Skip to main content
sharethis

ประชาไท—29 มิ.ย. 2549 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) จัดประชุมที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 28 มิ.ย. เพื่อเตรียมความพร้อมในการฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งยุบ อพท.


 


นายบรรจง นะแส อนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรชายฝั่งและทางทะเล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เดิมทีมีความตั้งใจยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยุบ อพท. ในวันที่ 28 มิ.ย. แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งยกฟ้องคำฟ้องของเครือข่ายฯที่ต้องการให้ยุบ อพท. และคืนที่ดินเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีแก่อุทยานแห่งชาติสุเทพ - ปุย รวมทั้งให้ถอนนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธาน อพท.ออกจากตำแหน่ง ศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าอยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด


 


ดังนั้น ก่อนจะมีการฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้ยุบ อพท. ต้องกลับมาตั้งหลักและยกร่างคำฟ้องที่เคยยื่นต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ใหม่ อีกทั้งให้ผู้เดือดร้อนเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรง ที่ผ่านมาทำในนามนักวิชาการเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ จะมีการประชุมอีกครั้งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 12 ก.ค. 49


 


เวทีดังกล่าว ดร.บรรเจิด สิงคเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้คำแนะนำในเชิงกฎหมายว่า แม่หลักของ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท. คือกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงต้องมองที่รากปัญหาว่ามาจากโลกาภิวัตรที่ทุนคลุมรัฐอย่างไม่สามารถปิดกั้นได้ เมื่อประกอบกับการมีรัฐบาลเป็นทุนข้ามชาติที่คิดแต่มิติประโยชน์สูงสุด การแย่งชิงทรัพยากรในรูปกฎหมายจึงเกิดขึ้น


 


อำนาจกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษมีกว้างขวาง ทำให้เมื่อประกาศออกไปสามารถยกเลิกกฎหมายหลายสิบฉบับในพื้นที่นั้นได้ ส่วนกลุ่มทุนจะได้กระบวนการผลิตราคาถูกที่สุดแต่กำไรมากที่สุด


 


สำหรับ อพท.มีความแตกต่างกับกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษเล็กน้อย คือ อพท.จะจัดการพื้นที่พิเศษได้โดยการทำเอ็มโอยูหรือข้อตกลงกับหน่วยงานที่มีอำนาจด้านต่างๆในพื้นที่ แต่ปัญหาตรงนี้สามารถใช้อำนาจคณะรัฐมนตรีและอำนาจของนายกรัฐมนตรีมาเป็นตัวกดดันให้หน่วยงานหรือกระทรวงต่างๆทำตามได้ จึงเป็นนวตกรรมของทุนที่แปลงออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา


 


ดร.บรรเจิด ได้แนะนำอีกว่าหากท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจาก อพท. ต้องการสู้ทางกฎหมายด้วยการยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดมีแนวโน้มเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม หากจะระบุว่า พระราชกฤษฎีการ อพท.มีปัญหาดูจะถนัดถนี่นักเพราะเป็นนวตกรรมกฎหมายที่เขียนในสิ่งที่ตั้งเป้าไว้แล้ว จึงเขียนอย่างกลางๆแล้วค่อยใช้อำนาจอื่นบีบภายหลัง


 


ดังนั้น ในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดต้องอธิบายด้วยว่า การประกาศพื้นที่พิเศษของ อพท. ในแต่ละเขตกระทบกฎหมายหรือหลักการใดบ้าง ทั้งนี้ แม้จะมี เอ็มโอยู หรือมติคณะรัฐมนตรีก็ต้องทำภายใต้กรอบกฎหมาย ที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรีก็เคยถูกศาลปกครองเพิกถอนเพราะผิดกฎหมายมาแล้ว


 


นอกจากการต่อสู้ทางกฎหมายแล้ว ทางสังคมก็อย่านิ่งนอนใจ ต้องออกมาแสดงความมีส่วนร่วมเช่นกัน เพราะการที่ประชาชนชนออกมาแสดงความเดือดร้อนเป็นการแสดงนัยยะให้ศาลเห็นถึงสิ่งที่เกิดจากการกระทำของรัฐ แม้จะมีคนน้อยก็สามารถทำได้ กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงชุมชน และสิทธิชุมชนเป็นหลัก ควรดูแบบอย่างการท่องเที่ยวของประเทศภูฏาน


 


นายภราเดช พยัฆวิเชียร ที่ปรึกษาระดับ 11 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วิธีคิดของผู้บริหารประเทศในการตั้ง อพท. คือการมองว่าการจัดการโครงการต่างๆมีความแยกส่วนกัน กฎหมายในการจัดการทรัพยากรก็บังคับถึงในรายละเอียดทำให้บางครั้งมีความล้าหลังมากเมื่อจะทำตาม ผู้บริหารประเทศจึงอยากได้สิ่งที่เบ็ดเสร็จในการจัดการ


 


แต่การคิดของฝ่ายบริหารเป็นพวก "นักรบในห้องแอร์" ที่ไม่ได้คิดถึงคนและสังคม เอาอำนาจไปแก้ปัญหา โดยมักยกตัวอย่างต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ที่มีหน่วยงานในการจัดการเวลาจะทำเมืองใหม่ ทว่าบริบทของสิงคโปร์คือการเป็นประเทศที่แคบทำให้ต้องมีการจัดการควบคุม แต่สำหรับไทยมีความหลากหลายมาก การจัดการจึงทำเหมือนกันไม่ได้


 


ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ททท. ก็มีอำนาจหนึ่งคือ สำรวจพื้นที่ สถานที่ท่องเที่ยว และทรัพยากรท่องเที่ยวที่ต้องสงวนไว้เป็นของรัฐ และให้ประกาศไว้เป็นพระราชกฤษีกา แต่มีจุดที่ผู้บริหารไม่ทันใจคือการประกาศนั้นต้องทำภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ ดังนั้นอาจต้องมีการผ่านปะชาพิจารณ์ หรือการตีความจากกฎหมายต่างๆมากมาย และที่ผ่านมา ททท.ไม่เคยประกาศพื้นที่พวกนี้


 


แต่ อพท.เป็นไปในทางที่ต่างคือคลุมทั้งประเทศ เมื่อประกาศพื้นที่พิเศษแล้วสามารถใช้อำนาจผ่านหน่วยงานต่างๆได้เลย และถ้ามีปัญหาที่หน่วยงานใดไม่ทำตามก็ให้ฟ้องไปยังคณะรัฐมนตรี หากพูดถึงเรื่องศักดิ์ทางกฎหมายแล้วถือว่าอ่อน คือ เป็นแค่พระราชกฤษฎีกาแต่ไปใช้อำนาจของกฎหมายอื่นๆที่สูงกว่าเช่น พระราชบัญญัติได้


 


"กรณี เกาะช้าง ปกติต้องมีการทำ พระราชบัญญัติผังเมืองก่อน เป็นต้น แต่คราวนี้กลายเป็นการเก็งกำไรที่ดิน ปั่นราคาให้สูง และเมื่อต้องใช้ราคาที่สูงก็ต้องสร้างการพัฒนาที่มีความหนาแน่นสูง เป็นการบายพาสบางพระราชบัญญัติ ส่วนผู้มีอำนาจใน อพท. ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นเลย เมื่อมีกระจายมาพื้นที่จะทำโดยประกาศพื้นที่พิเศษ เมื่อประกาศแล้วก็สามารถดำเนินการผ่านกฎหมายอื่น หากไม่ทำตามให้ฟ้องคณะรัฐมนตรีให้มีอำนาจบังคับ หน่วยงานต่างๆก็ไม่สามารถแย้งได้ตามหลักวิชาที่แท้จริง"


 


ส่วน เหตุผลที่ร่างพระราชกฤษฎีกา อพท.คือเพื่อเป็นนโยบายกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เมื่อดูกระบวนการที่ผ่านมาพบว่าไม่ใช่ ที่กำลังจะเกิดกับเกาะเสม็ดชัดเจนว่าเป็น "อภิสิทธิ์" หรือ "เอ็กซ์คลูซีฟ"


 


นาย ภราเดช เสนอแนวทางแก้ไขว่า ต้องสร้างความรู้ให้แก่สาธารณะ เพราะตอนนี้ยังถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องของคนจำนวนหนึ่ง ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการพัฒนา แต่การพัฒนาอย่างนี้สังคมไม่ยั่งยืน เรื่องนี้ต้องได้ประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย ต้องทำให้เป็น "อินคลูซีฟ" ตามหลักการของสหประชาชาติ คือ มีข้อกำหนดชัดเจน มีส่วนร่วมและโปร่งใสไม่ว่าในกิจการใดๆ ต้องเปิดเผยให้สาธารณะและกลุ่มวิชาการตรวจสอบอีกทั้งต้องมีผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ยังต้องฟังสียงชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก


 


 


นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัติ ตัวแทนภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าจะฟ้องได้คือ อพท. จัดตั้งขึ้นมาเป็นพระราชกฤษฎีกา อันเป็นลูกของพระราชบัญญัติองค์การมหาชน ที่ต้องไม่แสวงหาผลกำไร แต่ในกรณีของ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กลับแสวงหากำไร จึงเท่ากับ อพท.ทำขัดแย้งกับกฎหมายแม่ นอกจากนี้ การทำไนท์ซาฟารียังเป็นการทำลายอุทยานแห่งชาติ สุเทพ - ปุย ด้วย


 


"ที่ทำไนท์ซาฟารีมีนิดดียว แต่จะเอาอีก 5,000 ไร่ มาทำปางช้างหรือเมืองช้าง ตอนนี้ในเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ - ปุย มีการแอบไปทำถนนและดำเนินการแล้ว เพราะได้อนุมัติงบประมาณมาแล้ว 600 ล้านบาทก็ต้องรีบเอางบประมาณมาใช้ ส่วนชาวบ้านจะไปแจ้งความก็ไม่กล้าเพราะเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นคนทำลายอุทยานแห่งชาติ สุเทพ -ปุย"


 


ด้าน นายสุวิทย์ นามแสง ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจาก อพท. พื้นที่เสม็ด กล่าวว่า กรณีการประกาศพื้นที่พิเศษ ของ อพท. ที่เกาะช้าง ก็บอกไม่สนับสนุนทุนใหญ่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการให้สัมปทานสนามกอล์ฟ หรือสนามบิน เมื่อถามไปยัง อพท. ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่ผลงาน แต่ทั้งหมดมีอยู่ในแผนแม่บท อพท.ทั้งสิ้น ส่วนในพื้นที่ เสม็ด เมื่อชาวบ้านคิดแผนพัฒนาเสม็ดอย่างยั่งยืนเอง อพท. กลับมาก็ยื้อเอาไว้ไม่ให้ดำเนินการ ภายหลังกล่าวหาว่าเกาะเสม็ดเสื่อมโทรมเพราะชาวบ้านไม่ดูแล จะให้ อพท.มาดูแล


 


ด้านตัวแทนจากเกาะกูด กล่าวเสริมว่า ที่เกาะกูดเคยมีการนำเสนอข่าวออกมาว่ากำลังถูกทำลายคล้ายเป็นการสร้างกระแสอะไรบางอย่าง จากนั้น อพท.จึงจะเข้ามาจัดการ บางส่วนที่เป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุด อพท. ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการเอาไปให้เอกชนเช่า


 


นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ ได้เข้าไปทำโครงการที่เกาะกูดหลายโครงการโดยระบุว่าทำตามแผนของ อพท.ได้แก่ การสร้างท่าเทียบเรือ เซ็นเตอร์นักท่องเที่ยว ศูนย์ข้อมูล เกาะกูดอารีน่าเพื่อพัฒนาเป็นที่จอดเรือยอร์ช เกาะกูดซีฟร้อนท์ ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผจญภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net