Skip to main content
sharethis

เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.4 ริกเตอร์ ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เผยอยู่ในรอยเลื่อนพลังพาดผ่านระหว่างเชียงดาว-เวียงแหง เบื้องต้นยังไม่รับรายงานความเสียหาย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวเตือนเฝ้าระวังฝึกซ้อมรับมือการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในอนาคต


 


ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ รายงานเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2549 ว่า เมื่อเวลา 12.15 น.ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.4 ริคเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณ ละติจูด 19.15 องศาเหนือ ลองติจูด 98.92 องศาตะวันออก ห่างจากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร หรืออยู่ที่บริเวณอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยในเบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย



นายสุธี วงศ์งาม ชาวบ้าน ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้สั่นสะเทือนไปทั่ว ทุกคนรู้สึกได้ แต่ก็ไม่ได้แตกตื่นกัน เพราะทำให้บ้านเรือนสั่นไหวเท่านั้น


 


ด้าน นายชนะชัย เศรษฐพัฒน์ นายอำเภอเชียงดาว ได้รับรายงานการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้แล้ว และออกทำการตรวจสอบพบว่าจุดที่ไหวรุนแรงที่สุดอยู่ที่ตำบลเมืองงาย โดยประชาชนรู้สึกได้ถึงการสั่นสะเทือน แต่ทุกคนก็ไม่ได้ตกใจอะไร และเบื้องต้นประชาชนก็ไม่ทราบว่าเป็นแผ่นดินไหว มาทราบจากการตรวจสอบของทางราชการภายหลัง ซึ่งจากการออกตรวจสอบซ้ำถึง 2 รอบ ก็ยังไม่พบว่ามีความเสียหาย และคาดว่าคงจะไม่ความเสียหายใดเกิดขึ้น


 


ก่อนหน้านั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ได้เปิดเผยต่อ "ประชาไท" ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวทางภาคเหนือ ดอยหลวงเชียงดาวอาจทรุด เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูนที่เปราะบาง อีกทั้งตั้งอยู่ในเขตรอยเลื่อนเมืองแหง กับรอยเลื่อนเชียงดาว


 


นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ กล่าวว่า ในกรณีหากเกิดแผ่นดินไหวในเขตภาคเหนือ ซึ่งเกิดแรงงัดเปลือกโลก จนทำให้เกิดแนวแผ่นดินไหวเป็นรอยเลื่อนใหญ่ตั้งแต่เกาะชวา เกาะสุมาตรา ทะเลอันดามัน เคลื่อนยาวไกลไปถึงพม่าตอนเหนือ ซึ่งอาจทำให้ภูเขาหินปูน โดยเฉพาะดอยหลวงเชียงดาวซึ่งมีความเปราะบางมาก อาจส่งผลต่อการสั่นสะเทือนทรุดได้


 


"สาเหตุนั้น เนื่องมาจาก มีรอยเลื่อนมีพลังอยู่ในเขต อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ด้วย คือ รอยเลื่อนเมืองแหง ที่พาดผ่านระหว่าง อ.เชียงดาว และ อ.เวียงแหง ซึ่งประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงตะวันตกเฉียงใต้ กับตะวันตกเฉียงใต้ ถึง ตะวันออกเฉียงใต้ สลับกันไปมา มีความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร นอกจากนั้น ยังมีรอยเลื่อนเชียงดาว ซึ่งพาดผ่าน ตัว อ.เชียงดาว ไปในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึง ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความยาวประมาณ 54 กิโลเมตร" นายอดิศร กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ ยังได้เตือนให้ประชาชนที่อยู่ตามแนวเขตรอยเลื่อน ควรเตรียมพร้อมที่จะรับมือกรณีเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต โดยมีการซักซ้อม เพื่อไม่ให้แสดงความตื่นตระหนกตกใจ เพราะความตื่นตกใจเป็นสาเหตุใหญ่ที่สร้างความสูญเสีย


 


ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2548 ที่ผ่านมา บริเวณเทือกดอยหลวงเชียงดาวได้ทรุดพังทลายลงมาบางส่วน ซึ่งทำให้คนท้องถิ่นแปลกใจ และตั้งข้อสังเกตว่า ปกติภูเขามักจะทรุดพังในหน้าฝนหลังจากดินมีการอุ้มน้ำ แต่ครั้งนี้มีการทรุดตัวในหน้าแล้ง อีกทั้ง มีการรายงานว่า มีการสำรวจพบว่า ระดับความสูงของดอยหลวงเชียงดาวลดลงจากเดิม 150 เซนติเมตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net