Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 ส.ค.2549  สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) จัดประชุมวิชาการเรื่องกติกาและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีการเสวนาว่าด้วยมิติที่หลากหลายของข้อกีดกันทางการค้า ซึ่งมีหลายภาคส่วนร่วมอภิปราย


 


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ จากโครงการหน่วยจัดการความรู้ด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม (NTB Intelligent Unit) ของสกว. กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการมา 1 ปี (ก.ค.48-ส.ค.49) โดยมองจากจุดยืนของประเทศไทยต่อความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกับการค้าว่ามีความขัดแย้งหรือมีส่วนหนุนเสริมกันอย่างไร โดยมีนักวิจัยจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมผลิตงานวิจัยจำนวน 7 เรื่อง


 


เขากล่าวด้วยว่า มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTB-Non Tariff Barrier  คำนี้เหมือนเอาเป้าหมายทางการค้าเป็นตัวตั้ง แต่จุดยืนของโครงการมองว่าบางกรณี NTB เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนขณะนี้กรอบกติกาที่มีความสัมพันธ์ระหว่างการค้าและสิ่งแวดล้อมยังไม่มีความชัดเจน แม้ในเวทีพหุภาคีอย่างการองค์การการค้าโลก (WTO)


 


ขณะที่การเจรจาในระดับทวิภาคีอย่างข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA-Free Trade Agreement ก็เพิ่มขึ้นมากในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาหลังการเจรจา WTO ที่แคนคูนไม่มีความคืบหน้า โดยมีเป้าหมายในการลดอุปสรรคทางการค้า แต่มันก็มีข้อบัญญัติหลายประการใน FTA ที่อาจเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเสียเอง โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ใน FTA ไทย-สหรัฐที่กำลังเจรจากันอยู่นั้นจะพบหัวข้อทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและการค้าด้วยกัน น่าสนใจว่าในอนาคตอะไรจะสำคัญกว่ากัน ประสบการณ์ของข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA-North America Free Trade Agreement ที่เรื่องการค้ามักชนะสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นกับเมืองไทยหรือไม่


 


บัณฑูรกล่าวต่อว่า โดยรวมประเทศไทยเป็นผู้ถูกใช้ มากกว่าเป็นผู้ใช้ NTB ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะผู้เกี่ยวข้องมอง NTB ในแง่ลบ คิดว่าเป็นการกีดกันทางการค้า รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีจุดยืนแตกต่างกันอยู่มาก สุดขั้วทั้งสองด้าน ส่งผลอย่างมากต่อการกำหนดนโยบาย


 


ดังนั้น ข้อเสนอคือในอนาคตการผลิตที่คำนึกถึงสิ่งแวดล้อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราปรับตัวได้เร็ว ก็จะเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบด้านการค้า การศึกษาพบว่าต้นทุนไม่ได้สูงขึ้น และเราควรใช้มาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่เราผูกพันอยู่กับหลายสนธิสัญญาให้มีประโยชน์มากขึ้น ทั้งต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศ ในการเจรจาเอฟทีเอ และในการต่อสู้กับข้อพิพาท  


 


ดร.วีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และหัวหน้าคณะเจรจาเกี่ยวกับประเด็นการลงทุนใน FTA ไทย-สหรัฐ กล่าวว่า NTB ในภาคการลงทุนเป็นเรื่องของเงินและคน ซึ่งยุ่งยากกว่าเรื่องสินค้ามาก ขณะนี้ยังไม่มีกฎเกณฑ์ในดับบลิวทีโอ จะมีบ้างก็ในความตกลงเล็กๆ สองฝ่าย  และยังไม่ชัดเจนว่าอันไหนถือเป็นกฎเกณฑ์ที่ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม


 


การลงทุน แบ่งเป็น 2 เรื่องใหญ่คือ การเปิดเสรี และการคุ้มครอง โดยการเปิดเสรีการลงทุนสามารถมีข้อกีดกันทางการค้าได้หลาอย่าง เช่น การไม่ให้สิทธิเยี่ยงคนชาติ หรือ NT, สิทธิเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง หรือ MFN, การจำกัดทางจำนวน มูลค่าการประกอบการ ปริมาณของบริการที่ให้การเข้าร่วมทุนของต่างชาติ ประเภทขององค์กร ตลอดจนการออกมาตรการบังคับ(จิตใจ)นักลงทุน ทั้งการยกระดับมาตรการสิ่งแวดล้อมให้สูงขึ้น กำหนดให้ผู้บริหารต้องเป็นคนชาติ กำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ


 


ในด้านการคุ้มครอง  มีการกีดกันทางการค้าได้โดยสร้างระบอบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน เช่น เลือกคุ้มครอง ซึ่งมักเป็นการถกกันถาวรระหว่างฝ่ายชาตินิยม กับฝ่ายที่มุ่งดึงดูดนักลงทุน ตลอดจนการจำกัดการโอนเงิน ซึ่งสำหรับนักลงทุนแล้วถือเป็นเรื่องเจ็บปวดที่สุด กลัวมากที่สุด


 


"อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อกีดกันเป็นเรื่องของมุมมอง ถ้ามองจากข้างนอกมาตรการเหล่านี้ถือเป็นการกีดกัน แต่มองจากข้างในก็อาจเห็นว่ามันเป็นการคุ้มครอง และผู้เป็นเจ้าของทุนกับผู้ที่ไม่ใช่ย่อมมองต่างกัน" วีรชัยสรุปกลางๆ ไม่ฟันธง


 


ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมอาจไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะเสมอไป บางประเทศการปกป้องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องปัจเจก เพราะเอาของเสียไปทิ้งในประเทศที่ยากจนกว่า


 


สุธาวัลย์ หยิบยกประเด็นขยะพิษว่า อียูมีการใช้หลักผู้ผลิตต้องรับผิดชอบขยะพิษ แต่ก็น่าสนใจว่าผู้ผลิตคือใคร เพราะระบบการผลิตเดี๋ยวนี้โดยเฉพาะอิเลคทรอนิกส์ ผู้กุมเทคโนโลยีกุมทิศทางทั้งหมด ซึ่งได้กำไรมากที่สุดนั้นจะส่งต่อให้กลุ่มที่คุมการบริหารจัดการ และลอจิสติกส์ กลุ่มต่ำสุดคือพวกฐานการผลิต ไทย เม็กซิโก เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน อยู่ในฐานล่างสุด ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาแรงงานเจ็บป่วย และรองรับขยะพิษ


 


ปัจจุบันการจัดการขยะพิษมี 2 ทาง ผู้ส่งออกและนำเข้าร่วมกันจัดการในประเทศที่เป็นผู้ซื้อ หรือไม่ก็นำซากกลับมายังประเทศผู้ผลิต โดยส่วนใหญ่นักธุรกิจจะเลือกทางหลัง คำถามคือ มีความสามารถในการปฏิเสธขยะเหล่านี้ไหม ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่าไทยมีขยะพิษปีละ 1.4 ล้านตันขยะพิษ แต่มีความสามารถในการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 35% นอกนั้นฝังกลบ ทำให้เกิดมลพิษในดินน้ำมาก


 


"ทำไมเราไม่ยกระดับการเป็นฐานการผลิต เน้นการออกแบบ การจัดการ เทคโนโลยี ซึ่งอันที่จริงเราเองก็มีศักยภาพไม่น้อย แทนที่จะเป็นฐานการผลิตราคาถูก และควรส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร ซึ่งเรามีทรัพยากรและไม่ต้องมีต้นทุนเรื่องขยะพิษ" สุธาวัลย์กล่าว


 


พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะกรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพว่า ในส่วนของการแบ่งปันผลประโยชน์นั้น ไทยมีทรัพยากรแต่ขาดเทคโนโลยี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีเทคโนโลยี แต่ไม่มีทรัพยากร ถ้าต้องตกลงเอฟทีเอจะทำยังไงให้สมดุล โดยควรตั้งสมมติฐานว่าสองข้างเท่ากัน ต่างต้องการซึ่งกันและกัน เช่นนี้ก็จะไม่มีการเอาเปรียบกัน เป็นเจ้าของร่วมกัน แบ่งปันผลประโยชน์เท่ากัน


 


ส่วนของจีเอ็มโอประเทศไทยต้องรับจีเอ็มโออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องตั้งสติว่าสิ่งนี้มันอยู่กับเรา ประเด็นคือทำอย่างไรให้มีประโยชน์กับเรามากที่สุด คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องคิดทางเดียวกัน ไม่ควรมีคนใดคนหนึ่งบอกว่าไม่เอาแล้วทำให้เกิดปัญหา


 


สำหรับนโยบายเรื่องจีเอ็มโอที่เคยมีทีท่าจะให้เป็นไปในลักษณะ "co existing" หรือยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติกับจีเอ็มโอนั้น พรศิลป์เห็นด้วยและคิดว่าที่หลายฝ่ายห่วงว่าจะเป็นอันตราย ก็เพราะกฎหมายยังไม่มี หรือมีแต่ดีไม่พอและการใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพพอ นี่เป็นภาระของหน่วยงานรัฐว่าทำอย่างไรจะเกิดความมั่นใจ


 


สุรเดช อัศวินทรางกูร หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพและเภสัชภัณฑ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้มุมมองที่แปลกไปสักหน่อยสำหรับข้าราชการ เขาเห็นว่าถ้าเรื่องสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตแพร่หลาย โดยที่ไทยยังไม่มีการอนุญาตให้จดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ไทยก็คงต้องระวังการส่งออกการเกษตรว่าจะไปละเมิดสิทธิบัตรของคนอื่นหรือไม่


 


กรณีที่ไทยจะมีสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต สิทธิบัตรจะเป็นของใคร ของรัฐ ของเอกชนไทยหรือต่างชาติ ต่างชาติ ทั้งนี้เทคโนโลยีและสิทธิบัตรส่วนใหญ่มักเป็นของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งมักมีบทบาทครอบงำตลาด เช่น หากบริษัทสหรัฐจะขายอะไรก็จะสร้างสภาพตลาดว่าต้องการเช่นนั้น แล้วความหลากหลายของสินค้าจะลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหากเกิดโรคระบาดหรือสงคราม เขาไม่ส่งเมล็ดพันธุ์ให้ ไทยจะไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร ดังนั้นเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบมาก


 


อย่างไรก็ตาม ในอนาคตประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต เพราะการค้าพหุภาคีบังคับให้เราต้องทำ รวมถึงระบบทวิภาคีที่เราแกว่งเท้าหาเสี้ยนเองด้วย แต่เราต้องจัดการมันให้ถูกต้องเหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไบโอเทคเป็นสิ่งดีถ้าเราจัดการให้ถูกต้อง


 


สุรเดชกล่าวด้วยว่า ระดับการพัฒนาของไทยนั้นพอจะแข่งกับต่างประเทศได้ เพราะไทยมีแหล่งทรัพยากรมาก เทคโนโลยีและคนก็พอสู้ได้ แต่เราไม่มีทุน การพัฒนาจึงช้าแต่ก็ยังไปได้ นอกจากนี้ไทยต้องพิจารณาตัวเองให้ชัดเจนด้วยว่าจะผลิตสินค้าจีเอ็มโอ กึ่งจีเอ็มโอ หรือเกษตรอินทรีย์


 


"ผมเชื่อว่าเราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งว่าจะเอาอะไรแน่ เพราะผมไม่เชื่อว่ารัฐจะจัดการการปนเปื้อนได้ มันยากมากที่จะอยู่แบบกึ่งๆ ตอนนี้ก็เห็นอยู่ว่าจัดการไม่ได้ รัฐกับเอกชนต้องร่วมกันพัฒนาให้เหมาะกับระดับเทคโนโลยีของเรา เน้นเศรษฐกิจพอเพียง การยกระดับคุ้มครองมากเกินไปเหมือนประเทศพัฒนาแล้วก็เท่ากับเราวิ่งหาจุดจบเอง ตามกระแสโดยไม่ดูตัวเองเราจะแย่" ข้าราชการจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาคนนี้กล่าว


 


เขามองด้วยว่า ทิศทางเกษตรอินทรีย์ในอนาคตน่าจะดี เพราะสินค้าไทยจะมีความแตกต่าง หากแข่งกันเป็นจีเอ็มโอสายป่านของไทยนั้นสั้นกว่าต่างประเทศมากนัก จะทุ่มตลาดแบบสหรัฐก็ไม่ได้ ประเทศไทยไม่ควรให้น้ำหนักในแง่ปริมาณมากเกินไป แต่ควรคิดในเชิงคุณภาพ เป็นสินค้าเกษตรชั้นสูงเพื่อสุขภาพ ไร


 


ในเรื่องความมั่นคงในเทคโนโลยี สุรเดชเห็นว่า จะพัฒนาช้าสักนิดก็ได้แต่ต้องไปได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ต้องเน้นการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขามีนั้นมีค่า อย่าให้คนอื่นขโมยไป ต้องปลูกอย่างพอประมาณ พอกับความต้องการในท้องตลาด ไม่ให้ราคาตกต่ำ ท้ายที่สุดต้องมีการผลักดันการแก้ไขกฎหมายการยื่นสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นที่จะต้องระบุแหล่งที่มา และเมื่อรับจดแล้วสามารถเพิกถอนได้ ในระดับโลกต้องผลักดันมาตรการเชิงรุกในสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อหนุนเสริมกัน


 


อนึ่ง ในประเด็นการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศนั้น สกว.ได้ให้การสนับสนุนโครงการหน่วยจัดการความรู้ด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์สากล ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้รวม 7 เรื่อง ได้แก่  1.กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการค้าสินค้า GMOs: ประเด็นวิเคราะห์และข้อเสนอ  2.ผลกระทบกรณี EC Biotech Case ต่อระบบกฎหมายว่าด้วยการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ 


 


3.การเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืช: ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย  4.การศึกษาผลกระทบของข้อตกลงเขตการค้าเสรีในประเด็นสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต  5.การเปิดเสรีทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  6.การเจรจาเรื่องการจัดการของเสียอันตรายในเวทีสิ่งแวดล้อมและเวทีการค้า: จุดยืนและข้อเสนอของไทย  7.ผลกระทบของการทำ FTA Thai-US: ศึกษาวิเคราะห์ในข้อบทการลงทุน


 


(เอกสารงานวิจัยฉบับย่อสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สกว.)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net