Skip to main content
sharethis

 



 


ประชาไท—2 มิ.ย. 2549 เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 มิถุนายน 2549 ศาลปกครองสงขลา นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 454 / 2546 คดีหมายเลขดงที่ 51/2549 ระหว่างนายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ ที่ 1 กับพวกรวม 30 คน ผู้ฟ้อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ที่ 1, จังหวัดสงขลา ที่ 2, และกระทรวงมหาดไทยที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กรณีการใช้กำลังสลายการชุมนุมของเครือข่ายคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย เมื่อ 20 ธันวาคม 2545บริเวณสะพานจุติ - บุญส่ง อุทิศ ทางเข้าโรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


 


นายอำพน เจริญชีวินทร์ รองอธิบดีศาลปกครองสงขลา ตุลาการเจ้าของสำนวนได้อ่านคำพิพากษา สรุปว่า ศาลเห็นว่าการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ 1ถึง 24 กับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เจ้าหน้าที่จะจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวด้วยการสลายการชุมนุมได้หรือไม่ ศาลเห็นว่า การชุมนุมบริเวณสะพานจุติ-บุญส่ง อุทิศ อันเป็นที่สาธารณะการจะจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวซึ่งเป็นการชุมนุมสาธารณะด้วยการสลายการชุมนุมจะทำได้เฉพาะในกรณีที่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวการณ์สงครามหรือในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 44 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แต่ขณะตำรวจเข้าไปสลายการชุมนุม หาได้มีบทกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจจำกัดการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธไม่ และบทกฎหมายประกอบกับแผนรักษาความปลอดภัยที่ให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการักษาความสงบเรียบร้อยข้างต้นก็หาใช่บทกฎหมายเฉพาะดังกล่าวไม่ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1จัดเสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 24 และกลุ่มผู้ชุมนุม ด้วยการสลายการชุมนุม จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น


 


เมื่อได้พิจารณาจากหลักกฎหมายละเมิดทางแพ่งที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว การกระทำที่เป็นละเมิดจะต้องเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 44 จึงก่อให้เกิดหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะงดเว้นไม่กระทำการใดอันเป็นการละเมิดเสรีภาพดังกล่าว หากมีการกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพเป็นอำนาจของศาลที่จะให้ความคุ้มครอง มิฉะนั้นแล้วการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเสรีภาพไว้ ก็หาเกิดประโยชน์อันใดไม่


 


การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจตามที่กล่าวอ้างผลักดันให้มีการสลายการชุมนุมอันเป็นการกระทำทางปกครองที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบหรือปราศจากอาวุธของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 24 กับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมด้วยการใช้อำนาจตามกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 24 ได้รับความเสียหายโดยไม่อาจอยู่ชุมนุมต่อไปเพื่อรอยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะมาประชุมคณะรัฐมนตรีที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2545 ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 24 หรือไม่


 


ศาลเห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 24 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี แม้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าการไม่อาจใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยการอยู่ชุมนุมต่อไปได้ทำให้เกิดความเสียหายคิดว่าเป็นเงินตามที่ฟ้องก็ตาม เมื่อในทางกฎหมายปกครองมิได้บัญญัติไว้เกี่ยวกับการวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด จึงต้องนำหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ว่าค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดและเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรและความร้ายแรงแห่งละเมิด มาใช้ในการวินิจฉัยค่าเสียหายในคดีนี้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวด้วยการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามที่ได้วินิจฉัยข้างต้น จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดที่มีความร้ายแรง เห็นสมควรกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 24 เป็นเงินคนละ 10,000 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่ในสังกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมในการกระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย


 


ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 24 เป็นเงินคนละ 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาคืนค่าธรรมเนียมแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 24


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างศาลอ่านคำพิพากษา มีสมาชิกเครือข่ายคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย มาร่วมฟังประมาณ 100 คน แต่ไม่มีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องทั้งสามมาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net