รายงานพิเศษ: หุ่นหัวใหญ่...น้ำแรงหลังม่าน ภาพผ่าน "เด็กสึนามิ"

 

 

ปิดเทอมอันสนุกสนานของวัยเด็กผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว เด็กๆ ในภาคเหนืออาจจะหวาดผวากับสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในบางจุด ส่วนเด็กๆ ในแถบชายแดนภาคใต้คงขวัญกระจายกับภาพความรุนแรงที่ยังไม่ลดละ

 

หากถามว่าปิดเทอมที่ผ่านมา "หนูๆ ทำอะไรกันบ้าง?" ย่อมได้รับคำตอบที่หลากหลาย

           

สุรพงษ์ นะสังข์ นักเรียนชั้น ม.๖ เล่าว่า "ปกติปิดเทอมจะไม่ทำอะไร ส่วนมากก็เที่ยวกับเพื่อนๆ คราวนี้ได้มาทำกิจกรรมนอกบ้านแล้วรู้สึกดี"

           

กิจกรรมนอกบ้านที่น้องพงษ์พูดถึงคือ การเข้าร่วม การอบรมเชิงปฏิบัติการละครหุ่นสร้างสรรค์ โดย

Save the Children UK ร่วมกับ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ในโครงการร้อยคลื่นศิลป์ ร้อยคลื่นใจ ให้กันและกัน 2 ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ระนอง ในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา

           

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กๆ ได้ร่วมมือกันผลิตสื่อสร้างสรรค์ร่วมกัน และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการละครอีกรูปแบบหนึ่ง โดยนัยยะแล้วการนำละครโดยใช้หุ่นเข้ามาช่วยก็เพื่อให้เกิดหัวใจอันละเอียดทั้งกับใจคนเล่นและกับใจผู้ชม

           

"เคยเห็นหุ่นแบบนี้ในทีวี รู้สึกว่าตัวหุ่นแบบนี้ แค่มองหน้าหุ่นก็ตลกแล้ว เพราะฉะนั้นน่าจะเล่นเรื่องที่ตลกๆ คนดูจะได้หัวเราะ สนุกไปด้วยกัน" น้องมาย ด.ญ.จิตติมา โกยผล วัย 14 ปี ให้ความเห็น

           

สำหรับหุ่นสร้างสรรค์ในครั้งนี้ คือการทำหุ่นหัวโต ที่ต้องเชิดอยู่หลังฉาก แต่กว่าจะมาเป็นหุ่นที่หน้าตาขำๆ ได้สำเร็จ ขั้นตอนการทำงานไม่ง่ายนัก

           

เด็กๆ ต่างวัยจากต่างโรงเรียนต้องจำคู่กันเพื่อเย็บตัวหุ่น ทุกชิ้นส่วนผ่านการลงมือทำอย่างตั้งใจ เด็กๆ หลายคนบอกว่าเหนื่อย เมื่อย และเจ็บนิ้วมือมาก แต่พอเห็นงานที่ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างแล้วก็รู้สึกชื่นใจขึ้นมาทันที

 

น้องพงษ์ ซึ่งเห็นต่างจากคนอื่นๆ เล่าว่า "ผมชอบช่วงที่ผลิตมากกว่าช่วงอื่นๆ เพราะได้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะส่วนหัวที่ต้องเอาโฟมชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประกอบกันเข้าให้เหมือนหัว เวลาทำก็ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ด้วย แลกเปลี่ยนกันเรื่องต่างๆ ไม่เครียดเลย"

 

ขั้นตอนการทำหัว เป็นขั้นตอนที่ละเอียดและยากที่สุด เพราะต้องอาศัยความอดทน แต่เด็กๆ ก็ไม่ย่อท้อ เพราะนอกจากการอบรมจะเน้นการผลิตเป็นหลักแล้ว ยังมีกิจกรรมเสริมจากพี่ๆ ช่วยกระตุ้นพลังจากภายในตัวเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ทั้งนี้ กระบวนการต่างๆ จะสอดคล้องเชื่อมโยงกัน เพื่อช่วยให้เกิดการบ่มเพาะความเชื่อมั่นในตัวเองได้อย่างดี

 

"การเลือกกิจกรรมมาประกอบของพี่ๆ เป็นการฝึกสมาธิ และแยกประสาทสัมผัสได้ดี คือปากจะต้องเล่าเรื่องราวโดยต้องฝึกเชิดบ่อยๆ ส่วนมือก็ต้องทำท่าประกอบ โดยที่ทั้งสองอย่างจะต้องสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดทักษะที่เป็นพื้นฐานไปสู่การเล่นละครหุ่นต่อไป" น้องเปิ้ล ด.ญ.อชินันท์ หะเทศ บอกเล่า

 

สำหรับเด็กๆ ที่ประสบภัยสึนามิกลุ่มนี้ ล้วนแต่เคยเผชิญภัยและต้องหนีตายกันอย่างอลหม่านแล้วทั้งนั้น สภาพจิตใจที่อยู่กับฝันร้ายมาเนิ่นนานทำให้พวกเขาไม่อาจเชื่อใจแวดล้อมรอบข้างได้เต็มร้อย แต่กิจกรรมในครั้งนี้ช่วยให้พวกเขาเหล่านี้รักในเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนต่างวัย และเพื่อนต่างที่มา ได้อย่างสนิทใจมากขึ้น

 

 

น.ส.นภาพร หาญจิตร หรือ เยาะ เยาวชนจากบ้านทะเลนอก อธิบายว่า "คนที่เข้าไปในหมู่บ้านหลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ ล้วนแต่เข้าไปสำรวจ สำรวจทั้งความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ สำรวจแล้วก็จากไปหลายราย ทำให้ชาวบ้านที่นี่ ไม่เชื่อว่าคนที่เข้ามาจะเข้ามาช่วยเหลือจริง เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราก็ผิดหวังมาเยอะ"         

 

ครั้งนี้ก็เช่นกัน การเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อเล่นละครให้ชาวบ้านและเด็กๆ รับชม ต้องใช้ความพยายามในการเชิญชวนคนมาดูมากกว่าปกติ แต่เด็กๆ ก็รู้สึกสนุกสนานกับการประชาสัมพันธ์ และการจัดฉากอย่างง่ายในหมู่บ้านเรื่องที่นำมาเล่นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสึนามิเลยแม้แต่น้อย โดยเด็กๆ หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่าอยากลืมเหตุการณ์นั้นไป แรกๆ ถ้าใครถามถึงก็จะน้ำตาไหล แต่ตอนนี้กลับไม่อยากพูดถึงอีก

 

ละครสองเรื่องที่ชาวบ้านในหมู่บ้านทะเลนอกได้ชมจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเยาวชนล้วนๆ เรื่องแรกกล่าวถึงเด็กวัยรุ่นที่ชอบซิ่งรถ ไม่ชอบเก็บเงิน สุดท้ายก็ต้องได้รับบาดเจ็บ แต่โชคยังดีที่มีเพื่อนๆ คอยให้ความช่วยเหลือจนทำให้ความสำนึกดีกลับมา

 

ส่วนอีกเรื่องเป็นเหตุการณ์ในโรงเรียน เหมาะกับเด็กเล็กๆ เพราะเป็นการสอนให้รู้จักทิ้งขยะให้เป็นที่ หากไม่ทำดี ตัวขยะน่าเกลียดน่ากลัวก็จะไปเข้าฝันทำให้ฝันร้ายตามาหลอกหลอน

 

"ผมชอบการเล่นละคร เพราะจะได้พูดด้วยเสียงต่างๆ รู้สึกสนุกกับการพูดและเล่าเป็นเรื่องราว" ด.ช.จักรพันธ์ ชูดำ วัย ๑๓ ปี ซึ่งแสดงเป็นตัวเอกที่ชอบทิ้งขยะเรี่ยราด เล่าพร้อมรอยยิ้ม

 

ปิดเทอมของเด็กๆ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกครั้งนี้ มากด้วยเสียงหัวเราะ และเต็มไปด้วยน้ำใจที่ต่างมีให้กัน บวกกับเสียงปรบมือและเสียงหัวเราะที่เพิ่มความดังขึ้นทุกขณะที่ละครเปลี่ยนฉาก เป็นผลให้ความลงตัวที่เกิดจากน้ำแรงของเด็กๆ มีความหมายในตัวมันเอง

 

แม้เด็กๆ จากที่อื่นๆ จะเจอสถานการณ์ดีร้ายต่างกัน แต่ในทุกๆ ช่วงเวลาย่อมมีเรื่องเล่าแบบสร้างสรรค์ต่างมุมมองไม่แพ้กัน.

 

ร้อยดาว รายงาน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท