คนไทยเกิดน้อย ตายมากขึ้น มหิดลเสนอตั้งเป้าเพิ่มอายุเฉลี่ยลดการสูญเสียมูลค่าเศรษฐกิจ

27 มิ.ย. 2549 "ม.มหิดล" เสนอสังคมไทยตั้งเป้าเพิ่มอายุเฉลี่ย 80 ปี จากเดิม 71 ปี ชี้จะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ เหตุการตายมีต้นทุนสูง ทั้งสูญเสียแรงงานก่อนวัยอันควร ลดมูลค่าทางเศรษฐกิจ แนะทำได้โดยลดอัตราตายของทารก ลดสาเหตุการตายจากอุบัติเหตุ เอดส์ มะเร็ง ระบุ ผู้สูงอายุจะมีประโยชน์รัฐต้องผลักดันให้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ

 

ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 62.5 ล้านคน ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาการเพิ่มของประชากรไทยมีอัตราลดลงอย่างมาก คือเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 %/ปี จากเดิมก่อนหน้านี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 3 %/ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีคนตายปีละประมาณ 4.5 แสนคน มีจำนวนคนเกิดปีละ 8 แสนคน เพราะฉะนั้นจะมีประชากรเพิ่มมากขึ้นปีละประมาณ 3 แสนคน ในอนาคตอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า หรือในปี 2569 จะมีประชากรไม่เกิน 65 ล้านคน ซึ่งจะมีอัตราคงที่และค่อยๆลดลงจนอยู่ในระดับที่ 62-63 ล้านคน สาเหตุสำคัญเพราะการเกิดน้อยลง ขณะที่การตายเพิ่มขึ้น จากปีละ 4.5 แสนคนในปี 2549 อนาคตอาจเพิ่มขึ้นถึงปีละ 6-7 แสนคน เนื่องมาจากโครงสร้างอายุประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น จำนวนการตายจึงมากขึ้น ซึ่งเป็นการตายเพราะการสิ้นอายุขัย แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า อัตราการเกิดและตายจะใกล้เคียงกัน โดยที่อัตราการตายอาจมีแนวโน้มสูงมากกว่าการเกิด

 

"ปัจจุบันประชากรไทยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 71 ปี ผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ย 75 ปี ผู้ชาย 68 ปี อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่คงที่มาหลายปี เป็นผลมาจากอัตราตายในทารกที่ยังคงสูงอยู่ ปัจจุบันอัตราตายของทารกอยู่ที่ประมาณ 20 รายต่อการเกิด 1,000 ราย หากสามารถลดอัตราตายของทารกให้เหลือต่ำพอๆกับในประเทศพัฒนาแล้ว คือ ประมาณ 5 ราย ต่อการเกิด 1,000 ราย อายุขัยเฉลี่ยประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี 4 เดือน"

 

 ศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สวีเดน ประเทศในยุโรปตะวันตก จะมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 ปี ดังนั้นเราขอเสนอว่าควรตั้งเป้าหมายอายุเฉลี่ยคนไทยไปที่ 80 ปี ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งท้าทาย ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติก็อาจเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยได้ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไป อย่างไรก็ตามเราสามารถทำได้โดยการทำให้การตายของประชากรไทยตายในวัยอันควรมากขึ้น ประการสำคัญอยู่ที่การลดอัตราการตายของทารกให้เหลือ 5 ราย ต่อการเกิด 1,000 ราย ลดอัตราการตายในวัยหนุ่มสาวจากอุบัติเหตุ โรคเอดส์ โรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคความดันโลหิตสูง

 

ด้าน ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยประชากร เนื่องจากการตายมีต้นทุนสูงมาก การตายวัยอันควรจึงทำให้สูญเสียต้นทุนหลายด้าน คือ 1.ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการมีชีวิตอยู่ ความสุขจากการมีชีวิตอยู่ เช่น จากการได้อยู่กับครอบครัว การได้ทำงาน 2.ต้นทุนที่เกิดจากผลกระทบภายนอก เช่น ผลกระทบด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ การเสียชีวิตของผู้นำครอบครัวทำให้มาตรฐานการครองชีพของครอบครัวต่ำลง และ 3.ต้นทุนที่เกิดจากการสูญเสียทรัพยากรบุคคลในสังคมที่ประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งวัยหนุ่มสาวจะมีต้นทุนสูงกว่าผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยทำงาน

 

ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการตั้งเป้าให้ประชากรไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยต้องเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ไม่เป็นภาระต่อสังคม คือต้องมีอายุที่ยืนยาวขึ้นโดยเป็นประโยชน์ต่อสังคม เรื่องนี้ต้องมองเป็นองค์รวม ไม่ใช่แค่การเพิ่มอายุขัยเฉลี่ย แต่ต้องหมายถึงการเพิ่มคุณค่าของผู้สูงอายุด้วย เช่น การทำงานไม่ควรจำกัดแค่ 60 ปี แต่แก่แล้วก็ยังทำงานได้ ส่วนหนึ่งเพื่อไม่เป็นภาระ อีกส่วนหนึ่งเพื่อให้สมองของผู้สูงอายุได้ฝึกคิดตลอดเวลา

 

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท