รายงาน : มองสื่อไทยและชายแดนใต้ จากสื่อเสรีใต้ข้อจำกัดการเมือง "มาเลเซียกินี"

ทีมงานทุบกำแพงเสรีภาพ 'มาเลเซียกินี'

 

 

สตีเวน กัน

สตีเวน กัน บรรณาธิการบริหาร 'มาเลเซียกินี'

 

หากต้องการทำความกระจ่างเกี่ยวกับ "หลักการของสื่อเสรี" บางทีสื่อมวลชนไทยอาจต้องเรียนรู้จากสื่อมวลชนมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรา ผู้ซึ่งเรียกร้อง และรอคอย "สื่อเสรี" มาโดยตลอด ทั้งที่ความเป็นไปได้ปรากฎรูปเพียง "เงาบางๆ" เท่านั้น

ไม่ไกลนักจากใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นที่ตั้งของสำนักงานเว็บไซต์มาเลเซียกินี www.malaysiakini.com (คำว่ามาเลเซียกินี มีความหมายว่า มาเลเซียในวันนี้) ผู้มาเยือนทุกคนจะได้รับการต้อนรับด้วย "กำแพงแห่งเสรีภาพสื่อมวลชน" (Press Freedom Wall) กำแพงนี้เป็นกำแพงอิฐจำลอง มีฉากหลังเป็นสิ่งพิมพ์ของสื่อกระแสหลักที่ถูกสั่งระงับการเผยแพร่โดยผู้มีอำนาจ แต่ที่นี่ ณ ที่ทำการ ของ "มาเลเซียวันนี้" สิ่งพิมพ์เหล่านั้นกำลังแสดงตนอย่างงามสง่าทักทายผู้มาเยือน

จากคำบอกเล่าของ สตีเวน กัน บรรณาธิการบริหาร และหนึ่งในสองผู้ก่อตั้งมาเลเซียกินี "ในมาเลเซีย พลเมืองของเรามีสิทธิเสรีภาพในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น แต่สิ่งที่ไม่มีก็คือ สิทธิเสรีภาพ-ภายหลัง-จากที่ได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นไปแล้ว"

 

ในทัศนะของสตีเวน สื่อมวลชนไทยกับสื่อมวลชนมาเลเซียมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เป็นต้นว่าสื่อมวลชนไทยเรียกร้องและได้รับ "สิทธิเสรีภาพ" ในการแสดงความคิดเห็นมาเป็นเวลานาน สื่อมวลชนไทยมีความพยายามมาโดยตลอดที่จะเรียกร้องเพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล อีกทั้งสื่อมวลชนไทยยังได้รับการรับรองสิทธิและเสรีภาพจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อีกด้วย นอกจากนี้ประชาชนคนไทยเองก็มีความชื่นชมต่อสิ่งที่เรียกว่า "สื่อเสรี" อยู่มาก ในขณะที่สื่อมวลชนมาเลเซียไม่เคยรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพ และ "ประชาชนเองก็ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อเสรี เพราะเขาไม่เคยสัมผัสความสวยงามของสื่อเสรี" สตีเวนกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นมาเลเซียมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีความเป็นเผด็จการสูงมาก จนยากที่จะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยในความเข้าใจของคนทั่วไป

 

การควบคุมสื่อในมาเลเซียถือได้ว่าเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยอานาจของกฏหมายต่างๆ ถึง 35 ฉบับ และอำนาจของทุน ซึ่งหนังสือพิมพ์หลักในมาเลเซียทั้ง 3 ฉบับ อันได้แก่ นิวเสตรทส์ไทม์ เดอะสตาร์ และเดอะซัน เป็นธุรกิจภายใต้การบริหารของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค คือ UMNO MCA และ MIC

 

จากการที่สตีเวนเคยร่วมงานกับหนังสือพิมพ์เดอะ เนชัน ของไทยอยู่ช่วงหนึ่ง เขาได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของการเป็นคนข่าวมาเลย์ที่ได้ร่วมงานกับคนข่าวของไทยอย่างน่าสนใจว่า บรรยากาศในห้องข่าวของสื่อมวลชนทั้งสองประเทศมีความกลิ่นอายของความเป็นมืออาชีพ และความกระตือรือร้นที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันมากเหลือเกิน นั่นคือ "สื่อมวลชนมาเลเซียทำงานภายใต้วัฒนธรรมแห่งความกลัว" การรายงานข่าวแต่ละข่าวเป็นไปด้วยความระมัดระวัง นักข่าวต้องปกป้องตัวเอง ห้ามถาม "คำถามยากๆ" กับนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจ นักข่าวมาเลเซียรู้จักและคุ้นเคยการเซนเซอร์ตัวเองเป็นอย่างดี (self censorship) ในองค์กรข่าวของมาเลเซียนั้นพบว่ามีลำดับขั้นของการเซ็นเซอร์ (Hierarchy of censorship) ตั้งแต่ตัวนักข่าวเอง หัวหน้าข่าว ซับเอดิเตอร์ บรรณาธิการข่าว จนถึงบรรณาธิการบริหาร

 

สตีเว่นขยายความเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้สื่อข่าวว่า ในประเทศไทยประเด็นที่จะต้องระมัดระวังในการกล่าวพาดพิงมีเพียงเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ในมาเลเซียขอบเขตของเรื่องที่จะต้องเซ็นเซอร์กว้างขวางมาก กล่าวคือ ทุกเรื่องที่เกี่ยวพันกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเครือข่ายของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ต้องระวังและหลีกเลี่ยง

 

"นักข่าวรุ่นใหม่ไฟแรงจะถูกล้างสมองให้เขียนในเรื่องที่ปลอดภัยไว้ก่อน" สตีเวนกล่าว นักศึกษาจบใหม่ที่มาสมัครเป็นนักข่าว จะค่อยๆ เรียนรู้ว่าเรื่องไหนเขียนได้หรือไม่ได้ ด้วยความที่ไม่อยากมีปัญหากับบรรณาธิการ ทำให้กระบวนการนี้ค่อยๆ ทำให้นักข่าวรุ่นใหม่หมดไฟและหงอลงเรื่อยๆ "ถ้าคุณจะเป็นนักข่าวของสื่อกระแสหลัก คุณต้องเขียนในสิ่งที่เขาต้องการให้คุณเขียนเท่านั้น"

 

ท่ามกลางความเป็น "ธรรมดา" ของ "สื่อที่ไม่เสรี" ในมาเลเซีย "มาเลเซียกินี" จึงมีสถานภาพที่ไม่ต่างจากสิ่งแปลกปลอมที่สร้างความระคายเคืองให้แก่รัฐบาลและพันธมิตร ดังนั้นการรับสายตรงจากผู้มีอำนาจ การถูกข่มขู่ หรือแม้กระทั่งคุกคาม ด้วยช่องทางต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก หนึ่งในเหตุการณ์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของพนักงานมาเลเซียกินีทุกคน ก็คือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้ายึดเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมเซิร์ฟเวอร์ ด้วยข้อหาการเผยแพร่เนื้อหาที่กระทบความมั่นคงของชาติ

 

ทุกครั้งที่ได้รับสายตรงจากผู้มีอำนาจ ให้นำข่าวออกจากหน้าเว็บไซต์ หรือให้เขียนข่าวใหม่ สตีเวนมักจะตอบกลับไปอย่างสุภาพว่า "เราไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องนั้นได้" แต่สิ่งที่มาเลเซียกินียินดีที่จะทำก็คือนำเสนอความคิดเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในมุมมองที่ต่างไปจากข่าวหรือบทความเดิม

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าสำหรับสื่อทางเลือกนั้น เส้นทางของการยืนหยัดและมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยเพื่อทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ สตีเวนกล่าวว่า ที่มาเลเซียกินีนอกจากพวกเขาจะต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากอำนาจรัฐแล้ว การเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย

 

ก่อนหน้านี้มาเลเซียกินีเคยพึ่งพารายได้ของการขายโฆษณาเหมือนสื่ออื่นๆ ทั่วไป  และนั่นเป็นการบีบบังคับทางอ้อม แต่ทุกวันนี้มาเลเซียกินีอยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนจากผู้อ่านที่สมัครเป็นสมาชิกเป็นหลัก "มาเลเซียกินิอยู่ได้เพราะผู้อ่าน และเราดีใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของมาเลเซีย"

 

จากคำบอกเล่าของสตีเวนนั้นถ้าพิจารณากันอย่างผิวเผิน สื่อมวลชนไทยอาจไม่ได้อยู่ใน "สถานการณ์" และ "สถานภาพ" ที่ยากลำบากอย่างที่สื่อมวลชนมาเลเซียกำลังเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตามการได้เรียนรู้ข้อจำกัดของสื่อมวลชนมาเลเซียน่าจะนำไปสู่การตั้งคำถามว่าสื่อมวลชนไทยได้ใช้เสรีภาพที่มีอยู่และได้รับการรองรับโดยรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้รับข่าวสารหรือไม่

 

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย  จากสารนิพนธ์ของนางสาวสุธางศุ์รัตน์ สุบรรณรักษ์ นักศึกษาปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้แสดงการเปรียบเทียบการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวไทยกับผู้สื่อข่าวมาเลเซีย พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งในประเด็นข่าว ความสมดุลในการให้พื้นที่แหล่งข่าว และภาพตัวแทนของแหล่งข่าวแต่ละฝ่าย

 

สตีเวนมองว่าสื่อมวลชนไทยยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์นัก เขาตั้งข้อสังเกตว่า หากมีทหาร ครู ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐถูกฆ่า เรื่องราวเหล่านี้จะได้รับการรายงานเป็นข่าว มีการให้ชื่อสกุล บอกเล่าคุณงามความดี รวมถึงสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตถึงความเจ็บปวดที่ได้รับ ในขณะที่หากมีชาวบ้านมุสลิมตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง หนังสือพิมพ์มักจะรายงานเพียงว่า "ชาวบ้าน" ถูกฆ่า ไม่มีการตามสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิต ไม่มีแม้กระทั่งการแจ้งชื่อเสียงเรียงนามในบ้างครั้ง ราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีเหยื่อรายล่าสุดของแต่ละวัน "ชาวบ้านเหล่านั้นเขามีหัวใจที่รับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดเช่นกัน" สตีเวนกล่าว

 

ในการรายงานข่าวความสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของไทยนั้น จากสารนิพนธ์ฉบับดังกล่าว สื่อมวลชนมาเลเซียทำหน้าที่ได้ดีกว่าในแง่ความความสมดุลและความเป็นธรรม กล่าวคือ  สื่อมวลชนมาเลเซียให้พื้นที่แก่แหล่งข่าวฝ่ายต่างๆ อย่างค่อนข้างเป็นธรรม รวมทั้งไม่สร้างภาพความเป็นผู้ร้ายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ในขณะที่สื่อมวลชนไทยเน้นนำเสนอข่าวที่มีแหล่งข่าวเป็นฝ่ายรัฐบาลเป็นหลัก

 

"หากสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในมาเลเซีย สื่อมาเลย์ก็คงจะตกที่นั่งลำบากเหมือนสื่อไทย" สตีเวนกล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่สื่อมาเลย์รายงานข่าวได้รอบด้านกว่าสื่อไทยน่าจะมีเหตุผล มาจากความใกล้ชิดของความเป็นพี่น้องมุสลิมด้วยกัน การพูดภาษาเดียวกัน และการที่สื่อมาเลย์ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

สตีเวนเห็นว่าหากพิจารณาให้ลึกลงไป จะพบว่ามีอคติแฝงอยู่ในการรายงานข่าวของสื่อมาเลเซียเช่นกัน แต่เป็นอคติของความใกล้ชิดในฐานะที่เป็นพี่น้องมาเลย์มุสลิม ข่าวจึงเป็นข่าวที่เน้นฝ่ายมุสลิม และฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลไทย

 

สตีเวนเสนอว่าสื่อไทยควรหาทางสร้างความไว้ใจให้เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมในท้องถิ่น ซึ่งเขายอมรับว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก "สื่อไทยควรจะมองชาวมุสลิมว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติแทนการมองว่าพวกเขาเป็นศัตรู" สตีเวนเห็นว่าผู้สูญเสียทุกคนควรได้รับโอกาสในการถ่ายถอดความเจ็บปวดผ่านสื่อมวลชนอย่างเท่าเทียมกัน

 

นอกจากสื่อมวลชนไทยควรจะต้องเรียนรู้เรื่องราวของสื่อมวลชนมาเลเซียแล้ว รัฐบาลไทยยังควรเรียนรู้วิธีการรับมือกับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนจากรัฐบาลมาเลเซียอีกด้วย เนื่องจากมาเลเซียเป็นประเทศที่มีผู้คนต่างชาติพันธุ์ หลากเชื้อชาติ หลายศาสนามาอยู่รวมกันอย่างสันติสุข อาจสังเกตง่ายๆ จากการที่มาเลเซียกำหนดให้มีวันหยุดราชการของศาสนาหลักๆ ที่ผู้คนนับถือศรัทธา

 

สตีเวนเล่าให้พังว่าในมาเลเซียคนส่วนมากไม่สามารถละเลยความต้องการของคนส่วนน้อยได้ เพราะคนส่วนน้อยไม่น้อยตามคำเรียกขาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองซึ่งต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน ทำให้ต้องตอบสนองความต้องการของผู้คนหลายๆ ฝ่าย

 

ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายเช่นมาเลเซีย สตีเวนมองว่า ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทุกภาคส่วนของสังคม "หนทางเดียวที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นจริงขึ้นมาได้ก็คือ การมีสื่อเสรี ที่ทำหน้าที่เป็นเวทีของการแสดงความคิดเห็น" สตีเวนกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท