Skip to main content
sharethis


ชัยวัฒน์ สถาอานันท์


 


 


 


วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2006


แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ และ จันจิรา สมบัติพูนศิริ 3 บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการเขียนรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" ให้สัมภาษณ์ แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สื่อข่าวพิเศษ ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการเขียนรายงานชิ้นประวัติศาสตร์ฉบับนี้


 


ท่ามกลางความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้พยายามจุดประกายความหวังของประชาชนในพื้นที่ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ขึ้นมา


 


คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ เรียกกันอย่างย่อว่า "กอส." นับว่าเป็นชื่อแปลกใหม่ของคนในสังคมไทย หากมองดูจากชื่ออาจไม่สามารถจินตนาการได้ว่าคณะกรรมการดังกล่าวมีบทบาทหน้าที่อะไร ทำไมต้องอิสระด้วย อิสระจากใครหรืออะไร อิสระจริงไหม "สมานฉันท์" คืออะไร สมานอะไรกับอะไร ทั้งที่ไม่เข้าใจ ทั้งที่ไม่รู้จัก แต่กอส. คือ ความหวังของชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคนในสังคมไทยว่าจะเข้ามาช่วยหยุดการฆ่า หยุดยิง หยุดวางระเบิด หยุดปล้นปืน เข้ามาช่วยสร้างความสงบสันติ ท่ามกลางความรุนแรงรายวัน และการก้าวเดินของกอส. ที่ดูเหมือนจะสวนทางกับกระแสความคาดหวังของประชาชน 2 อย่างนี้กลายเป็นเครื่องบดบังการทำงาน และบทบาทของกอส. ไปเสียสิ้น


 


แท้จริงแล้วกอส. ทำอะไรกัน ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่า (มีนาคม 2548 - มิถุนายน 2549) กอส. ได้ปฏิบัติงานตามภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมาย คือ นำเสนอแนวทางการยุติปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว แต่ในการทำงานที่ผ่านมากอส. ได้มีข้อเสนอทั้งที่เป็นมาตรการเฉพาะหน้าและมาตรการระยะกลางอย่างต่อเนื่อง และผลงานที่กอส.ได้มอบให้กับรัฐบาลก่อนที่จะจบบทบาทของตนเองคือ "รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์"


 


รายงานฉบับนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 และ กอส. ได้ส่งมอบให้กับรัฐบาลในวันที่ 5 มิถุนายน จนกระทั่งถึงวันนี้นับเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนที่รายงานได้ถูกนำเสนอต่อรัฐบาล การได้รับรู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการร่วมมือกันทำงานเพื่อปิดต้นฉบับรายงานอาจจะสร้างความเข้าใจต่อการทำงานและรายงานของกอส. มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา


 


กระบวนการร่างรายงาน


ในกระบวนการร่างรายงานของกอส. รศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการงานวิจัยของกอส. และเป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียงเป็นรายงานโดยใช้ข้อมูลและข้อคิดเห็นจากงานวิจัย จากความเห็นของอนุกรรมการทั้ง 6 กลุ่ม และความเห็นของกรรมการในที่ประชุม


 


รศ.ชัยวัฒน์ได้เล่าถึงการเขียนร่างรายงานว่า เมื่อแรกได้รับการติดต่อให้เป็นส่วนหนึ่งของกอส.สิ่งที่สนใจคือการทำงานวิจัย อาจารย์จึงได้รับหน้าที่ให้ดูแลงานวิจัยและเขียนรายงานของกอส.


 


"อย่างหนึ่งที่ผมอยากทำเกี่ยวกับรายงานคืออยากให้รายงานยืนอยู่บนฐานความรู้เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ผมทำ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็อยากให้ทำงานวิจัยเพราะฉะนั้นเวลาจะพูดอะไรบางอย่าง ผมอยากให้มั่นคงบนความรู้ เช่น คนบอกว่าย้ายกันเยอะ เราก็ไปหาอาจารย์สุวาณี (รองศาสตราจารย์ ดร. สุวาณี สุรเสียงสังข์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ให้เขาทำให้เราดูว่าตกลงมันย้ายจริงหรือเปล่า หรือผมอยากรู้เรื่องคนมุสลิมกับปัญหาอัตลักษณ์ อัตลักษณ์เขาถูกกระทบอย่างไร เราก็มีงานวิจัยของ อาจารย์อลิสา หะสาเมาะ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เพื่อตอบคำถามว่าทำไมชาวบ้าน ไม่พอใจ ข้าราชการ ประเด็นคือ ข้าราชการไม่เข้าใจ ความหมายแบบอื่นของพื้นที่บ้าน (site) ทำไมบ้านศักดิ์สิทธิ์นัก เข้าไปไม่ได้หรือไร ผมอยากรู้ว่าข้าราชการคิดอย่างไร เพราะผมเคยเห็นงานวิจัยตั้งแต่ปี 26 ของวปอ. ที่เขาเคยทำ อยากรู้ว่าสื่อมวลชนเป็นอย่างไร อยากรู้เรื่องใบปลิว อยากรู้ว่าใครฆ่า ของพวกนี้เราอยากรู้"


 


ส่วนหนึ่งของงาน กอส. อยู่บนฐานของงานวิจัย 11 เรื่อง ซึ่งศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลในมุมมองของทั้งคนมลายูมุสลิมและคนพุทธในพื้นที่ ไม่เพียงแต่รายงานจะถูกเขียนบนฐาน ข้อมูลเช่นนี้เท่านั้น หากกว่าจะสำเร็จออกมาเป็นรายงานฉบับที่พิมพ์จะต้องผ่านการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ฝ่ายแรกสุดคือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 50 ท่านจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งที่เป็นคนในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่ที่มีประสบการณ์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมการเหล่านี้เป็นผู้ตรวจแก้ไขรายงานถึง 8 ร่าง ฝ่ายที่สองคือฝ่ายเลขานุการการประชุมซึ่งเป็นทีมงานจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า 2 กลุ่มแรกคือผู้ช่วยงานวิจัย 2 คน คือ "ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์" และ "จันจิรา สมบัติพูนศิริ" ทั้งสองเป็นทั้งผู้ช่วยในการเขียน เรียบเรียง ตรวจแก้คำผิด และการสื่อความหมายในรายงานตลอดจนประสานงานในส่วนของงานวิจัยและการเขียนรายงาน นั่นหมายถึงผู้ช่วยงานวิจัยทั้งสองได้มีส่วนในกระบวนการผลิตรายงานกอส. อย่างใกล้ชิด


 


ชญานิษฐ์ ได้เล่าถึงกระบวนการและความรู้สึกในการได้เป็นส่วนหนึ่งของกอส. ว่า "แรกๆ การปรึกษา หารือกันเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรื่องวิธีการนำเสนอ อะไรควรจะอยู่อะไรไม่ควรอยู่ พระราชดำรัสควรอยู่ตรงไหนอย่างไร หลังจากนั้นมาลำดับขั้นตอนว่าอะไรควรจะพูดก่อนอะไรไม่ควรจะพูดก่อน บทที่หนึ่งเป็นเรื่องเล่า ควรจะอยู่ตรงนี้ อะไรควรจะตัดออกไป มีกระทั่งถึงว่าคำนี้ไม่ผ่าน คำนี้อาจมีผลกระทบกระเทือนกับคนในพื้นที่"


 


นอกจากนี้ จันจิรายังได้เล่าเพิ่มเติมว่าในการประชุมแก้ไขรายงานร่างหลังมีการเปิดดู ตรวจแก้กันทีละหน้าทีเดียว ทำให้การประชุมบางครั้งอาจกินเวลายาวนานไปถึงดึกดื่นเที่ยงคืน


 


ชญานิษฐ์ยังได้พูดถึงคณะทำงานที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือคณะเลขานุการการประชุม "ผลงานของ กอส. เช่น รายงาน กอส. และอื่นๆ ไม่ได้เป็นการทำงานของบุคคล 50 คนเท่านั้น แต่มีผู้ดูแลประสานงานที่คอยดำเนินการอยู่ข้างหลัง คือเจ้าหน้าที่ของ สลค. แล้วนอกจากทำงานหนัก ยังทำงานเร็ว ขอวันนี้ต้องเอาวันนี้ ขอวันนี้ต้องเอา 5 นาทีข้างหน้า มันก็มหัศจรรย์พออยู่แล้ว แต่ว่าทั้งหมดเขายังยิ้มอยู่ได้ เขาดีกับเราเสมอต้นเสมอปลาย และยังดีจนทุกวันนี้" จันจิรายังได้เสริมต่อว่า "ขณะที่ สลค.ทำงานกอส. เขาก็ทำงานอย่างอื่น ทั้งงานประจำและงานไม่ประจำเขาทำงานตลอดเวลา เขาก็ยังดีกับเราตลอดเวลา และก็อดทนกับเรามาก เพราะเราไม่รู้เรื่องราวขั้นตอนของข้าราชการ ถ้าเราทำผิดเขาก็ช่วยเหลือ"


 


รศ.ชัยวัฒน์เสริมว่ายังคงมีบุคคลสำคัญอีกหลายคนที่เข้ามาช่วยดูแลเนื้อหาบางส่วนที่เฉพาะคือ ส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายดร.กิตติพงศ์ กิตยารักษ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติและคณะเข้ามาช่วยดูแล อาจารย์ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ช่วยพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน และทรัพยากรท้องถิ่น ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TRDI) ช่วยดูแลเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและการศึกษา ดร.โคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ช่วยดูในภาพรวม ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ช่วยพิจารณาและจัดลำดับเนื้อหา และศ.นพ.ประเวศ วะสี รองประธานกอส. พิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติ (พระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้) นอกจากนี้บุคคลสำคัญที่สุดที่เป็นผู้กลั่นกรองรายงานคือท่านประธานกอส. นายอานันท์ ปันยารชุน


 


นอกจากจะแสดงให้เห็นว่ารายงานกอส. ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนๆ เดียวแล้ว คำบอกเล่าข้างต้นของคน ทำงานยังอาจเป็นคำอธิบายต่อคำถามว่ากอส. ทำอะไร และตอบข้อกล่าวหาในเรื่องจุดยืนของกอส.ที่ว่า กอส. มักยืนอยู่ข้างคนมุสลิม หากพิจารณาจากคนทำงานแล้ว ถึงแม้รายงานกอส. จะถูกเขียนขึ้นโดยคนมุสลิมแต่คนกลั่นกรอง คณะทำงานที่มีส่วนร่วมช่วยเติมเต็มงานวิจัยนั้นส่วนใหญ่เป็นคนนับถือศาสนาพุทธ


 


อุปสรรคของความไม่เข้าใจ


ชญานิษฐ์เล่าถึงรายงานที่เธอมีส่วนร่วมว่า "ดิฉันคิดว่าบทที่หนึ่งสำคัญมาก เพราะหากไม่มีบทนี้แล้วจะไม่เข้าใจว่า กอส.ทำงานอะไร และเพื่ออะไร" คำถามสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่านรายงานกอส. คืออะไรคือบทที่หนึ่งในรายงาน


 


บทที่หนึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของยศธร และอัมมานา ยศธรเป็นเด็กชาวไทยพุทธที่คุณพ่อถูกยิงเป็นอัมพาตจนทุกวันนี้ ส่วนอัมมานาวัย 8 ขวบ คุณพ่อถูกจับตัวไปจากบ้านต่อหน้าเธอและแม่ และวันต่อมามีคนพบศพพ่อของเธอข้างถนน เรื่องราวของเด็กทั้งสองคนเป็นบทสรุปที่กระชับและชัดเจนในบทบาทและภารกิจของกอส. "กรณีของเด็ก 2 คน ทำหน้าที่ 4 - 5 อย่างคือ อย่างที่หนึ่ง มันทำหน้าที่บอกเล่าเรื่อง แล้วเราคิดว่า พลัง ของ เรื่องเล่า มันน่าจะนำคนเข้าไปในรายงาน อันที่สองเป็นเรื่องเล่าจากมุมของเหยื่อ อันที่สามเหยื่อเป็นเหยื่อทั้งสองศาสนา อันที่สี่เหยื่อเป็นเด็ก อันที่ห้าเพราะเป็นเด็กเราจึงกำลังพูดถึงอนาคตของสังคมไทย เพราะคนพวกนี้ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นงานของกอส. จึงเป็นเรื่องของอนาคต เรื่องสองเรื่องนี้บอกทิศทางว่าจะไปทำอะไร ไปแก้อะไร เพราะฉะนั้นเรื่องสองเรื่องนี้จะอธิบายทั้งหมด แต่คนไม่เข้าใจ" รศ.ชัยวัฒน์ อธิบายถึงความสำคัญของบทที่หนึ่ง


 


จันจิราได้ยกตัวอย่างอุปสรรคบางประการที่คนไม่เข้าใจคือ "ส่วนที่ดูมีปัญหาที่สุดคือการวินิจฉัย โรค(1) ใช่ไหม คือคนส่วนใหญ่จะบอกว่าทำไมถึงไม่ให้ความสนใจกับปัญหาความรุนแรงทางตรง ปัญหาตัวบุคคลหรือปัญหาระดับบุคคล ในนั้น (ในที่ประชุม) ก็จะเป็นเหมือนกัน คือหลายๆ คนไม่ใช่แค่ฝั่งรัฐ แต่ว่าคนในทั่วไป ในพื้นที่ก็จะพูดถึงเรื่องนี้เยอะ แต่คือจุดยืนกอส. ก็ไม่ได้เน้นเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็จะไปถึงระดับโครงสร้าง วัฒนธรรม เวลาเขียนออกมาจะมีปัญหาว่าเข้าใจได้ยาก คือมันเป็นภาพที่มองไม่เห็นอยู่ตรงนั้น สถานการณ์รุนแรงก็เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่เฉพาะหน้า หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่เขาไม่น่าจะเข้าใจเช่นเรื่องอนาคต งานกอส.จะทำเพื่อคนในอนาคต ตรงนี้คนที่อ่านคล้ายอ่านแล้วไม่เข้าใจเพราะเป็นงานที่อยู่ในอนาคต"


 


รศ.ชัยวัฒน์ได้สรุปให้เห็นว่าความไม่เข้าใจในรายงานกอส. อาจเกิดขึ้นจากความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องต่างๆ 5 เรื่องคือ เรื่อง โครงสร้าง อนาคต รูปแบบ ประวัติศาสตร์ และ ญาณวิทยา(2)


 


"โครงสร้างของผมอย่างที่คุณจันจิราพูด เป็นแนวสันติวิธีสกุลหนึ่ง ซึ่งสนใจเรื่องแบบนี้ เพราะฉะนั้นกรรมการกอส. ส่วนหนึ่งคิดเรื่องแบบนี้ในแง่ที่ว่าไม่อยากไปแก้ปัญหาวันต่อวัน สิ่งที่ผมทำก็คือผมจับมันใส่ทฤษฎีที่ผมคิดว่ามันเป็นเหตุเป็นผลที่สุด ผมพยายามจะเสนอหรือพยายามทำให้คนเห็นว่างานนี้ต่างจากงานอื่น หรือรายงานอื่นที่เกี่ยวกับเรื่องภาคใต้ทั้งหมด อาจไม่ใช่เพียงเพราะมีคนมามีส่วนร่วมเยอะในหลายลักษณะ หรือหลากหลายแขนง หรือมีสถานะพิเศษอย่างนี้ แต่หมายความว่าตัวมันตั้งอยู่บนฐาน ความเข้าใจทางทฤษฎีซึ่งจัดระบบโครงสร้างต่างๆ ที่ใช้อธิบายปัญหา ถ้าเราไปดูรายงานอื่นๆ เขามีปัจจัยต่างๆ ที่อธิบายปัญหา แต่เขาไม่ได้ใช้ทฤษฎีในการจัดระบบ เราใช้เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คือระดับของความเป็นนามธรรมซึ่งอาจยุ่งยากนิดหน่อยในการอธิบายโครงสร้าง"


 


"อนาคตผมคิดว่าคนที่มามีส่วนในกรรมการกอส. โจทย์เขาคือ ปัจจุบัน แต่ทีนี้งานกอส.คืองานที่เขาจะพาไปอีกที่หนึ่ง และวิธีคิดนี้เข้าใจลำบากมากเพราะว่าเชื่อว่าถ้าคิดแบบประวัติศาสตร์ ปกติจะคิดจากว่าปัจจุบันเป็นผลของประวัติศาสตร์ ดังนั้นวิธีการที่จะแก้ปัญหาอนาคตก็คือดูแลปัจจุบันให้ดี แต่เราคิดจากอนาคตว่าจะแก้ปัญหาปัจจุบันได้ ซึ่งมีที่มาทางหลักวิชาอีกแบบ เราจะพบปัญหาแบบนี้ คือมีปัญหาทั้งอาจจะเพราะมุมทางทฤษฎีซึ่งอาจจะแปลกประหลาดนิดหน่อย และทำให้คนอื่นต้องเสียเวลาในการทำความเข้าใจ และรวมทั้งปัญหาบางปัญหาซึ่งในแง่ทางทฤษฎีไม่แปลกประหลาดอะไร เป็นของไม่ประหลาดในวงวิชาการ แต่ประหลาดสำหรับคนอื่น ผมว่าปัญหาเรื่องสันติภาพ คือคนเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแล้ว แต่มีปมหลายอันที่เขาไม่เข้าใจ"


 


"รูปแบบก็คือผมคิดว่าคนมีปัญหากับที่ผมเขียนหนังสือภาษาไทย ปัญหาข้อแรกคนรู้จักแต่รายงานปกติ และรู้สึกว่านี่ไม่ใช่รายงานปกติ อันที่สองคือคนไม่ได้สนใจภาษาในฐานะที่มันสวยได้ หลังๆ ผมรู้สึกว่าแค่เขียนเป็นประโยคมันไม่พอ เพราะฉะนั้นรายงานนี้ถ้าจะมีพลังจะต้องมีอารมณ์ด้วย มีพลังทางวรรณศิลป์ถ้าทำได้ เราไม่มีฝีมือขนาดนั้น แต่ว่าเราก็เขียนเท่าที่เราจะทำได้ แต่ปรากฏว่ามันก่อปัญหาสำหรับคน คืออ่านแล้วรู้สึกงงมาก ข้อชมหรือข้อด่าตั้งแต่ต้นคือเหมือนนิยาย พอเริ่มด้วยชีวิตจริงคนบ่นว่าเหมือนนิยาย แล้วในที่สุดต้องเอาคำว่าจินตนาการออก บทที่หนึ่งและบทสุดท้ายในร่างแรกๆมีหัวข้อว่า "จินตนาการ" แล้วก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่นิยาย ประโยคว่าเรื่องนี้ไม่ใช่นิยายทำให้คนรู้สึกว่าเป็นนิยาย มันมหัศจรรย์นะ ตอนหลังแก้เป็นต้องเขียนว่าทั้งสองเรื่องไม่ใช่นิยาย"


 


"ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จากวงวิชาการขณะนี้ที่เราเรียนกัน ไม่เห็นแปลกอะไรเลยที่ ประวัติศาสตร์มีได้หลายแบบ มองจากมุมไหนก็เห็นแบบนั้น หลักฐานมีหลายประเภท เพราะฉะนั้นความจริงของประวัติศาสตร์ มันมีความเป็นการเมืองสูงกว่ามีความเป็นข้อเท็จจริง แต่อันนี้คนไม่เข้า ใจ นึกว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องจริง และดังนั้นไม่มีหลักฐานอื่น หรือหลักฐานอื่นไม่มีความหมาย หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่คิดว่าเขียนประวัติศาสตร์ต้องเขียนให้เห็นว่ามันเป็นความจริง ในขณะที่เราเชื่ออีกอย่างว่าเขียนประวัติศาสตร์ต้องเขียนให้เห็นว่ามีหลายทาง ตรงนี้เป็นปัญหาที่คุณจันจิรามองคือเป็นปัญหาในระดับ วินิจฉัยโรคเพราะว่าพอเขียนๆ ไปเราก็บอกว่าประวัติศาสตร์เรื่องนี้มองอย่างนี้ได้ ซึ่งสำหรับเราเป็นเรื่องธรรมดา ผมเขียนอย่างนี้มาตั้ง 20 ปีแล้ว เกี่ยวกับภาคใต้หรือที่ไหนๆ ผมก็อธิบายแบบนี้ แต่กับเขารู้สึกว่าทำงานอย่างนี้ไม่ได้เพราะในความรู้ไม่เห็นอย่างนี้ ความจริงต้องเป็นความจริง


 


และสอง เขาบอกว่าเขียนอย่างนี้ยิ่งทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยหรือสยามชั่วร้าย กดขี่ หรืออะไรทั้งหลายทั้งปวง ผมอ้างธงชัย (ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐ อเมริกา) แต่ไม่ได้ใช้คำของธงชัย เพราะธงชัยเขาบอกว่าเป็นการเข้าครอบครองอาณานิคม และถ้าสยามไม่เข้าใจบทบาทในฐานะเจ้าอาณานิคม ของตัวเองก็จัดการไม่ได้ ผมก็ไม่ถึงกับเขียนอย่างนั้น แต่ผมคิดอย่างนั้น แต่ไปขนาดนั้นคงไม่ได้ รู้สึกว่ามันทำไม่ได้ กรรมการคนอื่นจะไม่ยอม ผมจึงเขียนแค่นั้น แต่ข้อถกเถียงนั้นน่าสนใจมาก เพราะพอมีคนบอกว่ากรรมการสมานฉันท์เขียนอย่างนี้สังคมไทยก็ยิ่งแลดูชั่วร้ายไปใหญ่ อีกฝ่ายหนึ่งก็ลุกขึ้นมาบอกว่าแต่กรรมการสมานฉันท์มีหน้าที่พูดความจริง ถ้านี่เป็นความจริงก็ต้องพูด แต่ทั้งสองยังต่างจากสิ่งที่เราคิด เพราะทั้งสองยืนอยู่บนญาณวิทยา (epistemology) แบบที่เชื่อว่าความจริงเป็นความจริง เรายืนอยู่บนญาณวิทยาที่ว่าความจริงเป็นอะไรก็ได้"


 


ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องของ ญาณวิทยา รศ.ชัยวัฒน์เห็นว่า "อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากที่ทะเลาะกันแทบล้มประดาตายก็คือว่าความไม่เข้าใจกันเลยในทางญาณวิทยาของสิ่งที่ผมเรียกว่าสาเหตุ กับสิ่งที่เราเรียกว่าเหตุผลรองรับ ของสองอย่างนี้ในโลกทางญาณวิทยาไม่เหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นข้อต่าง เช่น ศาสนาเวลาคนบอกว่าเป็นหรือไม่เป็นสาเหตุ คนไปคิดว่ามันทำให้เกิดหรือไม่ทำให้เกิด แล้วคิดว่ามันทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง เพราะงั้นก็ตอบว่าไม่เป็น หรือบางคนเขาว่าอิสลามไม่ได้ก่อปัญหา พอตอบแบบนี้คนจำนวนหนึ่งก็ไม่พอใจ อะไรอิสลามไม่ก่อปัญหา มันฆ่ากันตายคนมุสลิมทั้งนั้น ไม่ก่อได้อย่างไร คำตอบของเราตอนนี้พูดค่อนข้างชัดเจนว่า มันไม่ใช่เหตุแต่มันเกี่ยว หมายความว่าในหัวคุณต้องแยกระหว่างสิ่งที่เป็นสาเหตุกับความเกี่ยว ที่ว่าเกี่ยวอย่างไร อันนี้เป็นปัญหา ญาณวิทยาอธิบายยากมาก ต้องนั่งเรียนกัน เพื่อจะบอกว่าเป็นอย่างไร ญาณวิทยาเป็นปัญหาของความเข้าใจว่าของบางอย่างเป็นได้แค่เหตุ ของบางอย่างเป็นได้แค่สิ่งที่นำมาอ้างเพื่อสนับสนุนหรือสร้างความชอบธรรม (justification) เป็นสาเหตุไม่ได้ คุณจะต้องมีวิธีอธิบายว่าสิ่งที่นำมาอ้างเพื่อความสนับสนุนความชอบธรรมกับเหตุต่างกันอย่างไร พูดสั้นที่สุดคือ คุณปวดท้องคุณก็เลยมาสอนหนังสือไม่ได้ อย่างนี้เป็นเหตุ แต่วันนี้วันศุกร์ ผมต้องไปละหมาดผมเลยมาสอนไม่ได้ อันนี้เป็นการอ้างเพื่อความชอบธรรมซึ่งผมบอกตัวเองว่าผมจะไม่ไป หรือ ปวดท้องนิดหน่อย วันนี้ไม่ไปเรียน เพราะไม่ชอบหน้าอาจารย์ ไม่ชอบหน้าอาจารย์เป็นการอ้างเพื่อความชอบธรรมไม่ใช่สาเหตุ พูดอีกภาษาของที่เป็น สาเหตุต้องมาก่อนสิ่งที่เกิด แต่ การอ้างเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมมาทีหลัง เพราะฉะนั้นเวลาเราหาว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหา เราจะพบว่ามีสาเหตุเต็มไปหมดเช่นความไม่ยุติธรรม ปัญหาเศรษฐกิจ ของพวกนี้เป็นปัญหา ความงงของผมคือถ้าของพวกนี้เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง แล้วความรุนแรงล่ะ ผมต้องหาวิธีอธิบายว่าความขัดแย้งเปลี่ยนเป็นความรุนแรงอย่างไร แล้วผมอธิบายว่าวิธีที่ความขัดแย้งเปลี่ยนเป็นความรุนแรง เพราะมันถูกอ้างด้วยอะไร สิ่งที่นำมาอ้างเพื่อความชอบธรรมคืออัตลักษณ์ อัตลักษณ์ที่ผมพูดคืออัตลักษณ์ทุกชนิด อัตลักษณ์กลุ่ม อัตลักษณ์ชาติ อัตลักษณ์ศาสนา ผิว เชื้อชาติ เพศสภาพ เมื่อเป็นอย่างนี้สามารถนำมาใช้อธิบายผู้ชายที่เกลียดผู้หญิง และฆ่าผู้หญิงได้"


 


บทสรุปของอาจารย์ชัยวัฒน์ต่อเรื่องญาณวิทยา คือ "ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือญาณวิทยา อะไรคือความรู้ เราเรียกอะไรว่าเป็นความรู้ ความรู้เป็นอย่างไร ผมคิดว่าอย่างนี้ เพราะงั้นการเข้าใจว่าประวัติศาสตร์มีอย่างเดียวหรือหลายอย่าง การเข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นสิ่งที่นำมาอ้างเพื่อความชอบธรรมการวางตำแหน่งแห่งที่ ของพวกนี้ไม่ใช่ปัญหาศีลธรรมเท่ากับเป็นปัญหาญาณวิทยา "คำ" ก็เป็นปัญหา คำที่จะใช้ในรายงานเป็นปัญหาเยอะมาก แต่ละจุดถูกแก้กันอุตลุด อย่างมลายูมุสลิมจะไม่เห็นเลย เป็นปัญหาที่ คำศัพท์ มันผลิตความเป็นจริงบางอย่าง เพราะคนเหล่านี้รู้ ก็ป้องกันไม่ให้ใช้"


 


จากคำอธิบายข้างต้นไม่เพียงแต่จะทำให้เรากลับมาย้อนคิดทบทวนว่าแท้จริงแล้วกอส. คืออะไร ทำอะไร จุดยืนอยู่ตรงไหน แต่ยังทำให้เห็นว่ากอส. หน่วยงานที่ดูเหมือนไม่มีน้ำยา เป็นเพียงน้ำจิ้มของสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือหนังหน้าไฟของรัฐบาล ต้องประสบกับปัญหาอะไรบ้าง ความยากในการทำงาน และการเขียนรายงานของกอส. คือการดำรงอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของผู้คนที่สวนทางกับภารกิจของกอส. รศ.ชัยวัฒน์อธิบายความยุ่งยากตรงนี้ว่า "คนไม่ได้ตระหนักว่ากอส.คืออะไร เป็นอะไร กอส. ไม่ใช่กองกำลัง ไม่มีพลังอำนาจใดๆ กอส. เป็นเพียงหน่วยงานที่ให้คำปรึกษา หรือเป็นอะไรสักอย่าง แต่ไม่ใช่อะไรที่มีอำนาจ กำลังที่มีมากที่สุดคือคนของสลค. กับทุนทรัพย์นิดหน่อย เราไม่มีอะไรในมือเรา สุดท้ายคือมันถูกตั้งคำถามโดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวัน คนก็รู้สึกอยากให้มันจบ คนรู้สึกว่ากอส.เป็นทางออก เพราะฉะนั้นความคาดหวังที่ใส่ไปในกอส. คือความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง และอยากให้มีอะไรออกมาอย่างที่คิด แต่อะไรที่เราเสนอก็ทำเยอะแยะนะ แต่มันไม่เห็นเพราะมันถูกบังโดยสถานการณ์ปัจจุบัน"


 


ชญานิษฐ์ได้สรุปถึงรายงานกอส. ได้อย่างกระชับและชัดเจนว่า "โดยตัวกอส.เองที่มีอำนาจอย่างจำกัด หรือตัวรายงานที่ออกมาแล้ว จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าคนไม่ให้ความสำคัญกับมัน ดิฉันยังคงเชื่อเสมอว่าพลังที่สำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่คนในสังคม หนทางเดียวที่ข้อแนะนำของ กอส. จะพิสูจน์ได้ว่ามีผลบรรเทาแก้ไขปัญหาสถานการณ์รุนแรงในภาคใต้ได้หรือไม่ เพียงไร คือรัฐบาลและสังคมไทยต้องอ่านรายงานด้วยใจเป็นธรรม (คือเป็นกลางไม่อคติเสียตั้งแต่ต้น) และนำข้อเสนอเหล่านั้นไปขบคิดถกเถียงกันต่อว่าจะสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ อย่างไร"


 


ภายหลังรายงานกอส. ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะปฏิกิริยาของสังคมได้สะท้อนให้คนทำงานกอส. เห็นอะไรบางอย่าง จันจิราได้แสดงความเห็นต่อปฏิกิริยาดังกล่าวว่า "สื่อส่วนใหญ่ยังคงขาดความใส่ใจต่อประเด็นอ่อนไหวที่นำเสนอออกไป กระแสเสียงที่ได้รับกลับมาจึงเป็นความไม่พอใจบนฐานความคิดชาตินิยม โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องสันติเสนา (unarmed army) กองทัพไม่ติดอาวุธถูกรับรู้ในฐานะข้อเสนอ ที่ไม่น่าปราบผู้ก่อการทั้งหลายให้ราบคาบได้ และหากปราบผู้ก่อการไม่ได้อาจหมายถึงไฟใต้ไม่มีวันดับ และการให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน (working language) ที่ถูกเข้าใจไปว่า กอส.กำลังเสนอให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับภาษาทำงาน (ตัวอย่างภาษาทำงานที่ชัดเจนคือ ป้ายถนนต่างๆ ที่มีภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย หรือในเอกสารราชการอย่างหนังสือตรวจคนเข้าเมืองก็ปรากฏภาษาอังกฤษเสมือนภาษาทำงาน เพื่อให้สื่อสารได้กับผู้คนได้หลายชาติหลากภาษามากขึ้น) ต่อให้พูดกี่หมื่นแสนครั้ง อาจารย์ชัยวัฒน์ในฐานะกอส. ก็ยังยืนยันให้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น"


 


แม้บทบาทหน้าที่ของกอส.จะจบลงด้วยการเสนอทางเลือก แต่หน้าที่ของสังคมไทยในการ(รับ)รู้และ ไม่(รับ)รู้ตัวเลือกต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่ปลายด้ามสมมุติฐานขวานทอง รวมถึงเรียนรู้บทเรียนจากการเลือกของตน เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น....


 


 


--------------------------------------------------------------------------------


(1)รศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พิจารณาปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางและภาษาทางการแพทย์ คือเริ่มจากการวินิจฉัยโรค โดยระบุให้ได้ว่าโรคหรือปัญหาความรุนแรงในที่นี้คืออะไร เหตุที่ก่อให้เกิดโรคคืออะไร จากนั้นจะพยากรณ์โรค คือชี้ให้เห็นว่าโรคที่เป็นน่าจะนำไปสู่อะไรในอนาคต และขั้นสุดท้ายคือรักษาโรค ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจารย์ชัยวัฒน์ได้ใช้แนวคิดเรื่องชั้นต่างๆ ของความรุนแรง ที่ประกอบด้วยความรุนแรง 3 ชั้น คือระดับตัวบุคคลหมายถึงคนที่ฆ่าผู้คนรายวัน ระดับโครงสร้าง บุคคลที่กระทำความรุนแรงดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างเช่น ครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ และระดับสุดท้ายคือระดับวัฒนธรรม ซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการกระทำต่างๆ ทำให้ผู้ใช้ความรุนแรงรู้วึกว่าการกระทำของตนเป็นที่ยอมรับ มีความชอบธรรม


 


(2) ญาณวิทยา หรือ epistemology คือความเข้าใจของผู้ศึกษาสิ่งใดหนึ่งว่า "อะไร" คือความรู้... สิ่งที่ญาณวิทยาสนใจก็คือ เมื่อมีผู้ใดอ้างว่าตน "รู้" อะไรบางอย่างนั้น เขาอ้าง "อย่างไร" ในการสนับสนุนความรู้นั้น รวมไปถึงคำถามที่ว่า ความรู้นั้นเป็นจริงหรือไม่เพียงใด (Hamlyn 1967 : 9 อ้างในชัยวัฒน์ สถาอานันท์, รัฐศาสตร์ทวนกระแส : กรุงเทพฯ, 2528)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net