Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้แถลงยุติบทบาทพร้อมทั้งเสนอรายงานเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้หลังจากที่ทำงานมากว่าหนึ่งปีต่อรัฐบาลและต่อสังคม


 


ค่ำคืนวันที่ 8 มิถุนายน "ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" นักวิชาการที่มีตำแหน่งรองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ที่สวมหมวกอีกใบหนึ่งคือ กอส.ที่มีฐานะเป็นผู้อำนวยการงานวิจัย ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นมุสลิมด้วย ในคนๆเดียวที่มีความหลากหลายนี้ได้ไปอธิบาย เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้นักข่าวต่างประเทศ ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศ พร้อมเปิดโอกาสได้ซักถามเกี่ยวกับสิ่งที่เขารู้


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ที่มีความหลากหลายในตัวเองบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้นั้นแทรกอยู่ในรายงานบทแรก นั่นคือ "ความเป็นมนุษย์"


 


"รายงาน กอส. มันเริ่มจากเด็กสองคน ไม่อยากให้มองปัญหาจากอะไรทั้งนั้น แต่อยากจะให้มองปัญหาจากมุมของมนุษย์และจากมุมของเหยื่อที่เป็นเด็ก หมายความว่าคุณมองอนาคต และโจทย์ของคุณคือ ถ้าไม่อยากเห็นเด็กอย่างนี้อีกจะมุ่งไปหาวิธีป้องกันละแก้" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว


 


ขอสอดนิดนึงว่า บทแรกในรายงาน กอส. เป็นเรื่องราวของ เด็กหญิงอัมมนา และเด็กชายยศธร ที่ควรอ่าน เพราะนี้เป็นการเปิดโอกาสให้หัวใจได้สัมผัสถึงความเจ็บปวดทรมานของเหยื่อที่เป็น "เด็ก"ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า "คุณ" มองเด็กที่กำลังปวดร้าวกับการสูญเสียเป็นอะไรกันแน่ ถ้าอ่านแล้วมองว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ ก็จงปิดมันเสียเถิด แต่ขอความกรุณาให้นั่งเงียบๆ อย่าวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงก้าวร้าวกับใคร เพราะถ้ามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ในหมวกที่ต่างกันคุณคงมีส่วนช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้แล้วล่ะ รังแต่จะทำให้สถานการณ์บานปลายขึ้น


 


นอกเรื่องไปนิด เอาเป็นว่าหลังจากนี้จะขอเล่าเรื่อง "ความหวังในก้นกล่องแพนโดร่า" เมื่อค่ำคืนวันที่ 8 มิถุนายน ของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศให้ฟัง


 


หลังการยื่นรายงาน กอส. ครั้งสุดท้ายจำนวน 3 ฉบับ แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี แล้ว รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกกับนักข่าวต่างประเทศว่า มีสัญญาณการตอบรับที่ดีจากนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าถามว่าการแก้ปัญหาจะกินเวลานานเท่าไหร่ ตอบได้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะการแก้ปัญหานั้นสามารถจะถอยหลังไปได้เสมอเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นแม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม


 


"ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างกรณีครูจูหลิง บรรยากาศของภาคใต้ยังอยู่ในขั้นที่ยังสามารถอภัยให้กันได้ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความกดดันและตึงเครียดยังคงค้างอยู่ในพื้นที่ แต่เราก็ยังไม่ถึงขั้นที่ไปถึงจุดแตกหักจนไม่สามารถย้อนกลับมาได้ สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ผมเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่าถ้าหากเรามีการเข่นฆ่าและใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นแม้เพียงครั้งเดียว มันจะทำให้เราต้องถอยหลังกลับไปอีกก้าว


 


"สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้คือการละเมิดข้อห้าม (Erosion of Taboo) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากขึ้น เช่น มีเหตุการณ์ดักยิงพระภิกษุระหว่างบิณฑบาต แต่ตอนนี้ร้ายแรงถึงขนาดบุกไปยิงพระสงฆ์ถึงในอุโบสถ ซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่อุกอาจมาก ทำให้ชาวพุทธปักใจเชื่อว่าคนที่ทำเช่นนี้จะต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ และกระแสความไม่พอใจก็จะมุ่งไปยังผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงมากขึ้น"


 


เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่ทำไมประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับรู้ข่าวสารที่รอบด้าน รับรู้แต่ข่าวการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน ไม่มีใครพูดถึงสาเหตุ ไม่มีใครพูดถึงผลกระทบจากความุรนแรงที่มีต่อสังคมเลย กอส.จะทำอย่างไรให้ประชาชนไทยหันมาสนใจและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่านี้


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ตอบโดยละเอียดว่า ตอนที่ กอส.จัดทำรายงานฉบับนี้ ร่างแรกเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว สถานการณ์ในบ้านเมืองก็มีแต่ความวุ่นวายหลังจากนั้น จึงไม่แน่ใจว่าถ้าส่งรายงานและคำแนะนำไปให้รัฐบาลแล้วจะมีใครจะสนใจพิจารณาและรับผิดชอบต่อไป หรือในกรณีที่รัฐบาลรับเอารายงานไปใช้ก็ไม่รู้ว่าขั้นตอนเหล่านั้นจะกินเวลานานถึงเพียงไหน กอส.เองก็ต้องคาดการณ์ให้ได้ว่าจะเสนอรายงานออกมาในช่วงไหนให้คนสนใจ ก็พอดีกับที่มีข่าวค้นพบศพนิรนามที่ภาคใต้ การออกมาในจังหวะนี้จึงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกเวลามากที่สุด แต่ก็เจอกับพระราชพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี และมีคนเพียงจำนวนน้อยที่ติดตามข่าวนี้อย่างจริงจังใกล้ชิด


 


ส่วนคำถามที่ว่า กอส.จะทำอย่างไรให้ประชาชนไทยหันมาสนใจปัญหาภาคใต้มากขึ้น คงต้องย้อนกลับไปพูดถึงการเขียนความทรงจำในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านๆ มานั้น ประวัติศาสตร์ภาคใต้ถูกแทรกแซงจากเสียงที่มีอำนาจมากกว่าเสมอ ทำให้กระบวนการเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพลอยบิดเบือนไปด้วย การมองว่าปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นจากบริบททางการเมืองเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องถามด้วยว่าแล้วคนภาคใต้อยากได้รัฐบาลแบบไหน


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังอธิบายให้นักข่าวต่างประเทศฟังเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพิธีกรรมฝังศพ ที่มีการรายงานว่าญาติหรือครอบครัวของผู้เสียชีวิตถูกโน้มน้าวจากผู้นำศาสนาให้ละเว้นการชำระและไม่มีการละหมาด รวมทั้งไม่มีการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายใหม่ โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่าผู้ที่ตายคือผู้เสียสละพลีชีพเพื่อพระอัลเลาะห์ (ชะฮีด) ว่าการทำชะฮีดจะต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของครอบครัวหรือญาติของผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐด้วย เพราะคงไม่มีใครอยากจดจำสมาชิกในครอบครัวอันเป็นที่รักในฐานะโจรผู้ร้ายที่ถูกฆ่าโดยรัฐ แต่คงอยากจะจดจำพวกเขาในฐานผู้เสียสละตนเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังมากกว่า


 


ความแตกต่างเรื่องภาษาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง การมองว่าชาวบ้านในภาคใต้ไม่มีความรู้ และถูกผู้ไม่ประสงค์ดีชักจูงได้ง่ายเป็นเพราะเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ เป็นการมองโดยไม่เข้าใจในสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่นั้นเลย บริเวณชายแดนภาคใต้ถูกล้อมรอบด้วยกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษามลายู การที่คนในแถบนั้นพูดภาษาเหล่านี้ได้ไม่ใช่เรื่องแปลก บางทีอาจเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมมากกว่า เพราะถ้าคนไทยพูดได้หลายภาษาก็ถือเป็นข้อได้เปรียบของประชาชนเอง


 


ส่วนที่มาของข้อมูล กอส. มาจาก 3 ส่วน คือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รวบรวมมา รายงานข่าวจากแหล่งข่าวทั่วไป และข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปรวบรวมมาได้


 


ความคิดเห็นต่อการทำงานของ กอส.ก็มีการสำรวจเช่นกัน ชาวบ้านในพื้นที่ร้อยละ 51 เห็นด้วยกับการทำงาน ในขณะที่ร้อยละ 45 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ กอส. อุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทำงานบางครั้งก็ได้รับความกดดันจากรัฐบาลบ้าง โดยกระทรวงที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของ กอส.มีอยู่ถึงสองกระทรวงคือกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย


 


คนของรัฐบอกเองว่าไม่ควรมี กอส. และให้เหตุผลประกอบว่า กอส.ไม่มีความเป็นกลาง คณะกรรมการฯ ที่ได้รับเลือกไม่เหมาะสมเพราะขาดความความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะทาง และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนก็เกรงว่าจะมีการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้น


 


เมื่อถามว่า กอส. ติดกับคำว่าสมานฉันท์จนไม่กล้าเสนอในเชิงรุกแก่รัฐบาลหรือไม่ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ตอบว่าเป็นเรื่องที่แล้วแต่จะอธิบายคำว่าสมานฉันท์อย่างไร ในส่วนของ กอส.นั้นไม่ได้อธิบายว่าเป็นการมานั่งดีกัน ยิ้มให้กัน แต่หมายถึงปัญหาเรื่องความยุติธรรม ปัญหาเรื่องการเปิดเผยความจริง ความพร้อมรับผิด ปัญหาเรื่องการให้อภัย ปัญหาเรื่องการสานเสวนกับกลุ่มเสี่ยง ปัญหาเรื่องสันติวิธี ปัญหาเรื่องจินตนาการหารูปแบบความสัมพันธ์ ปัญหาเรื่องการยอมรับความเสี่ยง ในเซนส์นี้จึงไม่ได้หมายถึงการนั่งพูดคุยกัน ถามว่าติดกับนิยามสมานฉันท์หรือไม่นั้น คิดว่ามันเปิดช่องให้ทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่า


                                       


อย่างที่สองที่บอกว่า กอส. จะพูดกับรัฐบาลนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในลิสต์ที่ทำ ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อว่าจะหวังกับรัฐบาลได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องทำตามสิ่งที่ถูกกดดันโดยสังคม และกอส. ได้เสนอแนะต่อภาคประชาสังคมไปหลายเรื่อง


 


"เรื่องการทำงานของ กอส.อาจมีอุปสรรคบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็คงเหมือนกับตำนานเทพปกรณัมของกรีกที่พูดถึงกล่องแพนโดรา เมื่อสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงหลุดออกไปสู่โลกจนหมดแล้ว ที่ก้นกล่องก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า "ความหวัง" หลงเหลืออยู่" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net