Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รายงานโดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


 


ผังเมืองแจงสำนักนายกฯ ยิบกรณี ถูกต้านพนังกั้นน้ำ ยืนยันทำเจ๋งทุกขั้นตอน แถมผ่านกระบวนการถูกต้องหมด เดินหน้าเคลื่อนทั้งยวง ตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบที่เหมาะสม


 


กรณีมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองและกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ โดย รศ.ประศักดิ์ ถาวรยุติการต์ ส่งหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อขอพิจารณาระงับโครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำปิงในช่วงที่ไหลผ่านเทศบาลนครเชียงใหม่ 19.4 กม. นั้น ล่าสุดได้มีหนังสือแจ้งกลับมาจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคำชี้แจงของกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงนามโดยนายเอกวิทย์ ถิระพร รองอธิบดีฯ มีสาระสำคัญต่อข้อคัดค้านดังกล่าวว่า


 


1.กรณีไม่สามารถแก้ปัญหาได้กรณีน้ำหลากจำนวนมากกว่าระดับที่ออกแบบไว้ และจะมีปัญหาน้ำดั้นดินหรือน้ำผุดนั้น ชี้แจงว่าได้ออกแบบพนังที่ปริมาณน้ำท่วมสูงสุดที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อพ..2548 ที่ปริมาณน้ำ 750 ลบม./วินาที และในการออกแบบต้องตรวจสอบแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาน้ำผุดจากแรงดันน้ำใต้ดิน โดยคำนวณระยะทางที่น้ำซึมผ่านตามข้อกำหนดทางวิศวกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความแตกต่างของระดับน้ำและชนิดของดินที่นำมาถม


 


2.กรณีน้ำล้นข้ามพนัง ไม่สามารถระบายออกได้และก่อนให้เปิดปัญหาน้ำเน่า ชี้แจงว่าได้ออกแบบเป็นระบบปิดล้อม 2 ส่วนคือส่วนที่ 1 แนวคันกั้นน้ำที่ไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่ป้องกัน ใช้ในกรณีที่น้ำในแม่น้ำสูงเกินกว่าระดับตลิ่ง และส่วนที่ 2 ระบบระบายน้ำภายในและระบบสูบน้ำ ใช้ในกรณีที่ฝนตกลงในพื้นที่ไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำได้ น้ำจะไหลลงท่อไปยังสถานีสูบน้ำออกลงสู่แม่น้ำได้ไม่เน่าเสีย


 


3. กรณีแก้ปัญหาปลายเหตุ สิ้นเปลืองงบ สามารถใช้มาตรการอื่นป้องกันได้ ชี้แจงว่าได้ผ่านมาวิเคราะห์และศึกษามาเป็นระบบแล้ว และบูรณาการหลายมาตรการ


 


4.กรณีตัวอย่างความล้มเหลวจากที่อื่นเช่น สิงห์บุรี ชี้แจงยืนยันว่ามีการศึกษาออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม


 


5. กรณีทำลายภาพลักษณ์ ระบบนิเวสน์ รายได้จากการท่องเที่ยว จิตวิญญานเมือง สุขภาพจิต และไม่มีการศึกษาวิจัยผลกระทบทางด้านการบริหารจัดการน้ำ สิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพอย่างถ่องแท้ ชี้แจงว่า ได้ออกแบบอย่างคำนึงถึงสภาพลักษณะภูมิประเทศ การใช้ประโยชน์ของราษฎร โบราณสถาน ขนบประเพณี และความมั่นคงทางวิศวกรรม โดยมีรูปแบบ 5 รูปแบบคือ สวนสาธารณะ 3 ระดับ และ 2 ระดับ เขื่อนริมน้ำ ปรับปรุงเสริมเขื่อนเดิม และปรับปรุงยกระดับถนน


 


6.กรณียังไม่ได้จัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินริมแม่น้ำปิง หากทำในลำน้ำก็เป็นการรุกลำน้ำโดยภาครัฐ


ชี้แจงว่า แนวที่เสนอ สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแนวได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแก้ไขการบุกรุกแม่น้ำปิง และก่อนการก่อสร้างจะขออนุญาตก่อสร้างกับการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี


 


7. กรณีเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ชี้แจงว่า ได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานราชการ และประชาชน 2 ครั้ง ผลสรุปคือ


 


ประชาชนที่มีที่ดินอยู่ริมน้ำ มีทั้งสนับสนุนและถูกปฏิเสธโครงการก่อสร้างพนัง


 


เทศบาลนครเชียงใหม่(รองนายกเทศมนตรี)ไม่ต้องการให้ก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมตลอด


ระยะทาง 19.4 กิโลเมตร แต่ต้องการให้ก่อสร้างบางช่วงเท่านั้นและความสูงของคันป้องกันน้ำท่วมไม่ควรเกิน 0.60 เมตร และยินดีปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่หากต้องการให้ก่อสร้าง


 


นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดดขอบคุณกรม ฯ และยินดีให้การสนับสนุนการก่อสร้างตามรูปแบบที่เสนอ แต่ขอให้ปรับรูปแบบกำแพง คสล.ริมถนนป่าแดดลงเล็กน้อย


 


บรรดาแนวร่วมชมรมอนุรักษ์แม่น้ำปิง สมาคมคริสต์จักร YMCA และชมรมล้านนา


ส่วนใหญ่คัดค้านโครงการฯ ด้วยเหตุผลว่า รูปแบบคันป้องกันน้ำท่วมเน้นในด้านวิศวกรรมไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตล้านนาและภูมิสถาปัตย์ริมน้ำปิง โดยต้องการให้มีการปลูกป่าบนภูเขาเพื่อซับน้ำฝน บริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำ (โดยกรมชลประทาน) รวมทั้งเสนอให้มีการดำเนินการทั้ง 36 มาตรการ (ตามที่เสนอ


คณะรัฐมนตรี) พร้อมๆ กัน เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ทั้งระบบ


 


ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์) ได้ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของประชาชนเพื่อปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวเชียงใหม่ และเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ประชุมสรุปให้มีการตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองเข้าร่วม เพื่อพิจารณาถึงรูปแบบพนังป้องกันน้ำท่วมที่สอดคล้องกับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำปิงต่อไป


 


มีรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านย่านวัดเกต และกลุ่มผู้ร้องเรียน ได้ประชุมกำหนดท่าที โดยมีมติจะตั้งคณะทำงานที่จะสร้างความเข้าในกับชาวเชียงใหม่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึงเหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net