Skip to main content
sharethis


 


 


วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2006 16:54น.


กิ่งอ้อ เล่าฮง, ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


แม้การปูดข้อมูลจากหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของรัฐจะระบุตรงกันว่า เหตุการณ์ป่วนใต้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบในต่างประเทศที่มีชื่อว่า "กลุ่มอาร์เคเค"ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มแนวร่วมในประเทศ แต่จนถึงขณะนี้กลับยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงรัฐจะมีแนวทางในการป้องกันปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร ทั้งๆที่การข่าวในเชิงลึกมีพร้อมอยู่แล้ว


 


อย่างไรก็ตามขณะที่นโยบายทางด้านความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ของกองทัพบกโดยกองทัพภาคที่ 4 แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพิ่งได้ไฟเขียวจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมอบอำนาจให้ พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเข้าดูแลเป็นพิเศษนั้น


 


อีกด้านหนึ่งของกองทัพภาคที่ 4 ยังมีการเข้าไปรุกคืบสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดอย่างต่อเนื่อง โดย พล.ต.พิเชษฐ์ วิสัยจร รองแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วยการเปิดยุทธศาสตร์ทางด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นแนวรบฝ่าเข้าในทุกพื้นที่และทุกตำบล ไม่ว่าพื้นที่นั้นๆจะจัดอยู่ในโซนสีใดก็ตาม


 


พล.ต.พิเชษฐ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงของทหารไม่ใช่เพื่อการรบป้องกันประเทศอย่างเดียว แต่การแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายมองข้าม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าถึงประชาชนอย่างดี


 


"อย่าลืมว่าพื้นฐานของบ้านเรา คือ การเกษตร และการทำสวนยางพาราก็เป็นพื้นฐานสำคัญและเป็นวิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมถ้าเราศึกษาดีๆจะพบว่า เขาใช้ชีวิตแบบพอเพียงมาตลอด ปลูกยาง ปลูกลองกอง ผมเลยคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า การทำเกษตรแบบพอเพียงของเรา จะใช้วิธีทำโดยไม่ใช้สารเคมี"รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว


 


และย้ำว่า ก่อนหน้านี้ทางกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าเคยมีการจัดตั้งองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคมาแล้ว โดยกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ มีอาชีพทำการเกษตร ปลูกยางพารา ลองกอง และฯลฯ แต่หลังจากหมดงบประมาณดำเนินการต่อ จึงเกรงว่าหากทิ้งฐานประชาชนที่มีอยู่เดิมไปหมดจะทำให้การเข้าพื้นที่พบปะระหว่างทหารกับประชาชนจะขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้สานต่อโครงการ


 


"ตอนอยู่อีสานผมก็เคยทำเรื่องการเกษตรชีวภาพมาก่อน พอปี 2548 กองทัพภาคที่ 4 หมดสัญญา ผมก็เลยทำเรื่องขอรับการสนับสนุนงบไปที่การเคหะแห่งชาติ คือ เดิม ผมเคยไปช่วยเขาทำงานแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ เขาก็ให้งบมาจำนวนหนึ่ง ผมก็เลยนำไปเปิดการอบรมแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ชื่อว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยผมและทีมงานจะเดินสายให้การอบรมกับชาวบ้านตามตำบลต่างๆ แล้วก็สร้างชาวบ้านให้เป็นครูฝึก เพื่อทีเขาจะได้ไปอบรมให้กับชาวบ้านคนอื่นๆในท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง" รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว


 


พล.ต.พิเชษฐ์ อธิบายให้ฟังว่า การดึงชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ในการเข้าไปทำมวลชนในพื้นที่ แต่ไม่ทั้งหมด ประเด็นสำคัญคือ การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้จะต้องแก้เรื่องปัญหาความยากจนด้วย เพราะปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ก่อความไม่สงบกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ


 


หากฝ่ายใดมีพวกมากกว่า และสามารถเข้าถึงมวลชนในพื้นที่ได้มากกว่าก็จะเป็นฝ่ายชนะ ขณะเดียวกันหากกลุ่มแนวร่วมดึงประชาชนเข้ามาเป็นพวกได้มากเขาก็ชนะ เช่นเดียวกันกับเราถ้าเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าเราก็ชนะ


 


"ในหลวงทรงตรัสว่า การแก้ปัญหาภาคใต้จะต้องเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา เราต้องเข้าใจว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างไร ต้องการอะไร ต้องเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่นี่คือ เกษตรกร วิถีชีวิตของเขาคือ ยางพารา เขาออกไปกรีดยางตอนเช้ามืดไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว เพราะว่ามีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เราก็ใช้วิธีของเราเข้าไปช่วย เปลี่ยนจากกรีดยางตอนเช้ามืด เป็นสายๆ ได้หรือไม่ โดยการสอนให้เขาใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์หรือปุ๋ยอีเอ็ม"รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว


 


และเล่าว่า การเข้าไปแนะนำให้ชาวบ้านใช้เชื้อจุลินทรีย์หรือปุ๋ยอีเอ็มกับสวนยางพาราได้ถูกทดลองทำเป็นโครงการนำร่องที่ ต.ควรโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และได้ผลเป็นที่น่าพอใจสำหรับและนับแต่นั้นเป็นต้นมาทุกๆพื้นที่ก็ได้มีการเปิดรับนายทหารคนนี้ให้เข้าไปช่วยสาธิตและจัดการอบรมให้จนแทบไม่มีวันว่าง


 


"ผมมองว่า นี่เป็นงานแก้ไขปัญหาความมั่นคงนะครับ ถ้าคิดแบบไทยๆ การทำงานไม่ควรจะแยกส่วนกัน ทหารจะรบอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อทหารเข้าไปในหมู่บ้าน สิ่งจำเป็นคือ ข่าว ผมถามว่า ข่าวจะได้อย่างไร ถ้าไม่ทำงานมวลชน ไม่เข้าไปช่วยชาวบ้าน ทหารถืออาวุธปืนเข้าไปในพื้นที่จะยิงใคร ทุกคนเป็นชาวบ้าน เป็นพี่น้องเราทั้งนั้น การเข้าไปควรจะต้องสร้างความสัมพันธ์ ความสนิทสนม คุ้ยเคยกับชาวบ้านไม่ใช่ไปด้วยความหวาดระแวง หรือมีอคติ"พล.ต.พิเชษฐ์ กล่าว


 


เขาแสดงความเชื่อมั่นว่า การติดอาวุธเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง ด้วยการใช้จุลินทรีย์ หรือปุ๋ยอีเอ็มเป็นตัวนำเข้าไปแก้ปัญหาให้เขา จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นตามมา และไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานเพียงใดก็ต้องทำ เพราะดีกว่าการปล่อยเวลาให้เสียเปล่าโดยไม่ทำอะไรเลย


 


"การสร้างศรัทธาให้เกิดไม่ใช่แค่การนำชาวบ้านมาอบรมและนั่งฟังเฉยๆอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ได้ผลด้วย ...ทหารเราก็ต้องเปลี่ยนบทบาท ไม่ใช่รบกับข้าศึก หรือศัตรูอย่างเดียว แต่ต้องสู้รบกับปัญหาความยากจนด้วย ผมมองว่า การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ได้เกิดจากเงิน แต่ควรเกิดจากหัวใจคน ไม่ใช่พอเงินหมดก็พัฒนาต่อไม่ได้ เราต้องทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่า ที่นี่คือบ้านของเขา แผ่นดินของที่จะต้องอยู่กันไปชั่วลูกชั่วหลาน แล้วสิ่งที่ทำผมคิดว่ามันครอบคลุมหมดทุกอย่างแล้ว"พล.ต.พิเชษฐ์ กล่าว


 


เมื่อถามว่าทำเรื่องปุ๋ยจุลินทรีย์มานานเคยถูกล้อเลียนหรือว่ามีเสียงท้วงติงอะไรจากองทัพบ้างหรือไม่ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ในช่วงที่ทำเขตภาคอีสานก็เคยถูกต่อต้าน หลายคนพูดตลกๆบอกว่าโธ่เอ้ย!!! ไอ้นายพลอีเอ็ม แต่ไม่ได้สนใจ เพราะเชื่อว่าทำในสิ่งที่ดี


 


"ในกองทัพบกผมก็เป็นนายทหารคนหนึ่งที่ผ่านการสู้รบมาพอสมควรและได้รับเงินเพิ่มค่าสู้รบ ซึ่งถือว่าเยอะ บางคนอาจจะมองว่าผมไม่ได้ผ่านอะไรมา แต่ตัวเราจะรู้ดีที่สุด...รู้สึกอย่างที่ถูกเรียกว่าเป็นนายพลอีเอ็มเหรอ รู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่านะ ที่มีส่วนทำให้ชาวบ้านมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อเขานำแนวคิดเราไปใช้โดยเฉพาะการเพิ่มน้ำยางพารา ทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้เขาได้"พล.ต.พิเชษฐ์ กล่าว


 


และให้ความเห็นว่า การทำงานของทหารจำเป็นต้องมีการปรับตัว หากไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างจากไดโนเสาร์ เพราะการแก้ปัญหาทางด้านความมั่นคงของชาติไม่ได้เกิดจากปากกระบอกปืนเท่านั้น แต่เกิดจากหลายมิติ ทั้งเรื่องปากท้องประชาชน ปัญหายาเสพติด


 


"ผมก็จับอาวุธมาตลอดชีวิตในฐานะทหาร ผมมองว่าการรูปแบบการรบเปลี่ยนไปแล้ว มันกลายเป็นเรื่องของการก่อการร้าย ถามว่าสหรัฐอเมริกาเคยรบชนะใครบ้าง ส่วนตัวผมชอบวิธีการรบแบบเหมาเจ๋อตุงกับซุนวู ที่บอกว่า การได้ชัยชนะที่ดีคือการรบที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ คิดแบบจีนดีกว่าคิดแบบฝรั่ง แล้วยุทธศาสตร์การรบของจีน เขาจะทำเป็นจุดๆ แก้ปัญหาจากง่ายไปยากโดยแก้เป็นจุดๆ เขาจะลากจากจุดเล็กๆไปเป็นเส้นตรง จากเส้นจะค่อยๆโยงครอบคลุมพื้นทั้งหมด ในขณะที่วิธีการของฝรั่งจะใช้วิธีเข้ายึดพื้นที่เลย ซึ่งการทำแบบนี้ก็มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว"รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว


 


และวิเคราะห์ว่า การแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้น โดยส่วนตัวเห็นว่า อย่างนั้นควรจะเริ่มต้นที่ การเลือกผู้นำที่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ถูกส่งมาประจำอยู่ที่นี่ ควรทำการศึกษาประวัติแต่ละบุคคลย้อนหลัง หากได้ผู้นำที่ดีและให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ทุกอย่างก็จะดี ถ้าเจ้าหน้าที่ดี หน่วยดีชาวบ้านก็ยอมรับและให้ความร่วมมือ ปัญหาภาคใต้แก้ไม่ยาก ถ้าทุกคนตั้งใจทำจริงๆ


 


"การดึงมวลชนในพื้นที่ภาคใต้ง่ายนะ ขอเพียงเราให้ความจริงใจ ไม่หักหลังเขาของอย่างนี้มองตากันก็รู้เรื่อง ภาษาและวัฒนธรรมไม่ใช่อุปสรรคในการแก้ปัญหาขอแค่ความจริงใจเท่านั้นก็พอ"รองแม่ทัพภาคที่ 4 ให้ข้อคิดทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net