Skip to main content
sharethis


 


แขก In Between
ผู้กำกับ: ภาณุ อารี
เวลา 42 นาที


เป็นสารคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่ชาวไทยมุสลิมสายกลางกำลังเผชิญกับสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หลังจากที่"ภาวะการเกลียดและกลัวอิสลาม"ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก และแน่นอนในประเทศไทย


 


โดยหนังจะพาผู้ชมเข้าไปรับรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งระดับจุลภาคที่เผชิญตั้งแต่เด็ก อาทิ เรื่องการกินหมู และความแตกต่างเรื่องความเชื่อกับเพื่อนต่างศาสนิก  ไปจนถึงความขัดแย้งระดับมหภาคที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ผลพวงของการเกลียดกลัวอิสลามหลังจากเหตุการณ์ 911 หรือ ผลกระทบจากความไม่สงบในภาคใต้


 


แขก บอกเล่าเรื่องราวผ่านการติดตามชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งวันของ คน 4 คน ซึ่งเป็นมุสลิมที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ โดยจะมีเสียงสัมภาษณ์ประกอบกับเรื่อง อย่างไรก็ตามภาพได้เห็นและเสียงที่ได้ยินจะไม่สัมพันธ์กัน  โดยผู้ชมจะเป็นฝ่ายประกอบเรื่องราวจากสิ่งที่ขัดแย้งกันด้วยตัวเอง (จุดประสงค์สำคัญคือ ต้องการแสดงให้เห็นว่าในชีวิตที่เป็นปกติของคนเหล่านี้ มีปัญหาบางอย่างซ่อนอยู่) ขณะเดียวกันในบางช่วง จะมีการแทรกภาพ ฟุตเตจ ข่าว และ ภาพนิ่ง ของตัวละครแทรกเข้าไปด้วย เพื่อความราบรื่นของการดำเนินเรื่อง


 


สารคดีเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการตั้งคำถามว่า ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง คนเหล่านี้จะดำเนินชีวิตเช่นไร


 


 




DreamTeam
ผู้กำกับ: มาวิน หลีเส็น
เวลา 20 นาที


หนังพยายามสื่อสารเรื่อง "ความเข้าใจผิด" เกี่ยวกับการเผาโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้กำกับ มีความมุ่งหวังว่ากีฬาจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงในสถานการณ์ต่างๆ และสร้างสันติในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ชี้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับความอยุติธรรมในสังคม ที่พร้อมจะเข้าใจผิดได้โดยง่ายว่าเด็กมุสลิมเป็นผู้ก่อการร้ายอยู่ร่ำไป


 


 




Good morning
ผู้กำกับ : มนต์ศักดิ์ หินประกอบ
เวลา 19 นาที


แมน นายทหารหนุ่มจากชัยภูมิ ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของชาวสวนยางในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส สวนยางแห่งนี้ถูกจัดให้อยู่ในเขตพื้นที่อันตราย ซึ่งชาวสวนมีท่าทีแปลกๆ เมื่อทหารเข้ามายังสวนยางของเขา


 


Good morning เป็นหนังสั้นที่อิงจากเรื่องเล่าทหารที่เคยปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพี่ชายของผู้กำกับ เมื่อทหารนอกพื้นที่ต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้สู่การสร้างความเข้าใจแก่สาธารณะว่า ทหารจำนวนหนึ่งมีความปรารถนาดี ใช้หลักการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา เป็นกลวิธีในการเข้าถึงชาวบ้าน แต่บางครั้งการพยายามเรียนรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย และปมประเด็นของแต่ละคนก็อาจนำไปสู่จุดจบที่หาทางออกได้ยากยิ่ง


 


 




"ระหว่างทาง"
ผู้กำกับ: รัฐ จำปามูล
เวลา 5 นาที


เป็นแอนนิเมชั่น 2D ที่เนื้อหามีความหมายถึงการฝ่าอุปสรรคมากมายของเด็กคนหนึ่งที่ต้องผจญกับสุนัขดุประจำซอย การหาทางออกของเด็กเมื่อเลือกใช้ความรุนแรงอาจจะไปกระทบความเป็นอยู่ของผู้อื่น การ์ตูนนี้อาจทำให้ฉุกคิดว่าบางครั้งเหตุผลเบื้องหน้าอาจทำให้เรารู้สึกเสียใจกับการกระทำในอดีต ถ้าเราใส่ใจความรู้สึกคนอื่น แต่บางคนอาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อยและมองข้ามไปอย่างไร้สาระ


 


 




ปอเนาะ
ผู้กำกับ: ฮาริส มาศชาย
เวลา 12 นาที


จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสาร ในทัศนะของอิสลาม มุสลิมที่ดีจะเป็นผู้ที่ยึดมั่นกับ "อัลอิสลาม" ซึ่งเป็นวิถีของการดำเนินชีวิต และการรู้จักศาสนาจะต้องผ่านกระบวนการการศึกษา และในบรรดาสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว "ปอเนาะ" ถือเป็นสถาบันที่หล่อหลอมและส่งผ่านความคิดและวิถีชีวิตของอิสลามมิกชนอย่างสำคัญ


ผู้กำกับตั้งใจให้สารคดีนี้ฉายภาพให้เห็นวิถีชีวิตของเด็กปอเนาะผ่านการละหมาด 5 เวลาเพื่อสื่อสารว่าปอเนาะเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของเยาวชนมุสลิมมิใช่แหล่งก่อการร้ายที่ถูกเหมารวมจากภาครัฐ


 


 




ธาดา
ผู้กำกับ: เสรีย์ หล้าชนบท
เวลา 19 นาที


เป็นหนังสั้นที่ผู้กำกับได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพื่อนที่เป็นมุสลิมสมัยตอนเรียน ม.4 ชื่อ ธาดา สมัยเรียนเขาต้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนาไปด้วย เพราะถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ธาดาทำให้เห็นว่าเขาไม่สนใจอะไรเลยระหว่างพุทธกับอิสลาม จึงนำมาพัฒนาเป็นบท  โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กมุสลิมที่ทำคะแนนวิชาพระพุทธศาสนาได้สูงที่สุดในห้อง จนได้รับเป็นคัดเลือกให้เป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าแข่งขันวิชาพระพุทธศาสนา แต่โอกาสที่เขาได้รับกลับนำมาซึ่งปัญหา และการเข้าใจผิดระหว่างเขากับพ่อขึ้น


 


ส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องพยายามจะบอกถึงปัญหาหลายอย่างของเด็กมุสลิม ที่ต้องมาเรียนในโรงเรียนเด็กพุทธ ซึ่งเขาต้องทำหลายๆ สิ่งที่ขัดแย้งกับศรัทธาของตัวเอง


 


 




ฉันมิตร
ผู้กำกับ: ณัฐรินทร์ บุญชู
เวลา 19 นาที
 


หนังเล่าเรื่องพระธุดงค์รูปหนึ่งที่กำลังจะเดินทางไปสึก ระหว่างทางพบครูสอนศาสนาอิสลาม แต่เหตุบังเอิญทำให้ทั้งคู่ต้องประสบชะตากรรมร่วมกัน มิตรภาพที่เกิดขึ้นในเวลานั้นทำให้พระธุดงค์เปลี่ยนใจกลับมาปฏิบัติธรรมต่อ และครูสอนศาสนาก็ได้เปิดใจกับภรรยาและลูกว่าตนเองเป็นโรคหัวใจที่อาจเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ หลังจากที่ปิดบังมานาน


 


หนังพยายามสอดแทรกให้เห็นความไม่เข้าใจในการปฏิบัติตนของแต่ละศาสนา ทำให้ "คนแปลกหน้า" ต่างวางตัวต่อกันและกันไม่ถูก แต่ความไม่เข้าใจนี้เป็นเพียงเส้นบางๆ ที่สามารถข้ามไปได้ด้วยความเข้าใจ และเพราะผู้กำกับเป็นอิสลามิกชนคนหนึ่งจึงมีความเชื่อมั่นว่า 2 ศาสนาที่ต่างกันทั้งประเพณีและวัฒนธรรม ย่อมสามารถอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานแห่งความดี โดยใช้ความดีเป็นสื่อที่ก่อให้เกิดมิตรภาพ


 


 




จาก...สันติภาพ  ถึง...สันติภาพ
ผู้กำกับ: สันติภาพ อินกองงาม
เวลา 9 นาที


เป็นหนังทดลองที่ให้ความสำคัญกับการให้คุณค่าความหมายของคำว่า "สันติภาพแต่ที่มากกว่านั้น ผู้กำกับต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในวงกว้างกว่าการสร้างและฉายหนังให้คนดู โดยจะสนทนากับผู้คนหลากหลายในสังคมที่เราไม่เคยรู้จักระหว่างการทำหนัง เพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสให้ผู้คนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เขาจึงสุ่มในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร พบว่ามีคนชื่อสันติภาพอยู่ทั้งสิ้น 1,369 คนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย จากนั้นก็ส่งเอกสารถึง "คุณสันติภาพ" ทั้งหมดให้ร่วมทำหนังกับเรา เพียงสัปดาห์กว่าๆ ที่ผู้กำกับรอจดหมายตอบกลับ และหาก "คุณสันติภาพ" ระบุว่ายินดีให้ใช้ภาพและเสียงในหนังได้ ก็จะมาร์คจุด "สันติภาพ" บนแผนที่ในประเทศไทย ทีละจุดๆ แล้วค่อยเดินทางไปพบปะคุณสันติภาพตามเส้นทางนั้นๆ ส่วน "คุณสันติภาพ" ที่ไม่สะดวกให้บันทึกภาพและเสียงก็จะขอให้พวกเขาช่วยเขียนคำอธิษฐานเพื่อสันติภาพส่งกลับมา เพื่อนำมาประกอบเป็นบทบรรยายในหนังเรื่องนี้


 


 




โรงเรียนวัดนาปรือ
ผู้กำกับ: จักรภัทร พรหมสิงห์
เวลา 18 นาที
 


เป็นสารคดีเล่าเรื่องของโรงเรียนวัดแห่งหนึ่ง ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ภายหลังถูกผนวกเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่ความรุนแรงชายแดนใต้ เพื่อเสนอภาพสะท้อนการศึกษา "สายสามัญ" ในชุมชนมุสลิม ในอดีตชาวบ้านไทยพุทธ-ไทยมุสลิมเคยอยู่ร่วมกันได้ แต่ทำไมวันนี้เด็กๆ จากสองศาสนาไม่กล้าที่จะเล่นด้วยกัน


 


 




เพียงความธรรมดาของเส้น
ผู้กำกับ: ขวัญแก้ว เกตุผล
เวลา 11 นาที


เรื่องราวของเด็กนักเรียนประถม 8 คนทั้งชายหญิงที่เป็นเพื่อนสนิทกัน ตัดสินใจเล่นตี่จับหลังเลิกเรียน เด็กคนหนึ่งลงมือขีดเส้นแบ่ง เพื่อแยกเพื่อนออกเป็น 2 ฝ่าย การเล่นที่เริ่มแรกเป็นไปอย่างสนุกสนาน และเพื่อนคนหนึ่งเห็นว่าตัวเองแพ้บ่อย จึงตัดสินใจเล่นแรงๆ เพื่อต้องการเอาชนะไม่สนใจว่าเพื่อนอีกฝ่ายจะเจ็บหรือไม่ การเล่นดำเนินไปและทวีความรุนแรงทุกขณะ จนเพื่อนอีกคนหนึ่งเสนอให้เปลี่ยนข้างสลับฝ่ายกันบ้าง เพื่อจะยุติความรุนแรงให้กลับไปเล่นสนุกเหมือนก่อน แต่การเล่นแรงๆ ของเพื่อนคนนั้นก็ไม่หยุด เพียงเพราะต้องการเอาชนะกับอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ครั้งนี้กลับไต่ระดับความรุนแรงมากขึ้น เพราะนอกจากเล่นกันแรงแล้วยังมีปากเสียง ทะเลาะกัน ต่างฝ่ายก็เหนื่อยและเจ็บตัวไปตามๆ กัน จนกระทั่งเย็นมากและ "เส้นแบ่งเขตแดน" ลางเลือน ความสัมพันธ์ของเพื่อและเส้นกั้นที่เป็นปัญหานี้จะดำเนินไปอย่างไร?


 


หนังเด็กเรื่องนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า "เส้น" เมื่อขีดแล้ว มีอำนาจในการแบ่งผู้คนให้เป็นพวกเขา พวกเรา และเมื่อเส้นหายไปหรือเมื่อคนจำเป็นต้องย้ายข้างของเส้น สัมพันธภาพหลังเส้นย่อยเปลี่ยนแปลง และตัวอย่าง "ตี่-จับ" ที่พวกเราเล่นกันหลายชั่วรุ่น ก็ชวนให้คิดว่า "การละเล่น" เป็นอีกพื้นที่บ่มเพาะวัฒนธรรมความรุนแรงเช่นกัน 


 


 




เด็กชายแฮมเบอร์เกอร์
ผู้กำกับ: ศิวดล ระถี
เวลา 30 นาที
 


แคน บอย และเม้ง เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนเดียวกัน ซึ่งไม่มีใครคบด้วยไม่ใช่เพราะความเกเร แต่อาจจะเพราะความเป็นลูกครึ่งของแคน เป็นเด็กเรียนไม่เก่งอย่างบอยและเม้ง ต่อมาวันหนึ่งครูให้แบ่งกลุ่มทำอาหารกัน เพื่อนในห้องคนอื่นๆ ไม่มีใครรับทั้งสามเข้ากลุ่มเลย แถมเมื่อรวมตัวกันเองแล้วยังต้องรับ "จอนนี่" เด็กพิการอีกคนเข้าร่วมกลุ่มด้วย ภารกิจนี้จึงเป็นแบบทดสอบของพวกเขาว่าจะทำให้คนอื่นยอมรับได้อย่างไร ด้านกลับกัน หนังพยายามชี้ให้เห็นด้านมืดของการแข่งขันและการเอาชนะ ไม่มีใครต้องการคนอ่อนแอหรือคนที่ดูด้อยกว่าตนเองเข้าพวก และเบียดขับเขาออกไปไม่ให้มี "เสียง" ในสังคม


 


การนี้ผู้กำกับเลือกใช้อาหารท้องถิ่นคือ "ข้าวจี่" และภาษาพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนดูทุกคนสามารถนั่งอมยิ้มได้ตลอดทั้งเรื่อง


 


 




Weight of a Gun
ผู้กำกับ: ศศะ คงวิจิตร
เวลา 24 นาที


หนังเล่าถึงชายคนหนึ่งที่ไม่สามารถสะบัดทิ้งความรู้สึกต่างๆ กับเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ที่สยดสยองที่เกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านติดกันได้ "ความรู้สึก" นั้นก็นำมาสู่ความหวาดระแวงและความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์ในชีวิตเขา และในระหว่างที่นั่งดูทอล์คโชว์รายการหนึ่ง ทำให้เขาตัดสินใจซื้อปืนพกเก็บไว้ที่บ้าน เพราะคิดว่าปืนกระบอกนี้จะช่วยแก้ปัญหาความหวาดวิตกในชีวิตแก่เขาได้ จนกระทั้งวันหนึ่งก็มีคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชนที่เขาอยู่อาศัย แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาอยากใช้ปืนขึ้นมา หนังเรื่องนี้จะเข้าไปสำรวจว่าพระเอกของใช้ปืนในการแก้ปัญหาหรือว่าเพิ่มความวิตกจริตในหัวให้มากขึ้นอย่างไร


 


"ปืนจะช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาได้จริงหรือ?"


 


เรื่องเล่าผ่านปืนนี้พยายามสะท้อนชีวิตประจำวันของคนในเมืองที่พวกเราล้วนเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความกลัว ไม่ใช่ทุกคนที่มีทางออกและความเป็นธรรมก็ไม่เคยมีในหมู่คนด้อยโอกาส และชวนคนดูตั้งคำถามว่าหากตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันจะทำอย่างไร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net