Skip to main content
sharethis


 


 


โดย องอาจ เดชา


 


เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า ในห้วงขณะนี้ เอเชียกำลังกลายเป็นภูมิภาคที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศต่างมีแผนจะสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หลายฝ่ายก็ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย เนื่องจากหวั่นเกรงกันว่า นอกจากจะไม่ปลอดภัยต่อชีวิตผู้คนแล้ว อาจเป็นการบ่มเพาะเชื้อสงครามไว้ในภูมิภาคนี้ในอนาคตอีกด้วย


 


ในส่วนของกลุ่มที่เสนอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น ต่างออกมาพูดกันว่านี่คือพลังงานทางเลือก ประหยัดต้นทุน ช่วยลดปัญหาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ รวมทั้งช่วยลดมลภาวะในอากาศ เป็นต้น


 


นายจอห์น ริท์ช ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมนิวเคลียร์โลก ได้ออกมาระบุว่า ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียมีการสร้างเตาปฏิกรณ์อยู่ทั่วไป มีประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้เป็นแกนนำ ส่วนจีนและอินเดีย แม้ตามมาภายหลังแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยประเมินว่าภายในกลางศตวรรษนี้ โครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใน 2 ประเทศนี้จะมีจำนวนสูงถึง 250 เตา ซึ่งแค่ประเทศจีนเพียงประเทศเดียวมีแผนที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ถึง 30 เตาภายในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมดราว 9 เตา ภายใต้แผนขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ


 


ส่วนในประเทศอินเดีย มีแผนสร้างเตาปฏิกรณ์ทั้งสิ้น 15 เตา โดยกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ 9 เตา ส่วนเกาหลีใต้ ยิ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมากกว่าประเทศอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วน 97% ของการใช้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้หันพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีเตาปฏิกรณ์อยู่ราว 20 เตา ผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการในประเทศได้ราว 40% และรัฐบาลยังมีแผนสร้างเพิ่มอีก 8 เตา


 


ในขณะที่ประเทศไทย ก็มีการพยายามดันแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน โดย ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) ก็ออกมากล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะทำให้มีไฟฟ้าใช้ในราคาไม่แพง จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศเริ่มก้าวนำในเรื่องนี้แล้ว เช่น เวียดนามและอินโดนีเซียก็กำลังเตรียมที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในขณะที่มาเลเซียกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ และหากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มต้นก่อน จะทำให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยแพ้


 


นอกจากนั้น เลขา ปส. ยังได้กล่าวถึงข้อดีทางด้านเศรษฐกิจของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีกว่า ใช้ปริมาณเชื้อเพลิงต่ำ โดยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ 21 ตันเทียบเท่ากับเชื้อเพลิงถ่านหินถึง 33 ล้านตัน และการลงทุนสร้างในราคา 5 หมื่นล้านบาทขึ้นไปนั้น จะได้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีกำลัง 600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยเพียง 2.5 บาทเท่านั้น


 


เลขา ปส. ยังบอกย้ำด้วยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึงปีละ 1 ล้านๆ ตัน ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลไม่สามารถควบคุมการกระจายของมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้ แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถควบคุมการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีได้


 


อีกทั้ง ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ยังได้ร่วมกันจัดเวทีให้ความรู้ประชาชนในเรื่อง"การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์" โดยมีผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและจาก 17 ประเทศมาให้ความรู้ในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างก็ออกมายืนยันในทำนองเดียวกันว่า นิวเคลียร์มีต้นทุนการผลิตต่ำสุด และราคาเชื้อเพลิงไม่ขึ้น-ลง เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า และราคาถ่านหินเพิ่มขึ้น 2 เท่า


 


นอกจากนั้น ยังมีการพูดย้ำถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่มีเพียงปัญหาเรื่องกากกัมมันตรังสีซึ่งสามารถจัดเก็บได้ และความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าก็สูงมาก


 


กลุ่มพลังงานทางเลือกออกโรงต้านแนวคิดเลขา ปส.


อย่างไรก็ตาม กระแสการคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไทย ก็เริ่มมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายฝ่ายต่างหวั่นเกรงกันว่า พลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ใช่ทางออกในเรื่องการหาพลังงานทดแทน


 


น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก ได้ออกมาโต้ ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส.ว่า แทนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะออกมาเป็นตัวตั้งตัวตี ปส.กลับมาทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อแทน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะระบุลอยๆ ไม่ได้ ควรทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ปส.เองก็ยังไม่พร้อมโดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างองค์กร บุคลากรต่างๆ และตัวบทกฎหมาย เห็นได้ชัดจาก พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 จนบัดนี้ยังไม่ได้รับการปรับปรุง



น.ส.ไอดา ยังกล่าวด้วยว่า การจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องมีความพร้อมหลายด้าน ทั้งหน่วยงานที่ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำการประเมินในเรื่องทั่วไป ไม่ได้เจาะจงถึงผลกระทบด้านการแพร่กระจายของรังสี ไม่มีความพร้อมของโรงพยาบาลที่มีหน่วยแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยทางรังสี ไม่มีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางนิวเคลียร์เพื่อเป็นหลักประกันกรณีเกิดอุบัติเหตุ ทำไมต้องเลือกนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่เสี่ยงมาก ปส.ไม่ควรออกมากล่าวลอยๆ


 


ทำไมแผนสร้าง รง.ไฟฟ้านิวเคลียร์ถึงหันหน้ามาที่เอเชีย


นอกจากนั้น ยังทำให้อีกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตกันว่า แล้วทำไมแผนการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์จึงมุ่งหน้ามาในแถบเอเชียกันอย่างต่อเนื่องเช่นนี้


 


"นี่เป็นการพยายามฮึดเป็นทางออกสุดท้าย ที่มีการพยายามจะมาสร้างในภูมิภาคเอเชียเพราะว่าทางแถบทวีปยุโรปเขาไม่เอา ไม่เล่นด้วยแล้วเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นี่ล่าสุด รัสเซียกำลังพยายามเจรจาสร้างที่เวียดนามอยู่ในขณะนี้"ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวไว้ชวนให้ฉุกคิด


 


ด้าน อ.ชัชวาล บุญปัน คณะฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มองว่า หากมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย ก็เท่ากับการบ่มเพาะเชื้อสงครามเอาไว้ในไทยด้วยเช่นกัน เพราะในที่สุดก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธทำลายล้างกันได้ในอนาคต


 


นั่นหมายความว่า ยิ่งประเทศในแถบเอเชียต่างพากันรีบเร่งที่จะให้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์เพื่อทดแทนการบริโภคน้ำมันและพลังงานประเภทอื่นมากขึ้นเท่าใด นั่นเท่ากับว่ายิ่งอาจเป็นการเปิดโอกาสให้ขบวนการ ก่อการร้ายเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในการเข้ามาก่อการสงครามเร็วมากขึ้นหรือไม่!?


ย้อนมองการเสื่อมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอเมริกา-ยุโรป


ว่ากันว่า ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปยุคทองของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ผ่านพ้นไปแล้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุดในโลก คือ 112 โรง หลังจากนั้นไม่เคยอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกเลย ขณะเดียวกันก็ยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวจำนวน 120 โรง


จากรายงาน พบว่า ในระหว่างปี 2493-2533 ชาวอเมริกันต้องจ่ายภาษีจำนวน 9,840 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างและดำเนินงานโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขณะเดียวกันกับที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 2.25 บาท เป็น 2.55 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง นักวิเคราะห์ด้านพลังงานคนหนึ่งถึงกับรายงานว่า เป็นเรื่องยืนยันได้ว่า ต้นทุนโดยเฉลี่ยของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ จะสูงเป็นสองเท่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซ ในเวลาเดียวกัน


กระทั่ง "Forbes" นิตยสารชั้นนำของอเมริกาถึงกับประกาศว่า "ความล้มเหลวของโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าเป็นความหายนะทางการบริหารอันใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจ"


นอกจากนี้ ธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ในอเมริกา ยังสร้างความเสียหายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยการทำเหมืองยูเรเนียมเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ยังได้ทิ้งสายแร่ที่แผ่กัมมันตรังสีอันตรายเอาไว้อีกประมาณร้อยละ 85 ของสารกัมมันตรังสีของแร่ทั้งหมด


ซึ่งสารกัมมันตรังสีเหล่านี้ จะมีอายุคงอยู่อีกเกือบล้านปี และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งในมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นิตยสาร Ecologist ได้ประมาณการณ์ว่า จะมีช่างอเมริกันจำนวน 40,000 คนที่ต้องตายด้วยโรคมะเร็งปอด ที่มีสาเหตุมาจากสารกัมมันตรังสีจากสายแร่เดิมเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีถิ่นอาศัยอยู่รายรอบเหมืองร้างเหล่านี้


ในฝรั่งเศส ซึ่งได้รับพลังงานไฟฟ้าถึงร้อยละ 40 จากพลังงานนิวเคลียร์ และมักมีการอ้างเป็นตัวอย่างเพื่อสนับสนุนฝ่ายที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้น ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของโครงการพลังไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้สร้างภาระหนี้สินให้แก่ฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก


 


กระทั่งปี 2535 การไฟฟ้าแห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นหนี้สินสะสมอยู่ 9.5 แสนพันล้านบาท และหนี้สินเหล่านี้ได้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมจำนวนมหาศาล และการที่โรงปฏิกรณ์ต้องลดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าลงเพื่อความปลอดภัย


ในแคนาดา Ontario Hydro อันเป็นหน่วยงานผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้ระงับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 10 แห่งไปแล้ว


ส่วนที่เยอรมนี ปัจจุบัน ไม่มีการอนุมัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกเลยนับแต่กลางทศวรรษ 1970 และมีแนวโน้มที่จะมีการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างมีบทเรียนความเลวร้ายที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะการระเบิดในรัสเซีย และที่สำคัญ กากขยะนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจากการผลิตปรมาณู นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลเยอรมันนี เพราะไม่มีแหล่งกำจัด


 


หลังจากนั้นไม่นานประชาชนสวีเดน สวิตเซอแลนด์ อิตาลี สเปน ออสเตรีย และกรีซ ก็ได้ลงประชามติให้เริ่มลดโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ก็ยุติการก่อสร้างไปเลย ส่งผลให้รัฐบาลในประเทศเหล่านี้ยุติการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์


 


นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2535 รัฐบาลเบลเยียมได้ประกาศระงับการขยายโครงการพลังงานนิวเคลียร์แห่งใหม่ในยุโรปคงมีฝรั่งเศสประเทศเดียวที่ยังขยายโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์อีกต่อไป
 กล่าวได้ว่าเอเซียดูจะเป็นภูมิภาคเดียวในโลกที่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้โดยการผลักดันจากประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ในประเทศของตนแล้วเช่น แคนาดา


 


อย่างไรก็ตามกระแสการคัดค้านก็ยังมีอยู่ในหลายประเทศของเอเชีย โดยเฉพาะที่ไต้หวัน รัฐสภาไต้หวันก็ได้มีการลงมติให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ ขณะเดียวกันประชาชนเมืองมากิ ในญี่ปุ่น ก็ได้ลงประชามติไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองของตน
 


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความปลอดภัยจริงหรือ?


การระเบิดของ "เชอร์โนบิล" เมื่อ พ.ศ.2529 ในประเทศรัสเซียขณะนั้น หรือประเทศยูเครนในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ฝังใจผู้คนในวงกว้าง ซึ่งทำให้หลายคนไม่มั่นใจความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 442 โรง แต่มีข้อมูลว่าเกิดอุบัติเหตุจริงๆ เพียง 9 ครั้ง และมียอดมีชีวิตฉับพลันจากอุบัติเหตุเพียง 34 คน และผู้บาดเจ็บอีก 203 คน


 


แต่จากการศึกษาขององค์การสหประชาชาติซึ่งได้ติดตามผลกระทบใน 20 ปีต่อมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมไทรอยด์จากการได้รับสารรังสีในเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 4,000 คน และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพจิต นั่นจึงไม่แปลกหากคนในสังคมจะตั้งคำถามว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน


แม้ว่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาโดยตลอด แต่ยังไม่มีหลักประกันว่า
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปลอดภัยอย่างเต็มที่ ข่าวคราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้าเคลียร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องที่เป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก


 


อย่างกรณีเมื่อเดือนธันวาคม 2538 โรงไฟฟ้ามอนจูของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการนิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุดทั้งของญี่ปุ่นและของโลก หลังจากเปิดเดินเครื่องมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น ก็เกิดอุบัติเหตุสำคัญจนต้องปิดโรงงานไปมีกำหนด 3 ปี ความผิดพลาดในระบบระบายความร้อนของโรงไฟฟ้าดังกล่าวทำให้โซเดียมเหลวรั่วไหลออกมาถึง 3 ตัน ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่งเนื่องจากเมื่อมันกระทบกับอากาศจะมีฤทธิ์ระเบิดรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 2 แห่งของญี่ปุ่น จนต้องปิดกะทันหัน โดยที่ก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่น ๆ อีก


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเป็นชนิดเดียวกับของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้อุบัติเหตุเกือบทุกชนิดที่เกิดกับญี่ปุ่นก็เคยเกิดในสหรัฐอเมริกามาแล้ว และมีการคาดกันว่าจะมีแนวโน้มที่จะเกิดต่อไป โดยกรณีโรงไฟฟ้ามอนจูเป็นหลักฐานยืนยันว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบล่าสุดยังไม่ใช่ข้อยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยและวินัยของคนงานญี่ปุ่นนั้นจัดว่าเข้มงวดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
 


ทางด้านฝรั่งเศส ก็พบว่า โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นสูงกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของฝรั่งเศส (EDF) ประมาณการไว้ถึง 20,000 เท่า ขณะเดียวกันรายงานลับ ของ EDF ที่รั่วไหลสู่สาธารณชนเมื่อปี พ.ศ.2533 ก็ระบุว่าโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงในฝรั่งเศสเมื่อถึงปีพ.ศ.2543 นั้น มิใช่ 1 ต่อล้านอย่างที่คิด หากเป็น 1 ต่อ 20
 


ถึงแม้จะยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตทันทีจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหลาย(ยกเว้นกรณีเชอร์โนบิล) แต่ปัจจุบันยังมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่ากัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจมีผลต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ใกล้ๆได้ 


 


นี่เป็นเพียงบางส่วนของความซับซ้อน ความละเอียดอ่อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ทำให้หลายฝ่ายพากันวิตกกังวลว่า อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประเทศไทยและในเขตภูมิภาคเอเชียในอนาคต


โดยเฉพาะการก่อสงคราม


 


ซึ่งดูได้จากกรณีที่ผ่านมา อเมริกาได้ใช้อาวุธ "กากยูเรเนียม" (ซึ่งแร่ยูเรเนียม ก็คือส่วนประกอบหนึ่งที่นำมาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์) ในการโจมตีอิรักและอัฟกานิสถาน และ อิสราเอลก็ได้ใช้อาวุธชนิดนี้โจมตีชาวเลบานอนเช่นกัน (กระสุนเจาะเกราะ) ล่าสุด อเมริกาได้ส่งอาวุธกากยูเรเนียมมาเพิ่มเติมให้อิสราเอลแล้ว นั่นก็คือระเบิดบังเกอร์บัสเตอร์ GBU-28 อานุภาพทำลายล้างมโหฬาร จำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ยูนิต


 


 


 


 


ข้อมูลและที่มา


www.greenpeace.org/international


จับตานิวเคลียร์ ปีที่ 1 เม.ย.2537


กลุ่มศึกษาปัญหานิวเคลียร์ วารสารสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 7 ปีที่ 2 ประจำเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2540


ผู้จัดการออนไลน์ "26 ก.ค.2549 "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ทางออกวิกฤตพลังงาน "ถูก-สะอาด-เพียงพอ


ผู้จัดการออนไลน์ 3 ส.ค.2549 "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ปลอดภัยแค่ไหนขึ้นกับคนใช้


มติชน 5 ส.ค.2549 "เอ็นจีโอแขวะไม่ใช่หน้าที่ปส. ผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์"


ฐานเศรษฐกิจ 5 ส.ค.2549 "เอเชียบูมแผนสร้างโรงงานนิวเคลียร์"


อุทัยวรรณ เจริญวัย ประชาไท 7 ส.ค.2549 "สงครามที่ไม่มีพลเรือน : Human Rights Watch เช็คบิลอิสราเอล"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net