Skip to main content
sharethis
บ่อยครั้งที่เรานั่งกดรีโมททีวีไปมาระหว่างช่องนั้นช่องนี้แบบไร้จุดหมาย (และความหวัง) จนบางทีการปิดทีวีอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะอย่างน้อยยังได้ประหยัดค่าไฟฟ้า 
 
บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนรอบข้างบ่นว่า "ไม่มีอะไรดู" ทั้งที่รายการต่างๆ เข้าคิวออกอากาศตามสถานีต่างๆ ไม่มีเว้นวรรค
 
บ่อยครั้งที่พบไอ้ตัวเล็กตื่นมาดูการ์ตูนตั้งแต่เช้ายันเที่ยง โดยที่รายการเหล่านั้นเต็มไปด้วยโฆษณาขนมหลอกเด็ก แล้วเราก็ปล่อยให้มันนั่งดูไปอย่างนั้น เพราะดีกว่าให้มันมาเล่นซนน่าปวดหัว
 
เราอยู่ในสภาพนี้มายาวนานจนหลายคนจินตนาการไม่ออก ที่จะเห็นตัวเองมีโอกาสดูรายการดีๆ มีประโยชน์หรือข่าวสารข้อมูลเข้มข้น เผ็ดร้อน ไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมจากสถานีโทรทัศน์สักช่อง
 
แต่ "สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่งทีดีอาร์ไอ" บอกเสียงดังฟังชัดว่า เป็นไปได้!!!! และกำลังตั้งทีมศึกษาสูตรต่างๆ อยู่อย่างขะมักเขม้น ท่ามกลางขบวนการทวงคืน "ไอทีวี" ที่เป็นไปอย่างคึกคักไม่แพ้กัน
 
ขาลงของ "ไอทีวี" และรัฐบาล จึงดูเหมือนเป็นขาขึ้นของภาคประชาชนที่จะขอคืนสถานีโทรทัศน์ที่ครั้งหนึ่งตั้งมั่นจะเป็นทีวีเสรี เพื่อข่าวสารสาระ (แต่ดูเหมือนมันได้กลายพันธุ์ไปไกลแล้ว) ให้สามารถดำรงอุดมคตินั้นได้อีกครั้ง
 
วันนี้ "ประชาไท" จะพาไปพูดคุยกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กันให้ชัดๆ ว่า "เป็นไปได้" นั้นเป็นอย่างไร และต้องฝ่าฝันขวากหนามอะไรกันบ้าง
 
0 0 0
 
Concept ของ ทีวีสาธารณะ public broadcasting service คืออะไร
สื่อเป็นยังไง ประเทศก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ล้วนๆ แบบอเมริกา สังคมก็เป็นสังคมบริโภคนิยมได้ง่าย เพราะสื่อโฆษณาสินค้าชักชวนให้คนบริโภคเยอะ ถ้าเป็นสื่อของรัฐ สังคมก็ถูกกดขี่ ถูกปิดหูปิดตา เหมือนกับสื่อในประเทศสังคมนิยมเก่า
 
ประเทศไทยมีสื่อ 2 แบบนี้อยู่ แต่ไม่มีสื่ออื่นเลย ที่จะทำให้คนฉลาดขึ้น ไม่ถูกปิดหูปิดตา สร้างความรู้ สร้างสติปัญญา สร้างคุณค่าที่ดีในสังคม ซึ่งไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการตลาด แต่ความต้องการตลาดไม่ใช่ของเสียหายเสมอไป แต่ถ้ามีแต่สื่อพาณิชย์หมด มันมีของหลายอย่างที่ตลาดจะไม่สร้างขึ้นมา จึงต้องมีของที่อยู่นอกตลาด ก็คือ สื่อสาธารณะ และต้องไม่ใช่ของสื่อรัฐ ไม่อย่างนั้นก็มาปิดหูปิดตาอีก
 
นี่คือความคิดตรงไปตรงมา ง่ายๆ ว่า สื่อที่สาธารณะเป็นเจ้าของ จัดการโดยสาธารณะมีส่วนร่วม ตัวอย่างรูปธรรมมีเยอะแยะทั่วโลก ที่เด่นชัดหน่อยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว อังกฤษก็มี BBC ที่รู้จักกันดี ประเทศในภาคพื้นที่ทวีปยุโรปมีทีวีสาธารณะเกือบทุกประเทศ ในเอเชียก็มี NHK ของญี่ปุ่น ABC ของออสเตรเลีย นี่เป็นตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
 
สื่อสาธารณะที่สาธารณะเป็นเจ้าของ แปลว่าอะไร ต้องให้มหาชนถือหุ้นใหญ่หรือ
สาธารณะเป็นเจ้าของ หมายความว่า สื่อต้องตอบสนองสาธารณะ แต่การบริหารจัดการก็ต้องใช้มืออาชีพ เข้ามาช่วยภายใต้การกำกับดูแลของกลไกสาธารณะ รัฐก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของสาธารณะ เป็นเครื่องมือหนึ่งของสังคม เงินของรัฐมาจากไหน ไม่ใช่เงินของคุณทักษิณหรือของใคร เป็นเงินที่ได้จากภาษีเป็นส่วนใหญ่ ก็คือเงินสาธารณะอยู่แล้ว การอุดหนุนผ่านรัฐก็มีทำกันโดยทั่วไป กรณีของ ABC ก็ชัดเจนว่ารัฐสภาต้องจัดสรรเงินให้กับ ABCให้เพียงพอกับการดำเนินการ แล้วมันก็มีสูตรอีกหลายสูตรที่เอาเงินมาจากสาธารณะด้วยวิธีอื่นก็ได้ วิธีหนึ่งที่ทำกันในอังกฤษก็คือเก็บค่าดูจากคนดู ญี่ปุ่นก็มีวิธีคล้ายๆ กับ BBC คือ เก็บเงินจากคนดู แต่ในอังกฤษมีกฎหมายชัดเจนว่า คนดูต้องจ่ายสตางค์ ขณะที่ญี่ปุ่นทำโดยสมัครใจ แต่สังคมญี่ปุ่นมีความพิเศษ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันค่อนข้างเยอะ ไม่ได้แปลว่าสูตรนี้ทำที่ไหนก็ทำได้
 
สูตรเก็บเงินเพื่อสร้างสื่อสาธารณะที่หลายคนเสนอทำได้ยากในเมืองไทย เป็นอุดมคติมากเกินไป ทำแล้วจะเจ๊ง ผมคิดว่าประเทศไทยมีทรัพยากรเยอะ เพราะประเทศไทยเติบโตจากการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2503 (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ประเทศไทยเติบโตเยอะ เงินระดับ 1,000-2,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นเศษเงินแล้วในยุคปัจจุบัน เพราะรัฐบาลสามารถทำโครงการขนาดใหญ่ได้
 
ฉะนั้น เงินระดับพันล้านไม่ใช่เรื่องเพ้อฟันของเมืองไทย ถ้ามี political commitment นี่ก็ทำได้อยู่แล้ว และเงินตรงนี้ก็ไม่ใช่เงินของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นเงินภาษี เป็นเงินสาธารณะ
 
มันจะมีหลักประกันความเป็นอิสระ หรือมีกลไกอะไรมาประกันว่าจะไม่ถูกรัฐครอบงำ
อิสระขององค์กรต่างๆ มี 2-3 องค์กรประกอบคือ 1. อิสระในเรื่องการเงิน 2.อิสระในเรื่องของคน 3. อิสระด้านการบริหารจัดการ
 
อิสระในเรื่องการเงิน คือ ไม่ต้องคอยห่วงว่าจะต้องไปขอเงินใคร ถ้าต้องห่วงกับการไปขอเงินใครทุกปีๆ ก็จบกัน ถ้าไม่มีอิสระทางการเงินก็ไม่มีโอกาสที่จะมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างมืออาชีพได้ ฉะนั้น อิสระทางการเงินต้องมาก่อนเลย
 
ถ้าจะเอาเงินมาจากรัฐก็ต้องมีหลักประกันชัดเจนว่าได้เงินแน่ ยกตัวอย่าง มีหน่วยงานที่มีอิสระทางการเงิน แม้ว่าจะไม่ใช่หน่วยงานอิสระจริงๆ เช่น สสส. กฎหมายบอกว่าภาษีจากบุหรี่ จากเหล้า จัดเก็บแล้วส่ง สสส.เอาเข้ากองทุน ไม่ใช่เอาไปให้รัฐ แล้วรอรัฐจัดสรรว่าจะเมตตาปีละเท่าไร ถ้าเป็นอย่างนั้น สสส.ก็จะไม่อิสระในเรื่องการเงิน
 
องค์กรสื่อสาธารณะเหมือนกัน กำหนดได้ว่างบประมาณที่ควรจะต้องใช้ในระดับที่เหมาะสมเป็นเท่าไร ทำการศึกษาแล้วก็จะบอกได้ เช่น ปีหนึ่ง 2,000 ล้าน แต่ปีต่อไปค่ามันจะลดลงเพราะเงินมันเฟ้อ เราก็ต้องเขียนในกฎหมายว่า รัฐต้องจัดสรรให้เงินปีละไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท และให้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ อย่างนี้จะมีหลักประกันแน่นอนว่า ปีนี้มา 2,000 ล้าน ปีหน้ามาเงินเฟ้อขึ้น 10% ก็จะได้ 2,200 ล้าน
 
อิสระทางบุคคล คือ คนที่เป็นนักข่าว เป็นคนผลิตรายการ เป็นฝ่ายบริหารจัดการที่เป็นพนักงานขององค์กรอย่างนี้ ไม่ใช่ถูกแต่งตั้งโยกย้ายง่ายๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมนตรีชอบใครไม่ชอบใคร มันต้องมีวาระแน่นอน มีกลไกประเมินผลงานแน่นอน ถ้าจะเอาเข้าเอาออกต้องไม่ใช่ตามอำเภอใจของใคร ต้องมีกระบวนการ ตรวจสอบ ประเมินผลงาน โดยมีกระบวนการสาธารณะเข้ามาเกี่ยวเพื่อดูว่าคนนี้ทำงานได้หรือไม่
 
อิสระทางองค์กร คือ ฐานะขององค์กรต้องเป็นอิสระชัดเจน องค์กรแบบไหนที่ไม่ใช่องค์กรอิสระแล้วคนชอบเข้าใจผิดคิดว่าเป็นองค์กรอิสระ ยกตัวอย่างเช่น องค์กรมหาชน ถ้าทำ public broadcasting ให้ทำเป็นองค์กรมหาชน องค์กรมหาชนถ้าไปอ่านพระราชบัญญัติดูจะพบว่ารัฐมนตรีเป็นประธาน แค่นี้คุณก็จบแล้ว มันต้องมีกระบวนการสรรหากรรมการที่จะมากำกับดูแลหน่วยงานที่มีขั้นตอนชัดเจน และอำนาจของกรรมการต้องแบ่งให้ชัดกับอำนาจของฝ่ายบริหาร กรรมการจะเข้าไปแทรกแซงฝ่ายบริหารไม่ได้ ฝ่ายบริหารก็เช่น ฝ่ายบรรณาธิการ ส่วนกรรมการจะเป็นระดับนโยบาย คอยกำหนดทิศทางโดยรวม ผังรายการควรเป็นสัดส่วนเท่าไร อย่างไร รายการไหนที่สังคมขาดแล้วต้องทำ แล้วฝ่ายข่าว ฝ่ายบรรณาธิการ ฝ่ายรายการก็ทำให้ได้ตามนั้น
 
ทั้งหมดที่พูดมาต้องมีการร่างกฎหมาย
ต้องมี เพราะว่าโครงสร้างปัจจุบันมันทำไม่ได้ จู่ๆ จะไปบอกสำนักงบประมาณจัดสรรเงินมาปีละ 2,000 ล้านทำไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมาย และกฎหมายนั้นจะต้องกำหนดความชัดเจนเรื่องเงิน บุคลากร โครงสร้างการกำกับดูแล การประเมินผล เรื่องอะไรต่างๆ  บีบีซีหรืออื่นๆ ก็มีกฎหมายอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ พิสดารที่เป็นไปไม่ได้
 
เห็นว่าอาจารย์ตั้งทีมศึกษา financial model (รูปแบบทางการเงิน) ของทีวีสาธารณะอยู่
กำลังศึกษาอยู่ เราจะมาดูว่ามีวิธีทำทีวีสาธารณะได้กี่วิธี มันมีหลายสูตร อันหนึ่งที่คนสนใจคือ การเอาไอทีวีกลับคืนมา แต่เราก็ไม่ได้ปิดว่าต้องเป็นสูตรนี้สูตรเดียว มันมีสูตรอื่นอีก เช่น  ทำช่อง 11 ซึ่งเป็นของรัฐอยู่แล้วให้กลายเป็นของสาธารณะ ซึ่งไม่น่าจะยากมาก ถ้ามีความมุ่งมั่นทางการเมือง แต่ตอนนี้มันไปอีกทางหนึ่ง
 
ง่ายกว่ากรณีของไอทีวีหรือเปล่า
เดี๋ยวผลการศึกษาจะบอกว่า เรื่องเงิน แบบไหนง่ายกว่ากัน ต้องลงทุนใหม่หรือไม่ เรื่องการเมือง อะไรยากกว่ากัน ต้องออกกฎหมายใหม่หรือไม่ แบบไหน
 
อีกช่องทางคือ การทำช่อง 9 ให้เป็นทีวีสาธารณะ ซึ่งจะยากกว่านิดหนึ่ง เพราะเข้าสู่ตลาดหุ้นแล้ว ถ้าจะทำก็ต้องเอาออกมาจากตลาดหุ้น เพราะภารกิจไม่เหมือนกัน ถ้าจะทำสื่อสาธารณะ มันจะไปขึ้นกับผลตอบแทนการลงทุนไม่ได้ แต่ตอนนี้ช่อง 9 ต้องทำเพื่อนักลงทุนแล้ว หน้าที่ของเขาคือต้องสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนสูงสุด
 
นอกจากนี้ก็อาจดูได้อีกว่า จะเปิดยูเอชเอฟช่องใหม่หรือเปล่า มันก็มีคลื่นเหลืออยู่ แต่อย่างนี้ก็จะต้องรอ กสช. มันก็มีปัญหาของใครของมัน แต่ละอันมีความยากความง่ายต่างกัน
 
หรือจะไม่เอาฟรีทีวีมาเป็นทีวีสาธารณะ แต่ไปแขวนอยู่กับเคเบิล ทำไอทีทีวี หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ เอ็มเอ็มดีเอส แบบที่ทีทีวีทำอยู่ หรือใช้ทีวีผ่านดาวเทียมแบบที่ เอเอสทีวีทำอยู่
 
สรุปง่ายๆ ว่า กลุ่มที่หนึ่งคือเอาฟรีทีวี หรือทีวีภาคพื้นดิน ยูเอชเอฟ วีเอชเอฟ มาทำ โดยแปลงของเก่า หรือตั้งของใหม่  กลุ่มที่สองคือ เอาเทคโนโลยีทางเลือก จะเป็นดาวเทียม อินเตอร์เน็ต เคเบิล เอ็มเอ็มดีเอส มาทำทีวีสาธารณะ
 
แต่ถ้า 2 แบบนี้ไปไม่ได้ เงินไม่พอ หรือด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ สูตรที่ 3 ก็คือ ไม่ต้องมีสถานีใหม่ แต่ว่าให้รายการที่ดีเข้าสู่สถานีปัจจุบันได้มากขึ้น ก็เป็นทางเลือกรอง แต่ทางเลือกหลัก เราอยากจะมีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นทีวีสาธารณะจริงๆ เพราะถ้าเป็นรายการแฝงตามที่ต่างๆ มันไม่มีความมั่นคง ปรับผังรายการไตรมาสต่อไปอาจจะถูกถอด และมันสร้าง identity (อัตลักษณ์) ไม่ได้ หมายความว่า คนมาเปิดช่องนี้แล้ว คาดหวังได้ว่าจะดูอะไร ถ้ามันเป็นเพียงรายการรายการเดียว เวลาไม่แน่นอนมันก็ลำบาก พูดง่ายๆ ว่ามันสร้าง brand ไม่ได้ ดูอย่างแกรมมี่ทำรายการวิทยุ ตอนแรกซื้อเฉพาะบางรายการแล้วมาทำ ตอนหลังเขาซื้อทั้งสถานีเลยแล้วมาทำให้เป็น formatหมายความว่า ช่องนี้มีบุคลิกเลยว่าเป็นวัยรุ่น ช่องนั้นเป็นแบบนั้นแบบนี้ก็ว่ากันไป อย่างนี้จะชัด คนจะรู้ว่าช่องนี้คือช่องเด็กและครอบครัว ช่องนี้คือช่องการศึกษา ไม่ใช่เช้าเป็นแบบหนึ่ง เย็นเป็นแบบหนึ่ง
 
เราศึกษาด้านการเงินว่าแบบไหนใช้เงินมากหรือน้อย แน่นอน แบบไหนที่มันตั้งเป้าไว้สูง จะเอาทั้งสถานีมันก็ต้องใช้เงินเยอะกว่า นอกจากนี้ยังดูความเป็นไปได้ทางการเมือง ความเป็นไปได้ทางกฎหมายว่าต้องทำอะไร อย่างไร
 
สุดท้ายก็อาจจะไปถึงขั้นยกร่างกฎหมาย ทำตุ๊กตาให้เลยว่าต้องเป็นยังไง
 
จะเสร็จเมื่อไร
3 เดือน
 
เริ่มแล้วหรือยัง
เริ่มแล้ว อย่างไม่เป็นทางการ
 
จะสอดคล้องหรือเป็นขบวนการเดียวกับการล่า 50,000 ชื่อ เสนอกฎหมายไอทีวี ที่อาจารย์จอน (อึ๊งภากรณ์)  เสนอต่อสาธารณะไว้หรือเปล่า
ก็ได้คุยกันอยู่ จะเป็นกระบวนการเดียวกัน หรือคนละกระบวนการก็ได้ ถ้าอาจารย์จอนรีบจะเอาวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ผมก็ไม่มีให้ แต่ถ้าจังหวะมันพอดีกันก็โอเค และเราก็ดูอยู่ว่าแต่ละฝ่ายจะช่วยอะไรกันได้อย่างไร
 
พอจะยกตัวอย่างจากต่างประเทศแบบเต็มรูปแบบได้ไหม
มีเปเปอร์ที่ศึกษากันไว้เรียบร้อยแล้ว ความรู้พื้นฐานมีแล้ว ตัวอย่างแต่ละที่เป็นอย่างไร มีโครงสร้างการกำกับดูแลอย่างไรมีหมดแล้ว ทำมา 2-3 ปีแล้ว  (ตารางด้านล่าง)
 
แต่ในต่างประเทศกว่าเขาจะมีทีวีสาธารณะก็ต้องเตรียมตัวกันนาน
กว่าเขาจะตั้งตัวเองให้มีความเข้มแข็งมันต้องใช้เวลา แต่มันไม่ได้แปลว่าต้อง 60 ปีถึงจะเกิดได้ เกิดแล้วถ้าสูตรบริหารจัดการ ออกแบบองค์กรดี ก็ไปได้
 
ของเราไม่ใช่ไม่มีโอกาสเกิด เมื่อพฤษภาทมิฬปี 2536 มีโอกาสเกิดแล้วหนหนึ่งคือ ไอทีวี แต่มันกลายพันธุ์เพราะออกแบบไม่ดี เจตนารมณ์มีความมุ่งมั่นมากในสมัยรัฐบาลอานันท์ (ปันยารชุน) ต่อรัฐบาลชวน (หลีกภัย) แต่ออกแบบผิด
 
ไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อสาธารณะนะ เขาตั้งใจเป็นสถานีข่าวและสาระ ซึ่งส่วนหนึ่งมันมีลักษณะของความเป็นสาธารณะอยู่ แต่ว่าเอาไปผูกกับสถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ต้องไปหาโฆษณา และต้องไปประมูลสัมปทานแล้วจ่ายแพงๆ มันเป็นไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เสียดายโอกาสมากๆ โอกาสอย่างนี้ไม่ใช่ว่าทำได้ทุกปี อาจจะ 10 ปี 20 ปี ที่มีการเดินขบวน ไล่ผู้นำ แล้วมีการปฏิรูปการเมือง มันถึงจะเกิดขึ้นได้
 
แต่ปีหน้ามันอาจจะเกิดขึ้นอีก เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สัญญาณเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ของการเปลี่ยน กกต. ก็ชี้แล้วว่าทิศทางการเมืองมันไปสู่การปฏิรูป ก็ต้องเตรียมการบ้านไว้ ถ้ามีจังหวะ เราก็ต้องทำ และให้มันไปในทางที่ให้มันยั่งยืนได้
 
กรณีการเกิดขึ้นของไอทีวีน่าเสียดายตรงที่ว่า ไม่มีการเตรียมความรู้ไว้ก่อนว่า ทีวีที่ดีเพื่อประชาชนควรจะเป็นยังไง รัฐบาลมีความมุ่งมั่นทางการเมือง อยากให้ทีวีช่องหนึ่งเป็นสื่อที่อิสระจริงๆ แต่ว่าด้วยความที่ไม่ได้เตรียมความรู้ไว้ ถึงทำแล้วไม่สำเร็จ และนอกจากจะไม่สำเร็จแล้วยังก่อให้เกิดปัญหาวุ่นไปหมดในเวลานี้
 
ถ้าโยงกลับมา ณ สถานการณ์ตอนนี้ อาจารย์ประเมินความเป็นไปได้ของการทวงคืนไอทีวีว่าเป็นจริงได้แค่ไหน และอะไรเป็นตัวแปรสำคัญ
หน้าที่ผม ผมไม่ตอบว่าเป็นไปได้ขนาดไหน หน้าที่ผมคือทำการบ้านไว้ ถ้ามีจังหวะก็ใช้ ไม่มีจังหวะก็เก็บไว้ แต่ปีหน้าโอกาสมันเปิด เปิดได้หลายอย่าง
 
หรือแม้แต่ตอนนี้ ถ้าภาคประชาชนอยากจะได้ทีวีสาธารณะจริงๆ เอาไอเดียไปขายพรรคการเมืองสิ มันมีกระบวนอีกส่วนหนึ่งที่ผมจะไม่เข้าไปเกี่ยว เพราะมันไม่ใช่กระบวนการนักวิชาการแล้ว มันเป็นขบวนการภาคประชาชน เป็นขบวนการทางการเมืองแล้ว อยากจะผลักโจทย์ให้ภาคประชาสังคมเอาไปทำกัน ล่า 50,000 รายชื่อนี้ผมก็จะไม่เข้าไปเกี่ยว แต่ผมมีหน้าที่ทำการบ้านไว้ ให้ภาคประชาชนสานต่อไป
 
ถ้าภาคประชาชนจะเริ่มก้าว กรณีของไอทีวี จะต้องเริ่มจากตรงไหน ไปยังไง
เคสไอทีวี มันมีจังหวะของมันอยู่ คือมันมีเรื่องในศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดน่าจะตัดสินได้ไม่เกิน 2 เดือน เพราะได้ยื่นเรื่องไปพอสมควรแล้ว และผมคาดว่าคำตัดสินไม่น่าจะแตกต่างจากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง เพราะว่าอ่านสำนวนคำตัดสินแล้ว มีความหนักแน่น หักล้างได้ยาก จึงค่อนข้างมั่นใจว่าผลไม่จะแตกต่างกัน
 
ผลที่เกิดขึ้นทันที โดยไม่ต้องมีเรื่องอื่นเกี่ยวข้องเลยก็คือ ถ้าไอทีวีปรับผังรายการไม่ได้ ค่าสัมปทานลดไม่ได้ แค่สองเรื่องนี้ไอทีวีไปไม่ได้แล้วในทางธุรกิจ คือ ขาดทุน และจะขาดทุนต่อไปทุกปีๆ เพราะค่าสัมปทานจะเพิ่มขึ้น แล้วไอทีวีก็จะไม่มีช่องทางทำกำไรได้ง่ายๆ เลย เพราะข้อ 5 วรรค 4 ที่บอกว่าให้เรียกร้องค่าเสียหายได้ มันถือเป็นโมฆะไปแล้ว
 
เมื่อในทางการเงินอยู่ได้ยากมาก มันก็ต้องมีพยายามทำอะไร ผู้ถือหุ้นคงไม่อยากจะกอดบริษัทที่ขาดทุนแล้วเผาเงินไปทุกวันๆ ถึงคุณจะมีทรัพย์สินแค่ไหนก็ตาม แล้วยิ่งกรณีนี้เทมาเส็กพูดไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ไม่ต้องการครอบงำไอทีวี ซึ่งมีข้อพิสูจน์ชัดว่า รายงานไปยังคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.ตอนที่เข้ามาครอบงำกิจการชิน เขาได้ทำสิ่งที่เรียกว่า tender offer คือตั้งโต๊ะซื้อหุ้นของชิน และเอไอเอส แต่ไม่ตั้งโต๊ะซื้อไอทีวี เพราะว่าเขาไม่ต้องการไอทีวี ฉะนั้น แปลว่าเทมาเส็กเป็นเพียงเจ้าของชั่วคราว แล้วรอจังหวะเวลาที่จะขายหุ้นออกไป ยิ่งถือไว้นานยิ่งขาดทุน แล้วหุ้นก็ตกมาเยอะมากแล้ว ถ้าศาลปกครองตัดสินยืนปุ๊บมันจะตกลงอีกครั้งหนึ่ง มีโอกาสเปลี่ยนมือ
 
ทีนี้จะเปลี่ยนมือไปหาใคร ถ้าเปลี่ยนมือไปยังเอกชน เช่น ขายให้ค่ายเทปบางค่าย ก็เป็นไปได้ แต่ว่ากลุ่มพวกนั้นก็คงไม่อยากจะได้สถานีที่เป็นไปได้ยากในทางธุรกิจ และยังมีสูตรที่ อสมท.จะเข้ามาทำแทน ในทางการเมืองซีกหนึ่งมันดูง่าย เพราะถ้าเอาไปแล้วไปลดค่าสัมปทาน อาจจะโดนด่าน้อยกว่าหากเป็นค่ายเทป เพราะคนมองว่า อสมท.เป็นกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวารัฐบาล แต่จริงๆ แล้วถ้ามองให้ดี อสมท. เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีเอกชนมาถือหุ้นแล้ว 20 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจู่ๆ ไปยกผลประโยชน์ให้แก่เอกชนก็มีปัญหาทางการเมือง ฉะนั้น มันไม่ใช่เป็นสูตรที่จะเกิดขึ้นทันที
 
มันเป็นไปไม่ได้ทางธุรกิจอยู่แล้ว อันนี้เรื่องที่หนึ่ง เรื่องที่สองก็คือ เรื่องค่าปรับ ถ้ามีการปรับ 70,000 ล้านเกิดขึ้น อีก 2 เดือน อาจจะไปถึง 80,000 ล้านหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ถ้ามีการปรับ ล้มละลายทันที ไม่มีใครอยากจะถือบริษัทนี้ไว้แล้ว วิธีที่ทำง่ายกว่าคือ ปล่อยให้บริษัทนั้นเจ๊งไป พอเจ็งสัมปทานก็กลับเป็นของรัฐ หรืออีกสูตรหนึ่ง ถ้าปรับน้อยๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้ถือหุ้นเขาคงอยากให้เกิดอย่างนั้น ปรับระดับไม่กี่ร้อยล้าน อันนี้ก็ต่อลมหายใจได้นิดหนึ่ง แต่ทางธุรกิจก็ไปยากอยู่ดี ฉะนั้น ไอทีวีไม่ต้องมีใครไปทำอะไร มันถึงทางตันด้วยตัวมันเอง
 
พอถึงทางตันก็ต้องหาวิธีหาทางออก วิธีหาทางออกแต่ละวิธีมีปัญหาทั้งสิ้น ไม่ว่าขายเอกชน หรืออะไรต่างๆ แต่วิธีที่ปัญหาน้อยคือ เอากลับมาเป็นของรัฐ เช่น รัฐซื้อกลับมา โดยไม่ใช่ อสมท. ถ้ารัฐเป็นเจ้าของ 100% ถ้าจะทำเป็นสื่อสาธารณะจะไปตัดเรื่องสัมปทานทิ้ง หรือแก้เรื่องผังรายการ มันทำได้ทุกอย่าง ไม่มีปัญหาทางการเมือง
 
แต่จะไปสู่จุดนั้นได้ ก็ต้องให้รัฐยอมตกลงร่วมใจ
ก็ต้องออกกฎหมาย ต้องทำอะไรอย่างที่ว่า ถ้าไปเอามาแล้วเป็นแบบช่อง 11 อีกช่องหนึ่งก็ไม่มีประโยชน์อะไร นักการเมืองมีกระบอกเสียงพอแล้ว ไม่ต้องมีถึง 2 ช่อง นายกฯ พูดวันเสาร์ตอนเช้าก็พอแล้ว
 
แต่ช่อง 11 ก็พยายามดิ้นไปเป็นเอกชน
ก็ไม่ถึงกับอย่างนั้นทีเดียว แต่มันมีแนวโน้ม สีสันไปทางนั้น โดยการทำเป็น เอสดียู
 
เอสดียู คืออะไร
เอสดียู เป็นแนวความคิดของสำนักงานคณะกรรมการระบบพัฒนาข้าราชการ (กพร.) ก็คือว่า โรงกษาปณ์ที่เป็นโรงพิมพ์ของรัฐ พิมพ์เอกสารให้คณะรัฐมนตรี จะไปจ้างเอกชนพิมพ์ก็ไม่ได้ กลัวความลับรั่ว รัฐก็ต้องพิมพ์เอง แต่พิมพ์ก็ไม่ได้พิมพ์ตลอดเวลา แต่มันมีช่วงที่เครื่องจักรไม่ได้ใช้งาน กพร. คิดว่าอย่างนี้น่าจะเอาเครื่องจักรมาใช้ประโยชน์ หารายได้ทางธุรกิจ นี่ก็คือ เอสดียู หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอะไรบางอย่าง แล้วมีความสามารถในการผลิตเหลือก็ควรรับจ๊อบหารายได้เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มและมีเงินกลับมาหารัฐ
 
ปัญหาก็คือ หน่วยงานที่จะเป็นเอสดียูต้องมีทรัพยากรเหลือ ช่อง 11 ก็บอกว่าตัวเองมีทรัพยากรเหลือ เนื่องจากเคยลงทุนไว้เยอะ การลงทุนของช่อง 11 มันก็มีหลายสาเหตุ ตามที่ควรจะลงทุนจริงๆ ก็มี แล้วก็มีการลงทุนที่...  คุณก็รู้ว่าภาครัฐชอบลงทุน เพราะการลงทุนมันมาพร้อมกับอะไรหลายๆ อย่าง ซื้อของก็มีคนได้ประโยชน์ หน่วยงานรัฐก็เลยชอบสร้างอะไรไปเรื่อย ช่อง 11 ก็เลยมีเครือข่ายที่ครอบคลุม เรียกว่าเป็นสถานีที่มีฮาร์ดแวร์ดีที่สุดสถานีหนึ่งในเมืองไทย
 
ช่อง 11 มีความสามารถในการผลิตเหลือไหมที่จะเอาไปให้บริการแบบเอสดียู ก็อาจจะมี แต่ไม่ใช่ในส่วนของการแพร่ภาพ เพราะการแพร่ภาพมันมีเวลาจำกัดของมัน ใช้เต็มเวลาอยู่ทุกวัน แต่อาจเป็นห้องส่ง เครื่องตัดต่อ อะไรพวกนี้ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ สิ่งที่ช่อง 11 กำลังทำนั้นมันไปอีกทาง มีความพยายามตั้งช่อง 11/1 ถึงทับเท่าไรก็ไม่รู้ ซึ่งแปลว่า สิ่งที่คุณมีอยู่มันไม่พอใช้ ไม่ใช่มันเหลือ ดังนั้น เอสดียูของช่อง 11 จึงแปลกมากๆ ผมแปลกใจว่า กพร. ยอมรับให้ช่อง 11 เป็นเอสดียูได้ยังไง
 
กรณีของไอทีวีปัญหาก็คือ เขาจะขายให้ใคร
ในเมื่อสถานการณ์มีแต่แย่ลง ผลประกอบการมีแต่แย่ลง ถ้าคุณเป็นผู้ถือหุ้น แน่นอน พวกเราไม่เคยคิดในมุมผู้ถือหุ้น คุณมีสมบัติอยู่แล้วสมบัติสึกกร่อนไปทุกวันๆ ยิ่งนานยิ่งเสียเยอะ คุณจะเก็บไว้ไหม คงไม่ และเขาจะขายให้ใครก็ได้ที่เขาได้ราคา เอกชนไม่สนใจว่าขายให้ใคร ขอให้ได้สตางค์กลับมาเยอะที่สุด แต่จะมีเอกชนรายไหนที่ซื้อจากเขา แล้วทำไมต้องไปซื้อ ทั้งที่รู้ว่าซื้อก็ไปไม่รอด
 
ถ้าเปลี่ยนมือกันระหว่างมือกัน มันแปลว่า เปลี่ยนผู้บริหารเปลี่ยนเจ้าของแล้ว มันต้องเห็นโอกาสดีกว่าเช่น สมัยไทยพาณิชย์เป็นเจ้าของกับสมัยชินฯ เป็นเจ้าของ มันต่างกันยังไง ไทยพาณิชย์ถือแล้วขาดทุน ทำไมชินถือแล้วกำไร ก็เพราะว่ามันมีเรื่องทางการเมืองมาเกี่ยวข้องว่า กลุ่มหนึ่งไม่สามารถผลักดันให้มันกำไรได้ เพราะห่วงเรื่องภาพพจน์มาก คุณจะทำอะไรที่มันฝืนความรู้สึกสังคมอย่างโจ่งแจ้งไม่ได้ ใครเป็นผู้ถือหุ้นของไทยพาณิชย์ ใครเป็นผู้ถือหุ้นของไอทีวีคุณก็คงรู้ กลุ่มทุนกลุ่มนั้นมีความสามารถจำกัดในการที่จะผลักดันเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีความสามารถในการผลักดันได้มากกว่า ฉะนั้น มันจึงเปลี่ยนมือได้ ซื้อขายกันได้ มูลค่าของไอทีวีเมื่ออยู่กับไทยพาณิชย์กับอยู่กับชินฯ มันจึงไม่เท่ากัน แต่ตอนนี้เทมาเส็กถืออยู่ จะขายใครก็แล้วแต่ ทุกคนก็ต้องถามว่า ถ้าซื้อแล้วจะทำให้ได้ราคาดีกว่าราคาที่ผมซื้อหรือเปล่า แล้วจะมีใครที่ทำให้มันมูลค่าที่สูงขึ้น ผมคิดวิธีที่จะทำให้มันมีมูลค่าสูงขึ้นไม่ออก ฉะนั้นมันถึงทางตัน
 
ธุรกิจเรื่องเงินเป็นเรื่องเดียวเลย นี่คือสิ่งที่ภาคประชาสังคมไม่เข้าใจ ธุรกิจเอาเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง ต้องทำผลกำไร หน้าที่ของบริษัทมหาชนจำกัด ไม่ใช่รับใช้สังคม แต่รับใช้ผู้ถือหุ้น
 
การเข้ามาของคุณเนวิน ชิดชอบ อาจจะช่วยผลิกสถานการณ์
ก็มีความเป็นไปได้ ในตลาดหลักทรัพย์เขาถึงดูออก ราคามันถึงเด้งขึ้น ราคาเด้งขึ้นมันมีวิธีชุบชีวิต อย่างที่บอกว่าผมตีความเรื่องนี้ไว้ 2 อย่าง อย่างแรกเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจธรรมดา กับอีกเรื่องคือ การพยายามทำให้มีคนรับผิดในฝ่ายรัฐ วันก่อนก็เรียกสอบกันแล้ว มีการเชิญคุณมนตรี เจนยุทธการ แล้วคุณมนตรีก็พูดคล้ายๆ กับที่ผมพูดแต่คนละมุมกัน คุณมนตรีถามว่าการที่ศาลตัดสินให้ข้อ 5 วรรค 4 เป็นโมฆะไปนั้นทำให้เกิดประโยชน์กับรัฐทำไมต้องมาสอบข้าราชการ แต่ผมพูดว่า ผมแปลกใจที่เรื่องนี้รัฐไม่ได้เสียหาย แต่ผมไม่ได้บอกว่ารัฐได้ประโยชน์ ผมก็ไม่คิดว่าการทำให้สัญญามีปัญหาขึ้นมาแล้วรัฐได้ประโยชน์ แต่เรื่องนี้เอกชนเสียหาย ถ้าจะเป็นต้นเรื่องดำเนินการต้องเป็นเอกชน ไม่ใช่จู่ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกสอบเอง แล้วพยายามหาคนผิดทั้งที่รัฐไม่ได้เสียหายในกรณีนี้ หากเป็นข้อสรุปว่าเพราะรัฐผิด มันก็จะเปิดช่องให้เอกชนฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง แต่เกมอย่างนี้ถ้ามันจะเกิดขึ้น มันควรจะเกิดขึ้นจากเอกชนทำเอง แต่ทำไมเอกชนไม่ทำเองในเรื่องนี้ ก็ตรงไปตรงมา ชัดเจนว่า ข้อ 5 วรรค 4 มันเป็นความต้องการของใคร ใครได้ประโยชน์ เอกชนได้ประโยชน์ ฉะนั้น การที่เกิดข้อ 5 วรรค 4 สอดไส้เข้าไปในสัญญาแต่ว่าไม่เอาเข้า ครม. เอกชนไม่รู้ไม่เห็นจริงหรือ เรื่องนี้ยาก
 
สรุปว่า ตามที่อาจารย์ศึกษา เมืองไทยมีความเป็นไปได้ที่จะมีทีวีสาธารณะ
ในเชิงเทคนิคเป็นไปได้ มีตัวอย่างเยอะแยะในโลกให้เรียนรู้ ในทางการเงินเป็นไปได้ เพราะเดี๋ยวนี้ประเทศไทยรวยพอที่จะทำเรื่องแบบนี้ได้ ในทางสาธารณะ ทางสังคม เริ่มมีคนเข้าใจ และเรียกร้องเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ องค์ประกอบต่างๆ กำลังจะพร้อม เหลือเรื่องเดียวคือ การเมือง การเมืองรู้สึกถึงแรงกดดันที่ต้องทำหรือยัง
 
ผมคิดว่าทีวีสาธารณะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคนายทุนใหญ่ เพราะเขาไม่มีปัญญาที่จะไปซื้อสื่อต่างๆ เพื่อโฆษณาความคิดของเขา ฉะนั้น ลำพังแค่มีสื่ออะไรเสนอข่าวสารอย่างเป็นกลางพอ เขาก็น่าจะได้ประโยชน์แล้ว ผมถึงอยากให้พรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคนายทุนใหญ่ทั้งหลายรับรองเรื่องนี้ ประกาศนโยบายเรื่องนี้
 
หรือถ้าจะไม่เอาสื่อสาธารณะมาทำเป็นสื่อทางการเมือง หรือเป็นสถานีช่องข่าว เพราะช่องข่าวมันล่อแหลมทางการเมือง เอามาทำเป็นทีวีสำหรับเด็กและครอบครัว ทีวีเพื่อการศึกษาก็ได้ เป็นช่องปลอดการเมืองไปเลย แต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ แล้วมันจะโฆษณาหาเสียงได้ว่ารัฐบาลของพรรคนั้นพรรคนี้ ยกสมบัติที่มีค่าชิ้นหนึ่งเพื่อการเรียนรู้ เพื่อการศึกษาของประชาชน อันนี้เป็นโจทย์ที่อยากให้ภาคประชาสังคมไปโฆษณากับพรรคการเมือง
 
ในสังคมประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว รัฐไม่ควรจะครอบงำสื่อ แต่ผมคิดว่าผมใจกว้างมากๆ เลยนะ รัฐจะมีสักช่องหนึ่งก็ไม่ว่าอะไร แต่รัฐมีแล้วต้องให้สังคมมีด้วย มีทางเลือกอื่นด้วย ไม่ใช่เหมือนทีวีรัสเซีย ที่เปิดมาช่องหนึ่งผู้นำออกมาพูด ช่องสองให้กลับไปดูช่องหนึ่ง (หัวเราะ) มันโจ๊กที่เขาเล่ากันน่ะ
 
 
 
ตารางเปรียบเทียบสื่อสาธารณะในแง่มุมต่างๆ
 
 
                     

BBC 
(อังกฤษ)

 PBS  
(สหรัฐ)

NHK 
(ญี่ปุ่น)

CBC  
(แคนาดา)

ABC 
(ออสเตรเลีย)
 
1.ภารกิจ
 

ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการนำเสนอรายการและบริการที่ให้ข้อมูล การศึกษาและให้ความบันเทิง

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนอเมริกันด้วยรายการคุณภาพ ให้บริการด้านการศึกษาซึ่งให้ข้อมูล สร้างแรงบันดาลใจและความเบิกบานใจ

นำเสนอรายการที่มีคุณภาพแลความถูกต้อง รวมทั้งข้อมูลและข่าวสารที่เป็นกลาง เพื่อยกระดับวัฒนธรรม ความผาสุกและสร้างเสริมประชาธิปไตย

ให้บริการโทรทัศน์และวิทยุที่หลากหลาย โดยมุ่งให้ข้อมูล ความรู้และความบันเทิง

สร้างคุณค่าและบูรณาการวัฒนธรรมของประเทศ โดยนำเสนอรายการที่หลากหลายมีความเป็นอิสระ แตกต่างและน่าสนใจ
 
2.รูปแบบกฎหมายในการจัดตั้งองค์กร
 
แต่เดิมการกระจายเสียงดำเนินการโดยบริษัทเอกชน แต่เกิดปัญหาด้านการแทรกแซงความถี่ รัฐบาลอังกฤษก่อตั้งBBC ด้วยกฎบัตร (Charter) ในพระบรมราชโองการผ่านทางรัฐสภาในปี ค.ศ. 1927
CPB(Corporation for Public Broadcasting) ได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ PBS (Public Broadcasting Service) ขึ้นในปี ค.ศ.1969ด้วยการสนับสนุนของสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์สาธารณะทั่วประเทศมากกว่า1,000 แห่ง
SCAP(Supreme Commander for Allied Powers) ได้ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่รัฐใช้ควบคุมสื่อและออกกฎหมายกระจายเสียงในปี ค.ศ.1950กำหนดให้การกระจายเสียงเป็นDual Systemโดยเปลี่ยนโครงสร้าง NHKเป็นบรรษัทสาธารณะ
ตั้งขึ้นในปีค.ศ.1936 ในฐานะบรรษัทของกษัตริย์ (Crown Corporation) โดย Act of Parliament ตาม Royal Commission เพื่อลดอิทธิพลของวิทยุกระจายเสียงของสหรัฐอเมริกา
ก่อตั้งในปีค.ศ.1932 โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะ Australian Broadcasting Commission เพื่อให้เป็นสถานีบริการสาธารณะ โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศอังกฤษในการดำเนินการต่างๆ
 
3.การกำกับดูแล
 
รัฐบาลเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะกรรมการบริการจำนวน12 คน ที่มาจากสาขาอาชีพที่ต่างกัน ขึ้นทูลเกล้าสมเด็กพระราชินีของอังกฤษ เพื่อให้แต่งตั้งเป็น คณะกรรมการบริหาร (Broad of Governor) มีอายุการทำงาน 5 ปี
มีรูปแบบการบริหารงานแบบองค์กรเอกชนโดยมีคณะกรรมการ (Broad of Director) ซึ่งเป็นตัวแทนของมลรัฐต่างๆ และเจ้าหน้าที่ (Corporate Officer) ซึ่งรับผิดชอบงานด้านต่างๆ
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน12 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีประสบการณ์และความรู้จากสาขาอาชีพต่างๆ มาจากทั้ง 8 ภูมิภาคของประเทศ มีอายุการทำงาน3 ปี
รัฐสภาจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ (Broad of Director) จำนวน 12 คน ซึ่งรวม chairpersonและpresident&CEOด้วย ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 5 ปี
รัฐบาลเป็นผู้แนะนำแต่งตั้งBoard จำนวน 7คนเพื่อทำหน้าที่แต่งตั้ง Broad Managing Director โดยกำหนดคุณวุฒิตาม ABC Act
 
4.เนื้อหารายการ
 
BBC มีช่องรายการโทรทัศน์ 4ช่องโดยช่อง 1มีรายการโทรทัศน์ทุกประเภท ช่อง2นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์ สารคดีและศิลปะ ช่อง3เน้นกลุ่มวัยรุ่นเริ่มต้นทำงาน โดยนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมือง ดนตรี และรายการบันเทิง ช่อง4นำเสนอเรื่องราวนอกกระแสหลัก
ชุดรายการหลักที่ PBS จัดให้แก่สถานีสมาชิกได้แก่ รายการเกี่ยวกับเด็ก วัฒนธรรม การศึกษา ประวัติศาสตร์ ข่าวธรรมชาติ เรื่องที่สาธารณชนสนใจ วิทยาศาสตร์ และรายการเสริมทักษะต่างๆ
รายการโทรทัศน์ของ NHK มีจำนวน 2 ช่อง -Geneal TV เสนอข่าว 40.5%วัฒนธรรม24.7% บันเทิง23.7% และการศึกษา 11.1% -Education TVเสนอรายการการศึกษา81.1%วัฒนธรรม16.3%และรายการข่าว2.6%
ให้บริการในรูปแบบภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส (ตามลักษณะประชากรของประเทศที่ใช้สองภาษา) ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต โดยมุ่งนำเสนอรายการที่ให้ข้อมูล เรื่องที่อยู่ในความสนใจทั่วไป ดนตรี วัฒนธรรม
รายการโทรทัศน์ของสถานีมีสัดส่วนดังนี้ รายการเด็ก18.8%ภาพยนตร์13.1% บันเทิง11.8% เหตุการณ์บ้านเมือง 9.3%ละคร 9.3% การศึกษา 8.5%และอื่นๆ
รายการวิทยุมีสัดส่วน ดังนี้ ดนตรี 35.3%ข่าว 20% Factual 18%กีฬา 5.2% และอื่นๆ 
 
5.ที่มาขอรายการ
 
ผลิตรายการส่วนใหญ่ด้วยตนเอง
รับซื้อรายการจากผู้ผลิตทั้งแบบประจำและผู้ผลิตอิสระ (ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดส่งรายการให้สถานีต่างๆ)
ผลิตรายการต่างๆ ด้วยตนเอง (แยกแผนสำหรับผลิตรายการต่างๆ )
ส่วนใหญ่จะผลิตเอง แต่บางส่วนจะร่วมผลิตกับต่างประเทศ หรือให้ผู้ผลิตอิสระเป็นผู้รับผลิต
ผลิตเองและรับซื้อจากผู้ผลิตต่างๆ
 
6.ผู้ชมรายการ
 
-ผู้ชม/ผู้ฟังรับชม/ฟังรายการโทรทัศน์ 86.5% วิทยุ 63.4%
-สัดส่วนความนิยม โทรทัศน์ 38.44% วิทยุ 50.2%
 
-99% ของครัวเรือนที่มีโทรทัศน์สามารถรับรายการของสถานีได้
-71% ของครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ได้ชมรายการของสถานีโดยใช้เวลามากกว่า 7.5 ชั่วโมง/เดือน
-สมาชิกของ NHKมีจำนวนประมาณ 37.6 ล้านครัวเรือน
-ผู้ชมใช้เวลาชมNHK ประมาณ 1 ชั่วโมง 13 นาทีต่อวัน
-88% ใช้บริการเครือข่าย ABCอย่างน้อย 1 บริการ
-Rating รายการโทรทัศน์ของสถานีอังกฤษและฝรั่งเศสคือ 7.6% และ 14%
-40% รับชมรายการวิทยุของสถานี
-91% เชื่อว่าสถานีให้บริการที่มีคุณค่าต่อชุมชน
-78% เชื่อมั่นว่ารายการของสถานีโทรทัศน์ของABC มีคุณภาพดี (เปรียบเทียบกับสถานพาณิชย์ที่มีความเชื่อมั่น 43%)
7. กลไกการตรวจสอบ
 
 
การทำงานของBBC อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการมาตรฐานการกระจายเสียง (BSC-Broadcasting Standards Commission) ซึ่งสามารถตรวจสอบเนื้อหารายการในแง่ต่างๆ และต้องทำรายงานประจำปีเพื่อเสนอรัฐสภา
สำนักงานผู้ตรวจการ (IG:Office of the Inspector General) เป็นผู้กำกับดูแลการทำงานของ CPBในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาเงินทุน เนื้อหารายการ การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.สื่อสาธารณะ
NHK ได้ตั้ง"กรรมาธิการที่ปรึกษาเกี่ยวกับผู้ชม" (Audience Advisory Councils) ประกอบด้วยบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ กระจายไปทุกจังหวัด เพื่อประเมินผลรายการและให้ข้อเสนอแนะ
มีความรับผิดชอบต่อชาวแคนาดาทุกคน โดยต้องนำเสนอรายการประจำปีผ่านรัฐสภาและมี The Office of the Ombudsmanเพื่อรับข้อร้องเรียนต่างๆ โดยขึ้นตรงกับประธานาธิบดี
มีการว่าจ้างบริษัทภายนอกเพื่อสำรวจความนิยมของสถานี และรับข้อร้องเรียนโดยตรง (ผ่านจดหมาย โทรศัพท์ อีเมล์) นอกจากนี้ยังมีAustralian Nation Audit Office (AN
AO) เพื่อตรวจสอบการบริหารจัดการของสถานี รายงานตรงต่อรัฐสภา
8. แหล่งที่มาของเงินสนับสนุนในการดำเนินงานแต่ละปี
 
 
-รายรับภายในประเทศทั้งหมด 2,778.6 ล้านปอนด์
-จากค่าธรรมเนียมการรับ 91.8%
-อื่นๆ 9.2%
รายรับทั้งหมด 534 ล้านเหรียญ
-จากการขายรายการ 40.5%
สมาชิก 28.7%CPB และรัฐบาล 14.6% ดำเนินธุรกิจ 8.2% ขายผลิตภัณฑ์ทางการศึกษา 8%
รายรับทั้งหมด 668.7 พันล้านเยน
-จากค่าธรรมเนียม 97%
-อื่นๆ 3%
รายรับทั้งหมด 1506 ล้านเหรียญ
-รัฐสภา 64.5%
-โฆษณา 21.2%
-อื่นๆ 14.3%
รายรับทั้งหมด 859 ล้านเหรียญ
-จากรัฐบาล 82.7%
-จากการขายสินค้าและบริการ 12.1%
-อื่นๆ 5.2%
9.รายจ่ายของสถานี
 
 
รายจ่ายการผลิตภายในประเทศทั้งหมด 2,602.1 ล้านปอนด์
-ผลิตรายการและกระจายเสียง 55.9%
-อื่นๆ 0.5%
 
*ไม่รวมต้นทุนค่าบุคลากร 758 ล้านปอนด์
รายจ่ายทั้งหมด 520 ล้านเหรียญ
-จัดหารายการ 73%
-ให้สมาชิกและสนับสนุนรายการด้านการศึกษา 18%
-บริการทางเทคนิค 6%
-บริหารจัดการองค์กร 3%
รายจ่ายทั้งหมด 660.35 พันล้านเยน
-ผลิตและกระจายเสียง 74.2%
-กระบวนการทำสัญญาและค่าธรรมเนียมต่างๆ 12.5%
-การบริหารจัดการ 4.8%
-อื่นๆ 8.5%
รายจ่ายทั้งหมด 1,496 ล้านเหรียญ
-สถานีโทรทัศน์ภาษาอังกฤษ 37.4%
-สถานีโทรทัศน์ภาษาฝรั่งเศส 21.3%
-สถานีวิทยุรวม 18.2%
-การจัดจำหน่ายและบริษัทย่อยต่างๆ 5.3%
-อื่นๆ 17.8%
รายจ่ายทั้งหมด 773.1 ล้านเหรียญ
-Supplier40.3%
-ค่าจ้างพนักงาน 35.8%
-ผ่อนรายการ 13.8%
-อื่นๆ 10.1%
 
จากงานวิจัยเรื่อง 'สื่อสาธารณะ' (โครงการ'การปฏิรูประบบสื่อ : การพัฒนาบุคลากรและสื่อสาธารณะ') โดย ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ตุลาคม 2546
 
 
 
 
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net