Skip to main content
sharethis

ประชาไท—2 มิ.ย. 2549 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.49 ผู้จัดการออนไลน์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีที่นายประธาน ดาบเพชร อดีตผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรียกร้องให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.คนปัจจุบัน ลาออกจากตำแหน่งว่า คำพิพากษาจำคุก นายปัญญา ตันติยวรวงศ์ ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จะไม่กระทบต่อการดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ อย่างแน่นอน เพราะถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน การเรียกร้องให้ลาออกนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่การที่คุณหญิงจะพ้นจากตำแหน่งต้องมีเหตุตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้อ้างเรื่องพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ


 


อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่าที่ศาลพิพากษามาเช่นนี้ เพราะเหตุผลใด และที่สำคัญไม่ทราบว่านายปัญญา สู้คดีอย่างไรจึงออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งหากตนเป็น นายปัญญา ในสถานการณ์ขณะนั้นก็อาจจะตัดสินใจทำแบบนายปัญญาก็ได้ เพราะเห็นว่า การส่งรายชื่อขึ้นไปให้วุฒิสภาเพียงชื่อเดียวขัดต่อกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ


 


นอกจากนี้ นายวรเจตน์ ยังแสดงความเห็นถึงบทบาทนักกฎหมายในสถานการณ์วิกฤตการเมืองขณะนี้ ว่า ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ นักกฎหมายต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ยึดหลักกฎหมายไว้ให้มั่น แต่ที่ผ่านมานักกฎหมายทั้งหลายต่างออกมาให้ความเห็นโดยไม่มีหลัก แต่มีธงนำหน้าแล้วบีบกฎหมายให้เข้ามารองรับเป้าหมาย หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตน ไม่ต่างกับที่เคยเรียกคนของรัฐบาลว่าเป็นเนติบริกร ทำให้ประชาชนผู้รับข่าวสารสับสน ไม่ทราบว่าอะไรคือความจริง เมื่อฟังนักกฎหมายพูดแล้วก็คิดว่านักกฎหมายที่ตีความตามกระแสเป็นฝ่ายถูกต้อง ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่เสมอไป


 


"ผมมองว่า สถานการณ์ช่วงนี้มันมั่วมาก ทั้งสองฝ่ายใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการเอาชนะกัน ใช้กฎหมายรับใช้การเมือง ผมอ่านหนังสือ 5 เล่ม 10 เล่ม เพื่อถ่ายทอดความรู้ แต่กลับต้องเจอกับนักกฎหมายที่มีธงของตัวเองแล้วมาเล่นถ้อยคำ โดยไม่รู้ว่าความผิด ความถูกอยู่ตรงไหน มีแต่การจะเอาชนะกันในทางการเมือง แล้วใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ยอมรับว่ากฎหมายต้องคู่กับการเมือง แต่ทั้งสองไม่ใช่สิ่งเดียวกัน นักกฎหมายต้องมองให้เห็นประเด็นทางกฎหมายที่อยู่ในปัญหาการเมืองให้ได้ ไม่ใช่ปะปนกันไปหมดเหมือนขณะนี้" นายวรเจตน์ กล่าว


 


พร้อมทั้งยกตัวอย่างถึงการมองประเด็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 37 วัน ว่า เป็นความผิด ตนเห็นว่า เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของกกต.และรัฐบาล ที่สามารถกำหนดได้แต่ต้องภายใน 60 วัน บางเรื่องที่ กกต.มีอำนาจทำได้ ก็ต้องเคารพ แต่การเวียนเทียนผู้สมัครนั้นไม่ถูกต้องก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย ในภาวะที่กระแสน้ำเชี่ยวกรากอย่างรุนแรง นักกฎหมายต้องเป็นผู้เอาไม้ไปปักไว้ในน้ำเชี่ยวอย่างมั่นคง ไม่ว่าใครจะพัดไปไหนนักกฎหมายต้องไม่ไปตามกระแส ต้องยืนเป็นหลักให้กับสังคม


 


นักกฎหมาย มธ.ผู้นี้เห็นว่า การที่ศาลฎีกาออกมาแถลงแสดงความไม่เห็นด้วยกับการอยู่ในตำแหน่งของ กกต.ที่เหลือก่อนหน้านี้ เท่ากับว่า ศาลเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่นในสนาม หรือเลือกฝักฝ่ายโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าอาจจะมีปัญหาในเรื่องการชี้ขาดปัญหาในอนาคต ในสถานการณ์ที่บ้านเราขณะนี้ เหลือแต่องค์กรตุลาการเท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง ดังนั้น ในช่วงหลังที่ศาลพยายามไม่นำเสนอในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจึงถือเป็นเรื่องที่ดี


 


..................................................


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net