Skip to main content
sharethis

17 ส.ค. 2549 ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ เมธีวิจัยอาวุโส คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยและป้องกันโรคไข้หวัดนก แถลงผลการศึกษารหัสพันธุกรรมเชื้อไข้หวัดนกในการระบาดรอบที่ 4 ที่จังหวัดพิจิตร และนครพนม ว่า จากการวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดนกที่พบในปีนี้ทั้ง 2 แห่ง พบว่าเชื้อที่จังหวัดพิจิตรเป็นเชื้อชนิดเดิมที่เคยพบในประเทศไทยและเวียดนามอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2547


 


แต่เชื้อที่นครพนมเป็นเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบเชื้อแตกต่างจากเดิมที่เคยพบในประเทศไทย แต่ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าเชื้อนี้เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร


 


"ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ผมมิอาจตอบได้ แต่เรารู้ว่าเชื้อที่นครพนมไม่ได้เกิดจากเชื้อที่ภาคกลาง ซึ่งปี 47 กับ 48 ไม่ว่าเชื้อจากไทย เวียดนาม หรือมาเลเซีย เป็นเชื้อในกลุ่มเดียวกันหมด แต่พอมาปี 49 นี้ เชื้อในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มแล้ว"


 ศ. นพ.ยง กล่าวและว่า องค์ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมเส้นทางของโรค เพราะจะทราบต้นตอของเชื้อได้


         


สำหรับเชื้อไข้หวัดนกในโลกปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ที่พบในมณฑลจิงไห่ (Qing Hai) ประเทศจีน สายพันธุ์ที่พบในไทยและเวียดนาม สายพันธุ์ที่พบในอินโดนีเซีย และสายพันธุ์ที่พบทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมีรายงานระบุว่าเชื้อไข้หวัดนกที่พบในแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกานั้น เป็นสายพันธุ์ที่พบในมณฑลจิงไห่ ทำให้ยืนยันว่าไข้หวัดนกในแถบนั้นไม่ได้ติดเชื้อไปจากประเทศไทย


         


ศ. นพ.ยง เปิดเผยผลการวิจัยอีกว่า จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเชื้อไข้หวัดนกที่พบในประเทศไทย ยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญว่าจะเกิดการติดต่อของเชื้อจากคนสู่คนได้


        


การที่เจ้าหน้าที่ทำลายสัตว์ปีกต้องใช้ยาต้านไวรัสทามิฟลูก่อนเข้าไปทำลายสัตว์ จะมีโอกาสให้เชื้อเข้ามาสู่บุคคลนั้นและดื้อยาได้ ซึ่งต้องเฝ้าระวังและทำลายเชื้อนั้นให้หมด ไม่ทิ้งสายพันธุ์ที่ดื้อยาเอาไว้ เพราะจะสร้างปัญหากับผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ดื้อยา แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบว่าเชื้อไข้หวัดนกดื้อยาทามิฟลูแต่อย่างใด


 


สำหรับการพัฒนาวัคซีนนั้น จะต้องเป็นวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่จึงจะได้ผลสูง แต่ถ้าใช้ในสายพันธุ์ไม่ตรงผลที่ได้ก็จะด้อยลงไป ดังนั้นหากต่อไปเชื้อไข้หวัดนกมีการระบาดทั้ง 2 ชนิด การผลิตวัคซีนก็ต้องใช้ไวรัส 2 ชนิดเช่นกัน


         


ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไข้หวัดนก จึงได้ใช้มาตรการจัดแบ่งเขตการเลี้ยง (โซนนิ่ง) เป็น 5 เขต รวมทั้งเข้มงวดในการควบคุมการเคลื่อนย้าย และต่อไปจะเข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่วนที่ จ.นครพนม ได้ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่พบการระบาดแต่อย่างใด


 


ทั้งนี้ สามารถคาดการณ์ที่มาของเชื้อไข้หวัดนกที่นครพนมได้ว่า มาจาก 3 แหล่ง คือ การเคลื่อนย้ายของสัตว์หรือคน เชื้อที่มากับนกธรรมชาติ และเชื้อจากพื้นที่ในบริเวณเดียวกัน


 


ด้าน น.สพ.พรชัย ชำนาญพูด ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้การวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนไข้หวัดนกในสัตว์ปีกมีความก้าวหน้า คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนมาทดลองใช้เป็นการภายในได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และหากสำเร็จก็จะผลิตจำนวนมากเพื่อใช้ในประเทศต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net