Skip to main content
sharethis

ปกรณ์ พึ่งเนตร    


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


คงไม่ถูกต้องนัก หากบุคคลระดับผู้คุมนโยบายของรัฐบาลออกมาบอกว่า เหตุป่วน 139 จุด ในช่วงค่ำคืนของวันที่ 1 สิงหาคม 2549 เป็นเพียงเหตุการณ์ธรรมดาๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเป็นเพียงแค่ "ความพยายามแสดงศักยภาพของกลุ่มก่อความไม่สงบ" เท่านั้น (ทั้งๆ ที่คนของรัฐก็พูดซ้ำๆ มาหลายครั้งว่า ขบวนการเหล่านี้ไม่มีศักยภาพหลงเหลืออยู่แล้ว)


 


เพราะหากมองย้อนกลับไปถึงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจับมาใส่ตะแกรงวิเคราะห์กันให้ดีแล้ว จะพบความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงที่ไม่ได้เป็นความบังเอิญอย่างแน่นอน ทว่ามันมาจากการวางยุทธศาสตร์และปฏิบัติการตามแผนอย่างเป็นระบบมากกว่า


 


โดยราวๆ 1-2 เดือนก่อนจะเกิดเหตุป่วนแบบปูพรมในคราวนี้ กลุ่มก่อความไม่สงบได้สร้างสถานการณ์ด้วยการก่อเหตุ "ยิงรายวัน" แทรกด้วยเหตุการณ์สะเทือนขวัญในพื้นที่เป้าหมายเป็นระยะ


 


วันที่ 24 กรกฎาคม 2549 หรือเมื่อ 8 วันก่อน คนร้าย 4 คนเพิ่งบุกยิง ครูประสาน มากชู ครูสอนภาษาไทย ถึงในห้องเรียนโรงเรียนบ้านบือแรง หมู่ 1 ตำบลลาโล๊ะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส


 


ขณะที่ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ปักษ์หลังของเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือนกรกฎาคม เกิดเหตุระเบิดชุดคุ้มครองครูหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอรามัน กับอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา


 


และวันที่ 15 มิถุนายน 2549 หรือหนึ่งเดือนครึ่งก่อนหน้านี้ ได้เกิดระเบิดป่วนกว่า 60 จุดทั่วทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คล้ายๆ กับเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งภาครัฐอ้างว่า เป็นการก่อเหตุในวันคล้ายวันสถาปนารัฐปัตตานี


 


น่าสนใจตรงที่ ทุกๆ 2 เดือนก่อนหน้านั้น ก็เกิดเหตุป่วนแบบปูพรมทั้ง 3 จังหวัดเช่นกัน อาทิ เหตุการณ์ลอบเผาสถานีทวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีข้อน่าสังเกตว่า แนวโน้มของปริมาณความเสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


 


เมื่อหันมาพิจารณาในแง่ของ "พื้นที่ก่อเหตุ" จะพบว่าปฏิบัติการความรุนแรงในระดับสะเทือนขวัญในแต่ละครั้ง มีความเชื่อมโยงอย่างไม่บังเอิญเช่นกัน


 


โดยหากนำเหตุการณ์สังหารครูประสานมาเป็นตัวตั้ง จะพบว่าเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าวมีความเชื่อมต่อกับเหตุการณ์ชาวบ้านรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล ที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา


 


เพราะเมื่อย้อนไปดูมูลเหตุของการรุมทำร้ายครูจูหลิง จะพบว่าในช่วงเช้าก่อนเกิดเหตุชุลมุนนั้น เจ้าหน้าที่รัฐได้นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านกูจิงลือปะ และจับกุมผู้ต้องหาไป 2 คน คือนายอับดุลการิม มาแต อายุ 24 ปี กับ นายมูหะมะสะแปอิง มือลี อายุ 32 ปี


 


โดยทั้งสองถูกตั้งข้อสงสัยจากเจ้าหน้าที่ว่า น่าจะเป็นคนร้ายที่ก่อเหตุซุ่มยิงนาวิกโยธินเสียชีวิต 2 นายที่สถานีรถไฟบ้านลาโล๊ะ อำเภอรือเสาะ เมื่อหลายเดือนก่อน!


 


น่าสนใจว่าในพื้นที่อำเภอรือเสาะกับอำเภอระแงะนั้น แม้จะอยู่ติดกัน แต่ยุทธวิธีก่อเหตุที่คนร้ายใช้ กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


 


โดยในส่วนของอำเภอรือเสาะ มีการวางระเบิดและลอบยิงเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกจัดวางให้เป็น "พื้นที่สู้รบ" กับฝ่ายทางการ เฉพาะตำบลลาโล๊ะเพียงตำบลเดียว เกิดเหตุรุนแรงตลอดปี 2548 รวมกว่า 10 ครั้ง


 


ส่วนอำเภอระแงะนั้น ถูกวางไว้เป็นพื้นที่ "พลังมวลชน" กดดันเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเคยผ่านการก่อเหตุรุนแรงแบบถี่ยิบมาก่อนแล้ว จนแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถควบคุมมวลชนได้หลายหมู่บ้านในหลายตำบล


 


และหากไล่เรียงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอำเภอระแงะในช่วง 1 ปีมานี้ จะพบการใช้ "พลังมวลชน" มาเป็นประโยชน์เพื่อกดดันเจ้าหน้าที่รัฐแทบทุกครั้ง


 


เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์จับ 2 นาวิกโยธินเป็นตัวประกันที่บ้านตันหยงลิมอ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ซึ่งครั้งนั้นฝ่ายทหารไม่สามารถนำกำลังเข้าช่วยนาวิกโยธินทั้งสองนายได้ เนื่องจากถูกกลุ่มผู้หญิงและเด็กรวมตัวเป็นกำแพงมนุษย์ขวางถนนทางเข้าหมู่บ้านเอาไว้ กระทั่งสุดท้าย 2 นาวิกโยธินถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม


 


ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายนปีเดียวกัน เกิดเหตุฆ่ายกครัว 9 ศพ ที่บ้านกะทอง ตำบลบองอ อำเภอระแงะ และหลังเกิดเหตุมีชาวบ้านหลายร้อยคนรวมตัวปิดล้อมไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยังที่เกิดเหตุ ร้อนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสต้องรีบรุดเดินทางเข้าไปทำความเข้าใจ


 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เกิดเหตุชาวบ้านนับร้อยล้อมจับครูจูหลิงกับเพื่อนครูอีก 1 คนเป็นตัวประกัน ก่อนจะถูกรุมทำร้ายจนครูจูหลิงบาดเจ็บสาหัส ถึงวันนี้ก็ยังไม่ฟื้น


 


แหล่งข่าวระดับสูงจากศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) อธิบายถึงยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายคนร้ายว่า กลุ่มก่อความไม่สงบจะกำหนด "พื้นที่การรบ" เอาไว้ 3-4 อำเภอในแต่ละช่วงเวลา เช่นในปีนี้ พื้นที่การรบจะอยู่ที่อำเภอบันนังสตา กับอำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธบ่อยครั้ง มีการปลุกระดมมวลชนอย่างเข้มข้น และสร้างบรรยากาศการก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง


โดยเฉพาะอำเภอรือเสาะ กับรามัน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นรอยต่อของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือสามารถก่อเหตุแล้วหลบหนีไปยังจังหวัดใดก็ได้ และอำเภอที่เป็นเขตติดต่อของทั้ง 2 อำเภอดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่ที่กลุ่มก่อความไม่สงบมีแนวร่วมอยู่มากพอสมควร ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของฝ่ายคนร้ายก็ได้


เช่น อำเภอบาเจาะ ระแงะ ยี่งอ จังหวัดนราธิวาส , อำเภอกะพ้อ ทุ่งยางแดง แม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอกรงปินัง บันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นต้น


 


"เหตุยิงครูประสานที่โรงเรียนบ้านบือแรง อำเภอรือเสาะ เป็นการใช้ยุทธวิธีของกลุ่มก่อความไม่สงบเพื่อกระจายกำลังของภาครัฐให้เป็นชุดเล็ก โดยเขาจะพยายามคุกคามผู้บริสุทธิ์กลุ่มต่างๆ เพื่อให้ตำรวจ ทหารกระจายกำลังไปดูแล เช่น คุกคามพระ เราก็ต้องส่งกำลังไปคุ้มครองพระ , โจมตีครูขณะเดินทางไปสอน เราก็ต้องจัดชุดคุ้มครองครู ล่าสุดเมื่อยิงครูถึงในโรงเรียน เราก็ต้องส่งกำลังไปคุ้มกันในโรงเรียนอีก นี่คือยุทธวิธีของกลุ่มก่อความไม่สงบเพื่อไม่ให้ฝ่ายเรารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เพราะถ้าเรารวมตัวกัน เขาจะสู้เราไม่ได้" แหล่งข่าวระบุ


 


จากข้อมูลทางลับของหน่วยงานด้านความมั่นคง ยังพบว่า ขบวนการก่อความไม่สงบภายใต้การนำของ กลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท ได้พยายามจัดตั้งโครงสร้างการปกครองเพื่อซ้อนอำนาจรัฐไปเรื่อยๆ โดยมีระดับแกนนำของขบวนการรับผิดชอบอยู่ทุกเขต และการแบ่งเขตดังกล่าวนี้ ก็ยึดโยงกับยุทธศาสตร์การแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการ และการทอนกำลังของฝ่ายรัฐให้เล็กลง


 


สำหรับแกนนำระดับสูงที่รับผิดชอบเขตต่างๆ หรือที่เรียกว่า "ผู้ว่าการเขต" มีหลายคน อาทิ นายอิสมาแอล ระยะหลง หรือ "อุสตาสโซะ" รับผิดชอบเขตอำเภอเมือง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา และอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส , นายดุลละหะเล็ง ยามาสะกา หรือ "อุสตาซฮาเล็ง" รับผิดชอบอำเภอรามัน , นายอาหมัด ตืองะ หรือ "อุสตาสมะ" รับผิดชอบอำเภอบันนังสตา และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา เป็นต้น


 


นอกจากนั้น ในพื้นที่ยุทธศาสตร์อย่างอำเภอรามัน และอำเภอรือเสาะ ยังมีกลุ่มของนายราเซะ ดอเลาะ หรือ "อุสตาซรอเซะ" รับผิดชอบก่อเหตุรุนแรงอีกชั้นหนึ่งด้วย โดยทุกพื้นที่จะมีนักรบประจำถิ่น หรือ อาร์เคเค ซึ่งผ่านการฝึกรบแบบกองโจร เป็นหน่วยปฏิบัติการ


 


"ดูง่ายๆ ว่าถ้าพื้นที่ไหนเริ่มมีการพ่นสีถนน หรือป้ายทางหลวง ก็สันนิษฐานได้เลยว่า พื้นที่นั้นเริ่มมีแนวร่วมของกลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว คือกลุ่มเปอมูดอ หรือวัยรุ่นมุสลิมที่ผ่านการปลุกระดมทางความคิด และงานแรกที่แกนนำใช้ให้ปฏิบัติการพิสูจน์ความกล้า ก็คือการพ่นสีป้ายบอกทางต่างๆ" แหล่งข่าวจาก ศปก.ตร.สน. กล่าว


 


และว่า "จากนั้น เปอมูดอ ที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะถูกคัดเลือกไปฝึกรบแบบกองโจร เพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังประจำถิ่น หรือ อาร์เคเค พวกนี้จะก่อเหตุในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ลอบยิงผู้บริสุทธิ์ ดักทำร้ายพระสงฆ์ เป็นต้น"


 


"และเมื่อกองกำลังประจำถิ่นพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ด้วยการก่อเหตุที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวในพื้นที่เป้าหมาย พร้อมทั้งปล่อยข่าวโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐจนได้ชาวบ้านเป็นแนวร่วมทางจิตวิทยาจำนวนมากแล้ว ก็จะตั้งองค์กรปกครองในระดับหมู่บ้านขึ้น จากนั้นก็จะพยายามขยายฐานหมู่บ้านไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนในที่สุด" แหล่งข่าว ระบุ


การก่อเหตุร้ายอย่างต่อเนื่องทุกวัน สลับกับเหตุสะเทือนขวัญเพื่อช็อคความรู้สึกชาวบ้านใน "พื้นที่การรบ" ไม่ต่างอะไรกับการ "นวดให้น่วม" แล้วตามซ้ำด้วยการป่วนแบบ "ปูพรม" เพื่อโชว์ศักยภาพและสร้างแรงกดดันไม่ให้ชาวบ้านหันไปร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยทั้งหมดนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ และวางเป้าไว้ที่การลุกฮือพร้อมกันทั้ง 3 จังหวัดเพื่อแบ่งแยกดินแดน


 


อย่างไรก็ตาม นายตำรวจระดับสูงจาก ศปก.ตร.สน. แสดงความเชื่อมั่นว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐจะไม่บรรลุเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดนอย่างแน่นอน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่แม้จะไม่ให้ความร่วมมือกับทางการ แต่ก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับกลุ่มก่อความไม่สงบ


 


"หลายๆ ครั้งเขาใช้ความโหดเหี้ยม ทารุณ เพื่อสร้างความหวาดกลัว มันก็ส่งผลอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน คือเสียมวลชนไป ตอนนี้เราจึงเร่งงานมวลชนและพัฒนาอย่างหนัก เพื่อสกัดแนวรุกของกลุ่มผู้ไม่หวังดี และมั่นใจว่าเรายังเอาอยู่"


 


นายตำรวจผู้นี้ สรุปว่า การจะแบ่งแยกดินแดนให้สำเร็จได้นั้น จะต้องเพิ่มน้ำหนักปัญหาให้ขึ้นไปถึงเวทีโลก และที่สำคัญประชาชนจำนวนมากจะต้องให้การสนับสนุน แต่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังห่างไกลจากจุดดังกล่าวมาก และเชื่อว่าหากใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ทุกอย่างก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน...


 


เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายที่ไม่แน่ใจนักว่าเป็น "คำปลอบ" หรือ "ความจริง" ของสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันนี้!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net