Skip to main content
sharethis


15 กรกฎาคม 2549 — องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวว่ารัฐบาลไทยควรที่จะถอนการตั้งข้อหากบฏต่อบรรดาแกนนำของผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ การตั้งข้อหากบฎซึ่งเกิดขึ้นควบคู่กันไปกับการฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญานั้นถือเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางการเมืองในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี


 


แบรด อาดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าทักษิณกำลังพยายามเล่นงานผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตนเองโดยอาศัยการตั้งข้อหากบฏ และการฟ้องหมิ่นประมาท และการใช้กฏหมายที่รุนแรงเป็นเครื่องมือเล่นงานศัตรูทางการเมืองเช่นนี้จะส่งสัญญานที่ไม่ดีในช่วงที่รัฐบาลกำลังพยายามจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ รัฐบาลควรจะยกเลิกข้อหาเหล่านั้น แล้วจึงหันมาชี้แจงเพื่อตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายตรงข้ามอย่างเปิดเผยจะดีกว่า


 


เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2549 ตำรวจนครบาลมีหมายเรียกแกนนำทั้งห้าคนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข พล.ต.จำลองศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ให้ไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อหาความผิดต่อความมั่นคง และกบฏต่อราชอาณาจักร


 


พล.ต.ต.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลระบุว่า แกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กล่าวปราศัยและให้สัมภาษณ์ในที่ต่างๆ รวมทั้งกระทำการอื่นๆ ที่เป็นความผิดตามมาตรา 116, 215 และ 216 ของประมวลกฏหมายอาญาคือ การ "ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือ และวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่แสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือกระทำการให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน"


 


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สนธิและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ทักษิณมากที่สุด โดยได้มีการจัดการชุมนุมปราศัย และประท้วงอย่างสงบปราศจากความรุนแรงโดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้กล่าวหาว่า บุคคลเหล่านี้เป็นพวกไม่รักชาติและกำลังพยายามที่จะใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลและทำลายกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย


 


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 49 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาความผิดต่อความมั่นคงและกบฏต่อราชอาณาจักรแก่สมาชิกของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพิ่มเติมอีกแปดคน ซึ่งประกอบด้วย สุริยะใส กตะศิลา, รสนา โตสิตระกูล, ชัยวัฒน์ สินสุวงศ์, สุวิทย์ วัดหนู, เพียร ยงหนู, ศิริชัย ไม้งาม, การุณ ใสงาม และอวยชัย วะทา


 


ในวันเดียวกันนั้นเอง ทักษิณได้กล่าวยืนยันเจตนาที่จะปกป้องประชาธิปไตย ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการระดับสูงฝ่ายต่างๆ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า "ผมจะไม่ยอมให้การเปลี่ยนแปลงใดๆที่ไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเด็ดขาด จะปกป้องประชาธิปไตยของชาติด้วยชีวิต"


 


อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ทักษิณได้อาศัยอำนาจรัฐและอิทธิพลทางธุรกิจคุกคาม และปิดปากบรรดาผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตนเองมาโดยตลอด ในการเผชิญหน้ากับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาลได้เคลื่อนไหวดำเนินการต่างๆ อย่างก้าวร้าวเพื่อที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยมีการยื่นฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาและการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลจากนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญๆ และสื่อมวลชนที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล


 


เมื่อปีที่แล้ว สนธิถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาททางอาญาซึ่งอาจทำให้ต้องโทษจำคุกสิบปี และยังถูกเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากคดีหมิ่นประมาทหกคดีอีกเป็นจำนวนเงินมากกว่าสองพันล้านบาทถึงแม้หลังจากนั้นจะมีการถอนฟ้องคดีเหล่านั้นเพื่อสนองตอบต่อกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งขอให้ทักษิณรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทักษิณก็เริ่มดำเนินการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา และทางแพ่งแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, เมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป ตลอดจนบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ รวมทั้งยังได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เป็นจำนวนเงินหนึ่งพันล้านบาทเพื่อตอบโต้กับการที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงในรัฐบาล


 


องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะความคิดเห็นทางการเมืองและการโต้เถียงกันในที่สาธารณะนั้นถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมประชาธิปไตยในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมือง และสิทธิพลเมืองประเทศไทยจะต้องเคารพสิทธิดังกล่าวและจะต้องดำเนินการทุกวิถีทางให้การใช้สิทธิดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้


 


มาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองระบุว่า :


 


"บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นและแสดงความคิดเห็นได้ โดยปราศจากการแทรกแซง โดยสิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหารับรู้ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดนและประเภทของสื่อ"


 


นอกจากนี้ มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ของการต่อสู้เรียกร้องให้มีการยอมรับสิทธิเสรีภาพภายใต้กฏหมายก็ยังระบุด้วยว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น"


 


อาดัมส์กล่าวว่า "การใช้ระบบกฏหมายไปในทางที่ผิดเพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชน และพรรคการเมืองฝ่ายค้านเช่นนี้เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อประชาธิปไตยไทย" ทักษิณจึงควรจะให้เวลามากขึ้นกับการอภิปรายถกเถียงอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะและให้เวลาน้อยลงกับการใช้ตำรวจกับทนายความไปรังควาญผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net