Skip to main content
sharethis

9 ส.ค. 2549 นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา กล่าวถึงการสรรหาผู้สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าในการประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อลงมติสรรหา กกต. ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเวลา 09.00น. จะลงมติสรรหา 5 คนที่เป็นอำนาจศาลฎีกาโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ม. 138 (2)



จากนั้นเวลา 13.30 น. จะลงมติสรรหาอีก 5คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (3) ที่เป็นอำนาจของศาลฎีกาสรรหาแทนคณะกรรมการสรรหาที่ปัจจุบันขาดองค์ประกอบจากตัวแทนพรรคการเมืองจึงไม่สามารถดำเนินการสรรหาได้ โดยการสรรหาทั้ง 2 รอบนั้นจะแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 3 รอบ ในแต่ละรอบผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้ง 86 คน จะได้รับบัตรลงคะแนนซึ่งมีหมายเลขของผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ตั้งแต่ 1 - 42 โดยผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสิทธิลงคะแนนได้ 5 หมายเลข ซึ่งในรอบแรกจะคัดเลือกจากทั้งหมดจำนวน 42 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 30 อันดับแรก จะผ่านเข้าสู่การคัดเลือกรอบสอง ซึ่งก็จะใช้วิธีการเดียวกันแต่จะคัดเลือกให้เหลือ 10 คน



ส่วนรอบสุดท้ายจะคัดเลือกเหลือผู้ที่สมควรเป็น กกต. 5 คน ซึ่งแต่ละคนต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด คือ 44 เสียง หากมีผู้ได้รับคะแนนเสียงเกินหนึ่งหนึ่งมากกว่า 5 คน ก็จะเอาผู้ที่ได้รับ คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก



เลขานุการศาลฎีกา กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ร่วมสมัครคัดเลือกเป็น กกต. ก็มีสิทธิลงคะแนน และสามารถลงคะแนนให้กับตัวเองได้ เหมือนการเลือกเลือกตั้งทั่วไป อาทิ ส.ส. และ ส.ว. หากปรากฎว่ามีผู้พิพากษาศาลฎีกาได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรเป็น กกต. จำนวนมาก ก็เป็นมติของ ที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่เกิดข้อครหา



ขณะที่แหล่งข่าวผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า การสรรหาผู้สมควรเป็น กกต. 10 คนให้วุฒิสภาคัดเลือกนั้น ผู้พิพากษาศาลฎีกาไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนว่า จะต้องมีผู้พิพากษา หรือคนนอกจำนวนเท่าใด ซึ่งคิดว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคน จะต้องเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดอยู่แล้ว หากผู้พิพากษาศาลฎีกาจะเลือกผู้พิพากษาไปทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ก็เป็นเพราะเห็นว่ามีความเหมาะสม สำหรับคนภายนอกก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นอดีต กกต. เพราะมีประสบการณ์จัดการเลือกตั้ง หรือบุคคลที่เคยทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลมาก่อน เพราะถ้าทำอย่างนั้น จะได้บุคคลที่ไม่เป็นกลาง ซึ่งต้องใช้ความละเอียดรอบครอบในการสรรหา



ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบุคคลจำนวน 10 คนที่คาดว่าน่าจะมีรายชื่อติดโผถูกเสนอชื่อเป็น กกต.ประกอบด้วย


 


1. นายวิชา มหาคุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา อายุ 60 ปี


 


2. นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอาญากรุงเทพใต้ อายุ 67 ปี อดีตเคยเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ปี 2540 -2542 และรองประธานศาลฎีกา ปี 2536 -2540


 


3. นายอมรศักดิ์ นพรัมภา อดีตเป็นเลขานุการศาลอาญา อายุ 61 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบการศึกษาเนติบัณิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเติบัณฑิตยสภา และเนติบัณฑิตอังกฤษ จาก LINCON"s Inn LONDON ปัจจุบันลาออกจากราชการตุลาการ ดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)



4. นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีต กกต. ชุดเดียวกับนายธีรศักดิ์ กรรณสูตอายุ 75 ปี และอดีตประธานศาลฎีกาผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงวิกฤติตุลาการ อดีตประธานศาลฎีกา


 


5.นายธีรศักดิ์ กรรณสูต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาศาลอุทธรณ์ อายุ 76 ปี ซึ่งเป็นอดีตประธาน กกต. ชุดแรกปี 2540- 2544


 


6.นายนาม ยิ้มแย้ม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดค้านคดีเลือกตั้ง อายุ 70 ปีอดีตเป็นประธานศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา



7.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา อายุ 59 ปี ผู้พิพากษา ซึ่งเคยมีบทบาทเป็นพยานให้สื่อมวลชนที่เป็นจำเลยคดีถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่เขียนบทความวิจารณ์การตัดสินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้น


 


8.นายประพันธ์ นัยโกวิท รองอัยการสูงสุดอายุ 59 ปี


 


9.นายแก้วสรร อติโพธิ รักษาการ ส.ว.กทม และ


 


10.น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ผู้พิพากษาอาวุโส แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในศาลจังหวัดนนทบุรี อายุ 66 ปี


 


 


 


ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net