แนะตั้งองค์การมหาชนพัฒนาทะเลสาบสงขลา

ประชาไท—11 ส.ค. 2549 ประเมินผลพัฒนาทะลสาบสงขลา ยังไม่เข้าเป้า วินัย เสนเนียม จี้ประเมินผลปิดปากระวะ ประกาศชัดจะนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลหนุนเปิดปากระวะใหม่ ภาคประชาชนแนะตั้ง "องค์การมหาชนพัฒนาเลทะเลสาบสงขลา" บริษัทฯ ที่ปรึกษาขานรับนำเสนอ สผ.

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2549 ที่โรงแรม เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดสัมมนาโครงการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานงบประมาณในเชิงบูรณาการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ครั้งที่ 2 มีผู้เข้าร่วม 150 คน

 

นายสุรพล พรหมกสิกร คณะทำงานโครงการติดตามประเมินผลฯ นำเสนอการประเมินผลภาพรวมของบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัดว่า เป็นการติดตามประเมินผลจนถึงสิ้นปี 2548 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แยกเป็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

นายสุรพล นำเสนอว่า ผลของการดำเนินโครงการตามแผนฯ ในภาพรวม ยังมีผลผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผน ถึงแม้ว่าผลผลิตส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมายรายปี รายโครงการ ทั้งนี้โครงการที่ดำเนินการตามแผนส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมโดยตรง การขยายผลของโครงการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตามเป้าหมายของแผนงาน ควรได้รับการพิจารณาให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมผู้รับประโยชน์โดยทั่วถึง และเพื่อให้เกิดผลใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผน

 

นายวินัย เสนเนียม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา กล่าวต่อที่ประชุมว่า ทีมงานไม่ได้มีการประเมินเรื่องการปิดคลองปากระวะ รวมทั้งผลกระทบจากการตื้นเขินของคลอง 11 สาย ที่เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย ซึ่งมีการพูดกันมากว่าส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา

 

นายวินัย กล่าวด้วยว่า ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พบว่ามีผลการดำเนินงานคล้ายกัน โดยปัญหาที่พบ คือ การไม่บูรณาการเข้าหากันของหน่วยงานรัฐ กรมชลประทานกับกรมประมง ก็ไม่เคยมาหารือกันเรื่องผลกระทบจากการปิดคลองปากระวะ ตนพร้อมจะสนับสนุนให้เปิดเขื่อนปากระวะ แต่ขอให้ประเมินหรือศึกษาให้ชัดเจนก่อน

 

นายพายัพ พยอมยนต์ หัวหน้าโครงการติดตามประเมินผลฯ ของบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด นำเสนอปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการตามแผนว่า การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ขาดประสานกิจกรรมในลักษณะการพัฒนาเชิงพื้นที่ การตั้งงบและเบิกจ่ายขาดความยืดหยุ่นและความคล่องตัว

 

นายพายัพ เสนอต่อว่า ส่วนด้านการติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดเก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ และขาดความต่อเนื่อง การวัดผลลัพธ์ ไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น ด้านการติดตามประเมินผล โดยการมีส่วนร่วม ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของกลุ่มเป้าหมายและนโยบาย งบประมาณและเวลามีจำกัด ไม่สอดคล้องของความต้องการ ขาดการประสานประโยชน์ร่วมกันของแต่ละฝ่าย และขาดการประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน

นายพายัพ เสนอแนะว่า รัฐควรเพิ่มงบประมาณ โดยจัดสรรในรูปแบบงบประมาณมุ่งผลงานตามยุทธศาสตร์ โดยยึดตามกรอบยุทธศาสตร์ตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ส่วนการกำหนดแผนงานและจัดตั้งงบประมาณในพื้นที่เป้าหมาย ควรดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ แยกจากงบและแผนปกติ โดยให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเจ้าภาพในการติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวบรวม ปรับปรุงและจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ

 

นายพายัพ เสนอต่อว่า การติดตามประเมินผลด้านประสิทธิผล ควรดำเนินการในระยะยาว ส่วนการติดตามประเมินผลโดยการมีส่วนร่วม ภาครัฐต้องสนับสนุนและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และควรปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการจากปีต่อปี เป็นโครงการต่อเนื่อง ระยะ 3 ปี 5 ปี เป็นต้น

 

นายกาจ ดิษฐาอภิชัย คณะทำงานติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการฯ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองท่าเชียด จังหวัดพัทลุง เสนอว่า การจัดทำแผนการพัฒนาของรัฐยังคงเป็นแบบจากบนลงล่าง ประชาชนเป็นเพียงชิ้นส่วนไม่ใช่หุ้นส่วน ทำให้โครงการต่างๆ ไม่ประสบผลเท่าที่ควร ดังนั้นในการทำแผนพัฒนา รัฐจะต้องสร้างนักวิจัยท้องถิ่นด้วย เพราะนักวิจัยท้องถิ่นอาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นเอง ย่อมมีใจที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองให้ดีที่สุด และนักวิจัยเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสื่อที่มีคุณภาพในท้องถิ่น เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชาชน ดังนั้น รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อการนี้ด้วย

 

นายกาจ เสนอต่อว่า นอกจากนี้ ตนขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณเฉพาะในการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยใช้รูปแบบพิเศษ เช่น ตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาดูแล และให้จัดสรรงบส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านจัดทำโครงการเอง เพื่อให้เกิดทักษะ ความรู้ จัดการปัญหาของตัวเองได้ สามารถปกป้องตัวเองจากโครงการที่ไม่สอดคล้องกับชุมชน และสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐได้ ไม่ใช่ให้หน่วยงานรัฐคิดและทำโครงการเองทุกอย่าง

 

นายพายัพ กล่าวว่า ปัจจุบันระเบียบการเงินของราชการ ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันผลักดัน คือ การออกพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะระบุถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ไม่มีรายละเอียดให้มีส่วนร่วมอย่างไร

 

ส่วนการตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาดูแลทะเลสาบสงขลา ผมคิดว่าสามารถทำได้ มีตัวอย่างมาแล้ว จากการตั้งองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดูแลพื้นที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ทางบริษัทฯ จะพิจารณาความเป็นไปได้ แล้วนำเสนอสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท