Skip to main content
sharethis


 


ประโยคอมตะที่ว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ยังใช้ได้อยู่เสมอ และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ที่เป็นหลักฐานยืนยันก็ได้แก่เหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีความรุนแรงถึง 7.7 ริกเตอร์ และคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ได้โถมเข้าทำลายอาคารหลายแห่งที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางใต้ของเกาะ และหลังจากนั้นได้เกิดอาฟเตอร์ช็อคในพื้นที่เช่นกัน


ล่าสุดมีรายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวมีราว 300 ราย และผู้สูญหายอีกนับพันคน ในขณะที่ประชาชน 23,000 รายต้องอพยพเข้าที่พักพิงชั่วคราว


นอกจากนี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นได้เปิดเผยในวันเดียวกันว่าเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเกาะฮอกไกโดในช่วงเช้า วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.3 ริกเตอร์ แต่ไม่มีการเตือนภัยสึนามิ โชคดีที่ยังไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด


มิไยที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจะพร่ำบอกว่าการที่มนุษย์ใช้พลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน หรือ ถ่านหิน อย่างไม่บันยะบันยัง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยดังกล่าวก็ส่งผลกระทบเป็นงูกินหางจนเกิดภาวะโลกร้อนขึ้น


น้ำแข็งขั้วโลกเหนือ-ขั้วโลกใต้ละลายอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นภัยธรรมชาติซึ่งมีความถี่ในการอุบัติเพิ่มขึ้นทุกปี ล้วนเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ได้เป็นอย่างดี และปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนมีความเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น


องค์กรกรีนพีซจึงได้จัดเวทีสาธารณะขึ้น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 ภายใต้หัวข้อ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: วิกฤติ หรือ โอกาส? เพื่อกล่าวถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมิได้เป็นการตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุของนักเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องที่ภาครัฐ หน่วยงานเอกชน และประชาชน ต้องร่วมมือกันจัดการและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงจากการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


แม้ว่าหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะพยายามพูดถึงผลกระทบดังกล่าวเป็นเวลานานหลายปี แต่แนวทางรับมือหรือป้องกันผลกระทบยังไม่คืบหน้ามากนัก กรีนพีซจึงเชิญตัวแทนจากแต่ละฝ่ายมาพูดคุยถึงแนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น


 


***



 ดร.มณทิพย์ รัตนา ทาบูกานอน


 


"ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรุนแรงที่สุด เพราะขาดความรู้ เทคโนโลยี และกลไกในการปรับตัว"


 


ดร.มณทิพย์ รัตนา ทาบูกานอน รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ในฐานะตัวแทนจากภาครัฐเข้าร่วมในเวทีสาธารณะฯ และยอมรับว่าประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เรือนกระจก


 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ร่างนโยบายและการปฏิบัติการเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไว้แล้วอย่างกว้างๆ (และยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ) โดยร่างนโยบายดังกล่าวพูดถึงการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์เรื่องการรับมือ Climate Change 5 ระดับ คือ


 


ระดับโลก


มีการร่วมลงนามในอนุสัญญาและการเจรจาระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสภาพแวดล้อม อาทิ UNFCC, Kyoto Protocol, Montreal Protocol, FTA, WTO และ GATTs


 


ระดับชาติ


มีเป้าหมายในการขจัดความยากจน, พัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ, ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งมีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ


 


ระดับกระทรวง, กรม


วางแผนจัดการลุ่มน้ำ, แผนยุทธศาสตร์, แผนอนุรักษ์พลังงาน, แผนเกษตรอินทรีย์ และแผนป้องกันอุบัติภัยธรรมชาติ


 


ระดับจังหวัดและท้องถิ่น


กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น อบต. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยความรู้และความเข้าใจมากขึ้น


 


การผลักดันให้ร่างนโยบายฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นเรื่องใหญ่ และถือเป็นสิ่งแรกที่รัฐบาลจะต้องทำให้สำเร็จ แต่ดูเหมือนว่าการพิจารณานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยจะยังไม่มีความคืบหน้าใดเกิดขึ้นมากนักในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา


 


***



ผศ.ดร.กัณฑรีย์ บุญประกอบ


 


"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สภาวะโลกร้อน (Global Warming) และปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) หมายถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกประเทศในโลก ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ประสบกับภัยพิบัติด้านภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อน และไฟป่าเพิ่มขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้โดยมากเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลกอย่างไม่อาจกลับคืนได้"


 


ผศ.ดร.กัณฑรีย์ บุญประกอบ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และรองประธานคณะกรรมการคณะที่ 1 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC: Intergovernmental Panel of Climate Change) เป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีข้อมูลยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบและมีการจำแนกผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกเป็น 3 ประเภท คือ


 


1.) ผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรและเสถียรภาพด้านอาหาร เพราะจากการศึกษาพบว่าผลผลิตทางการเกษตรจะลดลง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น และฤดูกาลที่แปรปรวนจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำกสิกรรมของตัวเองให้เหมาะสม


 


2.) ผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดปัญหาฝนตกมากขึ้นในบางพื้นที่ หรือฝนไม่ตกตามฤดูกาล เป็นเหตุให้เกิดทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งตามมา หรือในพื้นที่ที่มีฝนตกมาก จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อปริมาณน้ำ ระบบนิเวศน้ำจืด และน้ำใต้ดิน


 


3.) ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในวงจรต่างๆ ให้ต้องปรับตัว เช่น การเคลื่อนย้ายที่อยู่ของปลาประจำถิ่นอาจไม่ได้มีวิถีแบบเดิม เพราะกระแสน้ำในแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงไป


นอกจากนี้ รายงานของไอพีซีซี ได้เตือนถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่อาจส่งผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยตามชายฝั่งทะเล ซึ่งชายฝั่งทะเลของไทยมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ ทั้งการประมง การค้า สันทนาการ และการท่องเที่ยว แต่หากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และคลื่นจากพายุที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นก็อาจจะทำลายเศรษฐกิจ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวได้


***



ดร.ลีออนชิโอ อะมาโดเร


"การเกิดขึ้นของเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงในวันหนึ่ง ปีหนึ่ง หรือแม้กระทั่งทศวรรษหนึ่ง อาจไม่ได้เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันอาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ ศตวรรษ หรือ สหัสวรรษ ในการระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของสภาพเหตุการณ์ อาจเป็นหนึ่งในเสียงปลุกให้เราตื่นขึ้น หรือการเริ่มต้นของกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"


ดร.ลีออนชิโอ อะมาโดเร (Leoncio Amadore) หนึ่งในนักอุตุนิยมวิทยาที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์ ได้กล่าวถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อประเทศฟิลิปปินส์ โดยดร.อะมาโดระบุว่าระหว่างปีพ.ศ.2518-2545 มีอัตราการเกิดพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยราว 500 รายต่อปี และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รวมทั้งความเสียหายต่อภาคเกษตรด้วย


ข้อจำกัดของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ การขาดความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับประชาชนในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีความคิดเห็นแบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่าย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญก็จะไม่เห็นความจำเป็นในการเตรียมตัวรับมือกับภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เรือนกระจก ในขณะที่ฝ่ายที่เห็นว่าควรมีมาตรการรับมือได้พยายามรณรงค์ให้ผู้คนจำนวนมากเห็นความสำคัญ


อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงในฟิลิปปินส์ในปี 2548 ที่ผ่านมา รวมถึงได้เห็นภัยธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์ เกิดขึ้นในประเทศแถบเดียวกัน ทำให้ประชาชนและรัฐบาลฟิลิปปินส์กระตือรือร้นที่จะวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น


ทั้งนี้ การรับมือกับผลกระทบดังกล่าวควรใช้แบบแผนและวิธีการที่หลากหลายด้วย คือจำเป็นจะต้องมีโครงการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และการประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานทดแทนแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล


***



ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา


"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอนาคตที่ไม่แน่นอน จึงควรที่จะเตรียมตัว แต่ไม่ควรตื่นตระหนก และนักวิทยาศาสตร์อาจไม่ได้มีคำตอบให้กับทุกเรื่อง ประชาชนจึงต้องแสดงความร่วมมือกัน เพื่อเตรียมหาหนทางในการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น"


ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าการคาดการณ์เหตุการณ์จากสภาพแวดล้อมทำได้ยาก จะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่มีการศึกษาเรื่องผลกระทบ พบว่าไม่มีหน่วยงานรัฐบาลทำวิจัยเรื่อง Climate Change อย่างจริงจังสักเท่าไหร่ และงานวิจัยหรือการศึกษาที่มีส่วนใหญ่เป็นผลงานของคนในพื้นที่ที่เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม


นอกจากนี้ ดร.อานนท์มองว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเสมือนโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยหันมาตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่องแนวทางการรับมือหรือการเตรียมความพร้อมที่จะจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และการจัดการดังกล่าวไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะไม่มีใครรู้ว่าความแปรปรวนของอากาศจะหยุดลงที่จุดใด ถ้าหากว่ารัฐบาลสามารถให้คำพยากรณ์ในระดับที่เชื่อถือได้คงจะช่วยแก้ปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ แต่ตอนนี้การพยากรณ์อากาศของไทยไม่ได้มีบทบาทในการเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบมากนัก เพราะกรมอุตุนิยมวิทยามักถูกกดดันให้มีการพยากรณ์อากาศในระยะสั้นเท่านั้น


หากประชาชนกดดันให้มีการพยากรณ์อากาศในระยะยาว สักประมาณ 6 เดือนล่วงหน้า อาจจะมีวิธีที่จะนำไปสู่การปรับตัวแบบรวมศูนย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจจะมีระบบให้คำปรึกษา การพัฒนากองทุนและศักยภาพของสังคมได้


ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสรุปแนวทาง 3 ประการคือ


1.) จะต้องมีการคาดการณ์โดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในระยะยาว


2.) ควรหาทางเลือกที่หลากหลายในการรับมือกับผลกระทบฯ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับระดับปัจเจกและชุมชน


3.) ติดตามข่าวสาร หรือเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น


อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับเราทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่สังคมจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเสียก่อน จึงจะมีการมองหาทางออกหรือหาแนวทางป้องกันที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net