมีข้อความว่า

"สถานการณ์ทางการเมืองได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง ในกระแสดังกล่าวจะเห็นว่าผู้ที่มีบทบาทในสังคมไทยในกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หรือครอบงำความคิดหลักของคนในสังคมยังคงตกอยู่ในกลุ่มที่มีอำนาจเข้าถึงสื่อ หรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งยังคงเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองชนชั้นกลางและปัญญาชนทั้งหลาย แต่เสียงที่หายไปจากระบบสื่อสารมวลชน หรือพื้นที่สาธารณะคือเสียงของประชาชนในระดับฐานล่าง หรือชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

การที่ชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองนั้นส่งผลกระทบต่อชุมชน และกระบวนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะกระบวนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจะจำกัดคับแคบเพียงแค่ "อุดมการณ์" ลอยๆ แต่ขาดการ "ปฏิบัติการ" ที่ทำให้ประชาธิปไตยมีชีวิตจากประชาชนทุกภาคส่วน ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือของระบบทุนนิยมเสรีที่เอื้อให้พรรคการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง มองประชาชนเป็นแค่ผู้บริโภคในระบบตลาด ที่จะต้องผลิตสินค้า เช่น นโยบายประชานิยมต่างๆ มาขายแก่ประชาชนเท่านั้นเอง

ในความเป็นจริง ชุมชนท้องถิ่นที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนชาวเขา ชุมชนมลายู ชุมชนล้านนา ชุมชนในภาคอีสาน ชุมชนประมง ล้วนแล้วแต่มีกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในแบบของตนเองที่มีเอกลักษณ์ ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการนำเข้าระบอบประชาธิปไตยที่มาจากตะวันตก ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ หรือมีการเมืองระบบตัวแทน เช่น การคัดสรรผู้นำตามธรรมชาติที่มีคุณธรรมของชุมชน หรือในภาคเหนือมีระบบเหมืองฝายที่มีแก่เหมือง แก่ฝายที่มีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรมให้แก่คนในชุมชน

กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของชุมชนนั้นได้พัฒนา และปรับประยุกต์มาอย่างหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชนแล้วแต่บริบทของชุมชน ถือเป็นกระบวนการจัดการตนเองทั้งระบบของชุมชน เคารพความแตกต่างหลากหลายของคนในชุมชน เปิดให้คนในชุมชนมีอิสระในการเลือกหรือไม่เลือกอะไร โดยคัดสรรผู้นำที่มีจริยธรรม มีจิตใจสาธารณะมาทำหน้าที่ในการบริหาร กระบวนการกำหนดแผนและนโยบายสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการพัฒนาที่มาจากศูนย์กลางอำนาจ หรือพรรคการเมืองที่เน้นแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง และยังเน้นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่มาจากชุมชนอย่างแท้จริง"

นายชัชวาล ทองดีเลิศ ตัวแทนภาคีฮักเจียงใหม่กล่าวว่าการจัดเวทีในครั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมประชาธิปไตยภายใต้พื้นฐานชุมชุนเข้มแข็งและการจัดการตัวเอง ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โดยหวังว่าจะมีการขยายผลไปสู่ระดับชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ อย่างกว้างขวาง และได้ร่วมกันสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้นำไปสู่การนำเสนอเพื่อการปฏิรูปการจัดการสังคมเศรษฐกิจและการเมืองครั้งใหญ่ในอนาคต 

ข้อเสนอพัฒนาประชาธิปไตยจากฐานล่าง

ทั้งนี้ การจัดเวทีประชาธิปไตยในครั้งนี้ ได้มีข้อเสนอต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจากฐานล่าง เพื่อการปฏิรูปการเมือง-สังคม

1.การปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต้องเป็นกระบวนการที่ชุมชนท้องถิ่น หรือประชาชนระดับฐานล่างจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม

2.เพิ่มอำนาจประชาชนระดับฐานล่างมีส่วนร่วมทางเมืองทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ เช่น การแก้ไขกฎหมายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น

3.ชุมชนต้องมีส่วนร่วม และมีสิทธิที่จะนำเสนอนโยบาย และกฎหมายเพื่อจัดการชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้ทั้งระบบและมีอิสระ

4.ระบบการเมืองต้องเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถตรวจสอบได้ ไม่ยึดตัวบุคคล

5.ชุมชนต้องเข้าถึงสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง เช่น วิทยุชุมชน และมีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการสื่อสารระหว่างกัน

6.มีสภาผู้นำที่เป็นกลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุลตัวแทนในระบบ

 7.มีคณะทำงานสถาปนา "ประชาธิปไตยแผ่นดินแม่" เพื่อผลักดันประชาธิปไตยจากฐานล่าง 

 ชี้การเมืองระดับชาติส่งผลกับท้องถิ่น กระทบภาวะเศรษฐกิจอ่อนไหว

และในเวทีสัมมนาวิชาการเรื่อง "ความเข้มแข็งของท้องถิ่น:เกราะวิเศษต้านกระแสโลกาภิวัตน์" ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการตีแผ่ปัญหาการกระจายอำนาจไทย ชี้ไม่จริงใจ "แม้ว"เปลี่ยนประธานกรรมการฯนับสิบ เชื่องบอุดหนุนไม่ถึงร้อยละ 35 ปีนี้แน่ เพราะต้องใช้เงินถึง 1.5แสนล้าน กระเทือนโครงการรัฐ แต่อุ่นใจก้าวหน้าด้านสังคม มีการบริหารจัดการในองค์กรปกครอบส่วนท้องถิ่นดีขึ้น

 

นางอรวรรณ ขุมทรัพย์ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองล้วนส่งผลต่อการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองมีผลกับท้องถิ่นมาก แต่ก็ยังมีกฎหมายที่เป็นหลักประกันให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ว่ารัฐจะต้องดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งถ่ายโอนงานและรายได้ ซึ่งปี 2544 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และในปี 2549 ต้องจัดสรรให้ร้อยละ 35 แม้ในความเป็นจริงก็ยังได้เพียง 24.05หรือ 235,000 ล้านบาทก็ตาม

           

"ปี 2543 รายได้ของท้องถิ่นมีประมาณ 99,000 ล้านบาท และในปี 2544 ได้เพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาท และการจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นในปีถัดไป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลด้วย ยอมรับว่าในบางปีได้เสนองบจัดสรรให้ท้องถิ่นก็ต้องไปต่อสู้กันและปรับลดงบประมาณ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางการเมืองอีกคือประธานกรรมการกระจายอำนาจที่ตั้งจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วเกือบ 10 คน และแต่ละคนก็มีมุมมองในการกระจายอำนาจไม่เหมือนกัน ถ้าใครมีมุมมองในแง่บวกการกระจายอำนาจก็ไปได้ค่อนข้างเร็ว"นางอรวรรณ กล่าวและว่า

           

การเมืองระดับชาติมีผลกับท้องถิ่น เวลาจะจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเวลาเข้าสภาฯมักจะถูกเปลี่ยนเม็ดเงินต่างไปจากคณะกรรมการกระจายอำนาจฯเสนอและก็ต้องทำตาม เพราะสภาฯบอกเป็นอำนาจของสภาฯในการจัดทำงบประมาณประจำปี

 

นอกจากนี้การเมืองระดับท้องถิ่นก็มีผลกับการจัดสรรงบประมาณ เพราะจำลองมาจากระดับชาติ โดยเอางบไปลงพื้นที่ตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นก็มีผลเช่นเดียวกัน ขณะนี้การเมืองระดับชาติยังมีปัญหา ทางคณะกรรมการกระจายอำนาจฯก็ติดปัญหาที่จะเร่งดำเนินการเพราะบางเรื่องเป็นนโยบายที่ต้องรอรัฐบาลใหม่ แต่ก็ถือเป็นโอกาสของท้องถิ่นที่ควรใช้โอกาสและศักยภาพมาดูแลประชาชนในพื้นที่ได้อาศัยเป็นที่พึ่งในการแก้ไขปัญหา

           

และในแง่เศรษฐกิจ นางอรวรรณ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจอ่อนไหว ซึ่งปีนี้ถ้ารัฐบาลต้องจัดสรรให้ท้องถิ่น 35% รัฐต้องหาเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่นถึง 154,000 ล้านบาท ยอมรับว่าจะกระทบกระเทือนโครงการของรัฐบาลแน่นอน ซึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลยังให้ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

           

"คณะกรรมการกระจายอำนาจเองได้คำนึงและศึกษาจากนักวิชาการพบว่าความจำเป็นของท้องถิ่นในการใช้งบประมาณน่าจะไม่เกิน 34-36% และถ้าถ่ายโอนการศึกษาอีกจะต้องมีการใช้จ่ายเงินกว่าที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ ซึ่งขณะนี้การถ่ายโอนการศึกษาก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ยังมีการต่อต้าน ขัดขวางประท้วง จนถึงปัจจุบันเริ่มคลี่คลายซึ่งปี 2549 จะเริ่มมีการถ่ายโอนภารกิจการศึกษามาให้ท้องถิ่นแต่ยังติดปัญหาเรื่องบัญชีหนึ่ง บัญชีสอง และยังไม่สามารถประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจได้อีกเพราะการเมืองยังไม่นิ่ง แต่ที่กรรมการกระจายอำนาจอนุมัติถ่ายโอนบัญชีแรกไม่เกิน 300 โรง และบัญชีสองอีกส่วนหนึ่ง การกระจายอำนาจให้อปท.ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับท้องถิ่นเองในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นเองด้วย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท