Skip to main content
sharethis


 


 


รถประจำทางที่เต็มไปด้วยผู้คนกำลังแล่นไปสู่จุดหมายปลายทางที่ไม่มีใครรู้ ใบหน้าขรึมของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งนั่งนิ่งอยู่ในชุดสูทสีดำ ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ให้คนดูคาดเดาได้ว่าเขากำลังคิดอะไร ดวงตาคู่นั้นดูเวิ้งว้าง แต่ก็ตึงเครียดกดดัน และมีพลังดึงดูดจนเกิดคำถามว่าในอีกวินาทีข้างหน้า...จะเกิดอะไรขึ้น...


 


นั่นคือฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่กลายเป็นประเด็นอื้อฉาว ทันทีที่มีการประกาศว่ารางวัลลูกโลกทองคำ หรือ Golden Globe Award สาขา "ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม" ประจำปี 2549 เป็นของภาพยนตร์ "ปาเลสไตน์" ชื่อว่า Paradise Now


 


ผู้กำกับและคนเขียนบทหนังเรื่องนี้เป็นคนเดียวกัน ซึ่งก็คือ ฮานี อาบู-อัสซาด (Hany Abu-Assad) ผู้มีสัญชาติระบุในไว้พาสปอร์ตว่าเป็นชาว "อิสราเอล" โดยกำเนิด เพราะเขาเกิดที่เมืองนาซาเร็ธ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในเขตของอิสราเอล แต่อาบู-อัสซาดเป็นชาวอาหรับเชื้อสายปาเลสไตน์ และเขาได้ย้ายไปอยู่เนเธอแลนด์เมื่ออายุเพียง 19 ปี


 


ปัจจุบันนี้ เขายังยืนยันกับใครต่อใครว่าสัญชาติที่แท้จริงของเขาจะเป็นอะไรนั้น—ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยสักนิดเดียว


 


"ผมไม่ใช่ชาวอิสราเอล เพราะอิสราเอลเรียกตัวเองว่าเป็น "รัฐแห่งยิว" และผมก็ไม่ใช่ยิว แต่ถ้าอิสราเอลเป็นรัฐที่เปิดกว้างสำหรับทุกๆ คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น ผมก็คงจะสามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นชาวอิสราเอล" --นี่คือประโยคที่อาบู-อัสซาดเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเอาไว้


 


หลังจากได้รับรางวัลลูกโลกทองคำจากสถาบันผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวู้ด (HFPA: Hollywood Foreign Press Association) ไปครอบครองได้เพียงไม่นาน สถาบันอคาเดมีผู้รับผิดชอบรางวัลออสการ์ก็ประกาศว่าภาพยนตร์ 1 ใน 5 ที่เข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film) ในปีนี้ก็มีหนังเรื่อง "พาราไดส์นาว" รวมอยู่ด้วย


 


ชาวยิวอเมริกันจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการระเบิดพลีชีพจากที่ต่างๆ ได้มารวมตัวกัน เพื่อชุมนุมประท้วงที่หน้าสถาบันอคาเดมีเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าหนังเรื่องพาราไดส์นาวไม่มีคุณสมบัติพอที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์


 


เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะความหวั่นผวาต่อ "ลัทธิก่อการร้าย" ที่มีข่าวว่าแพร่กระจายไปทั่วโลก นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ (และความขัดแย้ง) ตามมาอีกมากมาย เพราะหนังของผู้กำกับอาบู-อัสซาดเรื่องนี้ พูดถึงเรื่องราว 48 ชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตชายสองคนซึ่งตัดสินใจจะเป็นมือระเบิดพลีชีพ และผู้ประท้วงมากมายประณามตัวละครในเรื่องว่าเป็น "ปีศาจร้าย" ที่ฆ่าคนบริสุทธิ์เพียงเพื่อจะสนองความบ้าคลั่งอุดมการณ์ของตัวเอง


 


ส่วนเหตุผลอีกข้อที่ถูกหยิบยกมาประกอบการเรียกร้องรางวัลคืนก็คือตามกฏแล้ว หนังที่จะเข้าชิงรางวัลในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศได้ จะต้องเป็นหนังที่ส่งเข้าชิงรางวัลในนามของ "ประเทศ" "สาธารณรัฐ" หรือ "รัฐชาติ" ที่มีเอกราชและมีอำนาจปกครองตนเองอย่างเป็นทางการ แต่ใครๆ ก็รู้กันว่าปาเลสไตน์ไม่ได้เป็นประเทศ ไม่มีเอกราช และดูท่าว่าคงจะไม่มีโอกาสประกาศอิสรภาพได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วย


 


ไม่มีใครรู้ว่าหนังเรื่องพาราไดส์นาวจะยังดีไม่พอในสายตาคณะกรรมการฯ หรือจะเป็นเพราะสถาบันอคาเดมีต้องการลดแรงเสียดทานของสังคม แต่สิ่งที่นักดูหนังรับรู้โดยทั่วกันก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า รางวัลออสการ์สาขาภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ไม่ได้เป็นของผู้กำกับที่ชื่อฮานี อาบู-อัสซาดเหมือนอย่างที่นักวิจารณ์คาดเดากันเอาไว้


 


แต่ถึงจะไม่ได้รางวัลจากเวทีออสการ์ (ซึ่งไม่ได้เป็นรางวัลที่ตัดสินหรือชี้วัดคุณภาพของหนังได้อย่างเที่ยงธรรมถูกจริตคนทั้งโลกสักเท่าไหร่) หนังเรื่องนี้ก็กลายเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคนไปแล้ว...


 


แรงขับเคลื่อนภายในของ Suicide Bomber


ในเมืองไทย "พาราไดส์ นาว" ที่เราอาจแปลเป็นภาษาแม่ (แบบบ้านๆ) ว่า "สวรรค์ทันตา" ได้อำลาจากโรงภาพยนตร์ไปแล้ว โดยที่ข้อกังขาต่อหนังเรื่องนี้ในเมืองไทยไม่ได้รุนแรงเท่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์อันเผ็ดร้อนในกระทู้ของเวบไซต์เยรูซาเล็มเน็ตนิวส์ (Ynetnews) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภาษาอังกฤษของชาวอิสราเอลและชาวยิวสัญชาติอื่นๆ และเป็นเวบไซต์ที่มีผู้อ่านทั่วโลกเป็นจำนวนมาก


 


แต่อย่างน้อยที่สุดก็พูดได้ว่า "หนังนอกกระแส" เรื่องนี้สามารถยืนโรงฉายในบ้านเราได้นานพอดู พร้อมกับเสียงชื่นชมหนาหูว่านี่คือหนังที่ "เป็นกลาง" มากที่สุดในการบอกเล่าเรื่องราวความขัดแย้งของคู่แค้นอย่าง อิสราเอลและปาเลสไตน์ (แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าความเป็นกลางที่พูดถึงกันบ่อยๆ นั้นมันมีจริงหรือเปล่า...)


 


จุดเด่นที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีคนพูดถึงกันมาก ก็คือการเติมน้ำหนักของความเป็นมนุษย์ลงไปในคาแรกเตอร์ของตัวละครหลัก และเป็นการพลิกแง่มุมอีกด้านของมือระเบิดพลีชีพหนุ่ม (หล่อ!) ที่แสนเศร้าและงดงาม  ภายใต้กรอบความคิดที่ว่า "ถ้าหากต้องมีชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างไร้อนาคต และไร้อิสรภาพ การตายเพื่อสร้างความหวังเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ทำประโยชน์ได้มากกว่า"


 


นั่นคือเหตุผลว่าทำไมชายหนุ่มที่สุภาพอ่อนโยนถึงลุกขึ้นมาติดระเบิดรอบตัว และพร้อมจะพลีชีพเพื่อเข่นฆ่าชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน


 


ชายหนุ่มหนึ่งในนั้นคือ ซาอิด (Kais Nashef) ผู้เงียบขรึม และ คาเลด (Ali Suliman) เพื่อนสนิทของเขา ก็คือขั้วตรงข้ามที่มีนิสัยแตกต่างกันแทบจะทุกประการ


 


หากสิ่งที่คนทั้งคู่มีเหมือนกันก็คือ "อุดมการณ์" ที่จะพลีชีพด้วยความหวังว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะช่วยให้ชาวปาเลสไตน์ได้พบกับชีวิตใหม่ที่หลุดพ้นจากพันธนาการเรื่องการถูกปฏิเสธตัวตน เชื้อชาติ และการถูกจองจำด้วยกำแพงกั้นเขตปาเลสไตน์กับอิสราเอล ส่วนตัวของพวกเขาเองก็จะได้หลุดพ้นไปจากปมปัญหาที่ค้างคาอยู่ในใจมาตั้งแต่เด็กด้วย


 


ซาอิดเติบโตมาด้วยความรักความเอาใจใส่ของแม่เพียงอย่างเดียว เพราะพ่อของเขาถูกชาวปาเลสไตน์ด้วยกัน "ลงโทษ" จนตาย ด้วยข้อหา "สมรู้ร่วมคิด" กับฝ่ายอิสราเอล และคาเลดก็มีปมที่พ่อของเขาเลือกจะมีชีวิตอยู่อย่างพิการ แทนที่จะสู้กับทหารอิสราเอลจนตายเพื่อรักษาเกียรติยศ


 


แต่เหตุผลที่ผ่านเข้ามาในสำนึกวูบแรกและทำให้ซาอิดกับคาเลดยินยอมใช้ชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องอุดมการณ์หรือความพยายามที่จะเอาชนะอดีตอันผิดพลาดเลยก็ได้ แต่เพราะ "นรก" ที่เขาจมอยู่กับมันในปัจจุบัน ไม่มีหนทางอะไรให้เลือกมากนัก


 


จุดเริ่มต้นใน Paradise Now จึงบอกเล่าชีวิตอันเส็งเคร็งของ 2 หนุ่มชาวปาเลสไตน์ที่ทำงานอยู่ในอู่ซ่อมรถเก่าๆ ในเมืองนาบลัส มันเป็นอู่ที่เต็มไปด้วยรถยนต์สมัยพระเจ้าเหา และลูกค้างี่เง่าสุดแสนจะเรื่องมาก


 


วิถีชีวิตของชาวปาเลสไตน์ที่ "ถูกทำให้เห็น" จากในหนัง คือภาพตึกรามบ้านช่องเก่าๆ เรียงรายอยู่บนเนินเขา และดูไร้ระเบียบอย่างสิ้นเชิง ผู้คนเล็กๆ ทำหน้าที่ของตัวเองไปตามความเคยชินมากกว่าจะเป็นความกระตือรือร้น


 


เช่นเดียวกับชีวิตประจำวันของซาอิดและคาเลดที่ดูเหมือนจะอยู่ไปวันๆ อย่างไร้อนาคต ไม่มีแม้แต่เงินจะจ่ายทิปค่าน้ำชาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้เด็กที่มาเสิร์ฟจะส่งสายตาเว้าวอนผสมความไม่พอใจ คาเลดก็ทำได้เพียงแค่ถลึงตาตอบกลับไปเท่านั้น (และก็ยังไม่ให้เงินเพิ่มอยู่ดี)


 


ความเป็นไปในชีวิตของซาอิดและคาเลดที่ปรากฏให้เห็นในหนังดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ซึ่งก็คือความจงใจของผู้กำกับที่ต้องการจะถ่ายทอดแง่มุมที่เป็นปุถุชนของ "มือระเบิดพลีชีพ" ให้คนดูได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นฉากที่คาเลดหยอกล้อกับพี่น้อง หรือฉากที่ซาอิดพยายามจะตัดแต่งกิ่งไม้หน้าบ้านให้แม่ รวมถึงฉากหนึ่งในยามย่ำรุ่งที่ซาอิดนำกุญแจรถไปคืนแก่ ซูฮา (Lubna Azabal) ซึ่งเป็นหญิงสาวที่เขามีใจให้


 


เพียงเท่านี้คนดูก็คงเข้าใจได้ว่าด้านหนึ่งของ "อาวุธสังหาร" ที่ถูกมองว่าโหดร้ายก็คือความเป็นมนุษย์ที่รู้จักรักและเจ็บปวดไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ผลักดันให้ใครบางคนลงมือทำในสิ่งที่โหดร้ายต่างหากที่เราต้องคำนึงถึงว่ามีที่มาจากไหนกันแน่


 


นอกเหนือจากชีวิตอันเรียบง่ายของซาอิด คาเลด และครอบครัวของทั้งสองคน ภาพของปาเลสไตน์ที่ปรากฏในหนังก็คือเมืองที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ที่นี่ เช่นเดียวกับความเป็นอยู่ในเขตเวสต์แบงค์ซึ่งถูกจำกัดทั้งพื้นที่และเสรีภาพ ทหารยิวถือปืนยืนประจำอยู่ตามด่านตรวจ (Check Point) กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ที่เป็นรอยต่อไปยังอิสราเอล คือเขตแดนกั้นไม่ให้ชาวปาเลสไตน์ก้าวพ้นผ่านไปยังดินแดนฝั่งที่เป็นของชาวอิสราเอล


 


หลังจากที่ผู้กำกับอาบู-อัสซาดได้รับรางวัลลูกโลกทองคำแล้ว เขาได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากวายเน็ตนิวส์ว่า เขาเคยถูกทหารอิสราเอลซึ่งประจำอยู่ตามด่านตรวจดูหมิ่นและเหยียดหยามหลายต่อหลายครั้งเมื่อสมัยที่เขายังอาศัยอยู่ในเมืองนาซาเร็ธ และประสบการณ์เลวร้ายเหล่านี้ทำให้เขา "เข้าใจ" ว่าแรงผลักดันที่วนเวียนอยู่ในความคิดของมือระเบิดพลีชีพทั้งหลายมีที่มาจากไหน


 


"เวลาที่คุณรู้สึกว่าตัวเองขี้ขลาด ความรู้สึกนั้นมันฆ่าคุณได้" อาบู-อัสซาดอธิบายกับนักข่าว "ความรู้สึกว่าตัวเองขี้ขลาดจะทำให้คนเรารู้สึกอ่อนแอและเริ่มเกลียดการมีชีวิตอยู่"


 


ความฮึกเหิมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับการกดขี่ของผู้มีอำนาจหนุนหลังและมีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบเครื่องกว่า จึงเป็นคำตอบที่เราเข้าใจได้ว่านั่นคือ "ปฏิกิริยาตอบโต้" ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนเรา (ถูกทำให้) รู้สึกว่าชีวิตที่มีอยู่ช่างไร้ค่าเสียเหลือเกิน


 


เมื่อ จามาล (Amer Hlehel) ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่มาชวนให้ซาอิดและคาเลดเข้าร่วมในขบวนการต่อต้านอิสราเอล ทั้งสองคนจึงตกลงใจอย่างง่ายดาย...


 


มองปัญหาปาเลสไตน์จากสายตาของ "คนใน"


แรงขับเคลื่อนภายในที่ทำให้ซาอิดและคาเลดตัดสินใจพลีชีพไม่ใช่เรื่องของ "ความเกลียดชัง" เพียงอย่างเดียว แต่มันมีเหตุผลส่วนที่เป็น "ความรัก" รวมอยู่ใน "ความหวัง" ที่อยากจะให้พ่อแม่พี่น้องและคนรักที่อยู่เบื้องหลังได้มีชีวิตดีๆ กว่าที่เป็นอยู่ด้วย


 


ยังดีที่ความเสียสละของซาอิดและคาเลดไม่ได้ถูกเชิดชูอยู่เพียงลำพัง เพราะผู้กำกับได้ตั้งคำถามและพยายามให้คำอธิบายในฉากหนึ่งที่ซูฮาถกเถียงกับซาอิดและคาเลดเรื่อง "วิธีการ" ที่ขบวนการต่อต้านอิสราเอลใช้


 


เมื่อซูฮาเอ่ยขึ้นว่าวิธีตอบโต้การยึดครองของอิสราเอลด้วยความรุนแรงไม่ใช่การยุติปัญหา เพราะมันจะยิ่งทำให้อิสราเอลมีข้ออ้างในการใช้กำลังอาวุธบุกเข้ามาโจมตีปาเลสไตน์อย่างชอบธรรมมากขึ้น ซาอิดและคาเลดล้วนให้เหตุผลไม่ต่างกันว่า การพลีชีพคือการตอบโต้ให้คนทั่วโลกได้รับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์อย่างชัดเจนที่สุด หลังจากที่คนส่วนใหญ่เบือนหน้าไปทางอื่นและแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานจนเกินไป


 


และการโต้ตอบของคนที่ไม่มีอาวุธใดๆ ไปต่อสู้กองกำลังทหารที่เพียบพร้อมของอิสราเอลก็คือการพลีชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันคืออาวุธทำลายล้างที่สามารถควบคุมและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดังใจมากที่สุด!


 


แต่คำตอบที่ถูกต้องของเรื่องทั้งหมดไม่มีอยู่ในหนังเรื่องนี้ เพราะเหตุผลที่มาจากมุมมองของคนที่คิดว่าตัวเองเป็น "คนใน" อย่างซาอิดและคาเลด ย่อมเข้าใจว่าการมีชีวิตอยู่ในเมืองที่ขาดอิสรภาพ ขาดไร้ซึ่งสวัสดิการ และไม่มีแม้กระทั่งสิทธิที่จะเรียกขานตัวตนว่าเป็น "ชาวปาเลสไตน์" อย่างเต็มรูปแบบนั้น—คือความขมขื่นเพียงใด


 


ต่างกับซูฮาที่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นชาวปาเลสไตน์เหมือนกัน แต่เธอคือลูกสาวคนเดียวของวีรบุรุษผู้ล่วงลับแห่งขบวนการต่อต้านอิสราเอล (ซึ่งในหนังก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นขบวนการไหน) และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนที่มีแนวคิดแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" เช่นเพื่อนร่วมขบวนการทั้งหลาย เธอจึงได้รับ "อภิสิทธิ์" ในฐานะลูกสาวของอดีตผู้นำขบวนการฯ ซูฮาจึงฉายภาพของหญิงสาวอาหรับยุคใหม่ที่ได้ร่ำเรียนต่อต่างประเทศ เธอสามารถเดินทางไปไหนมาไหนในโลกได้อย่างเสรี และเธอไม่จำเป็นต้องมีฮิญาบคลุมผมเหมือนอย่างผู้หญิงส่วนใหญ่ในเมืองนาบลัส


 


แม้ซูฮาเลือกที่จะอยู่ต่อไปในแผ่นดินแห่งความขัดแย้ง แต่เธอไม่เคยเห็นด้วยกับการพลีชีพหรือการใช้ความรุนแรงในการตอบโต้การยึดครองของอิสราเอล และสิ่งที่ทำให้ซูฮาแตกต่างจากคนอื่นๆ ก็คือเธอมี "อิสระ" ที่จะเลือกด้วยตัวเองว่าจะ "อยู่" หรือ "ไป" จากดินแดนแห่งนี้ ในขณะที่ลูกสาวของชาวปาเลสไตน์อีกหลายบ้านไม่เคยมีโอกาสแบบนั้นเลย...


 


ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้มุมมองแบบสันตินิยมของซูฮาไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น


 


เพราะสำหรับคนที่ต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิตทนอยู่กับปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกเกินเยียวยา ความเชื่อในแบบของซูฮาก็คือการมองโลกในแง่ดี (ที่แสนจะไร้เดียงสา) ของคนที่อยู่วงนอกก็เท่านั้น...


 


แม้กระทั่ง "สวรรค์" ก็ยังถูกแบ่งแยกดินแดน


ความขัดแย้งเท่าที่เห็นในหนัง ยังไม่รุนแรงเท่าความขัดแย้งในโลกจริง (และโลกไซเบอร์) เพราะหลังจากที่ Paradise Now ออกฉาย "อิริต ลินอร์" นักประพันธ์และนักเขียนบทชื่อดังของอิสราเอลก็เขียนบทความชำแหละเนื้อหาในหนังของฮานี อาบู-อัสซาดอย่างไม่ไว้หน้าในวายเน็ตนิวส์


 


ความหล่อของซาอิด หรือ Kais Nashef เป็นจุดอ่อนก็ตรงนี้เอง เพราะลินอร์วิพากษ์วิจารณ์ว่าอาบู-อัสซาดพยายามสร้างภาพมือระเบิดพลีชีพให้ดูดีและน่าเห็นอกเห็นใจเกินไป และอาจจะทำให้คนดูมองข้ามความเป็นจริงที่โหดร้ายจนลืมคำนึงถึงชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของมือระเบิดพลีชีพ


 


นอกจากนี้ ลินอร์ยังตั้งข้อสังเกตว่าอาบู-อัสซาดจงใจแสดงภาพของชาวอิสราเอลให้เห็นในหนังเพียงแบบเดียว คือชายชาวยิวอ้วนฉุที่ขับรถพาซาอิดกับคาเลดไป "ปฏิบัติภารกิจ" ในเทล อาวีฟอันเป็นเมืองสำคัญในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจ แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือตัวละครดังกล่าวเป็นคนหิวเงินเสียจนยอมรับเงินสกปรกโดยไม่คิดถึงชีวิตชาวอิสราเอลชาติเดียวกันที่ต้องสูญเสียไป ลินอร์จึงกล่าวว่าพาราไดส์นาวคือหนัง "นาซี" ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมในการต่อต้านชาวยิว


 


ถ้าจะอยู่เฉยๆ ไม่โต้กลับไปก็คงเสียเชิง อาบู-อัสซาดจึงตอบกลับผ่านไปทางวายเน็ตนิวส์อย่างดุเดือดว่าลินอร์คงจะเชื่ออย่างจริงๆ จังๆ ว่าคนชาติอื่นแตกต่างจากเธอ และลินอร์ก็คงจะไม่ยอมรับอีกเช่นกันว่าการที่อิสราเอลบุกเข้าไปยึดครองพื้นที่ของปาเลสไตน์ต่างหากที่เป็นสาเหตุของการพลีชีพ เธอถึงได้พูดว่าชาวปาเลสไตน์คือผู้สร้างวัฒนธรรมซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาและความเลวร้าย


 


"เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ชาวยิว ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตกเป็นเหยื่อและต้องสูญเสียชีวิตของผู้คนมากมายให้แก่ความคลั่งชาติพันธุ์ของคนบางกลุ่มในอดีต กลับทำเช่นนั้นเสียเองในปัจจุบัน"


 


หากมองอย่างไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ข้อสังเกตของลินอร์อาจไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก แต่ก็ใช่ว่าอาบู-อัสซาดจะเข้าข้างชาวปาเลสไตน์จนสุดโต่ง


 


ฉากตลกร้ายที่ทำให้คนดูเข้าใจว่าขบวนการต่อต้านอิสราเอลที่ปรากฏอยู่ในพาราไดส์นาว ไม่ใช่ "นักรบ" ที่น่าชื่นชมบูชาจนไร้ที่ติแต่อย่างใด เพราะเมื่อซาอิดเข้าไปในร้านถ่ายรูป เพื่อเอารูปที่สั่งอัดไว้ เขากลับได้พบวิดีโอบันทึก "คำแถลงการณ์ครั้งสุดท้าย" ของมือระเบิดพลีชีพที่ถูกนำมาวางขายให้ใครๆ ซื้อหาไปดูกันเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา (และเงินที่ได้จากการขายวิดีโอที่ว่าจะเข้ากระเป๋าใคร-ถ้าไม่ใช่ขบวนการต่อต้านฯ ที่เขาเพิ่งจะเข้าร่วม)


 


หากสิ่งที่ซาอิดรับไม่ได้ยิ่งกว่า...น่าจะเป็นการที่เจ้าของร้านยื่นเทปบันทึกการลงโทษชาวปาเลสไตน์ที่สมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายอิสราเอลมาให้ โดยที่คนเหล่านั้นถูกตราหน้าไปแล้วว่าเป็น


"ผู้ทรยศ" ที่สมควรจะได้รับการลงโทษอย่างสาสม...


 


นั่นอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ซาอิดตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เพื่อจัดการปมปัญหาที่คั่งค้างอยู่ในใจของตัวเอง


 


นอกจากนี้ผู้กำกับอาบู-อัสซาดยังตั้งคำถามกับอุดมการณ์และความเชื่อมั่นของชาวปาเลสไตน์อย่างเจ็บแสบทีเดียว


 


ฉากหนึ่งในหนังที่สามารถบอกทุกอย่างได้ดี ก็คือฉากที่ซาอิดถามว่าจามาลว่า-เมื่อเขากดปุ่มระเบิดเพื่อพลีชีพตัวเอง เขาจะได้ขึ้นสวรรค์ทันทีใช่ไหม?


 


จามาล (ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการหามือระเบิดพลีชีพมาตลอด) นิ่งงันไปอึดใจ ก่อนจะตอบเบาๆ ว่า "ใช่"


 


แต่คนดูเองก็มองเห็นความไม่มั่นใจในท่าทีของจามาลได้ชัดเจน...


 


ถึงที่สุดแล้ว เรื่องราวความขัดแย้งทั้งหมดคงไม่อาจทำความเข้าใจได้เพียงแค่ฟังเรื่องราวจากทั้งสองฝ่ายโดยเท่าเทียม และคำตอบของปัญหาทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องราวสำเร็จรูปที่เราจะหาได้จากในหนังอยู่ดี...


 


"หนทางแก้ปัญหาจะมาถึงก็ต่อเมื่อคุณตระหนักได้ว่าสิทธิแห่งความเท่าเทียมกันระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับควรจะเกิดขึ้นทั่วทั้งดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองเทลอาวีฟหรือนาซาเร็ธ"


 


ผู้กำกับฮานี อาบู-อัสซาดทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น...


 


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net