Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่ามีการหารือของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เกี่ยวกับการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยในการประชุมวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรอบเอฟทีเอที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา คือ สหรัฐและอินเดีย โดยเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานของ กกร. เพื่อศึกษาผลกระทบและท่าทีของภาคเอกชนให้เสร็จภายในปลายปี 2549 เพื่อเสนอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการต่อไป


 


ทั้งนี้ กกร.ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย


 


นายสันติมั่นใจว่า หากมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเร่งขั้นตอนต่างๆ เชื่อว่าการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐอาจเสร็จตามกำหนดเวลาที่สหรัฐตั้งไว้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรเร่งดำเนินการต่อ เพราะสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยประเด็นเจรจาเรื่องการค้าอุตสาหกรรมไม่น่าเป็นห่วง แต่จะเป็นห่วงในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตรยา โดยจะเสนอให้ กกร. เป็นตัวกลางในการนำเสนอข้อมูลการเจรจาแต่ละรอบ มาทำความเข้าใจกับภาคประชาชนและเอ็นจีโอ


        


แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท. กล่าวว่า คณะกรรมการเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐของ ส.อ.ท.กำหนดให้ทั้ง 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. แสดงจุดยืนต่อการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ขณะนี้มีกลุ่มอุตสาหกรรมแสดงจุดยืนมาแล้ว 22 กลุ่ม โดย 21 กลุ่มเห็นด้วยกับการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐ เช่น เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ยานยนต์ ยกเว้นอุตสาหกรรมยาที่ไม่เห็นด้วย


 


นายเชิญพร เต็งอำนวย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มยาไม่เห็นด้วยที่จะเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามที่สหรัฐเสนอมา โดยยอมรับข้อเสนอด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามกรอบองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เท่านั้น เพราะข้อเสนอของสหรัฐกำหนดให้ไทยต้องคุ้มครองสิทธิบัตรยาถึง 25 ปี ขอคุ้มครองข้อมูลยา 5 ปี หากรับข้อเสนอทำให้ขีดความสามารถของผู้ผลิตยาไทยลดลง


 



ขณะที่ดร.ขัติยา ไตรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เห็นด้วยที่จะมีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ หากลงนามเอฟทีเอได้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกของไทยจะขยายตัวในตลาดสหรัฐมากขึ้น ถ้าหากเจรจาไม่สำเร็จ จะมีผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ น่าเป็นห่วงว่าการลงทุนจะไหลไปมาเลเซียมากกว่าไหลเข้ามาไทย


 


นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอ ต้องรอรัฐบาลใหม่มาดำเนินการ และขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใหม่จะสนับสนุนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบเอฟทีเอต่อไปหรือไม่ โดยสภาหอการค้าฯ เห็นว่าการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ ควรดำเนินการต่อไป แต่ระหว่างที่เป็นรัฐบาลรักษาการก็ควรใช้โอกาสนี้ในการศึกษาข้อดีข้อเสีย การเตรียมข้อมูลการเจรจาไว้ก่อน


 



นายประมนต์กล่าวอีกว่า หากไทยไม่สามารถทำเอฟทีเอกับสหรัฐได้ จะทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่สหรัฐจะไปทำเอฟทีเอด้วย โดยเฉพาะมาเลเซียและเกาหลีใต้ หากสามารถทำเอฟทีเอกับสหรัฐได้ก่อนไทย จะทำให้มีสินค้าส่งออกหลายชนิดที่ไทยจะเสียเปรียบ เช่น สิ่งทอ อาหาร


 



ด้านนายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ทั้งในรอบและนอกรอบ และการที่ภาคเอกชนจะระดมความเห็นท่าทีว่าควรจะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ต่อไปหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งภาครัฐพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ไม่เพียงภาคธุรกิจ แต่รวมถึงภาคประชาชน  และผู้ที่จะได้รับผลกระทบทุกฝ่ายด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net