Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 17 ส.ค. 2549 หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้ไปชุมนุมเรียกร้องที่หน้าบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น ให้ถอนคำขอสิทธิบัตรยาต้านไวรัสคอมบิด (Combivir) เนื่องจากยาไม่มีความใหม่และไม่มีการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งในวันเดียวกันนั้น เครือข่ายผู้ติดเชื้อและภาคประชาสังคมอินเดียก็ได้มีการประท้วงและยื่ข้อเรียกร้องเช่นเดียวกัน


 


ต่อมาในวันพุธที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์นได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังเครือข่ายระบุว่า "เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 บริษัทฯได้สั่งการให้ตัวแทนที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรในประเทศในประเทศไทยและอินเดียยื่นถอนคำขอสิทธิบัตรดังกล่าว ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีความคุ้มครองสิทธิบัตรสูตรเฉพาะยา Combid/Combivir ในประเทศไทยและอินเดียแต่อย่างใด"


 


อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สำนักงานทนายความ ดำเนิน สมศักดิ์ บุญมา ซึ่งเป็นตัวแทนที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรยาคอมบิดให้กับบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น เพิ่งยื่นหนังสือขอละทิ้งคำขอสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 1 วันหลังจากที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯไปประท้วงหน้าบริษัท ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการสิทธิบัตรกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร


 


นายวิรัตน์ ภู่ระหงษ์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงปัญหาการพิจารณาสิทธิบัตรและระบบทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย เพราะในขณะที่บริษัทฯรู้ตัวว่า คำขอไม่ดีพอที่จะได้สิทธิบัตร แต่คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิบัตรมีความพยายามที่จะให้สิทธิบัตรมาโดยตลอด


 


"ปัญหาเหล่านี้ จะยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น หากมีเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ เพราะข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ นอกจากการต้องการขยายสิทธิบัตร ต้องการผูกขาดข้อมูลแล้ว ยังพยายามเร่งรัดและรวบรัดกระบวนการออกสิทธิบัตร แม้ในขณะนี้ที่ยังไม่มีเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร โดยตัดสิทธิการคัดค้านก่อนที่จะออกสิทธิบัตร หรือที่เรียกว่า Pre-grant Opposition ไปเป็นคัดค้านหลังการออกสิทธิบัตรแทน จะยิ่งทำให้การออกสิทธิบัตรไม่มีความรอบอบเลย"


 


ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ระบุว่า การที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะยาต้านไวรัสเท่านั้น แต่หากปล่อยให้ยาที่ไม่มีการประดิษฐ์ใหม่ได้รับสิทธิบัตรอย่างง่ายๆ ยาสำหรับโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคไต ฯลฯจะได้รับผลกระทบไปด้วย การปล่อยให้มีการผูกขาดสิทธิบัตรอย่างไม่มีความเหมาะสมเช่นนี้ จะทำให้ยามีราคาแพง คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงยา และจะทำลายระบบหลักประกันสุขภาพที่ประเทศไทยกำลังดำเนินอยู่ เพราะไม่มีงบประมาณมากเพียงพอมารองรับค่าใช้จ่าย


 


ทางด้านนายพอล คอว์ธอร์น ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ชัยชนะของภาคประชาสังคมไทยที่สามารถกดดันให้บริษัทยาข้ามถอนคำขอสิทธิบัตรครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นชัยชนะของคนไทยเท่านั้น บริษัทฯระบุว่า ได้ถอนคำขอสิทธิบัตรในอินเดียด้วย ซึ่งอินเดียมีอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญที่ผลิตยาเพื่อการบริโภคในประเทศกำลังพัฒนาถึงร้อยละ 80 ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่บรรษัทยาข้ามชาติทุกบริษัทจะมีสำนึก อย่าง บริษัทแกล็กโซ ที่รู้ตัวดีว่า ยาของบริษัทไม่มีคุณสมบัติพอที่จะขอสิทธิบัตรจึงตัดสินใจถอนคำขอ แต่ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีพฤติกรรมเลวร้ายในการแสวงหากำไรบนชีวิตคน ซึ่งต้องอาศัยแรงกดดันจากภาคประชาสังคมเพื่อให้บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนพฤติกรรม


 


"อย่างในกรณีของบริษัทแอ็บบอท (Abbott) ที่ผลิตยาต้านไวรัส Kaletra ในรูปแบบที่ดีขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลงเพื่อขายเฉพาะตลาดในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ยอมขายหรือมาขึ้นทะเบียนตำรับในประเทศกำลังพัฒนา โดยเอายาตกรุ่นมาทำตลาดในประเทศกำลังพัฒนาแทน และถึงแม้ว่า ล่าสุด บริษัทแอ๊บบอทจะประกาศลดราคายาให้ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีรายได้ระดับกลางอย่างประเทศไทย จาก 2,700เหรียญสหรัฐฯ ต่อผู้ป่วยต่อปี (102,600 บาท) ไปอยู่ที่ 2,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อผู้ป่วยต่อปี (83,600 บาท) แต่ก็ยังเป็นราคาที่แพงมาก"


 


ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) เปิดเผยด้วยว่า วันนี้ ในการประชุมเอดส์โลกที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ธนาคารโลกได้นำเสนอรายงาน "การประเมินผลทางเศรษฐกิจของความมีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายให้การรักษาเอชไอวีเอดส์ในประเทศไทย" (The Economic of Effective AIDS Treatment Evaluating Policy in Thailand) ซึ่งในการแถลงข่าวระบุ 3 ประเด็นที่สำคัญคือ


1. โครงการให้ยาต้านไวรัสในไทยสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งคุณภาพ และราคาโดยใช้ยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม 2. การให้ผู้ติดเชื้อฯมีส่วนร่วมในการจัดการบริการร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในโครงการฯของไทยทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ 3. ที่ธนาคารโลกมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยหากลไกทางกฎหมายเพื่อทำให้ราคายาต้านไวรัสสูตรสำรอง (Second Line Drugs) ที่ต้องใช้ในโครงการหลักประกันสุขภาพมีราคาลดลง


 


ทั้งนี้ จากรายงานของธนาคารโลก ถ้ารัฐบาลไทยไม่ดำเนินการใดๆ จะต้องเพิ่มงบประมาณในโครงการถึง 5 เท่าในระยะเวลา 15 ปี


 


สิ่งที่ธนาคารโลกเสนอแนะคือ ให้ไทยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory License) หรือการใช้สิทธิโดยรัฐ (Government Use) เพื่อผลิตยาหรือนำเข้ายาซึ่งเป็นสิทธิของทุกประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จากตัวเลขของธนาคารโลกชี้ว่า ด้วยการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิจะสามารถลดราคายาต้านไวรัสสูตรสำรองถึง 90% สามารถลดภาระงบประมาณแผ่นดินถึง 127,000 ล้านบาทในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ซึ่งการบังคับใช้สิทธิเปนเรื่องถือปฏิบัตทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในประเทศกำลังพัฒนาเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่เกรงการแซงชั่นจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งๆที่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของแต่ละประเทศ


 


ทั้งนี้ ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมไทยเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในภาวะเช่นนี้ และที่ผ่านมากรณีของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่มีน้อยมากในโลก ที่ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อฯ นักวิชาการ เภสัชกร ทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในประเทศและระดับสากลร่วมมือกันทำงานเพื่อผลักดันการเข้าถึงยา


 


"สิ่งที่ไทยยังขาดอยู่ คงเป็นรัฐบาลที่มุ่งมั่นและกล้าหาญมากกว่านี้" นายพอล คอว์ธอร์น กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net