องค์การอนามัยโลกย้ำยาสูบทุกรูปแบบเป็นอันตรายต่อชีวิต

เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2006 (31 พฤษภาคม 2549) องค์การอนามัยโลกเผยแพร่ข้อมูลความรู้เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาสูบและบุหรี่ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วโลก เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ รวมถึงการรณรงค์งดสูบบุหรี่ โดยคำขวัญของการจัดงานในปีนี้คือ "บุหรี่ทุกชนิด นำชีวิตสู่ความตาย" (Deadly in any form or disguise)


 

รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้สูบยาสูบและบุหรี่จากทั่วโลกซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดทำขึ้น ถูกนำมาเผยแพร่ในงานวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปีนี้ โดยเนื้อหาของรายงานดังกล่าวจะชี้ให้เห็นความเชื่อเกี่ยวกับบุหรี่และยาสูบที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจผิด

 

ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่าปริมาณของผู้สูบบุหรี่แบบมวนด้วยมือทั่วโลก หรือ Hand Roll Tobacco เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 นับตั้งแต่ปี 1990 (พ.ศ.2533) เป็นต้นมา เพราะผู้สูบบุหรี่เข้าใจผิดว่าการมวนยาสูบให้เป็นบุหรี่ด้วยตนเองเป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ที่ผลิตจากบริษัทขายบุหรี่

 

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้นักสูบหันมามวนบุหรี่สูบด้วยตนเองคือราคาของยาสูบถูกกว่าบุหรี่แบบมวนที่ผลิตโดยบริษัท และนักสูบมีความเชื่อว่าการสูบบุหรี่ที่มวนเองจะช่วยลดจำนวนมวนของบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันลงได้

 

ในความเป็นจริง บุหรี่แบบมวนด้วยมือเป็นอันตรายมากกว่าบุหรี่ที่ผลิตเพื่อวางจำหน่าย เนื่องจากไม่มีการบุก้นกรอง ทำให้สารนิโคตินในยาสูบส่งผลอันตรายต่อสุขภาพปอดและหลอดลมโดยไม่มีการกลั่นกรองเลย

 

นอกจากนี้ การรณรงค์ให้ผู้ผลิตยาสูบลดปริมาณการผลิตลงก็อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่ควรจะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่นักสูบทั่วโลก เนื่องจากองค์การอนามัยโลกพบว่าประชากรโลกราวๆ 750,000 คนเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 13-15 ปี และมีแนวโน้มว่าเด็กวัยรุ่นหญิงจะสูบบุหรี่กันมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์ยาสูบในปัจจุบันมีอัตราการแข่งขันสูงขึ้น จึงมีการออกสินค้าใหม่เพื่อเจาะกลุ่มเด็กวัยรุ่น เช่น บุหรี่กลิ่นผลไม้ กลิ่นช็อกโกแลต หรือกลิ่นวานิลลา พร้อมด้วยการออกแบบมวนบุหรี่ให้มีสีสันสดใส ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่ากลวิธีทางการตลาดเช่นนี้สร้างผลกระทบที่ใหญ่หลวงกว่าที่คิด

 

ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่อ้างว่าเป็นบุหรี่ที่มีนิโคตินต่ำ และมีคำว่า ไลท์ (Light) อัลตราไลท์ (Ultra Light) โลว์ (Low) และ ไมล์ด (Mild) ล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมถึงบุหรี่ที่ใช้รสชาติและกลิ่นของผลไม้มาเป็นจุดขายก็ทำให้ผู้สูบต้องเสี่ยงอันตรายจากโรงมะเร็งในปอดและมะเร็งในหลอดลมไม่ต่างจากบุหรี่ทั่วไป

 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยและแพทย์ส่วนใหญ่ได้ออกมายืนยันด้วยว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วยตนเอง แต่ได้รับควันบุหรี่จากการหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดไม่แพ้กัน

 

จากการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของประชากรโลกในอันดับต้นๆ รวมทั้งสิ้นปีละ 5 ล้านคน เฉลี่ยแล้วมีผู้เสียชีวิตวันละประมาณ 13,000 คน และตายทุกๆ 6 วินาที

 

ส่วนปริมาณผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกมีประมาณ 1,100 ล้านคน และคนไทยที่สูบบุหรี่มีจำนวน 11 ล้านคน รัฐบาลไทยเตรียมแก้ปัญหานี้ด้วยการออกกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตบุหรี่แจ้งรายชื่อสารพิษทั้ง 5 ชนิดที่ข้างซองบุหรี่ภายในปี 2549 นี้

 

หากไม่มีการรณรงค์ให้สังคมโลกร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องบุหรี่ มีแนวโน้มว่าอีก 14 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2563) ผู้ที่สูบบุหรี่ในวันนี้ หรือประมาณ 650 ล้านคนทั่วโลกจะจบชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปอดและมะเร็งหลอดลม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและวัยกลางคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท