รื้อคดีธุรกิจ (โกง) ข้ามชาติ กับความจำเป็นขององค์กรเฝ้าระวัง

 

 

ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระลอกคลื่นของการตัดสินคดีซึ่งมีบรรษัทข้ามชาติเป็นจำเลย ค่อยๆ ทยอยมากระทบโสตประสาทและยังคงค้างอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วโลก

 

ไล่มาตั้งแต่การพิจารณาคดีเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อกรณีที่บรรษัทค้าพลังงานยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอย่าง "เอนรอน" (Enron) ต้องล่มสลายลงในปี 2544 รวมถึงคดีที่ผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทแดวูแห่งเกาหลีใต้ ถูกนำตัวไปขึ้นศาลเพื่อดำเนินคดีและตัดสินความผิดในคดีทุจริต อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้าง

 

ความสะใจที่ได้เห็นนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ถูกตัดสินให้มีความผิดไม่ใช่คำตอบของเรื่องทั้งหมด แต่การที่ได้เห็นอดีตผู้มีอิทธิพลทางการเงินและธุรกิจได้รับการพิจารณาโทษเช่นดียวกับบุคคลทั่วไปก็พอจะทำให้ประชาชนทั้งหลายใจชื้นขึ้นมาได้บ้างว่าอย่างน้อยที่สุด กระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่ถูกทำลายไปเสียหมดด้วยอำนาจเงินหรืออำนาจการแทรกแซงอื่นๆ

 

หากผลพวงที่สำคัญที่สุดจากการพิจารณาคดีทั้งหลายคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนหันมาตั้งคำถามกับการดำเนินงานของบรรษัทต่างๆ มากขึ้น และช่วยให้มีการมองอย่างรอบด้านว่าผลประกอบการหรือกำไรมหาศาลที่บรรษัทแต่ละแห่งได้มานั้นมีที่มาอย่างไร และผ่านกระบวนการเอารัดเอาเปรียบผู้คนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อที่สังคมจะได้ไม่ต้องมีเหยื่อจากการบริหารบรรษัทแบบไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นอีก

 

เบื้องหลัง "ยักษ์ล้ม"

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ข่าวครึกโครมที่อยู่ในกระแสโลก (นอกจากเหตุการณ์ 9/11) คงหนีไม่พ้นข่าวคราวการล่มสลายของเอนรอน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางธุรกิจสูงติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลกโดยการจัดอันดับของนิตยสาร Fortune ปี 2543 แต่แล้วจู่ๆ เอนรอนก็ประกาศว่าบริษัทล้มละลาย และใช้สถานะความเป็นนิติบุคคลล้มละลายเป็นข้ออ้างในการลอยแพพนักงานทั้ง 21,000 คน โดยไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องจ่ายเงินชดเชยพนักงานแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ผู้บริหารระดับสูงๆ (ที่กอบโกยเงินไปแล้วตั้งมากมาย และรู้ข้อมูลวงในก่อนใคร จึงสามารถหาทางล้มบนฟูกได้โดยที่ตัวเองไม่ต้องเจ็บตัว)

 

การล้มละลายของเอนรอนกลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของแวดวงธุรกิจทั่วโลก และเป็นคดีแรกที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากได้รู้จักกับการประกอบธุรกิจอันทุจริตฉ้อฉลผ่านการตกแต่งบัญชีและการสร้างภาพสวยหรูให้กับผลประกอบการ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของราคาหุ้นเอนรอนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งนับเป็นกลโกงอย่างหนึ่งในแวดวงธุรกิจการค้า (Trading) ที่มักจะไม่มีสินทรัพย์มารองรับอย่างเป็นกิจจะลักษณะเหมือนธุรกิจการลงทุน (Investment)

 

ก่อนหน้านี้ เอนรอนได้ชื่อเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกในการทำธุรกิจการค้ารายแรกๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลาง ในการซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงรูปแบบต่างๆ

 

ธุรกิจการค้าประเภทนี้สามารถทำได้โดยที่เอนรอนไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์โรงไฟฟ้าหรือท่อก๊าซธรรมชาติใดๆ เพื่อนำมารองรับการซื้อขาย ซึ่งตลอดการดำเนินงานในช่วงสิบกว่าปีหลัง เอนรอนก็อาศํยธุรกิจการค้านี้ให้ได้มาซึ่งรายได้และผลกำไรสูงถึงร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด

 

ขณะเดียวกัน ชื่อของ เคนเนธ เลย์ (Kenneth Lay) ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง รวมถึง เจฟฟรี สกิลลิง (Jeffrey Skilling) ประธานฝ่ายดำเนินการ และ แอนดรูว์ ฟาสโตว์ (Andrew Fastow) ประธานฝ่ายการเงิน ถูกจัดให้เป็นขุนพลทางเศรษฐกิจที่ใครๆ ก็ต้องจับตามอง

 

โดยเฉพาะฟาสโตว์ได้รับการขนานนามว่าเป็น พ่อมดแห่งโลกการเงิน ผู้สรรค์สร้างโครงการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งส่งให้เอนรอนกลายเป็นบริษัทที่เจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง หรือ The Most Innovative Company

 

ชื่อเสียงของเอนรอนในฐานะบรรษัทที่ยิ่งใหญ่ได้รับคำนิยมอย่างถ้วนทั่ว และกลายเป็นแบบอย่างให้บริษัททั่วโลกปักหมุดหมายไว้เป็นหลักชัยกับเขาบ้าง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าธุรกิจการค้าแบบนี้ก่อให้เกิดภาระผูกพัน (Liabilities) เป็นเงินมูลค่ามหาศาล

 

นอกจากนี้ สกิลลิงเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องการให้เอนรอนเป็นบรรษัทที่สามารถตักตวงประโยชน์ให้ได้อย่างรวดเร็วจากการเป็นผู้นำธุรกิจในตลาดการค้าพลังงานน้ำ และธุรกิจสื่อสารแบบบรอดแบนด์ ฟาสโตว์จึงคิดรูปแบบกิจการนอกบัญชีที่เรียกว่า Special-Purpose Entity (SPE) ขึ้น เพื่อให้กิจการเหล่านี้เป็นที่รองรับหนี้สินที่โยกย้ายมาจากเอนรอน และช่วยกำจัดรายการหนี้สินต่างๆ ออกจากบัญชีหลัก

 

ผลก็คือยอดกำไรของเอนรอนดูสวยหรูกว่าตัวเลขประกอบการของบริษัทอื่น ราคาหุ้นของเอนรอนก็สูงถึง 90 ดอลลาร์ต่อหุ้นในปี 2543 (ประมาณ 4,050 บาท) ตัวเลขรายได้ของบรรษัทตามที่แสดงในบัญชีของเอนรอนจึงเป็นตัวเลขที่สูงเกินความจริง เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงถูกซ่อนอยู่ในกิจการนอกบัญชีที่ฟาสโตว์ตั้งขึ้นมาเป็นจำนวนหลายร้อยแห่งทั่วโลก

 

เมื่อภาระหนี้สินและความเสี่ยงถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในปี 2544 ราคาหุ้นก็ลดฮวบฮาบลงอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง 0.01 ดอลลาร์ต่อหุ้น และเอนรอนก็ประกาศล้มละลายในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง

 

กลโกงของบรรษัท (ฉาว) ข้ามชาติ

นับตั้งแต่ Enron ยื่นขอล้มละลาย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2544 ตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ในปี 2545 ล้วนได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า เพราะมูลค่ารวมของตลาดหุ้นลดลงไปถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9 ล้านล้านบาท) และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่ากลโกงทางธุรกิจเหล่านี้มีส่วนทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกสะบักสะบอมจนถึงปัจจุบัน

 

หลังจากที่เอนรอนประกาศตัวล้มละลายได้ไม่นาน ผู้บริหารระดับสูงของเอนรอนซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนก็ตบเท้าเข้าขอรับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้มละลาย (Chapter 11) ของสหรัฐฯ ทันที เอนรอนจึงได้รับไฟเขียวอนุญาตให้สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ เพื่อคงสภาพคล่องของบรรษัทไว้ แต่บรรดาเจ้าหนี้ รวมไปถึงธนาคาร และกองทุนบำเหน็จบำนาญที่ร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ของเอนรอนกลับต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมหาศาล เพราะไม่อาจทวงถามความรับผิดชอบจากใครได้

 

แม้กระทั่งบริษัทตรวจสอบบัญชีชื่อดังอย่าง แอนเดอร์เซน (Andersen) ซึ่งรับเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีแบบขาประจำให้กับเอนรอนก็ต้องเจอกับกระแสการต่อต้านจากบริษัทอื่นๆ ที่เป็นลูกค้า โทษฐานปกปิดข้อมูลและร่วมมือทำลายเอกสารของเอนรอน เพื่อป้องกันการตรวจสอบย้อนหลัง บรรดาลูกค้าจึงพากันตีจากจนแอนเดอร์เซนต้องปิดตัวเอง ทำให้ผู้มองว่าบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ดำเนินงานมาหลายสิบปีอย่างแอนเดอร์เซนก็ตกเป็นเหยื่อของเอนรอนเช่นกัน แต่ถ้าจะมองอย่างจริงจัง คงต้องบอกว่าแอนเดอร์เซนแพ้ภัยตัวเองที่มีส่วนร่วมในการปกปิดข้อมูลในบัญชีของเอนรอนมากกว่า

 

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเอนรอนอย่างแท้จริงก็คือพนักงาน 4,000 คนที่ทำงานกับเอนรอนสำนักงานใหญ่ และพนักงานอีกราวๆ 17,000 คนที่สังกัดในบริษัทลูกข่ายของเอนรอนทั่วโลกที่ต้องสูญเสียเงินบำนาญ รวมถึงเงินออมพนักงานที่สะสมมาตลอดตั้งแต่เข้าทำงาน แน่นอนว่าการสูญเสียอย่างหลังส่งผลกระทบอันหนักหน่วงไปยังคนเล็กๆ ที่เป็นรากฐานของสังคมอเมริกันแบบเต็มๆ

 

บรรดาองค์กรเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่พลเมืองผู้เคราะห์ร้ายจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สภาคองเกรสเข้ามาตรวจสอบเงื่อนงำการล่มสลายของเอนรอน เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบต่อกรณีฉาวข้ามชาตินี้

 

คนแรกที่โดนพิจารณาคดีคือ แอนดรูว์ ฟาสโตว์ ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมการลงทุนและตกแต่งบัญชีให้แก่เอนรอน หลังจากที่การพิจารณาคดียืดเยื้อมาจนถึงปี 2547 ฟาสโตว์ก็รับสารภาพว่าตนตกแต่งบัญชีและใช้ข้อมูลภายในของบริษัทแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจริงอย่างที่ถูกกล่าวหา เขาจึงถูกตัดสินอย่างเบาะๆ ให้เข้าไปใช้ชีวิตในคุก 40 ปี

 

แต่สิ่งที่น่ายินดีสำหรับผู้ติดตามคดีนี้ก็คือการที่ศาลชั้นต้นของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ว่าเคนเนธ เลย์ และเจฟฟรี สกิลลิง ซึ่งเป็นประธานผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมีความผิด 19 และ 6 ข้อหา ซึ่งทั้งคู่อาจได้รับโทษจำคุก 165 ปี และ 185 ปี ตามลำดับ

 

แม้จะมีข่าวว่าทนายของทั้งคู่เตรียมตัวยื่นฟ้องศาลอุทธรณ์อีกครั้งภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่กระแสข่าวในสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าศาลคงไม่ทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองด้วยการรับอุทธรณ์คดีอีกครั้ง เพราะงบประมาณที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวเป็นเงินจำนวนที่ต้องรีดมาจากภาษีประชาชน

 

นอกเหนือจากข่าวการตัดสินคดีเอนรอน วันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา ศาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินให้ คิมวูซุง (Kim Woo Soung) ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทแดวู (Daewoo Group) ถูกริบทรัพย์สินจำนวน 22,000 ล้านดอลลาร์ (836,000 ล้านบาท) และถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ในคดีฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์เช่นกัน

 

อดีตนักธุรกิจเกาหลีใต้ถึงกับเป็นลมล้มลงทันทีหลังจากที่ศาลพิพากษาเป็นที่เรียบร้อย เพราะคิมวูซุงเป็นผู้สูงอายุวัย 69 ปี และมีโรคหัวใจรุมเร้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้จะมีนักข่าวแสดงความเห็นอกเห็นใจเรื่องของสังขาร แต่คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าคิมวูซุงสมควรได้รับการพิจารณาโทษครั้งนี้แล้ว

 

เพราะก่อนที่อาณาจักรแดวูจะล้มละลายในปี 2542 เพราะโดนหางเลขของวิกฤตเศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตกทั่วโลก คิมวูซุงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการให้บรรดาผู้บริหารบริษัทต่างๆ ในเครือตกแต่งบัญชีทรัพย์สินให้มียอดรวมสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อที่จะได้เงินกู้จากธนาคารเป็นจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็น

 

จากนั้นคิมวูซุงก็ถ่ายโอนเงินกว่า 3,200 ล้านดอลลาร์ (121,600 ล้านบาท) ไปเข้าบัญชีที่ต่างประเทศ แล้วจึงหลบหนีออกจากเกาหลีใต้ และถูกจับกุมตัวเมื่อเขาเดินทางกลับมาที่เกาหลีใต้เพื่อผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

 

การล้มละลายของแดวูก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก เพราะสภาพคล่องทางเศรษฐกิจถูกบิดเบือนด้วยข้อมูลเท็จ และยังมีการใช้ข้อมูลภายในโอนขายหุ้นก่อนที่บริษัทจะประกาศลัมละลาย ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่เอนรอนใช้

 

แม้ความเสียหายที่เกิดจากการล่มสลายของแดวูจะไม่ส่งผลไปไกลถึงระดับโลก แต่ก็มีส่วนทำให้สภาพเศรษฐกิจภายในทวีปเอเชียต้องปั่นป่วนมิใช่น้อย

 

ลูกไม้เดิมๆ และความเคยชินของสังคม

หลังจากกรณีเอนรอนและแดวูเกิดขึ้น กระบวนการทุจริตภายในบริษัทที่อาศัยการตกแต่งบัญชีและการใช้ข้อมูลภายในเทขายหุ้นก่อนประกาศล้มละลาย รวมถึงการขนเงินไปฟอกที่ต่างประเทศก็กลายเป็นกลโกงง่ายๆ ที่บริษัทหลายต่อหลายแห่งทั่วโลกนิยมใช้กัน ในกรณีที่ต้องการหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าผู้บริหารระดับสูง (เพราะแน่นอนว่าทรัพย์สินทั้งหลายที่ได้มาคงไม่มีทางกระเซ็นกระสายไปถึงพนักงานระดับล่างๆ ของบริษัท)

 

ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของบรรษัททั่วโลกเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าการดำเนินงานโดยไม่สนใจบริบทหรือโครงสร้างของสังคมก่อให้เกิดความล่มสลายในด้านต่างๆ อย่างไร และกระบวนการที่บรรษัทแต่ละแห่งใช้ก็เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมมากมายให้เราต้องติดตามอยู่เสมอ ซึ่งวิธีที่ใช้กันมาก ได้แก่

 

(1) การคอรัปชั่นหรือการทุจริตภายในองค์กร มีกรรมวิธียอดฮิตที่พูดถึงไปแล้ว ได้แก่ การฟอกเงิน การใช้ข้อมูลภายในหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง การตกแต่งบัญชี การล็อบบี้และติดสินบน การเชิดตัวแทนหุ้น รวมไปถึงการสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจด้วยการปั่นมูลค่าของหุ้น

 

(2) การให้เงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นักธุรกิจนิยมทำกันมาก เพื่อเป็นใบเบิกทางให้พรรคการเมือง (โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล) ผลักดันนโยบายต่างๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่การดำเนินธุรกิจ ของบริษัทที่ให้การสนับสนุน ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจและการทุจริตเชิงนโยบาย

 

(3) การพิจารณาเพิ่มเงินเดือนและเงินโบนัสให้กับผู้บริหารระดับสูงเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นด้วยการใช้เสียงข้างมากกดดันให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ต้องยินยอม นี่คือการเอารัดเอาเปรียบคนทำงานที่เป็นรากฐานขององค์กรอย่างยิ่ง เพราะะพนักงานระดับล่างไม่สามารถเรียกร้องให้มีการตรวจสอบใดๆ ได้

 

วิธีการทั้งหมดเป็นเพียงลูกไม้เก่าๆ แต่ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องยากที่จะจับให้มั่นคั้นให้ตายในแวดวงสังคมที่พึ่งพิงระบอบทุนนิยมเป็นหลัก เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยสนใจตั้งคำถามว่าเหตุใดการประกอบกิจการหรือธุรกิจต่างๆ จึงประสบความสำเร็จและทำเงินจำนวนมากมายมหาศาล และสังคมที่ให้ค่ากับระบอบทุนนิยมก็มักจะชื่นชมนักธุรกิจรวยๆ ซึ่งพร้อมจะยกย่องว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จได้ทุกเมื่อ

 

ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นกระบวนการทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเอารัดเอาเปรียบ แต่ผู้บริโภคน้อยคนนักที่จะยอมรับว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ

 

ความจำเป็นของการเฝ้าระวังและกลไกตรวจสอบ

โครงการใหญ่ๆ ของบรรษัทต่างๆ มิได้ส่งผลกระทบแค่ผู้คนทั่วไปเท่านั้น แต่บางครั้งก็ทำให้สั่นสะเทือนไปถึงสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลส่วนใหญ่ก็พร้อมจะสนับสนุนแผนการ และนโยบายของบรรษัทอย่างเต็มอกเต็มใจ

 

กิจการของบรรษัทมากมายมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองทองในทวีปแอฟริกา อุตสาหกรรมกระดาษในอุรุกวัย จนถึงการเจริญเติบโตของบรรษัทที่รับดำเนินการเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่เหล็ก ถลุงเหล็ก แปรรูป และส่งออกเหล็กของทาทากรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของอินเดียมานานนับสิบๆ ปี

 

แทนที่ประชาชนซึ่งอยู่อาศัยอยู่ในแถบที่บรรษัทไปตั้งจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปก็กลายเป็นว่าคนมากมายต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกิน และต้องเผชิญกับปัญหาสภาพแวดล้อมถูกทำลาย ขณะเดียวกันสภาวะโลกร้อนก็ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีโดยที่ประชากรกว่าค่อนโลกตระหนักถึงปัญหาข้อนี้น้อยมาก

 

ทุกครั้งที่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและการทุจริตในแวดวงธุรกิจ แนวคิดเรื่องบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ที่พูดถึงการดำเนินกิจการอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และการคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม มักถูกชูประเด็นขึ้นมา แต่วิธีการเหล่านี้ก็ไม่ได้ผลอย่างที่คิด

 

ในประเทศไทยมีการทำวิจัยออกมาแฉความจอมปลอมของบรรษัทภิบาลในภาคธุรกิจของไทย ซึ่งสถาบันที่ทำการวิจัยเรื่องดังกล่าวก็คือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI: Thailand Development Research Institute) นั่นเอง

 

ความล้มเหลวของบรรษัทภิบาลไทยส่วนใหญ่เกิดจากการเชิดตัวแทนหุ้น หรือ Nominee เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตนในการค้ากำไร รวมถึงการปล่อยกู้แก่เครือญาติหรือบุคคลที่รู้จัก (Connected Lending)

 

ปัญหาการขาดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจกลายเป็นปัญหาใหญ่ และทำให้เกิดองค์กรฝ้าระวังขึ้นทั่วโลก

โดยองค์กรเฝ้าระวังและตรวจสอบผู้ประกอบการเหล่านี้พยายามเข้าไปมีบทบาทเรียกร้องและตรวจทานว่าวิธีการบริหารและดำเนินงานของบรรษัท รวมถึงบริษัทแต่ละแห่ง ไม่ควรมุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับผู้คนในสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วด้วย

 

อย่างไรก็ตาม องค์กรเฝ้าระวังและตรวจสอบการดำเนินงานของบรรษัทส่วนใหญ่มักถูกพะยี่ห้อว่าเป็นพวกซ้ายตกขอบที่ต่อต้านระบอบโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization) หรือไม่ก็พวกองค์กรพัฒนาเอกชนที่คอยขัดขวางความเจริญของประเทศต่างๆ แต่สังคมก็จำเป็นต้องมีองค์กรเหล่านี้เพื่อถ่วงดุลและตรวจสอบมิให้มีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นมากไปกว่าเดิม เพื่อที่กรณีตัวอย่างแบบเอนรอนและแดวูจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท