Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

: The Real War


 (แรดิคัล ขุดลึก กระตุกต่อมคิด และ must-read)


 


 


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 


 


 


คุณผู้อ่านที่เคารพคะ - - ตอนที่ซาร์คาวีตาย คุณทำอะไรอยู่คะ?


 


ช่างมันเถอะค่ะ ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์สำคัญอะไรกับชีวิตขนาดนั้นหรอก เพียงแต่ดิฉันกำลังจะบอกว่า วินาทีนั้น ดิฉันกำลังเขียนเรื่อง "การสังหารหมู่ที่ฮาดิธา" อยู่ เรื่องที่นาวิกโยธินอเมริกาไปทำป่าเถื่อน (คูณร้อย) สังหารโหดพลเรือน 24 ศพในอิรักตั้งแต่ปลายปี 2005 แล้วเพนตากอนก็ถ่วงเวลาสืบสวนมาหลายเดือน ท่ามกลางข่าวว่าผลรายงานจะออกมาเร็วๆ นี้


 


การสังหารหมู่ที่ฮาดิธา เป็นเรื่องที่บิ๊กๆ ทั้งหลายในกองทัพอเมริกาซึ่งพอจะได้รับฟังรายงานมาบ้าง ต่างก็ปวดกะโหลก-กุมขมับไปตามๆ กัน พร้อมกับรำพึงว่า...ถ้าการสังหารหมู่ "เลือดเย็น" ครั้งนี้เปิดเผยออกมาเมื่อไหร่ รับรองกองทัพจะอื้อฉาว ถูกด่า และขายหน้ายิ่งกว่ากรณี "อาบูกราอิบ"


 


แล้วอยู่ๆ ซาร์คาวีก็ถูกฆ่า (ช่างเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสุดยอด) ได้ผลค่ะ สปอตไลท์เปลี่ยนไปจับที่ซาร์คาวีทันที สื่อทั่วโลกหันไปพูดถึงแต่เรื่องซาร์คาวี ถ้าคนเขียนเรื่องตะวันออกกลางคนไหนไม่พูดถึงซาร์คาวีในช่วงไม่กี่วันนี้...อาจถือเป็นอาชญากรรมได้


 


"ซาร์คาวี" ของประธานาธิบดีบุชและนักดูข่าวเบาสมองทั่วไป อาจจะหมายถึง "หัวหน้าของฝ่ายต่อต้านในอิรัก" แต่ซาร์คาวีของชมรมคนรู้ทันบุชจำนวนมาก เป็นได้แค่ "ผู้ก่อการร้ายที่อเมริกาสร้างขึ้น" เท่านั้น (จะมากหรือน้อยเท่าไหร่ -ยังไม่เป็นที่แน่ชัด) เรื่องราวของซาร์คาวี ถ้าไม่มาจาก "ฝ่ายข่าวกรองของอเมริกา" หรือ "ฝ่ายข่าวกรองจอร์แดน" ก็มาจาก "เว็บไซต์ที่จับมือใครดมไม่ได้" เป็นหลัก ข่าวคราวของซาร์คาวีที่ทะลักไหลในทีวีตลอด 3 ปีมานี้ แทบทั้งหมดเต็มไปด้วยมายาคติ พร็อพพะแกนดา ที่ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ยืนยันจากหน่วยงานที่เป็นอิสระ


 


ฝ่ายต่อต้านในอิรักที่รบกับอเมริกาอย่างยืดเยื้อมาตลอด มีสัดส่วนคนต่างชาติอยู่แค่ 5-10% ตัวเลขทุกสำนักข้อมูลยืนยันตรงกันจนไม่มีอะไรให้สงสัย เพราะฉะนั้น การเคลื่อนไหวขับไล่อเมริกาในอิรักจึงมาจากฝีมือของคนอิรักกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ นักวิเคราะห์เชื่อกันว่า ชาวอิรัก "เกินครึ่ง" ในกลุ่มนี้...ที่ต่างก็มีแบคกราวน์แบบฆราวาส-ชาตินิยมมาก่อน มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการขับไล่ผู้ยึดครองต่างชาติ ไม่ได้ต้องการสถาปนารัฐอิสลามแบบซาร์คาวีสักกะนิด แต่ตลอด 3 ปีมานี้ อเมริกาเอา "ใบหน้าของซาร์คาวี" (หรือใครสักคนที่เรียกกันว่าซาร์คาวี) มาแปะทับ "ขบวนการอิรักกู้ชาติ" ไว้ซะเกือบมิด - - แล้วไง? ซาคาร์วีก็แปลว่าอัล-ไคดา ซาร์คาวีแปลว่านักฆ่าตัดคออิสลามมิสต์หัวรุนแรงที่โหดร้ายและไม่มีความเป็นมนุษย์ ซาร์คาวีแปลว่าเห็นมั้ยล่ะใครๆ ก็ไม่เอาด้วย ซาร์คาวีแปลว่าเห็นมั้ยล่ะอเมริกามีความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อ ฯลฯ สุดท้าย ช่วยไม่ได้...ที่ความตายของซาร์คาวี ไม่เพียงแต่จะทำให้ฝ่ายต่อต้านซุนนีจำนวนไม่น้อยโล่งใจ ดีใจ แต่ยังทำให้ซ้ายจำนวนหนึ่งในอเมริกาตั้งคำถามว่า "ทำไมถึงตายช้านักละพี่?" หรือ "ทำไมถึงมาตายเอจังหวะนี้?" ขณะที่บางคนยักไหล่ "ตายแล้วไง?"


 


ทำไมซาร์คาวี (คนที่ชอบป่าวประกาศอะไรในเว็บไซต์เนี่ย) ถึงนิยมฆ่าแต่พลเมืองตาดำๆ ของอิรัก? ทำไมซาร์คาวีถึงมีความสุขนักกับการบอมบ์ตลาด บอมบ์ลูกชาวบ้าน-ลูกแม่ค้า มากกว่าการบอมบ์ทหารอเมริกา? ทำไมซาร์คาวีถึงจงใจจะให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างซุนนี-ชีอะต์ขนาดนั้น? (ดูสิคะ...อะเจนดาเดียวกับบุชซะไม่มี)


 


ดิฉันพยายามจะเขียนบทความเรื่องซาร์คาวีมาตั้งแต่วันนั้น (กลัวตกเทรนด์-ที่กำหนดโดยวอชิงตัน) แต่ดูเหมือนว่าจะเขียนไป-สะดุดไปตลอด 2 สัปดาห์ (เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่มีการยืนยัน สิ่งที่ไม่เห็นพ้องต้องกัน ดีเทลหักล้างและเครื่องหมายคำถาม - - ช่างสมกับเป็นสุดยอด mythical menace ในรอบทศวรรษอย่างแท้จริง) หลังจากเขียนเรื่องซาร์คาวีไปกว่า 10 หน้า และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบง่ายๆ ดิฉันกำลังคิดว่าจะแก้ใหม่ หรือไม่ก็โยนทิ้ง แล้วกลับไปที่ฮาดิธาหรืออะไรสักอย่าง


 


แต่ระหว่างนี้ ดิฉันบังเอิญแวะไปอัพเดทข่าวอิรักแล้วเจอบทความชิ้นหนึ่งที่ดูดีมากๆ ดีจนไม่สามารถติดป้ายว่าเป็นบทความคั่นจังหวะหรือตัวสำรองอะไรได้เลย เพราะคนเขียนเขาเป็น "ตัวจริง" มากๆ (อีกแล้ว) ในยุทธจักรนักวิเคราะห์เรื่องตะวันออกกลาง ก็เลยเอามาแปลให้อ่านกันไปก่อน


 


คุณผู้อ่านรู้จักผู้กำกับอเมริกัน-อิตาเลียนระดับตำนานที่ชื่อ แฟรงก์ คาปรา (Frank Capra) ใช่มั้ยคะ? คาปราที่เป็นผู้กำกับฮอลลีวู้ดชื่อดังมาตั้งแต่ยุค 30-40 เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 1991 เขาเป็นเจ้าของผลงานอมตะ It's a Wonderful Life ที่นิยมฉายช่วงวันหยุดคริสต์มัสน่ะแหละ คาปราได้ชื่อว่าเป็นบิดาของหนังตระกูล feel good คนหนึ่ง หนังของเขาจะมีลักษณะเด่นคือ ส่งเสริมความหวัง ความฝัน อเมริกันดรีม มองโลกในแง่ดี อบอุ่นให้กำลังใจ ส่งเสริมสำนึกทางสังคม เป็นหนังที่มีฮีโร่ และพระเอกชนะตอนจบ...ง่ายๆ ซึ้งๆ ทำนองเนี้ย และลักษณะที่ว่านี้ก็ทำให้เกิดศัพท์ Capra-esque ตามมา


 


(แต่นั่นเป็นแค่ด้านเดียวของคาปราเท่านั้น ในอีกด้าน เขาไม่ใช่ผู้กำกับขวัญใจปัญญาชนซ้าย เขาเคยทำหนังโฆษณาชวนเชื่อ-ยี้ๆ-ให้กองทัพช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คาปราเป็นพวกนักรักชาติ เทิดทูนความเป็นอเมริกา และมีปัญหากับสีผิวพอสมควร ว่ากันว่า...หนังของเขาแทบทั้งหมดหาตัวละครคนดำยากมากๆ - แต่ลักษณะของคาปราในส่วนนี้ ไม่มีใครอยากจะรวมไว้ในศัพท์ข้างบนสักเท่าไหร่)


 


เพื่อที่ทำความเข้าใจสงครามอิรัก ว่ากันว่า...อันดับแรกที่จะต้องโยนทิ้งก็คืออารมณ์ความรู้สึกและการมองโลกที่เป็น "มรดกของคาปรา" เนี่ยแหละค่ะ บทความชิ้นนี้จะชี้ให้เห็นว่า "สถานการณ์จริงในอิรัก" อาจจะไม่ตอบสนองต่อการที่นักวิเคราะห์จำนวนมากพากันอ่านเกมว่า สุดท้ายแล้ว ผู้ร้ายอย่างอเมริกาจะไม่มีทางชนะ (จำชิ้นของฮวน โคล ที่ดิฉันเคยแปลไปได้มั้ยคะ? เป็นคนหนึ่งที่สรุปเอาไว้อย่างนี้)


 


ทุกวันนี้อิรักได้ทรานสฟอร์มเป็นอีเละไปแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่คำถามก็คือ อเมริกากำลังจะแพ้จริงหรือเปล่า? อเมริกาจะกลายเป็นผู้ชนะท่ามกลางความเละเทะได้หรือไม่? ในโลกแห่งความจริงนอกโรงภาพยนตร์ ใครก็ตามที่เป็น "พระเอก" หรือ "ฝ่ายธรรมะ" ไม่จำเป็นต้องได้รับชัยชนะตอนจบเสมอไป


 


ประธานาธิบดีบุชส่งสัญญาณมาหลายรอบแล้วว่าจะไม่มีการถอนทหาร และน้ำหน้าอย่างเดโมแครตก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะไปหวังอะไรได้ แล้วขบวนการ antiwar ล่ะ..ตอนนี้เขาทำอะไรกันอยู่? แอคทิวิสต์ผู้รักสันติภาพทั่วโลก จะเอาแต่ทำแคมเปญประท้วงและนั่งลุ้นว่าตอนจบกำลังจะมา หรือตอนจบขอให้แบกแดดตายน้อยกว่าไซง่อน...แค่นั้นเองเหรอ?


 


นอกจากจะมีแง่มุมกระตุก "ต่อมคาปรา" มานำเสนอแล้ว รอเบิร์ต ดรายฟัส (Robert Dreyfuss) ยังกระตุ้นให้แอคทิวิสต์มองหา "ทางเลือกใหม่ๆ" เพื่อสันติภาพไปด้วย ในบทความที่ชื่อ "Permanent War? Dealing with realities in Iraq and Washington" ซึ่งตีพิมพ์วันที่ 18 มิถุนายน 2006 ในเว็บบล็อกรวมสุดยอดบทวิเคราะห์ที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะอย่าง Tomdispatch


 


รอเบิร์ต ดรายฟัส เป็นนักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงาน - คล้ายๆ จะโรแมนติก - ระหว่างอเมริกากับอิสลามมิสต์ในอดีต (ชื่อยาวนิดนึง - Devil"s Game: How the United States Helped Unleash Fundamentalist Islam) เขามีงานตีพิมพ์เป็นที่รู้จักตามนิตยสารมากมายหลายหัว อาทิ The Nation, Mother Jones, American Prospect และ Rolling Stone ในส่วนของเว็บไซต์ มีงานของเขาให้คลิกไปอ่านฟรีได้ที่ TomPaine, HuffingtonPost (เว็บหลังเป็นเว็บการเมืองซีกก้าวหน้าที่หวือหวา มาแรงมั่ก นักเขียนคับคั่ง เจ้าของเว็บออกจะซี้กับนักการเมืองดังๆ และดาราดังๆ อยู่หลายคน กรุณาแวะไปดูสักครั้งกันตกเทรนด์ก็ไม่เลว)


 


และต่อไปนี้ เชิญพบกับดีเบตสถานการณ์อิรักล่าสุด + ลึกสุด + ถึงกึ๋นสุด + กระตุกต่อมคิดสุด + ไขมันน้อยสุด ของแวดวงปัญญาชนซ้ายโลกได้แล้วค่ะ (อ้อ ช่วยลืมนักวิเคราะห์ในทีวีบ้านเราไปเลยนะคะ เห็นแล้วจะบ้าตาย) o


 


 


0 0 0


 



อิรัก : สงครามถาวร?


รอเบิร์ต ดรายฟัส


18 มิถุนายน 2006


 


หนึ่งในมายาคติโชคร้ายที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในวัฒนธรรมอเมริกัน จิตใจอเมริกัน และโลกทัศน์แบบอเมริกัน - เป็นมายาคติชนิดที่เราอาจจะต่อว่าผู้กำกับหนัง แฟรงก์ คาปรา ได้อยู่เหมือนกัน - นั่นก็คือ ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ คนดีมักจะเป็นฝ่ายชนะ ศีลธรรมเป็นฝ่ายชนะ ขณะที่ความโหดร้ายชั่วช้าเห็นแก่ตัวต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ คนเลวอาจจะมีชัยชนะอยู่บ้างก็ในการรบครั้งย่อยๆ แต่สุดท้ายคนดีต่างหากที่จะเป็นฝ่ายชนะสงคราม...และนี่ก็คือสิ่งที่เราเชื่อต่อๆ กันมา


 


แต่น่าเสียดายที่ในโลกของความจริง คนดีไม่ได้ชนะเสมอไป เผลอๆ คนดีก็...ไม่ได้อยู่ที่นั่นเลยด้วยซ้ำ อย่างในเรื่องของอิรัก บางครั้ง ทั้งซ้าย ลิเบอรัล โพรเกรสสีฟ (ซึ่งขอเรียกรวมๆ ว่า "คนดี" เพื่อห็นแก่ประโยชน์ในการถกกันครั้งนี้) ดูเหมือนจะเอาหัวไปซุกอยู่ในก้อนเมฆซะงั้น โดยเฉพาะกับประเด็นสำคัญที่ว่า ยุทธศาสตร์อยู่ต่อไปเรื่อยๆ ในอิรัก (stay-the-course strategy) ของบุชเนี่ย...มันจะมีโอกาสประสบความสำเร็จเข้าสักวันมั้ย? โชคไม่ดีที่คำตอบประเด็นนี้ก็คือ : มีโอกาส


 


กลยุทธของบุชในอิรักทุกวันนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากตอนบุกยึดในปี 2003 ได้แก่ : ใช้กำลังทางทหารทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองของรัฐ, สลายกองกำลังเดิมของอิรัก, กำจัดอิรัก-ประเทศที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีอำนาจเหนือทรัพยากรน้ำมันบริเวณอ่าวเปอร์เชีย, สร้างอิรักใหม่ที่อเมริกาคุมได้จากซากพังทลายของอิรักเก่า, สร้างชนชั้นทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ซึ่งเต็มใจจะรับใช้หรือตอบสนองผลประโยชน์ของเราในภูมิภาค, ใช้อิรักใหม่เป็นฐานเพื่อการขยายอำนาจในตะวันออกกลาง


 


เพื่อจะบรรลุผลที่ว่า ประธานาธิบดีบุชจึงมีเจตนาแน่วแน่ที่จะคงกำลังทางทหารให้มากที่สุด และนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอิรัก พร้อมกันนั้น ก็ช่วยจัดหา ฝึก ให้ทุน คอยดูแลกำกับกองทัพและตำรวจอิรักไปด้วย และนั่นก็จะช่วยให้กองทัพอเมริกันค่อยๆ ถอยฉากออกมาจากแถวหน้า ลด "รอยเท้า" ที่ย่ำไปมาทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องถอนทัพกลับไปจริงๆ ฉากจบในอิรัก อย่างที่บุชและที่ปรึกษาจินตนาการเอาไว้ก็คือ "การมีอยู่อย่างถาวรของทหารอเมริกันในประเทศอิรัก" ซึ่งหมายถึงฐานทัพถาวร สิทธิในฐานทัพเหล่านั้น ตลอดจนบทบาทสถานะที่เด่นชัดของอเมริกาในเรื่องผลประโยชน์น้ำมันและธุรกิจอื่นๆ


           


เมื่ออเมริกาถูกถล่มด้วยข่าวร้าย


พวกโพรเกรสสีฟจำนวนมากทำท่าเชิดใส่ฉากจบที่ว่า พวกเขาโต้แย้งด้วยท่าทีที่น่าเชื่อถือว่า โปรเจคท์อเมริกาในอิรักกำลังจะพบกับความพินาศ chip หายในเร็วๆ วันนี้ เพื่อพิสูจน์สิ่งที่พูด พวกเขาอ้างถึง...จะอะไรซะอีกล่ะ? ก็ข่าวร้ายน่ะสิ ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่า มันทะลักไหลออกมาเยอะไปหมดจริงๆ


 


อันดับแรกเลย ขบวนการของฝ่ายต่อต้านที่นำโดยชาวซุนนียังคงแพร่ระบาดไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนการรวมตัวของกองทัพเล็กๆ ที่กระจัดกระจายและมีหัวงอกใหม่ได้เรื่อยๆ ฝ่ายต่อต้านที่ว่านี้ประกอบไปด้วย : อดีตทหาร เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของพรรคบาธ, พวกอิสลามเคร่งลัทธิและพวกชาตินิยมหลากหลายรูปแบบ, ผู้นำเผ่าและผู้นำวงศาคณาญาติ, กองกำลังอาสาสมัครในหมู่บ้านและในเมือง - ในการรบที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความสามารถในการฟื้นตัวเป็นพิเศษ การกำจัด อาบู มูซาบ อัล-ซาร์คาวี ไม่น่าจะสร้างความสั่นคลอนอะไรให้กับฝ่ายต่อต้านซุนนีได้ ยิ่งกว่านั้น อาจจะทำให้ขบวนการเข้มแข็งขึ้นด้วยซ้ำ


 


สอง ชีอะต์ในอิรักกำลังมีปัญหารวมตัวกันไม่ติด คุมทิศทางไม่ได้ อันเนื่องมาจากความแตกแยกภายใน บล็อกหรือกลุ่มที่มีอำนาจมากที่สุด 2 กลุ่มซึ่งต่างก็มีกองกำลังติดอาวุธของตัวเอง ได้แก่ กลุ่ม สกิรี (SCIRI - Supreme Council for the Islamic Revolution in Iraq) กับกองพลน้อยบาเดอร์ และกลุ่มของ มุกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์ (Muqtada al-Sadr) กับกองทัพมาห์ดี ทั้งสองกลุ่มที่ว่านี้ต่างก็ไม่แฮ็ปปี้ในระดับต่างๆ กัน กับการมีอยู่ของอเมริกาในประเทศนั้น กลุ่มที่โผล่ขึ้นมาใหม่อย่างกลุ่ม ฟาดิลา (Fadhila) ซึ่งหนึ่งในผู้นำกลุ่มเพิ่งจะถูกจับในนาจาฟ (ข้อหาวางแผนบอมบ์ทหารอเมริกา) ก็ทำท่าเครียดหนักอยู่เหมือนกัน และเกือบทั่วทั้งภูมิภาคตอนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ชีอะต์ กลุ่มการเมืองและกองกำลังต่างๆ ในฝ่ายชีอะต์ ต่างก็กำลังต่อสู้กันเอง เพื่อแย่งชิงกันคุมเมืองสำคัญๆ โดยเฉพาะบาสรา พร้อมกับแย่งกันมีอำนาจเหนือบริษัทน้ำมันของอิรักอย่าง เซาเธิร์น ออยล์ คอมพานี (Southern Oil Company) โดยที่บริษัทนี้ไม่เพียงจะเป็นแผล่งผลิตน้ำมันจำนวนมหาศาล ยังเป็นแหล่งคอรัปชันที่ทำเงินเข้ากระเป๋าผู้นำพรรคการเมืองชีอะต์ไปด้วย นอกจากนี้ ผู้นำชีอะต์บางส่วน - หรืออาจจะทั้งหมด - ต่างก็หันหน้าเข้าหาก๊กก๊วนต่างๆ ในอิหร่านเพื่อแสวงหาความช่วยเหลือทั้งนั้น


 


สาม เคิร์ด ผู้ซึ่งมีฐานอันมั่นคงปลอดภัยในตอนเหนือของอิรักด้วยชัยภูมิประมาณอลาโม เป็นพวกที่มีความสุขกับการแสดงตัวว่าโปร-อเมริกันจ๋า แม้ว่าพวกเขาจะแอบซุ่มเงียบเตรียมยึดเมืองเคอร์คุก ยึด บริษัทนอร์ธเธิร์น ออยล์ คอมพานี (Northern Oil Company) และยังเลยไปถึงพื้นที่เชื่อมติดกันแถวๆ นั้นด้วยก็ตาม - ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ที่งานนี้จะมีการปะทะอันหลีกเลี่ยงได้ยากตามมา ระหว่างเคิร์ดกับกลุ่มที่เป็นอาหรับ ทั้งซุนนีและชีอะต์ และอาจจะกับรัฐที่อยู่ติดกันด้วย...ก็มีสิทธิเป็นไปได้


 


สี่ โปรเจคท์อเมริกาที่ต้องการสร้างกองกำลังทหารตำรวจของอิรักขึ้นมาใหม่เป็นไปอย่างอัปลักษณ์สุดๆ จนถึงวันนี้ กองกำลังหลักๆ ทั้งของทหารและตำรวจล้วนสร้างขึ้นมาจากกองพลน้อยบาเดอร์ของชีอะต์ และกองกำลัง เปชเมอร์กา (Peshmerga) ของเคิร์ด 2 กองกำลังนอกกฎหมาย...เป็นอย่างน้อย ทหารตำรวจเหล่านี้ ไม่มีความจงรักภักดีต่อหน่วยของตัวเอง ไม่เชื่อในอิรักที่มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว และไม่แม้แต่จะยึดถือคุณค่าพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะพวกชีอะต์ในเครื่องแบบ ที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญนองเลือดประเภทอุ้มฆ่า ล่าสังหาร ตลอดจนการลอบสังหารที่พุ่งเป้าไปที่อดีตสมาชิกพรรคบาธเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นเรื่องยากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ ที่อเมริกาจะใช้กองกำลังเคิร์ดและชีอะต์ซึ่งมีลักษณะดิบเถื่อนกร้านสงครามและกระหายอำนาจเหล่านี้ มารักษาความสงบในเขตซุนนี โดยเฉพาะด้านตะวันตกของแบกแดด


 


ห้า แน่นอนว่าต้องเป็นโครงการก่อสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจอิรัก คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า มันไม่ได้ตกอยู่ในวังอันน่าเวียนหัวเหมือนเรื่องอื่นๆ


 


ด้วยข่าวร้ายประมาณนี้ที่มีมาเรื่อยๆ จึงไม่น่าประหลาดใจอะไร ที่ฝ่ายอเมริกาเอง ทั้งนักการเมือง นายพล ตลอดจนโพรเกรสสีฟส่วนใหญ่ ต่างก็เห็นพ้องต้องกันเรื่องฉากต่อไปที่เลวร้ายที่สุดในอิรัก พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ว่าอเมริกากำลังจะแพ้ อันที่จริง ในช่วง 3 ปีมานี้ ผมก็เคยแสดงความเห็นด้วยกับทัศนะที่ว่าอยู่หลายครั้ง พฤศจิกายนปีที่แล้ว ในบทความ "Getting Out of Iraq" ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารโรลลิงสโตน ผมเขียนกระทั่งว่า


 


"จอร์จ บุช น่าจะเป็นคนเดียวในวอชิงตันที่ยังไม่รู้ว่า...อเมริกาแพ้สงครามอิรักไปแล้ว"


 


ผมยังได้อ้างถึงคำพูดของอดีตวุฒิสมาชิกรัฐจอร์เจีย แม็กซ์ คลีแลนด์ ที่ไปกล่าวต่อสภาคองเกรสในการไต่สวนเกี่ยวกับสงครามอิรักครั้งหนึ่งว่า "เราต้องมี exit strategy หรือยุทธศาสตร์ทางออกที่เราเองเป็นฝ่ายตัดสินใจเลือก ก่อนที่สถานการณ์มันจะเลือกให้เราแทน" วุฒิสมาชิกที่เป็นทหารผ่านศึกเวียดนามรายนี้ ยังพูดทิ้งท้ายไว้ว่า "ผมเคยดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว ผมรู้ดีว่ามันจะจบยังไง"


 


สัปดาห์ที่แล้ว นิโคลัส วอน ฮอฟแมน กับบทความชิ้นหนึ่งในเนชัน ก็มาในธีมเดียวกัน เขาบอกว่ามันสายไปแล้วที่จะมานั่งคิดเรื่อง exit strategy


 


"เรากำลังเดินหน้าไปสู่ American Dunkirk หรือการมีดังเคิร์กเป็นของอเมริกันเอง - - ในปี 1940 ตอนที่กองทัพอังกฤษซึ่งพ่ายแพ้ในเบลเยี่ยม ถูกทหารเยอรมันขับออกมาจนถึงเมืองท่าดังเคิร์กในฝรั่งเศส ทหารอังกฤษต้องทิ้งข้าวของและเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อที่จะหนีกลับประเทศตัวเอง โดยหาทางข้ามช่องแคบอังกฤษให้ได้ ตอนนั้นแหละที่มันต้องใช้ทั้งเรือใหญ่ เรือเล็ก เรือยอชท์ เรือหาปลาของชาวบ้าน และทุกๆ อย่างที่ลอยน้ำได้ เพียงเพื่อจะบรรทุกทหารที่พ่ายแพ้และบาดเจ็บให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย........(แต่ในอิรัก) เราไม่มีท่าเรือให้ทหารทำแบบนั้นหรอก วิธีเดียวที่จะออกจากอิรักได้ก็คือ ไฮเวย์กลางทะเลทรายที่มุ่งหน้าสู่คูเวต เส้นทางที่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว กองทัพอากาศของเราเคยถล่มกองทัพซัดดัมน่ะแหละ"


 


 


 


ก็ถ้าอเมริกายังคิดจะอยู่ต่อไป?


ผมต้องขอสารภาพตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า ผมขอเปลี่ยนใจคิดใหม่ในเรื่องนี้แล้ว ผมไม่เหลือความเชื่อมั่นใดๆ อีกแล้วว่า...การผจญภัยของอเมริกาในอิรักจะพบกับความพ่ายแพ้ ไม่มีอะไรรับประกันว่าบุชจะไม่บรรลุเป้าหมายของเขาที่นั่น สิ่งที่แน่นอนอย่างเดียวก็คือ ความสำเร็จ - อย่างที่ประธานาธิบดีบุชเรียกว่า "ชัยชนะในอิรัก" - มันจะเดินทางมาถึงหลังค่าใช้จ่ายมหาศาล นั่นก็คือ ความตายของคนอเมริกันที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายพัน ความตายของคนอิรักอีกหลายแสน ตลอดจนเงินภาษีที่จะละลายหายไปอีกหลายแสนล้านดอลลาร์


 


จริงๆ แล้ว สงครามนี้จำเป็นจะต้องถูกลากยาวต่อไป ไม่เพียงแต่ในยุครัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงรัฐบาลหน้า และบางทีอาจจะรัฐบาลชุดถัดไปอีกด้วย กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ผู้นำอเมริกาได้สนับสนุนการคงอยู่ของกำลังทางทหารขนาดใหญ่ในอิรัก แม้ตัวเลขบาดเจ็บล้มตายจะขยับขึ้นมาเรื่อยๆ และความสามารถที่จะเดินหน้าสงครามในสภาพนี้ต่อไปจะไม่ลดน้อยลง ตลอดสองปีครึ่งก่อนหมดวาระของรัฐบาลบุช หรือแม้ในยุคของผู้บริหารชุดใหม่ก็ตาม ไม่ว่าประธานาธิบดีคนต่อไปจะชื่อ จอห์น แมคเคน (รีพับลิกัน) หรือ ฮิลลารี คลินตัน (เดโมแครต) อเมริกาก็จะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ในทางทฤษฎี กำลังทหารกว่า 100,000 คนของอเมริกา สามารถทำสงครามแบบโหดๆ กับฝ่ายต่อต้านในอิรักได้ตลอดหลายปีข้างหน้า จนกว่าคนเหล่านั้นจะอ่อนล้าหมดเขี้ยวเล็บไปเอง สัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวรั่วในนิวยอร์คไทมส์ บอกว่า ทำเนียบขาวตั้งใจจะทิ้งทหารไว้ในอิรักอย่างน้อย 50,000 นายเป็นเวลาอีกหลายปี สัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน ลูกชายของประธานาธิบดีอิรัก (ชาวเคิร์ด) เพิ่งจะเปิดเผยว่า ตัวแทนของฝ่ายเคิร์ดกำลังเจรจาต่อรองกับอเมริกาเรื่องฐานทัพถาวรในตอนเหนือของอิรัก


 


ระหว่างนี้ ประธานาธิบดีบุชกับ "รัสปูติน" ของเขา - คาร์ล โรฟ ฉวยโอกาสที่ซาร์คาวีตาย ออกมาตอกย้ำความมุ่งมั่นเรื่องชัยชนะในอิรักอีกครั้ง โดยไม่สนใจว่าจะมีต้นทุนเท่าไหร่ ไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่เชื่อว่าบุชหมายความตามนั้น และไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่เชื่อว่าโรฟพร้อมจะปฏิบัติการตอบโต้ใส่เดโมแครตคนไหนก็ตาม...ที่กล้าออกมาท้าทายบุชเรื่องเป้าหมายในอิรัก


 


สิ่งที่น่าตกใจเกี่ยวกับดีเบตอิรักทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็คือ ฝ่ายที่คัดค้านรัฐบาลบุชซึ่งเป็นพวกเมนสตรีมกลุ่มใหญ่ - ไล่มาตั้งแต่เดโมแครตสายกลางไปจนถึงรีพับลิกันสายกลาง/เรียลลิสต์ - ไม่มีใครท้าทายเป้าหมายที่เรียกกันว่าชัยชนะในอิรักสักคน จริงอยู่ แม้จะมีสมาชิกคองเกรส antiwar สายเข้มออกมาสนับสนุนการถอนทหารแบบไม่มีเงื่อนไขก็ตาม (ตัวเด่นๆ ของสายนี้ได้แก่ เดนนิส คูซินิช, ลิน วูลซี, บาร์บารา ลี ร่วมด้วย จอห์น เมอร์ธา เป็นต้น) แต่เดโมแครตที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่จริงๆ ยังคงเป็นพวกที่ไม่มีปัญหากับเป้าหมายหรือชัยชนะในสงครามอิรัก พวกนั้นก็แค่วิพากษ์วิจารณ์หรือไม่เห็นด้วยกับบุชในเรื่องแทคติก


 


มี 2 เหตุการณ์เท่านั้นที่จะขัดขวางสงครามของบุชได้ อันแรก ฝ่ายต่อต้านในอิรักจะต้องเอาชนะการยึดครองของอเมริกาให้ได้ อันที่สอง คนอเมริกันในบ้านจะต้องรวมตัวกันให้มีพลังมากพอเพื่อจะเรียกร้องการถอนทหารแบบไม่มีเงื่อนไข แต่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งฝ่ายต่อต้านในอิรักและฝ่ายเรียกร้องให้ยุติสงครามในอเมริกาก็ยังไม่ใช่ผู้เล่นที่ถือไพ่เหนือกว่า และที่น่าเสียดายกว่านั้นก็คือ ทั้งสองฝ่ายกลับเกลียดกันเกินกว่าจะจับมือเคลื่อนไหวในประเด็นเดียวกันซะอีก


 


ขณะที่ ฝ่ายต่อต้านในเวียดนาม มีรัฐของตัวเอง-เวียดนามเหนือ แถมยังได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียต รวมทั้งจีนของเหมา ฝ่ายต่อต้านของอิรักไม่มีอะไรเลยนอกจากการเคลื่อนไหวของรากหญ้าเท่านั้น ไม่ได้คุมรัฐของตัวเอง และไม่มีรัฐอื่นสนับสนุน (ตรงกันข้ามกับคำกล่าวหาปัญญาอ่อนของพวกนีโอคอน และคณะผู้บริหารของบุช อิหร่านไม่ได้ช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านซุนนี ขบวนการเคลื่อนไหวที่กระจัดกระจายเป็นเสี้ยวเล็กเสี้ยวน้อยอยู่ตอนนี้ ได้รับความช่วยเหลืออันสุดจะจิ๊บๆ เศษๆ มากจากเพื่อนบ้านอาหรับที่เป็นซุนนี)


 


คงไม่จำเป็นต้องบอกว่า มันไม่เคยมีความเสน่หากันอยู่แล้วระหว่างพวกบาธธิสต์ในอิรัก กับในฟากของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียและจอร์แดน แต่มันคงจะทำให้ฝ่ายต่อต้านในอิรักเคลื่อนไหวอย่างมีพลังขึ้นมาก ถ้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของซีกชีอะต์ในอิรักจะแยกตัวมาร่วมต่อต้านอเมริกาด้วยกัน อย่างเช่นกรณีที่กองกำลังของมุกตาดาร์ อัล-ซาเดอร์เคยทำมาแล้วตอนที่อเมริกาถล่มฟัลลูจาห์ในปี 2004 เป็นต้น แต่ดูแล้ว...เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้


 


เพราะฉะนั้น ใครจะเชื่อล่ะว่า...ฝ่ายต่อต้านซุนนีจะสามารถยืนหยัดสู้รบอย่างนี้แบบไม่มีวันจบสิ้น เมื่อต้องเจอเข้ากับพลังปะทะรอบด้านจากฝ่ายตรงข้าม ทั้งจากกองทัพอเมริกา กองทัพอิรักที่นำโดยเคิร์ดและชีอะต์ รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธอีกต่างหาก? ยิ่งกว่านั้น ยังมีปัจจัยซ้ำเติมระหว่างนี้ ได้แก่ความพยายามของอเมริกาในอันที่จะ "แบ่งแยกและปกครอง" ซุนนี โดยยื่นข้อเสนอล่อใจเพื่อแยกฝ่ายต่อต้านซุนนีปีกที่ไม่แข็งข้อมากนักออกไป แต่ถึงกระนั้น มันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ซะทีเดียวที่ฝ่ายต่อต้านซุนนีจะยืนหยัดต่อไปได้นานพอ...ที่จะทำให้อเมริกาถึงจุดที่เป็นทางตัน และไม่เหลือทางเลือกอื่น แต่สิ่งเหล่านี้จะบรรลุผลได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของขบวนการต้านสงครามในอเมริกาด้วย...ที่จะทำลายความเห็นชอบร่วมกันในเรื่องการอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ในอิรัก


 


สงครามในอิรักคือ "ความผิดพลาด" ?


จนถึงตอนนี้ พวกเดโมแครตต้านสงครามตัวจริง...ยังคงเป็นแค่พลังเคลื่อนไหวอันเล็กน้อยมากในพรรค ท่ามกลางฝ่ายที่ไม่เอาด้วยกับบุชในอิรักทั้งหมด บทบาทของเดโมแครตเสียงข้างน้อยกลุ่มนี้ถูกบดบังจนเกือบมิดด้วยเดโมแครตสายกลางและรีบพับลิกันเรียลลิสต์ โดยกลุ่มใหญ่ที่มาจากทั้ง 2 พรรคต่างก็พอใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์บุชแค่ว่า สงครามในอิรักเป็นเพียงเรื่องของ "ความผิดพลาด" (mistake), และ "ความล้มเหลว" (failure) ในแบบที่ไม่สามารถฟ้องร้องใครมาดำเนินคดีได้ แต่ไม่มีใครกล้าเดินหน้าชนตรงๆ กับตัวสงครามและตรรกะของมันทั้งหมด


 


สงครามในอิรักไม่ใช่เรื่องของ "ความผิดพลาด" หรือ "การทำพลาดไป" แต่เป็นปฏิบัติการที่เต็มไปด้วยความตั้งใจและวางแผนมาอย่างดี พร้อมกับมีตอนจบที่กำหนดไว้ในใจแล้ว นั่นก็คือ การควบคุมอิรักและภูมิภาคอ่าวเปอร์เชีย มันเป็นเรื่อง ผิดกฎหมาย และมันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ มันเป็น อาชญากรรมสงคราม และมันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ มันถูกก่อการโดย อาชญากรสงคราม และมันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ มันมี เป้าหมายที่ไม่ถูกต้องสมควร และมันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่


 


อย่างไรก็ตาม มีเดโมแครตน้อยคนมากๆ และแทบจะไม่มีรีพับลิกันคนไหนเลย ที่เต็มใจจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์บุชในประเด็นที่กล่าวมานี้ และเอาเข้าจริง "ความผิดพลาด" - อย่างที่พวกเขาเรียกกัน - ของคณะผู้บริหารบุช จึงมีความหมายแค่ "ข้อผิดพลาดเล็กๆ (โดยประมาท)" (error) ประเภทนี้ไป : การล้มล้างพรรคบาธ การยกเลิกกองทัพอิรักเดิม (ส่งผลให้เกิดฝ่ายต่อต้านซุนนีตามมา)...ก็แค่นี้แหละที่นักวิจารณ์บุชส่วนใหญ่เขาออกมาโวยวายกัน แต่ขอโทษ เรื่องพวกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผ่านการคิดคำนวณมาแล้ว ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ น่ะแหละ มันเป็นอีกการกระทำหนึ่งซึ่งมีเจตนา...เพื่อให้อเมริกาบรรลุสิ่งที่วางไว้


 


เช่นเดียวกัน เราคงไม่สามารถพูดได้ง่ายๆ ว่า สงครามครั้งนี้ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในสงครามนี้คือ "ความล้มเหลว" เพราะไม่ว่ามันจะดูโหดเหี้ยมทารุณเลวร้ายสักแค่ไหน มันก็กำลังพยายามเดินหน้า - บดขยี้ทุกอย่างที่ขวางหน้า - เพื่อไปสู่เป้าหมายของมันอยู่ดี แม้ว่าชัยชนะของอเมริกาในอิรัก เมื่อพิจารณาจากข่าวร้ายต่างๆ ที่เราอ้างถึงแล้ว จะเป็นสิ่งที่หาความแน่นอนไม่ได้ แต่จุดนี้ก็ยังเร็วไป...เร็วเกินไปมากๆ ที่จะสรุปว่าอเมริกาล้มเหลว การพูดเช่นนี้ ณ ช่วงจังหวะนี้ ออกจะเป็นอะไรที่ Capra-esque เกินไปหน่อย มันเป็นการคิดเอาเองว่าคนเลวไม่มีทางชนะ แต่บางครั้งคนเลวก็ (ดัน) ชอบชนะ โดยเฉพาะในกรณีของอิรัก...ที่ไม่มีแม้เงาของคณะลูกขุนมาวุ่นวายเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย


 


อันตรายของการเน้นในเรื่อง "ความผิดพลาด" และ "ความล้มเหลว" ของบุชมากไปก็คือ มันดันไปเข้าทางของพวกสายกลางกลุ่มก้อนมหึมาในสองพรรคการเมืองที่แห่กันชูธงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า - ก็ถ้าสงครามมันเป็น "ความผิดพลาด" หรือ "การทำพลาดไปแล้ว (โดยไม่ตั้งใจ)" ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ ก็คืออเมริกาต้องทำมันใหม่ "ทำให้มันชนะซะ" - - แม้ว่ารายละเอียดปลีกย่อยจะผิดเพี้ยนกันไป แต่การมองปัญหาอิรักในธีมนี้ อารมณ์นี้...เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จากพวกสายกลางทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน


 


ตัวอย่างก็เช่น คุณมักจะได้ยินคำพูด (ซึ้งๆ) ประเภท...แม้ว่าสงครามนี้จะผิด แต่เราก็มีพันธะทางศีลธรรมที่จะต้องอยู่ต่อ เพื่อป้องกัน "สงครามกลางเมือง" หรือไม่ก็...อเมริกาจะต้องใช้ไม้แข็งกับภัยคุกคามที่เรียกว่าพวกแฟชิสต์อิสลามหรือ Islamofascism (1) รวมทั้ง...ถ้าเราออกจากอิรักเมื่อไหร่ ก็เท่ากับเรายื่นชัยชนะใส่มือพวกอัล-ไคดา ฯลฯ ยังมีอีกมากมายหลายคำอธิบายในธีมเดียวกันนี้ แต่ทุกๆ คำอธิบาย ไม่ว่าจะวิจารณ์ความไร้น้ำยาของบุชมากแค่ไหน ลงท้ายก็สรุปเหมือนกันเป๊ะว่า อเมริกาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก "อยู่ต่อไปในอิรัก"


 


เร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับบางคนในกลุ่มนั้น พวกเขาหยิบยกข้อโต้แย้งอันแอ็บเสิร์ดเหลือเชื่อของ คอลิน พาวล์ ที่เกี่ยวกับร้าน Pottery Barn (ร้านขายของแต่งบ้านในอเมริกา) มาอ้างตามๆ กันว่า "คนไหนทำแตก คนนั้นเป็นเจ้าของ" (if you break it, you own it) โอเค ใช่ คุณทำอิรักแตก แต่ขอโทษ คุณไม่ได้เป็นเจ้าของอิรักนะครับ (จริงๆ แล้ว พอทเทอรีบาร์นไม่ได้มีกฏอย่างนั้นสักหน่อย ถ้าคุณบังเอิญทำของชิ้นไหนแตกโดยไม่ตั้งใจ คุณก็ไม่ต้องรับผิดชอบมันจริงๆ หรอก) เราไมได้เป็นเจ้าของอิรัก เราไม่มีความจำเป็นทางศีลธรรมใดๆ ที่จะอยู่ต่อไปในอิรัก เรามีแต่ความจำเป็นทางศีลธรรมที่จะต้องออกไป - ที่จะขอให้คนอิรักยกโทษให้ - ก็เท่านั้น


 


มีเพียงขบวนการต้านสงครามในอเมริกา ที่จะสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับฝ่ายต่อต้านในอิรัก และมีเพียงฝ่ายต่อต้านในอิรัก ที่จะช่วยขบวนการต้านสงครามได้ ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครอยากฟังของสงครามอิรักมีอยู่ว่า ถ้าไม่เพราะการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านในอิรัก ป่านนี้...ก็คงไม่มีขบวนการต้านสงครามในอเมริกา ถ้าฝ่ายซุนนีในอิรักล่มสลาย แตกพ่าย และยอมยกอำนาจให้กับพันธมิตรชีอะต์-เคิร์ดซึ่งมีอเมริกาหนุนหลังอย่างเชื่องๆ ง่ายๆ ตั้งแต่แรก สงครามผิดกฎหมายของบุชก็คงสำเร็จสมใจไปตั้งนานแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามอะไรเลย


 


แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า เพราะการนำของพรรคบาธ นายทหารอิรัก ร่วมกับกลุ่มชนเผ่าและกลุ่มเครือญาติวงศ์วานต่างๆ การลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กับผู้ยึดครองจึงพัฒนาขึ้นมาอย่างเข้มแข็งคึกคักชั่วไม่กี่เดือนภายหลังการบุกยึดอิรัก-มีนาคม 2003 บางส่วนของฝ่ายต่อต้าน แน่นอนว่าย่อมมีผู้ที่จงรักภักดีกับซัดดัม ฮุสเซนเป็นส่วนตัว แต่จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับฝ่ายต่อต้านเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า นักรบส่วนใหญ่ ถ้าไม่เป็นพวกที่เชื่อมั่นในพรรคบาธ ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากอุดมการณ์ ชาตินิยมอาหรับ (2) ที่มีความเป็นซ้ายในระดับหนึ่งแล้ว ก็เป็นพวก ชาตินิยมอิรัก - ชาตินิยมในเวอร์ชันที่แคบเข้ามาหน่อย หรือไม่ก็เป็นพวกที่ขอต่อต้านการยึดครองของต่างชาติไว้ก่อน ไม่มีอะไรซับซ้อน


 


พระเอก ผู้ร้าย และตอนจบในอิรัก


 


ขบวนการต้านสงครามในอเมริกาไม่ได้พัฒนาขึ้นมาจากการปฏิเสธสงครามด้วยเหตุผลทางศีลธรรมหรือปัญญา แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นแก่นแท้ของการต่อต้านก็ตาม มันเติบโตเพราะว่าพวกกระแสหลักในอเมริกาเริ่มรำคาญใจในสงครามยืดเยื้อครั้งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คนอเมริกันจำนวนมากโกรธเวลาที่เห็นความบาดเจ็บล้มตายของทหารอเมริกันเอง แต่ความจริงข้างใต้นั้นก็คือ การจับอาวุธขึ้นต่อต้านอย่างยืดเยื้อยาวนานหลังการบุกยึด และความสูญเสียของทหารอเมริกันที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการที่คนอิรักไม่เต็มใจยอมรับอำนาจเผด็จการอเมริกันต่างหาก


 


มองจากมุมนี้ มันจึงมีบางสิ่งที่น่าตั้งคำถามตามมา : ใครเป็นพระเอก และใครเป็นผู้ร้ายในอิรัก? พระเอกคือทหารอเมริกันที่ต่อสู้เพื่อสถาปนาความเป็นใหญ่ของอเมริกาเหนือดินแดนอ่าวเปอร์เชีย? พระเอกคือกองกำลังของเราที่ช่วยค้ำยันอุปถัมภ์ชีอะต์นักฆ่าทั้งหลายให้เป็นผู้นำที่แบกแดด? พระเอกคือนาวิกโยธินที่ฆ่าเด็กเล็กๆ ที่ฮาดิธาอย่างเลือดเย็น? พระเอกคือทหารอเมริกาผู้หยิบยื่นอาบูกราอิบให้เรา หรือนายพลทั้งหลายที่เป็นคนเซ็นอนุญาตวิธีการเหล่านั้น หรือคณะผู้บริหารประเทศที่ส่งพวกเขาไปตามเส้นทางสายนี้ตั้งแต่แรก? และสุดท้าย ใครกันแน่ พระเอกหรือผู้ร้าย...ที่บดขยี้ทำลายทุกสถาบันในสังคมอิรักจนไม่มีอะไรเหลือ?


 


เพราะฉะนั้น ถ้า "ทหารม้า" ของอเมริกาไม่ใช่พระเอก แล้วเราจะให้ใครเล่นบทพระเอกดีล่ะ? ถ้า "แฟรงก์ คาปรา" ไปอิรัก เขาจะแบ่งแยกที่ทางระหว่างพระเอก ผู้ร้าย คนดี คนเลว และนำมาประกอบกันเป็นบทหนังซึ่งส่งเสริมศีลธรรมอันดีงามและ "ฟีลกู้ด" ของเขาได้ยังไง? แน่นอนว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าทหารอเมริกันนี่แหละเป็นพระเอก แม้ว่า 62% (ตามโพลล่าสุด) จะไม่เชื่ออีกแล้วว่าสงครามในอิรัก "มีค่าพอที่จะต่อสู้" แต่ข้อคิดเห็นของผมมีดังนี้ : คาปราสามารถคิดคำอธิบายที่พอจะรับฟังได้ก็คือ ในสภาพนรกอย่างที่อิรักได้เป็นไปแล้วในปี 2006 จากการที่นักรบฝ่ายต่อต้านกับทหารอเมริกันผลัดกันฆ่าอีกฝ่ายไปมา อย่างน้อยฝ่ายโน้นก็คงจะมีคนดีพอๆ กับฝ่ายเราบ้างล่ะนะ...ในกรณีที่ไม่ได้มีมากกว่า


 


ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พุ่งขึ้นมาอย่างช่วยไมได้-อีกครั้งหนึ่ง-ก็คือคำถามเกี่ยวกับ "การเจรจากับฝ่ายต่อต้านซุนนี" ปีที่แล้ว ทูตอเมริกาประจำอิรัก ซัลเมย์ คาลิสัด ได้จัดเจรจาลับกับฝ่ายต่อต้านหลายครั้ง และยังได้พูดจาในที่สาธารณะยอมรับถึงความแตกต่างระหว่างจิฮัดดิสต์แบบซาร์คาวี กับฝ่ายต่อต้านที่เป็นอดีตบาธธิสต์และอดีตทหารอิรัก หลังจากนั้น ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของรัฐบาลใหม่ที่มี นูรี อัล-มาลิกี เป็นนายกรัฐมนตรี คนของรัฐบาลก็ได้หยิบยกเรื่องการเจรจากับฝ่ายต่อต้านมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง ผู้ช่วยของมาลิกีได้เสนอแนะถึงขนาดที่ว่า ให้นิรโทษกรรมนักรบติดอาวุธที่ฆ่าทหารอเมริกันด้วย มันเป็นความคิดที่เข้าท่าและมีการพูดกันมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2003 แต่ในกรณีนี้ ผู้นำวุฒิสมาชิกเสียงข้างน้อย-เดโมแครต แฮรี เรด ผู้ที่สมองไม่ค่อยรับรู้อะไรมากนัก (ignorant) กลับได้แสดงความเกรี้ยวกราดต่อไอเดียดังกล่าว ตามรายงานต่อมาของวอชิงตันโพสต์ ผู้ช่วยของมาลิกีที่กล้าให้คำแนะนำนี้จึงถูกปลดไปตามระเบียบ


 


โดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างสงสัยในบทบาทของคาลิสัดก่อนหน้านี้ ด้วยท่าทีที่สนับสนุนการยื่นข้อเสนอเจรจา มีความน่าจะเป็นว่าคาลิสัดกำลังใช้แทคติก "แบ่งแยกและปกครอง" มากกว่า เพื่อล่อให้ผู้นำฝ่ายต่อต้านบางรายหันมาเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลหรือระบอบปกครองใหม่ ผมไม่รู้จะตีความข้อเสนอของคาลิสัดเป็นอย่างอื่นได้ยังไง...ในเมื่อประธานาธิบดีบุชยังคงยืนยันถึงชัยชนะแบบไม่มีเงื่อนไขในอิรัก? ใครก็ตามที่พอจะมีข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายต่อต้านย่อมรู้ดีว่า สิ่งสำคัญพื้นฐานที่สุดในการเจรจา ถ้าอเมริกาต้องการบรรลุข้อตกลงใดๆ กับฝ่ายต่อต้านก็คือ ต้องเริ่มด้วย "ข้อเสนอในการถอนทหาร"


 


แต่ไม่ว่าจะยังไง ไม่ว่านักรบฝ่ายต่อต้านจะเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย เรื่องนี้ โพรเกรสสีฟ ฝ่ายซ้าย และนักเคลื่อนไหวต้านสงคราม ไม่จำเป็นต้องรอซัลเมย์ คาลิสัด เวลาของการพูดคุยเจรจากับบาธธิสต์ อดีตผู้นำทหาร และกองกำลังฝ่ายต่อต้านซุนนีมาถึงแล้ว ยิ่งตอนนี้ อาบู มูซาบ อัล-ซาร์คาวีก็ตายไปแล้ว ตัวตนจริงๆ ของฝ่ายต่อต้านเริ่มถูกแยกออกมาให้เห็นเด่นชัด ผู้สนับสนุนสงครามประเภทบ้าเลือดจำนวนมากมักจะชอบกล่าวอ้างว่า พวกเอ็กซสตรีมมิสต์อิสลามหัวรุนแรงที่ชอบฆ่าตัดคอน่ะแหละคือใบหน้าที่แท้จริงของฝ่ายต่อต้าน คนกลุ่มนั้นเป็นผู้มีอำนาจเหนือกองกำลังส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว มันไม่ใช่และไม่เคยเป็นอะไรอย่างนั้น


 


ขณะนี้ ผู้นำขบวนการต้านสงครามซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือจำนวนหนึ่ง ได้เริ่มต้นขั้นตอนของการเจรจาขึ้นบ้างแล้ว ทอม เฮเดน แอคทิวิสต์และอดีตวุฒิสมาชิกแคลิฟอร์เนีย เพิ่งจะเริ่มการพูดคุยกับฝ่ายต่อต้านชาวอิรักที่ลอนดอน อัมมาน และที่อื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกบางคนของสภาคองเกรสอย่างเช่น จิม แมคเดอร์มอท ที่ได้เดินทางไปกรุงอัมมาน จอร์แดน เพื่อภารกิจอย่างเดียวกัน ณ จุดที่เป็นอยู่ คณะผู้บริหารของบุชอาจจะยังไม่พร้อมเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเปิดเผย แต่ในเมื่อทุกสงครามมีวิธีจบ 2 อย่าง ถ้าไม่จบที่การรบแพ้-ชนะแบบฆ่ากันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ก็อาจจบลงได้ที่โต๊ะเจรจา และแน่นอนว่า...ผมเลือกอย่างหลัง o


 


.......................................


อธิบายท้าย


(1)       Islamofascist/ Islamofascism - เป็นศัพท์มั่วนิ่มไร้สติเท่าที่เคยมีมาในโลกคำหนึ่ง ศาสนาอิสลามกับอุดมการณ์ fascism ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องเกี่ยวข้องกันสักกะติ๊ด แต่คนบางคนก็พยายามเหลือเชื่อที่จะผลิตคำใหม่ๆ ขึ้นมาหลอกหลอนชาวบ้านให้เป็นฮิสทีเรียเล่น ที่ผ่านมา ศัตรูของบุชไม่ว่าจะเป็น อัล-ไคดา ทาลีบาน ฮามาส ฮิซบัลละห์ ฯลฯ ต่างถูกจับมาติดป้ายอิสลาโมแฟชิสต์กันอย่างสนุุกสนาน-ให้ดูน่ากลัวประหนึ่งว่าเรากำลังอยู่ในยุคนาซีกลับชาติมาเกิด


นักเขียนคนหนึ่งบอกว่ามันเป็นศัพท์ propaganda ยุคสงครามที่สุดจะว่างเปล่า ฮวน โคล บอกว่ามันเป็นการลบหลู่ศาสนาอิสลามและเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ hate speech


 


(2)       Arab nationalist/ Arab nationalism - นักชาตินิยมอาหรับเป็นพวกที่เชื่อเรื่องการเมืองของฆราวาส ไม่เห็นด้วยกับการที่ศาสนาจะเข้ามามีบทบาทหลักในทางการเมือง มีอุดมการณ์ส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาหรับในภูมิภาค โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างนิกายลัทธิความเชื่อ ในยุคที่ชาติอาหรับอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ขบวนการชาตินิยมอาหรับเคยเป็นพลังสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านมาก่อน


ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ท่ามกลางกระแสชาตินิยมซ้ายมาแรง และมีนักคิดเด่นๆ ในสายนี้เกิดขึ้นหลายคน องค์กรทางการเมืองอย่าง "พรรคบาธ" ที่มีเครือข่ายในหลายชาติอาหรับ ก็มีจุดเริ่มต้นในช่วงนั้น เริ่มจากแนวคิดเหล่านั้น แต่กลับมีวิวัฒนาการเลอะเทอะไปต่างๆ กัน ในอิรัก นักชาตินิยมอาหรับพรรคบาธอย่างซัดดัม ฮุสเซน ต้องจบชีวิตทางการเมืองลงด้วยตำแหน่ง "เผด็จการสุดโหดยอดเยี่ยมมือเปื้อนเลือด" (ที่ฆ่าได้ไม่เลือกทั้งเคิร์ด ซุนนี ชีอะต์) แม้ว่าครั้งหนึ่ง อิรักภายใต้ระบอบซัดดัม จะได้รับคำชมในเรื่องรัฐสวัสดิการอยู่ไม่น้อย


ว่าแต่ว่า พรรคบาธของอิรักเป็นสถาบัน (รับใช้) ในโอวาทของซัดดัมแค่นั้นหรือ? พรรคบาธจริงๆ เป็นยังไงกันแน่? ฝ่ายต่อต้านในอิรักหน้าตาคล้ายๆ ยังไง? อารมณ์ไหน? ฝ่ายต่อต้านเหล่านี้พอจะเป็นพระเอกกับเค้ามั่งได้มั้ย? วันหลังเราจะหยิบเรื่องราวของพวกเขามาเปิดเผยทีละแว้บสองแว้บ - เพื่อให้คุณได้รู้จักขบวนการ "อิรักกู้ชาติ" ดีขึ้น


ได้รู้จักขบวนการ "อิรักกู้ชาติ" ดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net