ปาฐกถา ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี

 

 

"สุนทรภู่" กวีสามัญชนคนแรกที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติยศเป็น "บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก" เนื่องในวันสุนทรภู่ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปาฐกถาในหัวข้อ "สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี" ในงานทอดผ้าป่าวรรณคดี สมทบทุนแต่งบ้านมหากวี "กระฎุมพี" สุนทรภู่ ณ วัดเทพธิดาราม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

0 0 0

 

ประเด็นที่ผมต้องการจะพูดในวันนี้มี 2-3 ประเด็นด้วยกัน ประการแรกคือ สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความแตกต่างจากกวีที่เคยมีมาก่อนในสมัยอยุธยา เราไม่สามารถนำท่านไปเปรียบเทียบกับกวีในสมัยอยุธยาได้เลยสักคนเดียว

 

ประเด็นที่ 2 สุนทรภู่เป็นกวีที่เกิดในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างจากอยุธยามากทีเดียว เพราะกรุงเทพฯ มีชนชั้นกระฎุมพี กระฎุมพีคือพวกที่ไม่ได้มีฐานอำนาจหรือฐานผลประโยชน์จากการปกครอง หรือการเกษตรกรรม หรือล่องแพ เป็นพวกที่ได้ประโยชน์จากการค้า ซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่ในเฉพาะกรุงเทพฯ แต่มีอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น อยุธยา คือมีการเกี่ยวข้องกับการค้า คนพวกนี้ไม่ได้มีอาชีพทำนาปลูกข้าวกินเอง เมื่อซื้อข้าวก็ทำให้ชาวนาปลูกข้าวให้เหลือพอที่จะขาย พูดง่ายๆ ก็คือว่า สังคมกรุงเทพฯ มีกลุ่มคนที่ไม่ได้ผลิตข้าวเอง แต่ต้องทำการค้าขายแล้วเอาเงินไปซื้อข้าวปลามาบริโภค ตลอดจนเสื้อผ้าอาภรณ์

 

จำนวนของกระฎุมพีมีไม่มาก แต่คนเหล่านี้เข้ามาครอบงำรสนิยม ครอบงำวัฒนธรรม สุนทรภู่รับราชการอยู่ในวังระยะสั้นมาก พอรัชกาลที่ 2 สวรรคตแล้ว ท่านก็ออกมาอยู่ข้างนอก สุนทรภู่ไม่ใช่กวีราชสำนัก ซึ่งที่ผ่านมากวีที่ไม่ใช่กวีราชสำนักนั้นไม่มี ที่เราใช้เรียกก็อาจจะมีกวีชาวบ้านซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียง

 

สุนทรภู่ไม่ได้ทำงานรับใช้ราชสำนัก แต่ท่านมีตลาดของท่าน อย่างไรก็ตามคนที่อ่านงานสุนทรภู่ไม่ใช่แบบเดิม แต่เป็นกลุ่มที่ทำการค้า มีการศึกษาอยู่พอสมควร ไม่มากนัก และหลังสุนทรภู่ เราก็พบกวีที่มีลักษณะรับใช้ตลาดมากขึ้น

 

แต่ในฐานะที่ท่านเป็นคนแรก ผมคิดว่าท่านเป็นมหากวีคนแรก ในบรรดากวีที่รับใช้กระฎุมพีด้วยกันแล้วไม่มีใครผลิตงานได้มากเท่ากับสุนทรภู่

 

อะไรบ้างที่เป็นความแตกต่างจากกวีคนอื่นๆ

 

ประการแรก ท่านใช้รูปแบบที่ต่างจากที่เคยใช้ นั่นคือกลอนตลาด เป็นกลอนที่พบตั้งแต่ปลายอยุธยาเท่านั้น คือเป็นคำประพันธ์ที่เพิ่งแต่งขึ้นมาในภาษาไทย เป็นการเลือกเอาคำประพันธ์ที่ค่อนข้างใหม่เป็นชาวบ้าน

 

แบบฟอร์มของสิ่งที่ท่านแต่งก็ค่อนข้างใหม่ นิราศเป็นตัวอย่าง ถามว่าก่อนหน้าสุนทรภู่ขึ้นไปในสมัยอยุธยามีไหม มี แต่เขาไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนิราศ สุนทรภู่เป็นคนแรกๆ ที่สร้างลักษณะเฉพาะของกวีนิพนธ์ที่เรียกว่าเป็นนิราศ ส่วนหนึ่งก็คือการรำพันถึงการจากไป รำพันถึงผู้หญิงที่จากไป แต่น่าประหลาดว่าเท่าที่พบก็คือ สุนทรภู่รำพันถึงผู้หญิงที่มีตัวตนจริงๆ

 

อย่างเกษียรสมุทรนั้นเป็นนิราศ แต่มีผู้หญิงคนที่ว่านั้นอยู่จริงๆ หรือไม่ ไม่รู้ แต่เป็นประเพณีว่า เมื่อแต่งนิราศแล้วต้องรำพันถึงผู้หญิง

 

แต่สุนทรภู่ซึ่งรำพันถึงผู้หญิงนั้นมีตัวตนจริง และบรรยายถึงลักษณะความสัมพันธ์ด้วย

 

อย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากๆ ก็คือนิทานกลอน ก่อนหน้านั้นไม่มี สุนทรภู่ทำให้นิทานกลอนแพร่หลายมาก วิธีเล่านิยายในวรรณคดีไทยก่อนหน้านั้นไป เล่าโดยผ่านกลอนบทละคร หรือมิฉะนั้นก็เล่าแบบสมุทรโฆษ

 

ท่านไม่ได้เป็นคนแรก แต่ท่านทำให้แพร่หลาย มันแตกต่างกันอย่างไร เนื้อร้องเพลงไทยที่นิยมเอามาร้องกันทีเป็นบทประพันธ์สุนทรภู่นั้นมีบ้างหรือไม่ คำตอบคือมี แต่น้อยมาก ผมนึกถึงเหตุผล ก็คือสุนทรภู่เป็นคนแรกๆ ที่เขียนกลอนโดยไม่ได้นึกถึงทำนอง ก่อนหน้านั้น มักจะมีการนึกถึงทำนอง นึกถึงหน้าพาทย์ด้วยซ้ำไป

 

กวีไทยก่อนหน้านี้จะนึกถึงเพลง นึกถึงทำนองด้วย สุนทรภู่จึงเป็นคนแรกๆ ที่ไม่มีเพลง สุนทรภู่จึงเป็นกวีคนแรกๆ ที่เขียนหนังสือเพื่ออ่าน ก่อนหน้านั้น เขาเขียนเพื่อเอาไปแสดง เขียนดุษฎีกล่อมช้าง เพื่อกล่อมช้าง เป็นต้น สุนทรภู่เป็นกวีคนแรกๆ เป็นคนที่เขียนกวีเพื่ออ่าน

 

ทุกวันนี้ เราอ่านเพื่ออ่าน เราใช้ประสาทในการรับรับรู้เพื่ออ่านอย่างหนึ่ง ใช้ประสาทในการรับรู้เพื่อการแสดงอย่างหนึ่ง

 

สุนทรภู่เป็นผู้ที่เสนอกวีนิพนธ์ให้กับคนอ่านเพื่ออ่าน นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก

คนอ่านกวีนิพนธ์สุนทรภู่ (อาจจะมีเจ้านายหลายพระองค์อุปถัมภ์สุนทรภู่อยู่นาน บางองค์ก็โปรดมาก เช่นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่โปรดพระอภัยมณี) แต่คนที่อ่านงานของสุนทรภู่มีเยอะแยะกว่า ฉะนั้น ลูกค้าของท่านไม่ใช่แค่ผู้อุปถัมภ์เพียงอย่างเดียว แต่คือคนจำนวนมากที่เรียกว่ากระฎุมพี

 

มาดูที่เนื้อหา สุนทรภู่แตกต่างจากก่อนหน้านั้นอย่างไร ผมคิดว่า สุนทรภู่เป็นกวีที่ค่อนข้างแตกต่าง คือท่านสร้างตัวละครในลักษณะที่สมจริง ถ้าเราอ่านพระภัยมณี ตัวพระอภัยมณีเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์ ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นละครทีวีสมัยปัจจุบัน เราจะพบว่าพระอภัยมณีมีที่ลักษณะทั้งอ่อนแอและเข้มแข็ง มีความเป็นมนุษย์ และตัวละครของสุนทรภู่ไม่เหมือนกับตัวละครก่อนหน้านั้น

 

สุนทรภู่มีลักษณะของกระฎุมพี ค่อนข้างจะเหยียดหยามไสยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไสยศาสตร์ของชาวบ้าน แม้ท่านจะเล่นแร่แปรธาตุ แต่ก็เป็นไสยศาสตร์แบบตำรับตำรา แต่ไสยศาสตร์ฉบับชาวบ้าน เช่น เมื่อท่านไปเมืองแกลงเกิดเจ็บมือขึ้นมา ก็มีคนบอกว่า ท่านไปเก็บดอกไม้ไม่บอกเจ้าป่าเจ้าเขา จึงให้หมอผีมาเป่า แล้วก็หาย แต่ท่านก็ไม่เชื่อ

 

ในขณะเดียวกันที่ให้ความสำคัญกับศาสนา แต่ท่านค่อนข้างให้ความสำคัญกับศาสนาแบบสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับโลกนี้ เช่น ยอมรับเรื่องความสำคัญของความสุขทางเนื้อหนังมังสา เช่น ตอนพระอภัยมณีบวช หวังพระนิพพาน พอเห็นนางสุวรรณมาลีก็สึกเลย

 

หรืออย่างการเล่นเครื่องดนตรี ก็นำไปสู่พระนิพพาน ดังในพระอภัยมณีที่ว่า "ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง"

 

ในนิราศของท่านพูดถึงความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากเสียจนผมสงสัยว่าท่านคุย(โม้)หรือเปล่า แต่นี่เป็นข้อที่น่าสังเกตว่า ผู้ชายสมัยสุนทรภู่เป็นเพลย์บอยหรือเปล่า แต่สุนทรภู่ไม่อายที่จะเสนอภาพของตัวเองให้มีลักษณะเพลย์บอย

 

ผมคิดว่า เราอย่ามองให้กวีลอยอยู่บนสังคม การที่คนนิยมสุนทรภู่ แสดงว่าบุคลิกการเป็นเพลย์บอยได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้นด้วย

 

ท่านให้ความสำคัญกับกำเนิดสูงไม่เท่าไหร่ ความสำคัญของกำเนิดถูกตั้งข้อสงสัยในงานของสุนทรภู่เสมอๆ ซึ่งก็ตรงกับรากเหง้าของกระฎุมพี พ่อค้าวาณิชย์ คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถยอมรับโดยดุษฎีในคุณค่าของกำเนิดของคนอื่นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นโครงสร้างทางสังคมที่คลายลงไป เช่น อาเสี่ยสมัยนั้นยกลูกสาวให้เจ้านายไป เมื่อมีลูกก็กลายเป็นพระองค์เจ้า อาเสี่ยคนนั้นก็กลายเป็นคุณตาของพระองค์เจ้าไปแล้ว

 

ผู้อ่านสุนทรภู่เองก็รับทัศนคติแบบเดียวกันในเรื่องทรัพย์และกำเนิด บางครั้งก็ดูแคลนว่ามีแต่ทรัพย์ไม่มีกำเนิด แต่บางครั้งทรัพย์สำคัญนะ

 

เวลาที่ท่านอธิบายเรื่องบุญเรื่องกรรมก็เป็นเรื่องโลกนี้มากขึ้น เช่น บทละครอภัยนุราช พระเจ้าแผ่นดินไปตัดต้นไม้ ทำให้ศาลเจ้าหรือเทพารักษ์ให้พินาศฉิบหายไป แต่แทนที่พระเจ้าแผ่นดินจะฉิบหายไปทันทีก็เล่าต่อไปว่าพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรผิดพลาดบ้าง เพื่อสื่อว่า ผลกรรมเกิดจากการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่การกระทำที่ไปตัดต้นไม้หรือรื้อศาลเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลของกรรมที่ต่อเนื่องกันมา

 

ก่อนหน้านี้ กวีจะเขียนถึงกรรมเป็นเรื่องชาติก่อน สุนทรภู่ทำให้กรรมอยู่ในชาตินี้

 

ถึงแม้จะอธิบายหรือยกย่องศาสนาอย่างไร แต่ท่าทีของสุนทรภู่ต่อพระสงฆ์ค่อนข้างจะผ่อนคลาย ไม่ค่อยเครียด จะสร้างภาพกับบทอัศจรรย์ เช่น เรื่องพระชัยสุริยา บทอัศจรรย์ ท่านเอาบทอัศจรรย์ของท่าน ท่านพูดเรื่องแผ่นดินไหว ฟ้าผ่า อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดในวัด แล้วท่านก็พูดเรื่องหลวงชี วิธีปฏิบัติต่อพระของท่านเป็นท่าทีสบายๆ แบบชาวบ้านๆ คือนับถือด้วยแต่ล้อเล่นได้บ้าง

 

อีกประการหนึ่งคือสุนทรภู่เป็นหนึ่งในกวีที่พูดถึงความรักแปลกประหลาดจากที่เคยมีมา ปัจจุบันเราพูดถึงความรักเหมือนพูดถึงความจริง มันจริงในแง่หนึ่ง แต่อีกแง่หนึ่ง ความรักเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วย แต่ละยุคจะสอนให้คนรักอย่างไร แสดงออกต่อความรักอย่างไร ในแต่ละยุคสมัยต่างกัน

 

ความรักแบบสุนทรภู่เป็นความรักระหว่างปัจเจกชน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมเลย เช่น พระรามกับนางสีดา เป็นความรักที่เกิดจากการลิขิตของพระเจ้าเลยแหละ นางสีดาเกิดมาเป็นเมียพระรามทุกชาติ พระรามไม่มีทางมีเมียน้อย เป็นความรักที่ถูกชะตาลิขิตมาแต่ต้น

 

เมื่อมาถึงเรื่องอิเหนา อิเหนาเป็นวงศ์อสัญแดหวา เป็นวงศ์กษัตริย์ที่สูงกว่าระตูต่างๆ อิเหนาต้องแต่งงานกับวงศ์อสัญแดหวาด้วยกัน คือนางบุษบา แต่อิเหนาผ่านไปเจอนางจินตะหราเสียก่อน ก็เห็นแต่นางจินตะหรา ไม่มองนางบุษบาเลย แม้อิเหนารู้ว่า พ่อแม่ไม่ให้แต่ง นี่เป็นความรักเป็นการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลไม่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคมของอิเหนาหรือจินตะหราเลย ความรักแบบนี้แหละที่ปรากฏในงานของสุนทรภู่

 

ไม่มีการอธิบายถึงความเหมาะสมทางเศรษฐกิจทางสังคม เป็นความรักที่เอกบุคคลมีต่อเอกบุคคล ถ้าสุนทรภู่เขียนในสมัยอยุธยา คนอยุธยาก็คงอ่านแล้วทิ้งไปเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง พระอภัยมณีกับนางละเวงจะไปรักกันได้อย่างไร

 

ความรักแบบผิดฝาผิดตัวที่นั่งฟูมฟายกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น คู่กรรม สืบสาวไปก็เริ่มมาจากสมัยของสุนทรภู่

 

สุนทรภู่เหมือนกระฎุมพีทั่วไปในแง่ที่เหยียดหยามวัฒนธรรมไพร่ กระฎุมพีของสังคมไทยไม่ได้เกิดในระบบแต่แทรกอยู่ในระบบ พวกนี้จึงมองไพร่หรือมองชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างเหยียดหยาม

 

เมื่อไหร่ที่เป็นผู้หญิงไพร่ชาวไร่ชาวนา จะบรรยายว่า ขี้ไคลกลบหู ต่างกับการพูดถึงเมียเจ๊ก เดินทางไปทางไหนท่านก็จะพูดถึงอย่างสนุกสนานเยาะเย้ยนิดๆ แต่ไม่ถึงกับเหยียดหยามแบบเวลาที่พูดถึงชาวไร่ชาวนา ทัศนคติแบบนี้เป็นรสนิยมกระฎุมพีชัดๆ เลย

 

สุนทรภู่ได้รับความนิยมจากชนชั้นกลางสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย ในขณะเดียวกันงานของสุนทรภู่ไม่ได้ถูกพิมพ์โดยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่ แต่งานของสุนทรภู่ช่วยเลี้ยงให้โรงพิมพ์แบบสมัยใหม่อยู่ได้ เพราะเอางานของสุนทรภู่มาพิมพ์ขาย คือถ้าไม่มีงานแบบสุนทรภู่ก็ไม่รู้จะเอางานที่ไหนมาพิมพ์ขาย และส่งผลให้เกิดโรงพิมพ์ของคนจีนต่อมา

 

หลังจากนั้นก็อย่างที่รู้กันอยู่ งานของสุนทรภู่ก็ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในแบบเรียน ปฏิเสธไม่ได้เรื่องคุณภาพ แต่ที่ไม่ถูกลืม เพราะสุนทรภู่สร้างงานที่สอดคล้องกับรสนิยมของกระฎุมพี เพราะนับสืบมาถึงทุกวันนี้ วัฒนธรรมที่สืบมาคือวัฒนธรรมของคนชั้นกลางซึ่งถูกสร้างโดยวัฒนธรรมต่างชาติ ผนวกกับวัฒนธรรมเจ้านายบวกกับวัฒนธรรมชาวบ้าน กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ งานของสุนทรภู่เป็นวัฒนธรรมเดียวกับวัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้งานของท่านไม่ตาย

 






ขับลำคำกลอน "รำพันพิลาป" โดย เทวี-ขวัญกมล บุญจับ โรงเรียนประสาทวิทยาอนุชน กรุงเทพฯ

 

รำพันพิลาป เป็นกลอนเพลงยาวนิราศของสุนทรภู่ แต่งราว พ.ศ.2385 ในรัชกาลที่ 3 ขณะจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม สุนทรภู่ฝันร้ายว่า จะต้องถึงแก่ชีวิต โดยในฝันนั้นได้พบนางฟ้านางสวรรค์มากมาย รวมทั้งนางมณีเมขลา มาชักชวนให้ละชมพูทวีปและไปอยู่บนสวรรค์ด้วยกัน เมื่อตื่นจึงแต่ง "รำพันพิลาป" ขึ้น

 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท