Skip to main content
sharethis




 


 


วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2006


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการ ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์เดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 20-21 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างน่าสนใจ


 


อยากให้ช่วยขยายความเรื่อง "ยุทธศาสตร์ใต้สันติสุข" ซึ่งมีการนำเสนอในเวทีการเสวนาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา


ที่จริงเราไม่ได้ไปพูด มันเป็นกระบวนการที่เราทำในเรื่องของการจัดทำนโยบายที่เราเรียกว่า "วาระประชาชน" และก็ในส่วนของการแก้ปัญหา 3 จังหวัด เรามีกิจกรรมและวิธีการที่หลากหลายพอสมควร เช่น การที่เราไปพบปะผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำเสนอหรือการแก้ไขปัญหา อย่างที่ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ พาอดีตส.ส.ในพื้นที่ไปพบท่านอดีตผบ.ทบ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมก็พาคณะคล้ายกันกับกลุ่มนี้ไปพบ กอส.


 


ขณะเดียวกันเราก็มีนโยบายเดิมตั้งแต่ปีที่แล้ว บวกกับข้อเสนอใหม่ๆ ที่เข้ามาก็จัดทำอยู่ในส่วนกลางด้วย และเราก็เห็นว่า น่าที่จะได้มาในพื้นที่ ใช้เวลาซัก 2 วัน มีทั้งที่จัดในรูปแบบเสวนาโต๊ะกลม ไปเยี่ยมสถาบัน การ ศึกษา เช่น วิทยาลัยอิสลาม และเดินทางไปพบปะนักศึกษา นักธุรกิจในพื้นที่ ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ รวมถึงทหารและใครต่อใคร ก็คิดว่า น่าจะทำให้เราได้มุมมองที่ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการที่จะจัดทำนโยบายออกมา


 


ดังนั้นถ้าถามถึงนโยบาย เราก็พูดกันชัดเจนไปเลยว่า ปัญหานี้คือ จะต้องแก้ด้วยการเมือง และก็ต้องเริ่มต้นจากการมีกลไกการแก้ปัญหาที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นแนวคิดจะสอดคล้องกับที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติหรือกอส.พูด คือ การมีศูนย์บริหารในเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพ(ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้- ศยส.) อาจจะต้องใช้คำว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) บวก คือ แนวคิดไม่ได้แตกต่างกับศอ.บต เมื่อก่อน แต่เมื่อสถานการณ์ขยับมา จะใช้คำว่าพัฒนาก็อาจไม่ถูก ขยับมาคือ อาจแย่ลงกว่าตอนนั้น ก็ต้องเป็นศอ.บต. บวก ซึ่งเราก็คิดว่า จริงๆ แล้ว เป้าหมายสุดท้ายต้องให้ทางพลเรือนเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน บวกกับตัวสภาพัฒนาฯ(สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) เพื่อที่จะโยงให้การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่เรื่องของการบริหารจัดการอย่างเดียว แต่ว่าเรื่องของพัฒนาเศรษฐกิจด้วย และเรื่องที่กอส.บวกไปด้วยก็คือ เรื่องกองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์


 


แต่เรื่องทั้งหมดนี้ ถ้ามีกฎหมายก็จะทำให้เกิดความมั่นใจ แน่นอนและความต่อเนื่องระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นแนวคิดนี้ เราถือว่าใช้ได้และสอดคล้องกับแนวคิดของเราก่อนหน้านี้ ที่เคยพูดถึงเรื่องการรื้อฟื้นศอ.บต. ขึ้นมา เทียบกับระบบซีอีโอ หรือการที่บอกว่า มีกอ.สสส.จชต.หรือมีมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการกองทัพบก(ผบ.ทบ.) หรือให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่เราคิดย้อนไปคล้ายๆกับมี ศอ.บต.แล้วบวกขึ้นมา เพื่อรับกับสถานการณ์ในเชิงความเป็นเอกภาพในเรื่องของยุทธศาสตร์


แต่มันจะมีปมเรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงของปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เราเห็นก็คือ ว่ามันไม่เคยมีการประเมินอย่างจริงจังในเรื่องของพ.ร.ก. เวลาที่จะต่ออายุกันทุกๆ 3 เดือน และวันนี้ก็กลายเป็นความรู้สึกที่บอกว่า ถ้าเหตุการณ์ยังไม่สงบก็ต่อไป แทนที่จะไปประเมินว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้น พ.ร.ก.ไปช่วยแก้แค่ไหนหรือไปช่วยเพิ่มความสงบในบางแง่มุมหรือเปล่า


 


เหมือนกับเวลาที่เราได้ยินจุดที่เป็น ถือว่าเป็นจุดใหม่ของ พ.ร.ก.ก็คือ "การเชิญ" ขอใช้คำนี้ก็แล้วกันหมายความว่า ไปควบคุมตัวได้ ไม่ได้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่มาตรฐานเดิม ซึ่งก็มีข้อดีคือ ดีกว่าอุ้ม แต่ว่าขณะเดียวกันผลที่ออกมาก็มีทั้งบวกและลบ แต่แน่นอนที่สุดบทบัญญัติใน พ.ร.ก.หลายมาตราซึ่งเราไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น เพราะเราคิดว่า ไปเพิ่มความหวาดระแวงในเรื่องของการใช้อำนาจ อำนาจบางอย่างไม่ควรจะมี การไปยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในลักษณะกว้างขวางจนเกินไป แต่ว่า ไม่ว่ากฎหมาย ไม่ว่ากลไกจะเคลื่อนอย่างไร ประเด็นหลักของเราในเชิงนโยบายที่จะนำสันติสุขกลับมานั้น หมุนอยู่กับเรื่องความยุติธรรม เพราะเราเชื่อว่า คนในพื้นที่ต้องการความสันติสุข แต่ที่มันไม่มีความสันติสุข เพราะมันเกิดจากความไม่เป็นธรรมขึ้น มันจึงเกิดปฏิกิริยาตอบโต้กันไปกันมาไม่จบไม่สิ้น


 


ซึ่งความยุติธรรมตรงนี้ต้องมาจากการบริหาร จากนโยบายที่จะต้องมีการพิสูจน์ ผมยกตัวอย่างว่า การบริหารนโยบายที่ชัดเจนหมายความว่า เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องปฏิบัติตาม ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม ยังคงไปใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง มันก็มีผลที่ออกมาชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่คนนั้นรับผิดชอบอย่างไร


 


แต่ว่าที่ผ่านมามีการวิจารณ์ว่า มีการไปทำอะไรไม่ถูกไม่ต้องเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะแต่เหตุการณ์ใหญ่ๆที่เป็นข่าว แต่เหตุการณ์เล็กๆ ที่มีการซุบซิบในหมู่บ้าน ก็ยังไม่เคยมีการปรากฏว่า มีกรณีที่มีการรับผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้าไปกระทำ โดยเฉพาะของภาครัฐอย่างนี้มันต้องชัด


 


ขณะเดียวกันเรามองหลายเรื่องที่ถูกยกขึ้นมาว่าเป็นปัญหา เช่น ความง่ายของการข้ามแดน เช่นเรื่องของปัญหาของความหลากหลายในเรื่องของเชื้อ ชาติ ศาสนา ภูมิหลังการศึกษาอะไรต่างๆ ของเหล่านี้ ผมกลับมองว่า ทำไมไม่มองสวนให้เป็นโอกาส ที่จริงถ้าเราส่งเสริมการค้าชายแดนให้มันเสรีมากขึ้น บางทีอาจจะช่วยตัดวงจรผลประโยชน์บางอย่างได้ด้วย บางที่อาจจะเป็นตัวที่เพิ่มโอกาสกับคนของเราได้มากขึ้น บางเป็นการเพิ่มความเข้าใจความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศได้มากขึ้นอย่างนี้เป็นต้น


 


รวมไปถึงเรื่องสถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนศึกษากับการศึกษาสายสามัญ รัฐก็มีหน้าที่ที่จะส่งเสริม โดยรักษาอัตลักษณ์ของเขา ของแต่ละส่วน แต่ว่าให้ทั้ง 2 ส่วน ตอบสนองได้ในเรื่องของเป้าหมายในเรื่องของความรู้ความสามารถในการไปประกอบอาชีพและจริยธรรม


 


เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า แทนจะไปพยายามมองว่าตรงนั้นเป็นปัญหาหรือเปล่าตรงนี้เป็นปัญหาหรือเปล่า ควรที่จะเปลี่ยนของเหล่านี้ให้เป็นโอกาสมากกว่าในการที่ผลักดันสิ่งดีๆให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าที่จริงแล้วถ้าตัดไม่คิดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ถ้ามาไล่เรียงจริงๆว่าจุดแข็งของพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง มันเยอะมาก ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทุนวัฒนธรรม ทั้งอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของคน เพราะว่า มันถูกบดบังด้วยความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้น และวันนี้ชาวบ้านคนหนึ่งพูดดีมากว่า คนในพื้นที่ไม่ได้มีความขัดแย้ง แต่คนที่มีอำนาจเอาความขัดแย้งมาให้เรา


 


สิ่งที่ทางพรรคเสนอเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า เขตปกครองพิเศษมากน้อยแค่ไหน


ผมคิดว่า เราไม่ไปติดใจในเรื่องของการจะไปเรียกรูปแบบ เพราะว่า เดี๋ยวจะไปสับสน ขนาดสนามบินแห่งเดียวยังสับสนยังวุ่นวายอยู่เลยว่า จะเรียกอะไร ระหว่างจังหวัดหรือเศรษฐกิจพิเศษ


 


สำคัญอยู่ตรงนี้ว่า กระบวนการบริหารมันมีความแตกต่างไปจากพื้นที่อื่น ตรงที่มันมีความยอมรับความหลากหลายและความอยู่ร่วม ซึ่งศอ.บต.เดิมก็ตอบสนองเป้าหมายนั้น วันนี้จะเป็นศอ.บต. บวก หรืออะไรก็แล้วแต่ก็ต้องมุ่งตรงนี้


 


ถามว่ามันพิเศษไหม มันก็คงตอบว่า มันต้องพิเศษเพราะมันไม่เหมือนที่อื่น แต่ว่า มันไม่ใช่ต้องมาบอกว่า ที่ตรงนี้เป็นเขตปกครองพิเศษ เป็นอะไร เดี๋ยวจะเกิดความรู้สึก ความไม่เข้าใจก็จะวุ่นวายไปกันใหญ่


 


ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์คล้ายคลึงกับข้อเสนอของกอส. ซึ่งมองการแก้ไขปัญหาระยะกลาง และระยะยาว แต่กับความรุนแรงระยะสั้น เราจะทำอย่างไร


คือมันแยกกันไม่ออกคือ ถ้าเราไปบอกว่าแนวคิดจะเป็นของพรรค หรือ กอส. ระยะกลาง ระยะยาว ต้องเป็นอย่างนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่ว่า ในเหตุการณ์เฉพาะหน้าต้องแก้กันไป บางทีการบอกว่า ต้องแก้กันไปคือ ไม่ทำให้สอดคล้องกับทิศทางที่เป็นระยะยาว


 


ผมยกตัวอย่างว่า ทุกอย่างมันต้องเชื่อมโยงกันหมด เช่นมันมีการเสนอให้มีหน่วยพิเศษที่จะเข้าไปป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งที่ยังพอบริหารจัดการได้ ให้ลุกลามออกไป ที่เรียกกันว่า สันติเสนา ถูกต้องไหมถูกต้อง แต่ถามว่า ถ้าความหวาดระแวงยังมีอยู่มาก หน่วยสันติเสนาก็อาจจะถูกมองไปในทางที่ผิดก็ได้ เพราะว่ามันเคยมีหน่วยงานที่ชื่อคล้ายๆ กัน ซึ่งเคยสร้างปัญหามาอย่างนี้เป็นต้น เราก็ต้องเดินให้มันสอดคล้องกัน


 


ซึ่งจริงๆ แล้วในสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมบอกก็คือ ว่าทำอย่างไรที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาก่อน ตัดวงจรก่อนว่า ไม่มีแล้วนะต่อไปนี้การใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม และเหมือนกับที่ผมไปมา หรือมาที่นี่ทุกครั้ง ชาวบ้านก็จะบอกว่า ถ้าทำผิดจริงก็ให้มาจับเอาไปสอบสวนขึ้นศาลตามกระบวนการยุติธรรม วันนี้มีคนพูดขึ้นมาว่า ให้ประหารชีวิตเขาก็จะไม่ว่าอะไร ขอให้จับตัวจริงและได้รับสิทธิในการที่จะสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม และถ้าเกิดว่าผิดจริงก็จะไม่ว่าเลย


 


แต่ที่รับไม่ได้คือ เหวี่ยงแห จับไปก่อนทำตัวเลข ที่ซ้ำเติมปัญหาก็คือ การคิดอะไรง่ายๆ เฉพาะหน้า เช่นปัญหาการว่างงานเป็นปัญหา ไม่เป็นไรก็จ้างกันไปเลยคนละ 4,500 แล้วทำอะไร และเงินก็ไม่ได้มีอย่างนี้ตลอดไป และไปป่วนตลาดแรงงานด้วย คือว่าบางคนมีอาชีพ มีผลผลิตอยู่เงินเดือนไม่ถึง 4 พันกว่ามาอยู่ตรงนี้แทน ซึ่งตรงนี้เราต้องคิดให้มันครบและต้องมีกระบวนการทำให้มีความสอดคล้องกัน ผมคิดว่ามันไม่ได้ยาก ผมไม่เชื่อหรอกว่า มีคนที่ไหนไม่ต้องการความสันติสุข


 


ในแง่ของข้อเสนอของกอส.ให้รัฐบาลออกเป็นพระราชบัญญัติดับไฟใต้ถือว่า เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุด


คือจริงๆ แล้วสิ่งที่จะทำแต่ไม่จำเป็นที่จะต้องออกพ.ร.บ. แต่ว่าไม่ควรที่จะรอพ.ร.บ.แล้วถึงทำ ผมคิดว่าสิ่งที่ทำได้ แล้วประชาธิปัตย์เข้าไปเป็นรัฐบาล เสาหลักในเรื่องของศูนย์ยุทธศาสตร์และนโยบาย สภาพัฒนาฯ กองทุนสมานฉันท์ เยียวยาอะไรต่างๆ ใช้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าไปก่อน แต่ที่อยากให้กฎหมายก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะมีความต่อเนื่อง และก็จะมีการกำหนดกรอบการทำงานบางอย่างซึ่งจะไม่มีใครมาบิดมาเบี้ยวมัน มาเปลี่ยนมัน หรือมายกเลิกมันได้ตามความชอบ อย่างน้อยพอเป็นกฎหมายเรียบร้อย จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเอามาแก้ไขกฎหมาย แต่ไม่ใช่ว่า รอกฎหมายจนกว่าผ่านสภาฯแล้วประกาศใช้แล้วจะมาทำของพวกนี้ ผมคิดว่ามันต้องตั้งได้เลย เพียงแต่ว่า เอากฎหมายมารับอีกทีหนึ่ง ก็เพื่อความมั่นคงของมัน


 


ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเข้าไปแก้ไขข้อบกพร่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


ผมคิดว่า บางมาตราที่เราทักท้วงไว้ตั้งแต่วันประกาศออกมาก็ควรเสนอแก้ไขได้เลย คือ ต้องแยกระหว่างการแก้หรือการเลิกกฎหมาย กับการแก้หรือการเลิกการบังคับใช้ เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้มันจะบังคับใช้มันก็ต้องมีการประกาศเป็นเวลา 3 เดือน และในส่วนของการบังคับใช้ สิ่งที่ผมคิดก็คือ การประเมิน ประเมินให้เป็นรูปธรรมไปเลยว่า มาตรการไหนใช้แล้วมันเป็นการช่วย มาตรการไปไหนไม่ได้ช่วยหรือไปสร้างปัญหาเพิ่มเติม ดังนั้นก็จะไม่ให้รู้สึกว่าครบ 3 เดือนก็เพียงแต่เป็นพิธีการ พิธีกรรมว่า เอาเรื่องเข้าครม. จากกรรมการชุดที่มีในกฎหมายที่บอกกันว่า เหตุการณ์ยังไม่สงบ ต้องใช้ ก็ต่อไปอีก 3 เดือน


 


เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าถามทางรัฐบาลเขาก็จะบอกว่า เขาประสบผลสำเร็จถ้าดูจากสถิติตัวเลขของคดี


คือ สถิติจะหยิบตัวไหนขึ้นมาก็ได้ แล้วแต่จะวัดแล้วแต่จะนำเสนอมุมไหน แต่ผมว่า คนในพื้นที่จะเป็นคนตอบเองว่า เขามีความมั่นใจในความปลอดภัยของเขาบ้างไหม เขามีความรู้สึกว่าวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันเหมือนกับสมัยก่อนๆ มันกลับมาแล้วยัง เขาจะตอบได้ ซึ่งเราไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องตัวเลขเลย ไม่ต้องมาหลอกตัวเองหรือหลอกคนอื่นๆ แค่เอาตัวนี้เป็นตัวตั้งว่า วิถีชีวิตกลับเข้าสู่ภาวะที่คนมีความมั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง มีความรู้สึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในชุมชนกลับไปเป็นเหมือนเดิมแล้วยัง ตัวนี้คือ ตัววัดความสำเร็จ


 


ถ้าเรามองว่า ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้ของกอส.เป็นข้อเสนอกลาง ถือเป็นวาระแห่งชาติสำหรับพรรคการเมืองในการเลือกตั้งสมัยหน้า ในประเด็นดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์จะหารือกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกัน


คือเรายังไม่บังอาจที่จะต้องบอกว่า พรรคนั้นต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราเชื่อว่านี่เป็นคำตอบ และเราก็จะเสนอ เราก็จะเรียกร้องว่า ใครเป็นรัฐบาลก็แล้ว แต่ขอให้ฟังและเคารพเสียงของประชาชน เหมือน 1 ปีที่ผ่านมา เราก็เคยหวังว่า รัฐบาลน่าจะฟังพวกเราบ้าง เพราะอย่างน้อยที่สุดผลของการเลือกตั้งในพื้นที่ตรงนี้ก็สวนกระแสกับผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ รัฐบาลก็น่าที่จะฟังเราบ้าง


 


ที่ผ่านมา เราก็พยายามระมัดระวังไม่เอาเรื่องนี้ไปเป็นปัญหาการช่วงชิงทางการเมือง ผมอภิปรายในสภาทุกครั้งระมัดระวัง และให้ท่านไตรรงค์(สุวรรณคีรี) พา ส.ส. ไปพบนายก แต่ก็เสียดายเท่านั้นเองว่า นายกฯไม่ได้ฟัง ไม่ได้เชื่อใจในสิ่งที่พวกเราพยายามจะนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ก็จะมาน้อยใจไม่ได้ เพราะผมคิดว่า กอส.ก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีกว่ากันเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลเป็นคนตั้งขึ้นมาเอง


 


ในแง่ต่างประเทศ กรณีปัญหาไฟใต้สร้างปัญหาในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพอสมควร


ใช่ครับ แต่ว่ามันต้องมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือเราจะปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดี ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนบ้าน มันง่าย สิ่งที่ผมบอก ที่ผมยกตัวอย่างเรื่องการค้าชายแดนเป็นตัวนำ และที่สำคัญคือ เรื่องของความให้เกียรติซึ่งกันและกัน



ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา บางทีเกิดจากเรื่องที่ไม่ควรเกิด อยู่ดีๆ ก็ไปตะโกนตำหนิกันข้ามพรมแดน โดยที่ มันไม่ใช่วิธีทางการทูตที่พึงจะปฏิบัติเลย


 


ขณะเดียวกันในส่วนของโลกมุสลิม ผมว่า มันไม่มีอะไร นอกเหนือการเผชิญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ตามความเป็นจริงที่จะทำให้เขามายอมรับคำอธิบายแก้ไขปัญหาของเรา เพราะว่า ถ้าเราดูในเวทีต่างๆ ประเทศเหล่านี้ก็ถามในสิ่งที่พวกเรารู้ๆ กันอยู่ 3-4 เหตุการณ์ เขาก็ติดใจปัญหาตรงนั้น เพราะเราไม่เคยมีไม่มีความคืบหน้าในการที่จะทำให้เขารู้ว่า ความจริงคืออะไร เราจะแก้ไขอย่างไร และใครจะเป็นคนรับผิดชอบ


 


เชื่อว่าน่าจะคลี่คลายปัญหาได้


ผมว่าถ้ายึดความจริงกับความยุติธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศปัญหาทุกอย่างมันคลี่คลายได้ ที่จริงไม่ใช่สมัยรัฐบาลนี้ ความร่วมมือหรือการแสวงความร่วมมือกับต่างประเทศมันค่อนข้างมีอยู่ แต่เขาไม่มาป่าวประกาศกัน เราก็ต้องเข้าใจว่า สมมติว่าขอความร่วมมือเขาให้ส่งตัวคนมา ก็ต้องคิดถึงเขาในแง่ของการเมืองภายในของเขา แต่ถ้าเกิดเขาทำได้เงียบๆ ร่วมมือกันแก้ปัญหา ไม่มีใครมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเขาส่งมา แล้วเราไปป่าวประกาศ ก็เป็นสร้างปัญหาให้เขา แล้วทำไมเขาจะต้องมาช่วยเรา อันนี้คือ ความแตกต่างการทำงานระหว่างรับบาลชุดก่อนๆ ไม่ได้พูดถึง ปชป.และรัฐบาลหลายๆ ชุด กับรัฐบาลปัจจุบัน


 


พรรคประชาธิปัตย์วิเคราะห์ปัญหาภาคใต้ ที่มันลุกลามขึ้นมามากส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลปัจจุบัน


เป็นเรื่องนโยบาย คงไม่ใช่นโยบายอย่างเดียวหรอก แน่นอนเชื้อของปัญหามันมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน แต่ว่า นโยบายเป็นตัวซ้ำเติมค่อนข้างมาก


 


นักวิชาการหลายคน วิเคราะห์ว่า ปัญหาภาคใต้นั้นเลยจุดวกกลับแล้ว


ถูกต้องในแง่ที่ว่า สมมติว่าใครบอกว่าสถานการณ์ราวปี 43-44 ดีมาก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราใช้นโยบายโครงสร้างที่มีอยู่ในขณะนั้นก็จะกลับไปสู่จุดเดิม ผมว่าคงยาก แต่อย่างที่ผมบอกก็คือว่า มันต้องมีแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะ กรอบหลักๆ ที่ผมพูดไปก็ส่วนหนึ่ง แต่มีนโยบายเฉพาะอีกหลายอย่างด้วยที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ ความไว้ใจว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนที่นี่


 


เพราะฉะนั้นในแง่ที่เราจะมาส่งเสริมความเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่ปัตตานีก็ดี การตอบสนองเกี่ยวกับในเรื่องของวิถีชีวิตของชาวมุสลิม กองทุนฮัจย์ ซากาด หรือว่าเรื่องของศาลซารีอ๊ะ อะไรต่างๆ นี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งการสนับสนุนในเรื่องของการศึกษา การมาดูเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจ เรื่องความร่วมมือ 3 ฝ่ายที่เคยเริ่มเอาไว้เรื่องของประมง ถ้าผลักดันอย่างจริงจัง หรือแม้กระทั่งอาหารฮาลาลซึ่งพูดกันมากแต่ในที่สุดก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้ามาทำตรงนี้ให้เกิดความมั่นใจ ในความจริงใจว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมคิดว่า มันก็จะค่อยๆคลี่คลายไป แต่ว่าเราไม่มีความเชื่อเลยว่า ปัญหาจะแก้ได้เร็วหรือง่าย


 


คิดอย่างไรเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพรรคมุสลิมซึ่งประกาศตัวเป็นพรรคทางเลือกใหม่ของคน 3 จังหวัด


การแข่งขันในทางการเมืองเป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นการมีทางเลือกเพิ่มขึ้นก็ดีทั้งสิ้น ผมมี 2 ประเด็น 1 เป็นมุมมอง 2 ก็เป็นคำเตือน ส่วนของคำเตือน ก็คือว่า อย่าไปสร้างองค์กรทางการเมืองที่จะไปเกิดความตอกย้ำทางความขัดแย้ง ไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น


 


ส่วนมุมมอง ผมก็จะย้ำอีกอย่างก็คือว่า ความสำเร็จในการที่จะแก้ปัญหา จริงๆ แล้วต้องระดมคนทั้งประเทศ ผมไม่ได้คิดว่าปัญหามันจะขาดกลไกอะไรตรงนี้ เพราะว่าสิ่งที่จะหนุนช่วยมาตรการหรือนโยบายทั้งหลายสำเร็จได้คือความเข้าใจของคนนอกพื้นที่ด้วย เพราะฉะนั้นในส่วนของพรรค เราก็มองว่าพรรคมีตรงนี้ แต่ในส่วนของพรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เขาก็อาจจะลองลึกในบางเรื่อง แต่เขาอาจจะขาดตรงนี้ไปค่อนข้างมากในการที่จะมาช่วยผลักดันสิ่งต่างๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net