Skip to main content
sharethis

ประชาไท—27 มิ.ย. 2549 คนเวียงแหง เตรียมลุกฮือต้านนักวิชาการ มช.ปลุกผีเหมืองถ่านหิน ชี้ กฟผ.เล่นไม่เลิก ย้ำลงขันระดมทุนคัดค้านโครงการให้ยกเลิกให้ได้ ขณะนักวิจัยเผยโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ต้นทุนสูงและแพงกว่าพลังงานสะอาด ทำให้คนเจ็บป่วยและตายมากที่สุด อีกทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด


 


ตามที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกำหนดการจะลงพื้นที่เพื่อเปิดรับฟังความเห็นของชาวบ้าน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ให้มีส่วนร่วมในการศึกษาพัฒนาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางด้านสังคม ของโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ขึ้นที่ วัดเวียงแหง ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น


 


แต่ในที่สุด ได้มีการยกเลิกอย่างกะทันหัน หลังจากได้รับแจ้งจากนายเชาว์ เปล่งวิทยา นายอำเภอเวียงแหง ว่า ขอให้เลื่อนกำหนดการไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะเกิดการปะทะทางความคิดกัน เพราะชาวบ้านในพื้นที่มีความเห็นที่แตกต่างกันมานานแล้ว ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ซึ่งเกรงว่า หากเปิดเวทีดังกล่าว อาจนำไปสู่เหตุการณ์เผชิญหน้าขัดแย้งอย่างไม่คาดฝันได้


 


ล่าสุด ตัวแทนชาวบ้านเวียงแหงที่คัดค้านโครงการสร้างเหมืองถ่านหินเวียงแหง ได้ออกมายืนยันความคิดเดิม คือจะไม่ยอมให้มีการดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง รวมทั้งไม่ยอมให้นักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่ของ กฟผ.เข้ามาในพื้นที่เพื่อทำประชาพิจารณ์โครงการดังกล่าว


 


นายคำ ตุ่นหล้า แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า เห็นได้ว่า ทาง กฟผ.ยังเล่นไม่เลิก ยังคงคิดที่จะเข้ามาสร้างเหมืองถ่านหินในพื้นที่ อ.เวียงแหง อยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ชาวบ้านทั้ง 18 หมู่บ้าน 3 ตำบล คือ ต.เมืองแหง ต.แสนไห และ ต.เปียงหลวง ต่างมีมติกันแล้วว่า ไม่เอาเหมืองถ่านหิน และเราก็ยืนยันไปแล้วว่า จะไม่ยอมให้มีการประชาพิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเรารู้ดีว่าเหมืองถ่านหินจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตคนเวียงแหง รวมทั้งทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนที่คนแม่เมาะ จ.ลำปาง กำลังประสบอยู่ในขณะนี้


 


"ขณะนี้ชาวบ้านมีความตื่นตัวกันตลอดเวลา และเตรียมพร้อมที่จะร่วมกันต่อสู้คัดค้านจนถึงที่สุด และได้ระดมเงินกันคนละ 20 บาท เพื่อเป็นทุนในการจัดกิจกรรมของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรฯเวียงแหงในการต่อสู้คัดค้านให้ กฟผ.ยุติโครงการให้ได้" แกนนำชาวบ้าน กล่าว


 


ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง เป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งได้มีการสำรวจเบื้องต้น พบว่า บริเวณพื้นที่ กว่า 3,500 ไร่ในเขต อ.เวียงแหง มีถ่านหินลิกไนต์ จำนวน 139 ล้านตัน และจะทำการขุดมาใช้ในจำนวน 15 ล้านตัน ในช่างระยะเวลา 20 ปี


 


นอกจากนั้น ยังมีการระบุว่า ถ่านหินลิกไนต์บริเวณพื้นที่ อ.เวียงแหง นั้น เป็นลิกไนต์คุณภาพดี ให้พลังความร้อนสูง และมีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต่ำ โดยทาง กฟผ.จะนำเอาถ่านหินจากเวียงแหงไปผสมกับถ่านหินคุณภาพต่ำที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อเข้าสู่โรงถลุงอีกครั้งหนึ่ง


 


โดยในขณะนี้ ทาง กฟผ. ว่าจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เป็นเงิน 17.9 ล้านบาท ในระยะเวลา 18 เดือน


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยอิสระด้านนโยบายสาธารณะสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ออกมากล่าวในเวทีเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายพลังงานทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(Power Development Plan) ที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ต้นทุนโดยรวมสูงมากและแพงกว่าพลังงานสะอาด มีการจ้างงานน้อย อีกทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทำให้คนเจ็บป่วยและตายมากที่สุด ต้องพึ่งพาทรัพยากรต่างประเทศ ไม่พึ่งตนเอง ทำลายทุนของสังคมไทยทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net