Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 4 ก.ย. 2549   องค์กร The May 18 Memorial Foundation ประเทศเกาหลี นำตัวแทนเอ็นจีโอเกาหลีจาก 22 องค์กรมาเรียนรู้และรับทราบสถานการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในไทย เนปาล และฟิลิปปินส์ภายใต้โครงการ Training programme for NGO"S "The 3rd May 18 ACADEMY : Democracy,Democratization and Asia"


 


โดยตัวแทนเอ็นจีโอเกาหลีทั้ง 22 องค์กรได้เข้าสนทนากับ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งได้รับรางวัลกวางจู อันเป็นรางวัลทางด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2006 และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงตัวแทนจากคณะกรรมการญาติพฤษภา 2535 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา


 


นางอังคณา เล่าถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยให้วงสนทนาฟังว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการทำให้บุคคลสูญหายไปมานานแล้ว และภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามผลักดันให้รัฐเข้ามารับทราบปัญหาเพื่อจะได้ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในสังคม แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร


 


หากพิจารณาจากสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เดิมชาวบ้านเชื่อกันว่ามีคนหายไปเป็นร้อยคน ต่อมาภายหลังจากการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชน จึงมีคนเข้ามาแจ้งความว่ามีคนหายไปจริงๆ ประมาณ 30 คนทำให้มีการพยายามผลักดันให้เกิดการรับผิดชอบต่อคนที่หายไปและต้องหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ


 


นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเชื่อด้วยว่าบุคคลที่หายไปนั้นมาจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่กล้าที่จะแจ้งความ นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเดินได้


 


นางอังคณายังได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีประชาชนไปประท้วงเจ้าหน้าที่หน้า สภ.อ.ตากใบ ว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่กลับจับกุมและสั่งให้นอนคว่ำ เอามือไพร่หลังแล้วนำตัวไปนอนซ้อนกันในรถบรรทุก คันหนึ่งๆ ซ้อนกันประมาณ 4-5 ชั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจกว่า 80 คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ อีก 59 คนถูกฟ้องร้องในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และทำลายทรัพย์สินราชการ และเมื่อไม่นานมานี้หนึ่งในผู้ถูกฟ้องก็โดนลอบยิงเสียชีวิตไป


 


นอกจากนี้คดีดังกล่าวยังดำเนินมากว่า 2 ปีแล้ว โดยมีพยานโจทก์ 2,000 กว่าปาก แต่การสืบพยานทำไปได้เพียง 2 ปากครึ่งเท่านั้น เพราะมีการเลื่อนมาโดยตลอด ขณะเดียวกันทางเอ็นจีโอไทยและนักสิทธิมนุษยชนได้พยายามเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องมาตลอดแต่ก็ไม่เป็นผล


 


ด้านตัวแทนจากคณะกรรมการญาติพฤษภา กล่าวว่า การต่อสู้เกี่ยวกับผู้สูญหายในสังคมไทยเป็นเรื่องยากตั้งแต่การบอกให้ญาติผู้สูญหายออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เพราะทุกคนยังกลัวอำนาจรัฐและการต่อสู้ในเรื่องนี้ก็มีอันตรายพอสมควร จากประสบการณ์ 10 ปี ที่ผ่านมา ทั้งญาติและครอบครัวถูกข่มขู่คุกคามมาตลอด ยิ่งในปัจจุบันการต่อสู้ก็ยิ่งยากขึ้น


 


"เหตุการณ์พฤษภา 2535 การสูญหายของบุคคลชัดเจนว่าเกิดจากทหาร เขายอมรับและเราสู้ได้ แต่ในปัจจุบันต้องสู้กับตำรวจซึ่งเอากฎหมายมาอ้างตลอดเวลา ถ้าหลักฐานไม่ชัดเจนก็สู้ไม่ได้ ทำงานยากมาก ตำรวจใช้อำนาจเต็มบ้านเต็มเมืองทำอะไรก็ถูกข่มขู่ตลอดเวลา เช่นการโทรศัพท์ แต่ก็ไม่กลัว " ตัวแทนคณะกรรมการญาติพฤษภากล่าว


 


ส่วน นายสุริยะใส กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยไทยว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นเรื่องแปลก เพราะไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอหรือคนที่เคยอยู่ข้างรัฐบาลก็กลับมาอยู่ฝั่งที่ต่อต้าน ส่วนเหตุที่ทำให้สถานการณ์บานปลายไปสู่การเลือกข้างเป็นเพราะสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนถูกครอบงำและแทรกแซงโดยรัฐสูง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา


 


อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีความพยายามให้มีสื่อทางเลือก เช่น การมีช่องเอเอสทีวี แต่ในพื้นที่ชนบทนั้นยังเข้าถึงยากเพราะไม่ใช่ฟรีทีวี การที่สื่อถูกปิดกั้นและนำไปใช้เป็นเครื่องมือโดยรัฐนั้นทำให้ประเด็นของสังคมที่ควรเป็นเรื่องใหญ่ไม่ถูกนำเสนอหรือถูกทำให้เข้าใจผิด เช่น กรณีการหายไปของทนายสมชาย


 


นอกจากนี้นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า แม้กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนชั้นกลาง นักวิชาการ รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมองตรงกันว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากบุคคลดังกล่าว


 


เขาระบุด้วยว่า หากมองพ.ต.ท.ทักษิณ ในมุมส่วนตัวที่เป็นเอ็นจีโอด้านประชาธิปไตย คิดว่าเป็นผู้ทำลายระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านการปฏิรูปเมื่อ พ.ศ. 2540 โดยทำลายระบบการตรวจสอบ มีการคอรัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อน หรือหากมองจากจุดยืนของกลุ่มนิยมกษัตริย์จะเห็นว่ามีพฤติกรรมลักษณะจาบจ้วงสถาบัน ซึ่งสำหรับสังคมไทยค่อนข้างจะจงรักภักดีต่อสถาบัน


 


หากมองในมุมอื่นๆเช่นนโยบายเรื่องปัญหาภาคใต้ก็จะเห็นว่าแก้ไม่ได้ จนกระทั่งทางกองทัพต้องขอแก้ไขเพียงลำพัง ไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองไปยุ่ง หรือหากมองจากการตัดสินใจของประชาชนก็จะเห็นว่าในพื้นที่ภาคใต้ไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณ ผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมี ส.ส.จากพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกเพียงคนเดียวในภาคใต้ ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัด ไม่มีใครได้รับเลือกเลย แต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมักจะอ้างผลการเลือกตั้งที่ได้ ส.ส.ส่วนใหญ่จากภาคอีสานไปปิดปากเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย


 


จากนั้นมีคำถามจากกลุ่มเอ็นจีโอเกาหลีว่า ทำไมจึงยังมีกลุ่มชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ นายสุริยะใสตอบว่า อาจเป็นผลจากโครงการประชานิยม ซึ่งพันธมิตรไม่ได้คัดค้านนโยบายประชานิยมทั้งหมด แต่ประชานิยมบางอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้หวังผลคะแนนเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีคุณภาพ เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่เมื่อป่วยไม่ว่าโรคอะไรก็ได้แต่ยาพาราเซตามอล หรือนโยบายกองทุนหมู่บ้านที่บอกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มีการวิจัยพบว่าเงินที่ได้ ไหลเข้าสู่กระเป๋าของกลุ่มทุนในรัฐบาล เช่นกลุ่มทุนมือถือ กลุ่มทุนมอเตอร์ไซค์ และกลับสร้างหนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 5-6 เท่า ซึ่งประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงข้อมูลตรงนี้


 


นาย Jintae Jo เลขาธิการ The May 18 Memorail Fooundationd กล่าวว่า เหตุการณ์กวางจู เกิดเมื่อปี 1980 วัตถุประสงค์ที่เดินทางไปประเทศต่างๆ ในครั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากกวางจูสู่ประเทศอื่นๆ ผ่านการพบปะกันของนักกิจกรรมประชาธิปไตย


 


สำหรับมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยไทยตอนนี้เห็นว่า ยังไม่ค่อยมั่นคง หนทางหนึ่งที่เข้ามาสู่ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งจึงหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะบริสุทธิ์ เพื่อให้ประเทศไทยกลับเข้าไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยอีกครั้ง อย่าไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การถอยหลังแต่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นช่วงเวลาหนึ่งแม้จะพัฒนาช้าลงก็ตาม


 


สำหรับโครงการที่จะทำร่วมกับประเทศไทยคือ การส่งอาสาสมัครมาประจำหนึ่งคน และทุกๆปีจะมีแคมป์ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยก็จะให้คนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย 2-3 คนต่อปี


 


อนึ่ง เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารนักศึกษาและประชาชนอย่างเหี้ยมโหดโดยกองกำลังทหารของรัฐบาล เมื่อในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1980 ผลการปราบปรามและสังหารพลเมืองครั้งนั้น ทางการเกาหลีใต้ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 154 คน บาดเจ็บ 3,139 คน สูญหาย 64 คน ถูกจับกุมตัว 503 คน


ชนวนของเหตุการณ์มาจากความไม่พอใจในการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.1979 โดยนายพลชุน ดู ฮวาน รัฐบาลทหารประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และมีการส่งกองทหารจำนวนหนึ่งมายังกวางจูเพื่อป้องกันการลุกฮือต่อต้านการรัฐประหาร


ในวันที่ 15 พ.ค.1980 เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่กลางท้องถนนเมืองกวางจู นำโดยคณาจารย์และนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดการประชุมรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย มีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายหมื่นคนที่หน้าศาลากลางเมือง การชุมนุมยืดเยื้อสู่วันที่ 18 พ.ค. รัฐบาลเริ่มส่งกองทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ ความรุนแรงยังคงต่อเนื่องไปถึงวันที่ 20 พ.ค.กลายเป็นสถานการณ์สงครามกลางเมือง แต่ทหารก็ยังควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่ได้


จนถึงวันที่ 27 พ.ค. มีการลำเลียงรถถังเกือบร้อยคันมายังย่านใจกลางเมืองกวางจูและถล่มอย่างไม่ยั้ง หลายคนยอมแพ้และถูกจับกุมอีกระลอกใหญ่ ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นได้กลับกลายไปเป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตย และช่วยเติมเชื้อไฟให้กับการต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารของประเทศเกาหลีตลอดช่วงทศวรรษ 1980


รางวัลสิทธิมนุษยชน กวางจู ได้ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2002 เพื่อเป็นรางวัลที่มอบบุคคล กลุ่ม หรือสถาบันในเกาหลีหรือต่างประเทศที่มีส่วนส่งเสริมและผลักดันสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติภาพ รางวัลนี้มอบให้โดยชาวกวางจู เพื่อแสดงความสามัคคีและความขอบคุณจากผู้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือในยามที่พวกเขาดิ้นรนเพื่อประชาธิปไตยและแสวงหาความจริง


ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ มีอาทิ ซานานา กุสเมา แห่งติมอร์ตะวันออก, บาซิล เฟอร์นันโด ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย, สมาคมครอบครัวเกาหลีเพื่อประชาธิปไตย, อนุสรณ์เพื่อผู้สูญหายในศรีลังกา, อองซาน ซูจี และวาร์ดาห์ ฮาฟิดซ์ ผู้มีส่วนผลักดันสิทธิมนุษยชนของคนยากจนและประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ส่วนในปีล่าสุดคือ นางอังคณา นีละไพจิตร จากประเทศไทย และมาลาไล โจยา จากประเทศอัฟกานิสถาน


 


 


 -------------


 


ข้อมูลกวางจู


จาก วัฒนชัย วินิจจะกูล ข้อเขียนชุด "10 วันในกวางจู"


http://www.onopen.com/2006/01/360


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net