รายงานพิเศษ "พลเมืองเหนือ" : มกุฎราชกุมาร "จิกมี" ทรงงานที่เชียงใหม่ …ตามรอยในหลวง

 

 

 

โดย อัจฉราวดี บัวคลี่

นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"

 

 

มีคำยืนยันมาจากยอดดอยอ่างขางว่า พระราชดำรัสของมกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ที่จะทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชบิดาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาราชอาณาจักรภูฏานนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดแล้วตั้งแต่ปี 2546

 

ช่วงเวลาที่เจ้าชายจิกมี เสด็จพระราชดำเนินมาที่จังหวัดเชียงใหม่ ความสนพระทัยในแนวทางการพัฒนาทั้งที่บนยอดดอยอินทนนท์ ยอดดอยอ่างขางนั้น ผู้เฝ้ารับเสด็จสัมผัสได้ชัดถึงความตั้งพระทัยและมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้อย่างยิ่ง และกับพระจริยวัตรที่เรียบง่าย การเข้าสัมผัสกับราษฎรชาวเขาอย่างไม่ถือพระองค์ และสิ่งที่ชาวบ้านเทใจปฏิบัติต่อพระองค์ด้วยแล้ว ทำให้ภาพแห่งวันเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรบนดอยสูงเมื่อหลายสิบปีก่อน ได้กลับมาฉายซ้ำให้ดอกไม้บนยอดดอยเบ่งบานอีกครั้ง

 

สายสัมพันธ์แห่งภูฏานและประเทศไทยจะยังคงทอดยาวไกล …เพราะที่นี่ "เชียงใหม่" คือแหล่งเรียนรู้แห่งการตามรอยพระบาทนั้น

 

0 0 0

 

 

 

ก่อนหน้าที่จะสร้างความฮือฮาให้สังคมโลก ด้วยการเสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะผู้แทนประมุขแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประเทศไทยหลายครั้ง

 

นั่นเป็นเพราะสายสัมพันธ์ระหว่างภูฏานและไทยนั้น ได้ก่อร่างบนความเคารพนับถือและช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างมีมิตรไมตรียิ่ง

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้โครงการหลวงใช้เป็นทุนรอนในการช่วยเหลือพัฒนาภูฎานมาแล้วหลายปี

 

ขณะที่เจ้าชายจิกมี ก็ทรงได้ยิน ได้ฟัง และเฝ้าติดตามพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ด้วยความชื่นชมและยกย่อง

 

เมื่อครั้งหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงเสด็จเยือนภูฏาน และได้เข้าเฝ้าพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้ทรงมีรับสั่งถึงงานพัฒนาร่วมกัน เนื่องจากโครงการหลวงได้ผ่านงานพัฒนาด้านเกษตรที่สูงมายาวนาน ขณะที่ภูกานเป็นประเทศที่มีทรัพยกรธรรมชาติสมบูรณ์ ดี แต่รายได้ของประชากรไม่มาก และมีปัญหาภูมิประเทศพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขาสูง แนวทางร่วมมือเพื่อการพัฒนาบนพื้นที่สูงของทั้ง 2 ประเทศจึงเริ่มต้นจากนักวิชาการ นักการทูต รัฐมนตรีด้านการเกษตรของภูฏาน เดินทางมาศึกษาและเรียนรู้งานที่จังหวัดเชียงใหม่คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

 

หนึ่งปีให้หลัง เจ้าชายจิกมี ก็เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเรียนรู้งานด้วยพระองค์เอง กลางเดือนมีนาคม 2546 เจ้าชายจิกมีเสด็จพระราชดำเนินมาเชียงใหม่ ทรงเข้าเยี่ยมชมโครงการหลวงดอยอินทนนท์ และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ทรงเรียนรู้งานการเลี้ยงปลาเทราท์ สวนหอม สวนกุหลาบอังกฤษ ระบบชลประทานการสูบน้ำจากห้วยไปสู่แปลงเกษตรกร งานจัดการป่าไม้ การเลี้ยงแพะ ฐานปฏิบัติการทหารบ้านนอแล ศูนย์หัตถกรรมบ้านนอแล แปลงเกษตรอินทรีย์ แนวทางการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกชา เยี่ยมชมราษฎรชาวเขาหมู่บ้านขอบด้ง นอกจากนี้ยังนำต้นสน Gupress (ต้นไม้จากภูฎาน) มาทรงปลูกเป็นที่ระลึกที่สวนเจ้าฟ้า และทรงประทับแรมอยู่ที่อ่างขางนี้ 1 คืนด้วย

 

สมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ยอมรับกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า ก่อนหน้าที่โครงการหลวงจะมีโครงการความช่วยเหลือกับประเทศภูฏาน ตัวเขาเองก็ยังมองภาพหรือนึกถึงประเทศภูฏานไม่ออก เพียงแต่หม่อมเจ้าภีศเดชรับสั่งว่า เราจะต้องไปช่วยเขา และมกุฎราชกุมารแห่งภูฏานจะเสด็จมาที่เชียงใหม่ด้วย

 

ครั้งแรกที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินถึงยอดดอยอ่างขางด้วยฉลองพระองค์เสื้อเชิ๊ตสีม่วง พับแขน มิหนำซ้ำยังทรงพระเยาว์เป็นเจ้าชายหนุ่ม ทำให้เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงจากรถยนต์พระที่นั่งและยกมือไหว้ทุกคน เขาแทบจะไม่เชื่อสายตา

 

แต่ความรู้สึกเกร็ง และประหลาดใจได้แปรเปลี่ยนเป็นความประทับใจ เมื่อเจ้าชายจิกมีทรงยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ถือพระองค์ ทรงซักถามงานวิชาการในทุกแห่งที่เสด็จพระราชดำเนินด้วยความสนพระทัยยิ่ง

 

"พระองค์ท่านซักถามทุกอย่าง เรื่องน้ำจัดการอย่างไร ดูแลชาวบ้านอย่างไร และไม่ถือพระองค์เลย ที่ผมประทับใจคือเมื่อพระองค์ท่านจะเสด็จพระราชดำเนิน เราก็ได้แจ้งให้ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวเขาในหมู่บ้านว่า เจ้าชาย ซึ่งคือลูกของพระเจ้าแผ่นดินประเทศหนึ่งจะเสด็จมาเยี่ยม ชาวบ้านเขาทราบว่าเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดินจะมา ก็จะพากันมารับเสด็จ แต่ระยะทางบนดอยค่อนข้างไกล ก็มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่เดินกันมาเป็นกลุ่มจะไปยังจุดที่นัดหมายเพื่อรับเสด็จแต่ไปไม่ทันแน่ รถยนต์พระที่นั่งมาถึงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ให้ชาวบ้านกลุ่มนั้นหยุดนั่งรับเสด็จอยู่ข้างทางแทน ชาวบ้านก็นั่งยกมือไหว้ พระองค์รับสั่งให้จอดรถและลงไปพูดคุยกับเขาทันที ทรงนั่งและโอบชาวเขาด้วย"

 

ผอ.สมชายกล่าวด้วยว่า ภาพที่ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวเขา จัดเตรียมสิ่งของที่ดีที่สุดของพวกเขา เพื่อถวายพระองค์ ยิ่งทำให้เหมือนภาพของการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยชาวบ้านนำพระพุทธรูปบ้าง ข้าวที่เขาตำใหม่ ยอดผักจากสวนหลังบ้าน หรือถุงย่ามที่ทอเอง ซึ่งเมื่อถวายพระองค์ท่าน เจ้าชายจะสะพายย่ามนั้นทันที และนำสิ่งของต่างๆ ที่ชาวบ้านถวายพระองค์ใส่ไว้ในถุงย่ามนั้น

 

การเสด็จพระราชดำเนินเชียงใหม่ในปีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้เจ้าชายจิกมีเข้าเฝ้าที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์อีกด้วย และในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน พระราชมารดาของเจ้าชายจิกมี และพระขนิษฐา ก็เสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานีเกษตรหลวงอ่างขางอีกถึง 2 ครั้ง

 

ปัจจุบัน นักวิชาการโครงการหลวงจากประเทศไทย ได้เดินทางไปแนะแนวทางการปลูกไม้ผลเมืองหนาวแก่ชาวภูฏาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางตอนล่างของประเทศที่เริ่มปลูกมะม่วง หรือทางตอนเหนือที่สนใจการปลูกพืชเมืองหนาว ขณะที่แต่ละปีนักวิชาการจากภูฏานก็จะเดินทางมาฝึกงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมิได้ขาด

 

และยิ่งมกุฎราชกุมารจิกมี ที่กำลังจะทรงราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรกของประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้า มีพระกระแสรับสั่งว่าจะทรงตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยเช่นนี้

 

ความแนบแน่นของเชียงใหม่กับภูฏาน ในฐานพื้นที่ทรงงานของพระองค์ จะยิ่งเพิ่มพูนทบทวี …..

 

กรกฎาคมนี้ ยอดดอยสูงแห่งแผ่นดินเหนือพร้อมจะได้ถวายการต้อนรับพระองค์อีกครั้ง

 

 

...........................................

ขอขอบคุณ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิโครงการหลวง และฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เอื้อเฟื้อภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท