Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 


 


ไม่ใช่เรื่องแปลก... ถ้าใครสักคนยังคงหลงใหลในเสน่ห์ของโปสการ์ด ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปถึงขั้นที่เราสามารถส่งจดหมายอิเล็กโทรนิกส์หากันได้ภายในเวลาเสี้ยววินาที...


 


เพราะในขณะที่ข้อดีของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์คือความเร็ว แต่สิ่งที่มาพร้อมกับโปสการ์ดขนาด 4x6 นิ้ว คือความละเอียดอ่อนของกระบวนการคิด ไตร่ตรอง และเขียนข้อความมาอย่างดี แถมพ่วงด้วยบรรยากาศแห่งการเดินทางรอนแรมผ่านมือบุรษไปรษณีย์มาจนถึงมือผู้รับ


 


ความหลงใหลในโปสการ์ดนี้เป็นแรงผลักดันให้ "แฟรงค์ วอเรน" เจ้าของกิจการตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งอาศัยอยู่ที่แมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา เกิดความคิดที่จะสร้างสรรค์โครงการศิลปะชุมชน หรือ Community Art Project ขึ้นมาในปี 2004 เพื่อให้ผู้คนจากที่ต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในงานศิลปะของเขา


 


แฟรงค์เริ่มต้นด้วยการทำโปสการ์ดจ่าหน้าถึงตัวเอง 3,000 ใบ และเว้นที่ว่างด้านหนึ่งไว้ให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการระบายความลับของตัวเอง จากนั้นจึงค่อยส่งมาให้เขาตามที่อยู่ที่จ่าหน้า โดยมีข้อแม้ว่าความลับที่ส่งมาจะต้องกะทัดรัด, อ่านรู้เรื่อง และโปสการ์ดแผ่นนั้นจะต้องผ่านกระบวนการตกแต่งสร้างสรรค์อย่างสุดฝีมือ โดยไม่จำเป็นต้องลงชื่อ-ที่อยู่ของผู้ส่งให้เกิดความลำบากใจ


 


สถานที่ต่างๆ ที่แฟรงค์วางโปสการ์ดไว้เผื่อให้คนหยิบติดมือไปด้วย ได้แก่ สถานีรถไฟ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ โรงหนัง และบางคนอาจได้เจอโปสการ์ดแผ่นนั้นในหนังสือสักเล่มที่ยืมมาจากห้องสมุดประชาชน


 


โปสการ์ดแผ่นแรกเดินทางมาถึงแฟรงค์ราว 2-3 สัปดาห์หลังจากที่เขาแจกจ่ายโปสการ์ดออกไป และเห็นได้ชัดว่าโปสการ์ดแผ่นนั้นผ่านกระบวนการคิดมาแล้วอย่างถี่ถ้วน เช่นเดียวกับที่มันได้รับการตกแต่งและสร้างสรรค์อย่างดี สามารถถ่ายทอดความลับและความรู้สึกได้อย่างชัดเจน แม้จะมีความกะทัดรัดของพื้นที่บนโปสการ์ดเป็นข้อจำกัดก็ตาม


 


จากนั้น โปสการ์ดแผ่นต่อไปก็ค่อยๆ ทยอยมาถึงมือ จนครบ 150 แผ่น แฟรงค์จึงสามารถจัดนิทรรศการศิลปะในนามของ "ศิลปินจำเป็น" จนได้ เมื่อตอนต้นปี 2005


 


โครงการ "โพสต์ซีเครต" ได้รับความสนใจอย่างคับคั่งจากคนในแมรี่แลนด์ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสผ่านมาเจอนิทรรศการของแฟรงค์


 


เมื่อนิทรรศการโปสการ์ดแห่งความลับของแฟรงค์จบลง แต่การเดินทางของโปสการ์ดยังไม่สิ้นสุดแค่นั้น เพราะโปสการ์ดนับพันรอนแรมมาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก และมีจำนวนมากกว่าที่แฟรงค์คิดไว้ในตอนแรกเสียด้วยซ้ำไป


 


งานศิลปะแห่งการปลดปล่อย "ความลับ" และ "คำสารภาพ"


 


 



   


ตัวอย่างโปสการ์ดบางส่วน


รวบรวมและตีพิมพ์ลงในหนังสือ Post Secret: Extraordinary Confession from Ordinary Lives


 


 


หลังจากที่โครงการโพสต์ซีเครตได้รับความนิยมเกินกว่าที่คาดคิดไว้ โปสการ์ดจำนวนมากมายยังไม่ได้รับการแบ่งปัน เพราะมันถูกส่งมาถึงมือแฟรงค์ตอนที่นิทรรศการจบสิ้นลงแล้ว เขาจึงนำโปสการ์ดเหล่านั้นมาเผยแพร่ในเวบไซต์ของตัวเอง โดยอุทิศเวบดังกล่าวให้กับผู้บอกความลับแก่เขาทุกคน


 


เวบไซต์โพสต์ซีเครต กลายเป็นเวบหนึ่งซึ่งมีคนเข้าไปดูมากเป็นอันดับต้นๆ ในช่วงปี 2005 และเป็นเวบที่มีคนพูดถึงกันมาก และยังคงมีคนส่งโปสการ์ดมาให้แฟรงค์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์สนใจนำเรื่องราวในโปสการ์ดเหล่านั้นไปพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Post Secret ซึ่งออกจำหน่ายช่วงกลางปี 2005 และกลายเป็นหนังสือที่ขายดีภายในชั่วพริบตา


 


โปสการ์ดที่ส่งมาถึงแฟรงค์มีคุณสมบัติตามที่เขาต้องการทุกประการ ข้อความที่ถูกเขียนลงในโปสการ์ดจำนวนมากเป็น "คำสารภาพ" ที่สร้างความรู้สึกหลากหลายให้แก่ใครก็ตามที่พบเห็น และขณะเดียวกันก็มีการตกแต่งลวดลายและภาพประกอบอย่างประณีต


 


ความลับในความรัก เป็นประเด็นยอดนิยมที่ถูกส่งมา ไม่ว่าจะเป็นรักซ้อน รักคุด หรือรักลวง โปสการ์ดหลายแผ่นพูดถึงคนรักที่จากไปแล้ว และยังลืมไม่ลง ส่วนอีกบางแผ่นพูดถึงการต้องทนอยู่ร่วมกันกับคนบางคน โดยที่ความรักทั้งหลายจบสิ้นลงไปแล้ว


 


บางความลับเป็นเรื่องขำๆ ที่หลายคนเข้าใจได้และอาจมีความรู้สึกร่วมไปด้วย เช่น โปสการ์ดใบหนึ่งซึ่งน่าจะมาจากพนักงานออฟฟิศรายหนึ่งระบายความลับออกมาว่า "ฉันแอบจิ๊กของใช้สำนักงานมาใช้ที่บ้าน เพราะฉันเกลียดเจ้านายตัวเอง!"


 


โปสการ์ดอีกแผ่นหนึ่งมีภาพหญิงสาวในชุดบิกินีสีแดงแหวกว่ายอยู่ในน้ำสีฟ้า พร้อมกับคำบรรยายที่ระบุว่า "ฉันชอบฉี่ลงในสระเวลาที่ฉันว่ายน้ำ"


 


หากความลับที่เป็น "ความรู้สึกร่วม" อีกอย่างหนึ่งก็คือการเกลียดหรือไม่พอใจในตัวเอง ผู้หญิงบางคนส่งโปสการ์ดมาระบายกับแฟรงค์ว่าเธออยากเป็นคนตาบอด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเห็นว่าตัวเองน่าเกลียด และผู้หญิงอีกคนอยากเป็นโรคที่ร่างกายปฏิเสธอาหาร (อะโนเร็กเซีย) เพื่อที่ว่าตัวเองจะได้ผอมเพรียวตามสมัยนิยม


 


หรืออาจจะหนักกว่านั้น เมื่อผู้หญิงบางคนสารภาพว่าเธอเคยฆ่าตัวตาย เพราะไม่เคยมีผู้ชายคนไหนมองว่าเธอมีเสน่ห์เลย


 


เราพอจะอนุมานได้ไหมว่าค่านิยมเรื่อง "ความสวย" ที่ถูกจำกัดไว้ว่าจะต้องมาพร้อมความผอมเพรียวดูดี เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกเกลียดตัวเอง และพวกเธอเหล่านั้นก็จำต้องทนอยู่กับความน้อยเนื้อต่ำใจโดยไม่กล้าบอกใคร เพราะไม่รู้ว่าถ้าบอกออกไปจะมีคนเห็นใจหรือเปล่า และพวกเธอจะรับได้หรือไม่ถ้าพูดความลับของตัวเองออกไปแล้วคนรอบข้างแนะนำให้เธอไปปรึกษาสถาบันเสริมความงาม หรือไม่ก็ไปหาหมอศัลยกรรมแทน


 


ถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของความลับจะรับมือกับความจริงชุดนี้ได้อย่างไร?


 


ในขณะที่โปสการ์ดอีกบางแผ่นบรรจุความลับที่ชวนให้คนอ่านแสนจะหดหู่ เหมือนอย่างเช่นความลับของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งบรรยายว่า


 


"พ่อของฉันติดคุกด้วยข้อหาข่มขืนและคุกคามทางเพศเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นลูกสาวของคนรักของเขาเอง... พ่ออยู่ในคุกนานหลายปี และฉันก็นึกสงสัยอยู่เสมอว่าฉันก็น่าจะเคยถูกพ่อล่วงเกินเหมือนกัน แต่ฉันไม่กล้าหาคำตอบว่าข้อสงสัยนี้เป็นจริงหรือเปล่า... ฉันไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่าพ่อคือคนที่ถูกขัง หรือว่าตัวฉันเองกันแน่ที่ถูกจองจำ..."


 


ความลับดำมืดที่ถูกเปิดเผยออกมา (ไม่ว่าจะมันจะเป็นความจริงหรือเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจ) พอจะบอกได้ว่ามีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังต้องทรมานกับการเก็บรักษาความลับ เพื่อจะดำรงสถานะทางสังคมเอาไว้ให้มั่นคง เพราะมาตรฐานศีลธรรมบางอย่างยังสร้างกรอบคุมขังจิตใจของคน มากกว่าจะเปิดโอกาสให้เราสามารถเปิดเผยความเป็นจริงได้อย่างเสรี


 


เรื่องบางเรื่องยังคงเป็นความลับต่อไปในชีวิตของผู้คนจำนวนมาก เพียงเพราะพวกเขาไม่อาจป่าวประกาศออกมาดังๆ แม้ว่ามันจะไม่ใช่ความผิดของเจ้าของความลับเหล่านั้นเลยก็ตาม เหมือนอย่างที่โปสการ์ดแผ่นหนึ่งบรรยายไว้ว่า "ฉันอยากเป็นคนขาว"


 


และข้อความในโปสการ์ดอีกแผ่นหนึ่งเขียนไว้ว่า "ฉันรู้สึกว่าตัวเองน่าเกลียด เพราะฉันเป็นลูกผสมระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ..."


 


ใช่แล้ว... นั่นคือความลับของพลเมืองในอเมริกา "ดินแดนเสรี" ที่ชูประเด็นสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมอยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีคนอีกมากถูกทำให้รู้สึกต่ำต้อยในรากเหง้าของตัวเอง


 


ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นเหล่านี้อาจไม่ใช่ความลับ แต่มีคนจำนวนน้อยที่จะกล้าพูดความลับคับอกนี้ออกมาดังๆ ให้คนรอบข้างได้รับรู้ เพราะปัญหาเรื่องการเหยียดผิวยังคงอยู่ ไม่เฉพาะแค่ในอเมริกา แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก...


 


คนผิวขาวอาจรู้สึกเหยียดคนผิวดำ คนผิวดำเหยียดคนผิวเหลือง คนผิวเหลืองอาจรู้สึกเหยียดคนผิวเหลืองด้วยกันเอง และบางครั้งการเหยียดเหล่านี้ก็ลุกลามไปยังเรื่องเชื้อชาติศาสนาด้วย...


 


อีกนานเท่าไหร่ "ความลับ" ถึงจะหมดไปจากสังคม


"ความลับมีอยู่ 2 ประเภท คือ ความลับที่เราปิดไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ และความลับที่เราเก็บซ่อนจากตัวเอง" -แฟรงค์ วอเรน ว่าไว้อย่างนั้น...


 


นับตั้งแต่โครงการโพสต์ซีเครตเริ่มต้นขึ้นในปี 2004 จนถึงวันนี้ ผู้คนที่รู้เรื่องโครงการนี้ยังคงส่งโปสการ์ดที่เป็นกระดาษ รวมถึงโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตมาให้แฟรงค์อยู่เรื่อยๆ จนมีจำนวนนับหมื่นๆ ใบ


 


บรรดาความลับที่นักเขียนโปสการ์ดไร้นามทั้งหลายส่งมาให้แฟรงค์ คือภาพสะท้อนของโลกปัจจุบันที่ผู้คนมากมายเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นและไม่แน่ใจ


 


ในแต่ละวัน โปสการ์ดประมาณ 40-50 ใบจากทั่วโลก ถูกส่งมายังแฟรงค์ และความลับที่มาพร้อมกันนั้นทำให้มีคนเปรียบเปรยว่าบ้านของเขาเป็นเสมือน "กล่องแพนโดร่า" ที่รวบรวมความโกรธ ความเกลียดชัง ความหวาดหวั่น ความปรารถนา และความอิจฉาริษยา ที่ผู้สารภาพความลับส่งมาให้เขาเก็บรักษา


 


แม้ว่าโปสการ์ดที่ส่งมาจะเบียดบังเวลาทำงานประจำของแฟรงค์ไปมาก แต่เขาก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อจัดการกับความลับเหล่านั้นอย่างดีที่สุด


 


  


 


 แฟรงค์ วอเรน และโปสการ์ดที่ได้รับ


 


 


"ผมรู้สึกว่ามันเป็นภารกิจและเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ผมต้องทำให้มันสำเร็จลุล่วง" แฟรงค์บอกกับผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2005 "โครงการนี้ทำให้ผมรู้สึกพึงพอใจและลึกซึ้งกับการเป็นผู้รักษาความลับ มันทำให้ผมมองผู้คนแปลกหน้าที่เดินผ่านไปมาด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปจากเดิม และผมรู้สึกว่าตัวเองเชื่อมโยงกับคนเหล่านั้นมากกว่าแต่ก่อน"


 


จะว่าไปแล้ว แฟรงค์ วอเรน อาจไม่ต่างอะไรจากนักบุญที่รับฟังคำสารภาพบาปของผู้คน และงานศิลปะบนโปสการ์ดเปรียบได้กับ "พิธีกรรม" ที่ช่วยให้คนบางคนได้ลบล้างหรือปลดปล่อยความลับเหล่านั้นออกจากชีวิตไปได้บ้าง...


 


ไม่ว่าจะเป็นสังคมอเมริกันหรือสังคมเมืองที่ไหนก็ตามในโลกใบนี้ ผู้คนแห่งยุคสมัยต้องทนอยู่กับความไม่แน่ใจและต้องเก็บงำความลับ เพื่อรักษาตัวตนทางสังคมเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน- ความลับเหล่านั้นก็กัดกร่อนจิตใจของผู้คนไปด้วย


 


คงไม่ใชเรื่องง่ายที่ใครจะสามารถเปลี่ยนความลับคับข้องใจให้กลายเป็นผลงานศิลปะได้เสมอไป แต่สิ่งที่เราพอทำได้น่าจะหมายถึงการพยายามไม่สร้างความกดดันให้ใครบางคนต้องมีความลับมากกว่า


 


อย่างน้อยที่สุด เราน่าจะอยู่ร่วมกันและสามารถแลกเปลี่ยนอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงความคิดเห็นกันได้ โดยที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่จำเป็นต้องถูกกีดกันให้จนมุม...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net