จำคุก อดีตประธาน คตง. ฐานเสนอชื่อผู้ว่าฯ สตง.ให้ ส.ว.เลือก 3 คน

วันที่ 30 พ.ค. ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 และนายประธาน ดาบเพชร อดีตผู้ได้รับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภา เพื่อรับเลือกเป็นผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายปัญญา ตันติยวรงค์ อายุ 66 ปี อดีตประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157

 

โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 44 จำเลยเสนอรายชื่อบุคคลให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อวุฒิสภาโดยมิชอบ ขัดต่อระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินฯ ข้อ 6 (5) ที่กำหนดให้ คตง.เสนอรายชื่อผู้มีคะแนนสูงสุดเพียงคนเดียวที่ได้รับการคัดเลือกจาก คตง. ให้สมควรเป็นผู้ว่าการ สตง. เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบและดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แต่ปรากฏว่าในการสรรหาผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ สตง.ดังกล่าว จำเลยกลับเสนอชื่อบุคคลทั้งสิ้น 3 ราย ประกอบด้วย นายประธาน ดาบเพชร คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และนายนนทพล นิ่มสมบูรณ์

 

ทั้งนี้ ระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินฯ ข้อ 6 (5) กำหนดว่า การคัดเลือกของคณะกรรมการ คตง. นั้น ต้องลงมติด้วยคะแนนลับ และผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้รับคะแนนสูงสุด โดยมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ คตง.ทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งในการประชุม คตง. ครั้งที่ 26/2544 วันที่ 3 ก.ค. 44 พบว่าบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดและเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการ คือนายประธาน ดาบเพชร ได้ 5 คะแนน จากกรรมการทั้งหมดที่มาประชุมจำนวน 8 คน นอกจากนี้ เมื่อที่ประชุม คตง.เสนอชื่อไปแล้ว ในหนังสือที่จำเลยเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ยังได้ระบุว่ามีผู้ได้รับคะแนนเพียง 2 ราย คือนายประธาน ดาบเพชร ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 ตามบัญชีรายชื่อและเอกสารประกอบ จึงขอส่งเรื่องเพื่อให้วุฒิสภาคัดเลือกบุคคลตาม บัญชีรายชื่อดังกล่าว พร้อมทั้งส่งบัญชีรายชื่อไปทั้งสิ้น 3 คน ทั้งที่ คตง.มีหน้าที่เสนอชื่อนายประธาน ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเพียงคนเดียว เสนอต่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

 

ในชั้นพิจารณาจำเลยต่อสู้คดี โดยให้การปฏิเสธ อ้างว่าจำเลยดำเนินกระบวนการสรรหาและเสนอชื่อผู้สมควร ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ สตง.ตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว ไม่มีเจตนาจะทำให้ โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย

 

ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 44 จำเลยในฐานะประธาน คตง. ได้รับหนังสือยินยอมจากโจทก์ร่วม ให้เสนอรายชื่อบุคคล 3 คนต่อประธานวุฒิสภา เพื่อคัดเลือกเป็นผู้ว่าการ สตง. โดยหนังสือระบุว่า โจทก์ร่วมได้รับคะแนนคัดเลือกเป็นอันดับ 1 5 คะแนน นางจารุวรรณได้รับเลือกเป็นอันดับ 2 3 คะแนน ส่วนนายนนทพลไม่ได้รับคะแนน ทั้งที่ความจริงแล้ว จำเลยควรจะต้องเสนอชื่อเฉพาะโจทก์ ร่วมเพียงคนเดียวซึ่งได้รับเลือกด้วยคะแนนสูงสุด อันเป็นคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ คตง.ที่มีอยู่ทั้งหมด 8 คน ทำให้ผลสุดท้ายวุฒิสภาได้ใช้บัญชีรายชื่อบุคคลตามที่จำเลยเสนอให้ทั้ง 3 คน แล้วเลือกนางจารุวรรณเป็นผู้ว่าการ สตง. ซึ่งไม่ได้รับการสรรหาที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้อ 6 (5) ระบุว่าการเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ถือตามมติ คตง. ด้วยวิธีลงคะแนนลับ

 

ในการนี้ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียง คตง. ที่มีอยู่ทั้งหมด ให้ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการ สตง. ซึ่งเห็นได้ชัดว่า นางจารุวรรณและนายนนทพล ไม่ได้รับคะแนนเสียงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว หากเป็นสอบไล่ต้องถือว่าสอบตก เพราะไม่ได้คะแนนตามที่กำหนดไว้ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาฝ่าฝืนมติ คตง. ที่ระบุให้เสนอชื่อโจทก์ร่วมต่อวุฒิสภา เพื่อให้ความเห็นชอบ แต่จำเลยซึ่งมีวุฒิภาวะทางการศึกษาระดับสูงถึงปริญญาเอก เคยทำงานด้านบริหารระดับสูงในองค์กรสำคัญหลายแห่ง หลายปี รวมทั้งเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จำเลยจะได้รับเลือกเป็น ประธาน คตง. จำเลยต้องเคยผ่านกระบวนการสรรหามาแล้ว ย่อมจะมีประสบการณ์และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ดังนั้น ถือว่าจำเลยกระทำการโดยปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามมาตรา 157

 

นอกจากนี้ จำเลยยังเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงขององค์กรอิสระ ที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ประเทศชาติและต่อประชาชน แต่กลับใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ผิดเสียเอง จนเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ในปัจจุบัน อีกทั้งทำให้เกิดความ เสียหายต่อประเทศชาติหลายประการ ส่วนข้ออ้างของจำเลยนั้นฟังไม่ขึ้น พิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาญาติของนายปัญญาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นสมุดเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาบางเขน จำนวน 150,000 บาท ขอประกันตัวออกไป ศาลพิเคราะห์ แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท