Skip to main content
sharethis

19 ส.ค. 2549 - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดการเสวนา ในหัวข้อ "สัปเหร่อ ความตาย และสิ่งแวดล้อม" เพื่อรณรงค์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการฌาปนกิจ อาทิ ผู้ประกอบอาชีพสัปเหร่อ เจ้าอาวาส หรือตัวแทนจากวัดที่รับฌาปนกิจ ร่วมมือกันลดกระบวนการเผาศพที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดสารก่อมะเร็งในอากาศ


 


นายยงยุทธ ติยะไพรัช รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่าคุณภาพอากาศในเมืองและปริมณฑลมีปัญหาฝุ่นขนาดเล็กหนาแน่น โดยปัญหาดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดจากควันเสียจากรถยนต์และเตาเผาศพ


 


จากการตรวจวัดฝุ่นควันที่ปล่อยออกมาจากปล่องเตาเผาศพ พบว่ามีสารพิษหลายชนิด มีสาเหตุจากการเผาศพที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งก็คือการเผาศพโดยใช้ความร้อนในการเผาไหม้เพียงระดับ 200-500 องศาเซลเซียส ทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพิษหลายชนิด ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ สารไดออกซิน สารฟิวเรน ฝุ่นละออง เขม่าควัน และกลิ่นจากสารอินทรีย์ที่อยู่ในตัวศพ


 


อย่างไรก็ตาม สารที่เป็นอันตรายมากที่สุด คือ สารไดออกซินและฟิวเรน เป็นสารที่สนับสนุนให้ก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์ มีผลกระทบต่อระบบประสาท และความเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารตกค้างในระยะเวลายาวนานด้วย


 


สารไดออกซินและสารฟิวเรน เป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดจากระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยมีข้อมูลประกอบจากการศึกษาในสัตว์ทดลองระยะยาวพบว่า สารนี้ทำให้เกิดมะเร็งหรือเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ ของหนูทดลอง โดยเฉพาะในตับ


 


ปัญหาเรื่องสารพิษสามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่งหากจัดให้มีการเผา 2 ครั้ง คือ เผาศพ และเผาควัน โดยจะต้องใช้ความร้อน 900 องศาเซลเซียสขึ้นไป จึงจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม วัดที่รับจัดงานฌาปนกิจจึงควรจะใช้เตาเผาศพที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นเตาแบบ 2 ห้อง ห้องแรกใช้เผาตัวศพ จากนั้นกลุ่มควันก็จะลอยไปยังห้องที่สอง และผ่านกระบวนการเผาควัน จึงเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ไม่มีสารพิษใดๆ ตกค้าง แต่เตาเผาศพลักษณะนี้มีราคาสูงมาก ตัวแทนจากทางวัดส่วนใหญ่ระบุว่าไม่มีงบประมาณพอ


 


ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษหลังการเผาศพก็คือสารฟอร์มาลินที่ใช้กับพวงหรีดดอกไม้สด และโลงศพแบบที่บุนวมพลาสติกข้างใน รวมถึงกระดาษเงินกระดาษทองจำนวนมาก ตัวแทนของวัดที่เข้าร่วมการเสวนาจึงได้ขอร้องให้ญาติของผู้ตายลดค่านิยมในการใช้โลงศพที่ตกแต่งอย่างหรูหราลง เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม


 


จากสถิติเตาเผาศพทั่วประเทศของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่า ในปี 2548 มีวัดทั่วประเทศรวม 34,331 แห่ง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 16,300 แห่ง ภาคเหนือกว่า 8,200 ภาคกลางกว่า 7,300 แห่ง และภาคใต้กว่า 2,200 แห่ง มีการคาดการณ์ว่า วัดที่มีเมรุเผาศพทั่วประเทศร้อยละ 80 มีการเผาศพ 312,000 ศพต่อปี ในจำนวนนี้เตาเผาส่วนใหญ่เป็นห้องเผาศพห้องเดียว และหลายจังหวัดในภาคเหนือมีการเผาศพกันที่สุสาน


 


ส่วนวัดในกรุงเทพมหานครและบางจังหวัด มีเตาเผาศพแบบ 2 ห้อง คือ ห้องเผาศพและห้องเผาควัน โดยวัดในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 433 แห่ง เป็นวัดที่มีเมรุเผาศพ 310 วัด


 


ในแต่ละเดือนมีการฌาปนกิจประมาณ 2,500 ศพ อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีวัดอีกกว่า 30 แห่งที่มีเตาเผาศพไม่ได้มาตรฐานและก่อมลพิษทางอากาศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net