Skip to main content
sharethis

วันที่ 17 ส.ค.2549 ที่จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ "เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับตำบล" ขึ้น โดยมีประธานกรรมการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับตำบล รวมทั้งเจ้าหน้าที่พนักงานสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ ในพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วยนครราชสีมา, สุรินทร์,บุรีรัมย์,ศรีษะเกษ และชัยภูมิ จำนวนกว่า 1,000 คน เข้าร่วมการประชุม


 


การประชุมจัดขึ้นเพื่อรับทราบนโยบายการทำงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา สนับสนุนการเรียนรู้ของกองทุนให้บรรลุการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และพัฒนาความพร้อมสู่มาตรฐานการเป็นสถาบันการเงินชุมชน (ธนาคารหมู่บ้าน) และเพื่อให้เกิดความร่วมมือ เป็นโครงข่ายการพัฒนา ทั้งกระบวนการเรียนรู้ การบริหารจัดการเงินทุน การบริหารจัดการสวัสดิการและสวัสดิภาพ และการแก้ไขปัญหาสร้างโอกาสของชุมชนด้วยกระบวนการของภาคประชาชนระดับรากหญ้า


 


นายสุวิทย์ คุณกิตติ ประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองดำเนินการมา 5 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ทั้งหมดประมาณ 11.6 ล้านคน มีกรรมการบริหารกองทุนหมู่บ้าน 1.1 ล้านคน มีเงินที่รัฐบาลให้ไปหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท รวมประมาณ 79,000 ล้านบาท (จำนวนทั้งสิ้น 78,037 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง) และเงินที่ให้สำหรับหมู่บ้านที่มีการบริหารจัดการดีอีกหมู่บ้านละ 1 แสนบาท ประมาณ 2 พันกว่าล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลได้ใช้เงินสำหรับกองทุนหมู่บ้านไปประมาณ 82,000 ล้านบาท


 


"ขณะนี้ประชาชนมีเงินออมมากขึ้นเรามีเงินออมอยู่ในหมู่บ้านทั่วประเทศประมาณ 22,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 1 ใน 4 ของเงินที่กองทุนหมู่บ้านที่รัฐให้ไป และธนาคารพาณิชย์ยังให้เพิ่มเข้าไปอีกสำหรับหมู่บ้านที่การบริหารจัดการดี ประมาณ 20,000 ล้าน ฉะนั้นจึงมีเงินหมุนเวียนในหมู่บ้านประมาณ 122,000 ล้านบาท มีคนกู้ยืมกองทุนหมู่บ้านประมาณ 10 ล้านคน" นายสุวิทย์ กล่าว


 


นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีการกู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้านไปทั้งหมด 20 กว่าล้านครั้ง เป็นเงินกู้ยืมประมาณกว่า 282,000 ล้านบาท สำหรับการชำระคืนเงินกองทุนนั้น 90% ชำระตรงตามเวลานัดหมาย หนี้ที่มีปัญหามีอยู่ประมาณ 6-7% แต่เมื่อ 8 เดือนที่ผ่านมาทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ได้เข้าไปสุ่มตรวจดูหมู่บ้านที่รับเงินกองทุนหมู่บ้านไปบริหารจัดการประมาณ 400 หมู่บ้านในพื้นที่ 15 จังหวัด ทั่วประเทศพบหนี้มีปัญหาประมาณ 10 % ถึงแม้ตัวเลขจะคลาดเคลื่อนกันไปบ้างแต่ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก เป็นตัวเลขที่เรารับได้


 


สำหรับผู้ที่ไม่ชำระคืนเงินกองทุน หากถึงที่สุดแล้วคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯแต่ละพื้นที่ก็ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายกันไป ถูกศาลติดคุกก็มีหลายหมู่บ้าน เช่นกรณีประธานกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ภาคตะวันออกถูกศาลพิพากษาจำคุก 105 ปีได้รับลดโทษเหลือ 50 ปี เพราะเกี่ยวข้องกับหลายกองทุนฯ แต่โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีไกล่เกลี่ยจับเข่าคุยกันมากกว่า


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับหมู่บ้านที่มีปัญหาเรื่องการชำระคืนเงินกองทุนเจ้าหน้าที่จะสำรวจสอบถามและประเมินความต้องการของสมาชิกว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น และควรจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นอีกเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป หรือมีความต้องการเงินกองทุนหมู่บ้านต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาทั่วประเทศก็มีหลายสิบหมู่บ้านที่ไม่ต้องการขอรับเงินกองทุนหมู่บ้าน


         


"ขณะนี้เราพยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทุนหมู่บ้านเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนิติบุคคล หรือการเป็นสถาบันการเงินชุมชนหรือธนาคารหมู่บ้านให้ได้ ซึ่งขณะนี้มีธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้เข้ามาช่วยดำเนินการส่งเสริมยกระดับเป็นธนาคารหมู่บ้านนำร่องไปแล้วทั่วประเทศประมาณ 200 แห่ง" นายสุวิทย์ กล่าว


 


สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จะพบปัญหาในชุมชนเมืองเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชุมชนเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ จะพบปัญหามากกว่าที่อื่น ๆ เนื่องจากมีการเบี้ยวหนี้มากกว่าที่อื่น ไม่เหมือนชุมชนดั้งเดิมจะไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากนี้ การบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องระบบบัญชี จะพบบ่อยมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวบ้านต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษาข้อมูลสักระยะ แต่โดยภาพรวมถือว่ามีปัญหาน้อยมาก นายสุวิทย์ กล่าวในตอนท้าย


 


 


 


 


ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net