Skip to main content
sharethis

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์สถานการณ์การผลิตลำไยปี 2549 จากเนื้อที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศจำนวน 870,125 ไร่ มากกว่าปี 2548 ที่มีจำนวน 820,985 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.99 แม้เนื้อที่การผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ในแง่ของผลิตที่จะได้ในปีนี้คาดว่าจะไม่มากตามไปด้วย ซึ่งประมาณการผลผลิตในปี 2549 จะออกสู่ตลาดราว 566,525 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 20.45 ที่สามารถผลิตได้ 712,178 ตัน


 


ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า "ลำไย" นับเป็นผลไม้ที่มีปัญหามากที่สุดมาโดยตลอด เปรียบเปรยกันว่าเป็น "พืชการเมือง" ซึ่งก็คงไม่ผิด เพราะนักการเมืองมีความเกี่ยวข้องและโยงใยอยู่ในผลประโยชน์อันมากมหาศาลทุกครั้ง เป็นพืชผลไม้ที่รัฐบาลเกือบทุกยุคสมัยต้องเข้ามาโอบอุ้มด้วยงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากเมื่อผลผลิตล้นตลาดหรือมีปัญหาราคาตกต่ำ แต่การแก้ปัญหาตลอดที่ผ่านมากลับมีความซับซ้อนมากทวีขึ้น และยังไม่มีแนวทางแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ


 


10 มิถุนายน 2549 องค์กรเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือได้ประชุมใหญ่สหกรณ์เครือข่าย 8 จังหวัดภาคเหนือ ประเด็นหลักสำคัญมุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือเรื่องลำไยของภาครัฐที่ "ล้มเหลว" มาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2545 - 2548 ที่รัฐบาลไม่สามารถขายลำไยตามที่รับปากมั่นเหมาะว่าจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ผลที่เกิดขึ้นและเห็นชัดกันไปแล้วก็คือ มีการโกงกินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทำให้ต้องเสียงบประมาณนับหมื่นล้านบาท


 


นายอรรณพ ดวงติ๊บ ประธานองค์กรเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาลำไยอบแห้งปี 2548 เกรด AA รวมทั้งกล่องบรรจุเสร็จ ราคาร่วงลงมาถึง 25 บาท ขณะที่ลำไยที่เก็บปี 2546 ที่ชาวบ้านนำมาจำนำกับ อ...และ อ... เกษตรกรต้องประกันเงินไว้กิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่จ่ายคืนให้เกษตรกร ทั้งๆที่มติที่ประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548 กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ อ...และอ... เข้ามาแก้ไขปัญหาและคืนเงินให้เกษตรกรโดยด่วน


 


เป็นประเด็นแรกที่ที่ประชุมองค์กรเครือข่ายฯ มีมติให้องค์กรเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือถึง อ...และอ... ให้คำตอบด่วนที่สุดว่าจะจ่ายเงินคืนให้เกษตรกรเมื่อไร


 


อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการประชุมครั้งนี้ เป็นปัญหานับเนื่องจากเมื่อปี 2547 ที่ทางองค์กรเครือข่ายได้เข้าร่วมโครงการกับ บ.ปอเฮง ซึ่งต่อมา อ... ได้ยกเลิกสัญญากับปอเฮงโดยไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า และผู้ร่วมโครงการได้ส่งลำไยอบแห้งให้ปอเฮงซึ่งเป็นคู่สัญญาไปบางส่วนแล้ว แต่ทาง อ... กลับบอกว่าไม่รับรู้ยอดสินค้าที่ส่งให้ปอเฮง ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องถูกกล่าวหาร่วมกับปอเฮงยักยอกทรัพย์ของรัฐ ซึ่งยังเป็นคดีความกันอยู่ ขณะที่ตอนนี้ อ... และ อ... ยังไม่จ่ายค่าจัดการอีก 1.80 บาทต่อกิโลกรัมให้กับผู้รับจ้างอบ


 


ดังนั้น ในที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ อ... และ อ... โดยจ้างปอเฮงเพียงบริษัทเดียว และถูกคัดค้านจากองค์กรเครือข่ายมาโดยตลอดนั้น และบัดนี้ความเสียหายทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของ อ... และ อ... ที่ประชุมจึงมีมติให้ยื่นหนังสือทวงค่าบริหารจัดการที่ค้าง 1.80 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ทางองค์กรเครือข่ายควรให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการขั้นต่อไป


 


และอีกประเด็นสำคัญเป็นโครงการในปี 2548 ที่ทางรัฐบาลได้ให้สหกรณ์กู้เงินมาซื้อลำไยสดจากชาวบ้านและรัฐบาลได้จัดหาตลาดมาซื้อโดยจะเอา "ลำไย" แลก "หัวรถจักร" ของจีนครั้งแรก โดยได้อ้างถึง บ.ปักกิ่งหัวเหมาสุระพันธุ์ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ อ้างว่าได้ทำสัญญาเป็นตัวแทนรัฐบาลจีนจะมาซื้อลำไยอบแห้งเพื่อเอาไปแลกหัวรถจักร มีนายเฉินปิน เป็นตัวแทนฝ่ายจีน แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น บ.CNR ซึ่งนายเฉินปิน เป็นผู้มาซื้อและทางกระทรวงเกษตรฯ อ้างว่าได้ทำสัญญาและได้วางมัดจำเรียบร้อยแล้ว ต่อมากลับไม่มีการซื้อขาย และกระทรวงเกษตรฯ ได้ยกเลิก บ. CNR และมีข้อตกลงว่าหากกระทรวงเกษตรฯ ยกเลิกสัญญาให้ ขอทางบ. CNR อย่าฟ้องร้อง ในที่สุดก็ได้มีการยกเลิกสัญญาไป ต่อจากนั้นกระทรวงเกษตรฯ ได้นำบริษัทใหม่มาซื้ออีกคือ บ. TM โดยมีนายเฉินปินเป็นผู้ถือหุ้นรอง เป็นผู้มาทำสัญญาซื้อขายกับกลุ่มองค์กรเครือข่าย แต่ในที่สุดก็มีปัญหาไม่สามารถซื้อขายได้ และได้มีการยกเลิกไปโดยปริยาย


 


ต่อมาได้ประกาศบริษัทใหม่ที่จะเข้ามารับซื้อลำไยในราคา 56-39-23 (ราคาเดิม) คือ บ.SINOCOMBO เป็นผู้มีอำนาจเข้ามาในประเทศไทยและได้ทำสัญญากับองค์กรเครือข่าย โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนายบุญมี จันทวงค์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ เป็นสักขีพยานในการทำสัญญา ซึ่ง บ. SINOCOMBO ได้วาง B/G ค้ำประกันกับกระทรวงเกษตรฯ แต่ต่อมา บ. SINOCOMBO ก็ไม่ได้ซื้อขายตามสัญญาได้เหมือนเช่นที่ผ่านมา ทำให้ทางสหกรณ์ของเครือข่ายบางสหกรณ์ต้องดำเนินการขายเองในราคาที่ต่ำและต้องขาดทุนกันทุกสหกรณ์ ขณะที่บางสหกรณ์ก็ยังไม่ได้ขายและไม่สามารถคืนเงินให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ครบถ้วน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ


 


ประเด็นนี้ที่ประชุมมีมติให้ยื่นฟ้องกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ กับ บ. SINOCOMBO และเมื่อทุกสหกรณ์ส่งข้อมูลความเสียหายให้กับองค์กรเครือข่ายฯ แล้ว จะยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอคำยืนยันในการแก้ปัญหาทั้งหมดอีกครั้ง


 


เจาะแผนแก้ปัญหาลำไย 49 หวั่นแผนซ้ำซาก-ไม่หวังพึ่งรัฐ


นโยบายการบริหารจัดการลำไยในปี 2549 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้กรอบแนวทางและย้ำชัดเจนว่า "ไม่รับจำนำ" และ "ไม่แทรกแซง" อย่างเด็ดขาด ล่าสุด คณะกรรมการบริหารจัดการลำไยจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประชุมหารือกันถึงแนวทางในการดำเนินการ และได้ข้อสรุปถึงแนวทางในการรวบรวมผลผลิตลำไย และกระจายผลผลิตสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมเสนอของงบประมาณ ในการดำเนินการรวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 81 ล้านบาท  


 


นายเสกสรรค์ สุวรรณมาโจ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของแผนงานการรวบรวม และกระจายผลผลิตลำไยสด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ จะทำหน้าที่ประสานกับสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ในการรวบรวมรับซื้อผลผลิตลำไยสดจากเกษตรกร และกระจายผลผลิตสู่ตลาดตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีตลาดเป้าหมาย 24 จุด 23 จังหวัดทั่วประเทศ โดยที่จะให้การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำในการดำเนินการ พร้อมเงินชดเชยค่าขนส่ง และลำไยสดสำหรับให้ทดลองชิมจังหวัดละ 1 ตัน ทั้งนี้มีเป้าหมายกระจายลำไยในส่วนนี้ ให้ได้อย่างน้อย 1,100 ตัน


 


ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะประสานกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อให้รับลำไยไปจำหน่ายในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับบน เป้าหมายกระจายลำไยสดให้ได้ 750 ตัน ขณะเดียวกัน จะมีการจัดงานรณรงค์การบริโภคลำไยสดด้วย ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 27 ..2549 ที่ประตูท่าแพ และที่สนามหลวง กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-5 ..2549


 


ส่วนการกระจายผลผลิตลำไยสู่ตลาดต่างประเทศ มีเป้าหมายจะกระจายผลผลิตให้ได้ทั้งสิ้นอย่างน้อย 25,000 ตัน ซึ่งในส่วนของตลาดเดิมยังคงเป็นประเทศจีน ที่ปีนี้คาดว่าน่าจะมีความต้องการสูง เนื่องจากผลผลิตของจีนจะมีน้อย เพราะประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ขณะที่ตลาดใหม่ในต่างประเทศ จะประกอบไปด้วย อินเดีย แคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรป ซึ่งจะมีจัดโรดโชว์ไปยังประเทศต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผลผลิตลำไยไทย และของจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยจะดำเนินการร่วมกับสมาคมผู้ค้าและส่งออกผักผลไม้ไทย


 


ด้านการผลิตลำไยอบแห้ง จะเน้นไปที่การผลิตลำไยอบแห้งสีทอง เพราะเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งจะมีการดำเนินการรับสมัครกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มเกษตรกร ที่มีศักยภาพตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อดำเนินการทั้งสิ้น 18 กลุ่ม โดยจะให้การสนับสนุนเงินกู้ในการดำเนินการกลุ่มละ 400,000 บาท มีเป้าหมายผลิตลำไยอบแห้งสีทอง ให้ได้ประมาณ 220 ตัน ซึ่งจะต้องใช้ลำไยสดประมาณ 2,200 ตัน


สำหรับผลผลิตลำไยในฤดูกาลของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2549 เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า มีการคาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ตัน จากพื้นที่ปลูกทั้งสิ้นประมาณ 200,000 ไร่ โดยปริมาณผลผลิตจะลดลง จากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 20-30 ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาจำหน่าย เนื่องจากผลผลิตมีน้อย ซึ่งราคาจำหน่ายลำไยสดในปีนี้โดยเฉลี่ย คาดว่าจะอยู่ในระดับราคากิโลกรัมละ 12-15 บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลผลิตจะเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 บาท


 


เช่นเดียวกับนโยบายการแก้ปัญหาลำไยในภาพใหญ่ ซึ่งปีนี้กระทรวงเกษตรฯ วางแผนการกระจายผลผลิต แนวทางแรกจะเป็นไปในรูปแบบของการส่งออกสด โดยตั้งเป้าส่งออกประมาณ 150,000 ตันสด ในส่วนต่อมา คือ การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศของลำไยสดผ่านสหกรณ์ จำนวน 10,000 ตัน และเอกชน จำนวน 140,000 ตัน รวม 150,000 ตันสด โดยในส่วนของกลุ่มแปรรูปสีทอง พบว่า เริ่มที่จะมีการขยายตลาดให้ประชาชนเริ่มรู้จักและเกิดความสนใจบริโภคมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณ 10,000 ตันสด ลำไยกระป๋องมากว่า 20,000 ตันสด และรูปแบบแช่แข็ง ในส่วนของเอกชน ประมาณ 2,000 ตันสด ซึ่งการกระจายผลผลิตในลักษณะข้างต้น จะส่งผลให้มีปริมาณลำไยอบแห้งเพียง 33,000 ตันแห้ง โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ประสานงาน ในด้านการกระจายลำไยสดออกจากทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ


 


นายจรัส ศุภศรี รองประธานองค์กรเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือ กล่าวว่า แผนแก้ปัญหาลำไยของภาครัฐในปีนี้เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรแปลกใหม่ และเกษตรกร สหกรณ์ฯต่างๆไม่มีความมั่นใจและไม่มีความหวังในการแก้ปัญหาของภาครัฐ เพราะปัญหาที่ผ่านมารัฐยังแก้ไม่จบ อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่าเหลือเวลาเพียงไม่ถึงเดือนที่ผลผลิตลำไยจะเริ่มออกสู่ตลาด แผนงานการแก้ปัญหาต่างๆที่มีออกมาแล้วจะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงทีหรือไม่


 


"ตอนนี้เกษตรกรประสบปัญหาเหมือนกันคือ ต้นทุนการผลิตลำไยเพิ่มขึ้นมาก เพราะค่าครองชีพเพิ่มขึ้นจากปัญหาราคาน้ำมัน เงินที่จะนำไปบำรุงสวนแทบไม่มี และไม่มีความหวังที่จะพึ่งอะไรจากรัฐแล้ว เราไม่แน่ใจว่ารัฐจะช่วยเหลือจริงจังหรือไม่ ตอนนี้เกษตรกรบางรายและสหกรณ์บางกลุ่มเริ่มทำตลาดเองแล้ว เช่นการหาคนมาซื้อที่สวนโดยตรงและหาตลาดส่งออกด้วยตนเอง"


 


การแก้ปัญหาลำไยของรัฐบาลนับจากปี 2545 - 2548 เป็นช่วงเวลา 4 ปี ที่เกษตรกรชาวสวนลำไยฟันธงว่า "ล้มเหลว" อย่างสิ้นเชิง เพราะจนถึงขณะนี้ปัญหาค้างเก่ายังสะสางไม่เสร็จสิ้น จึงน่าจับตามองอย่างยิ่งว่านโยบายการบริหารจัดการลำไยที่วาดหวังไว้อย่างสวยหรูของกระทรวงเกษตรฯในปีนี้ จะแก้ปัญหาลำไยที่กำลังทยอยออกมาได้อย่างเบ็ดเสร็จและตรงจุดหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net