Skip to main content
sharethis


รายงานโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ และวิทยากร บุญเรือง


 

 


เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ภาคเหนือตระเวนสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยจังหวัดลำพูนตั้งแต่ตัวเมืองลำพูน ถึง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำแม่ทาซึ่งไหลผ่าน จ.ลำพูน ลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ระดับน้ำในแม่น้ำแม่กวงยังอยู่ในระดับวิกฤติ โดยล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 4 ก.ย.ระดับน้ำแม่กวงอยู่ที่ 6.00 เมตร ลดลงจากเมื่อวานนี้เล็กน้อย จึงยังส่งผลให้ในระยะนี้หลายพื้นที่ของลำพูนยังคงจมใต้กระแสน้ำ


                                       


ย่านตัวเมืองลำพูนยังจมน้ำ โรงเรียนประจำจังหวัดปิดถึง 6 ก.ย.


 



 



โรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน ติดป้ายประกาศหยุดเรียนในวันที่ 4-5 กันยายน


เนื่องจากน้ำท่วมขังบริเวณโรงเรียน


 


บริเวณแรกที่ผู้สื่อข่าวไปถึง คือบริเวณ ต.อุโมงค์ และ ต.ป่าเห็ว อ.เมือง จ.ลำพูน ก่อนถึงตัวเมืองลำพูน ระดับน้ำยังคงท่วมขังในถนนเชียงใหม่-ลำพูนบางจุดจนรถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ระดับน้ำที่ท่วมขังทำให้โรงเรียนจักรคำคณาทร ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดมีน้ำท่วมขัง ต้องปิดการเรียนการสอนในวันที่ 4-5 กันยายน และจะเปิดอีกครั้งในวันที่ 6 กันยายน นอกจากนี้ชุมชนริมทางรถไฟหลายร้อยหลังคาเรือนก็จมอยู่ใต้น้ำด้วย เนื่องจากระดับน้ำจากแม่น้ำกวงเอ่อล้นเข้าท่วมในขณะที่ระดับถนนอยู่สูงกว่าบ้านเรือนจึงทำให้น้ำไม่มีที่ระบาย


 


 


อุทาหรณ์จากลำพูน ถึงโครงการพนังยักษ์ในเชียงใหม่


               


 


ระดับน้ำในแม่น้ำกวงที่ขึ้นสูงกว่าระดับวิกฤติส่งผลให้พื้นที่ลุ่มสองฝั่งริมแม่น้ำจมมิดใต้บาดาลเป็นวงกว้าง ไล่มาตั้งแต่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จนถึงจังหวัดลำพูนหลายอำเภอ


 


จากอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ขับรถไปตามถนนสายลำพูน-ลี้ เพื่อไปยังอำเภอป่าซาง โดยมีแม่น้ำกวงอันไหลขนานอยู่ห่างๆ เราทางทิศตะวันออก จากการสังเกตพบว่าระดับความสูงของถนนที่สูงกว่ากำแพงบ้านเรือน ทำให้ถนนสายดังกล่าวกลายเป็นพนังกั้นน้ำขนาดยักษ์พาดจากเมืองลำพูน ไปถึงเขตพื้นที่ อ.ป่าซาง ได้เป็นอย่างดี


 


ทั้งนี้ ถ้าถนนไม่สูงขนาดนี้ เมื่อระดับน้ำขึ้นสูงย่อมหลากเข้าสู่พื้นที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำธรรมชาติเป็นวงกว้าง ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นน้อยกว่า แต่เมื่อมีถนนที่สูงราวกับเป็นพนังกั้นน้ำขนาดยักษ์ แม้บ้านเรือนอีกฝั่งถนนจะไม่ประสบอุทกภัยก็ตาม แต่มันก็ทำให้บ้านเรือนอีกฝั่งถนนที่ติดกับแม่น้ำกวงต้องจมน้ำนานหลายเดือนเพราะน้ำไม่มีที่ไป นับเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับใครที่คิดจะสร้างพนังกั้นแม่น้ำปิงสำหรับเมืองเชียงใหม่ หรือเมืองใหญ่อื่นๆ เพราะหากออกแบบชุ่ยย่อมเท่ากับเป็นการก่อกำแพงขังน้ำไว้ท่วมบ้านตัวเอง เป็นเพียงการย้ายน้ำท่วมจากที่หนึ่งให้ไปท่วมที่อื่นเท่านั้นเอง


 


 


ผู้ประสบภัยเผย "เก็บของไม่ทัน เสื้อผ้าจมน้ำหมด ไม่นึกว่าจะมาเร็วขนาดนี้"




 



นายนรินทร์ ปัญจบุรี ราษฎรหมู่ 4 บ้านศรีย้อย ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน


กับบ้านเรือนที่จมเสียหายเบื้องหลังของเขา


 


 


ระหว่างถนนลำพูน-ลี้ ช่วง ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน มีผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม ขึ้นมากางเต็นท์หนีน้ำอยู่ริมถนน เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำกวงขึ้นสูงทำให้บ้านเรือนจมอยู่ใต้น้ำ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายนรินทร์ ปัญจบุรี ราษฎรหมู่ 4 บ้านศรีย้อย ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม นายนรินทร์กล่าวว่า ปีนี้ทั้งตำบลต้นธงน้ำท่วมหนัก แม้เมื่อก่อนจะเคยมีน้ำท่วมแต่ก็ไม่เข้ามาในตัวบ้าน แต่หนนี้น้ำเกือบ 2 เมตร


 


เรื่องความเสียหายนั้น นายนรินทร์บอกกับผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ว่า "เก็บของไม่ทัน เสื้อผ้าจมน้ำไปหมด และเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียง โซฟา ตอนนี้ก็แช่น้ำหมดเลย"


 


"อบต.ต้นธงเขาแจ้ง แต่ไม่นึกว่ามันจะมาเร็วขนาดนี้ ตอนเที่ยงคืนสะดุ้งตื่นมาชั้นล่างระดับน้ำมาถึงครึ่งเตียงแล้ว" นายนรินทร์กล่าวถึง


 


ในส่วนของความช่วยเหลือ นายนรินทร์กล่าวว่าได้รับเครื่องยังชีพจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน ส่วนตัวเขาเองขณะนี้กำลังตระเวนเยี่ยมพนักงานที่ทำงานอยู่กับ หจก.ปัญจบุรี ซึ่งเป็นกิจการของตน "ผมซื้อไข่ไก่ น้ำปลา น้ำมันพืชแจกพนักงานอยู่ตอนนี้" นายนรินทร์กล่าว ก่อนขอตัวไปเยี่ยมลูกน้อง


 


 


ราษฎรเผย แม้แต่น้ำท่วมหนก่อนก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร


 




นายจรวย สุขปราศรัย ราษฎรหมู่ 5 ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน


ขณะนี้พาครอบครัวมาตั้งเต็นท์นอนริมถนน ตรงข้ามวัดพันตาเกิน ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน


 


ด้านนายจรวย สุขปราศรัย ราษฎรหมู่ 5 ต.ต้นธง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งพาครอบครัวหนีน้ำขึ้นมาตั้งเต็นท์ริมถนนตรงข้ามวัดพันตาเกิน ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน ก็บอกกับ "ประชาไท" เช่นเดียวกันว่าเก็บข้าวของไม่ทัน


 


"กำนันประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วแต่ตอนนั้นน้ำยังไม่เยอะมาก จนวันพฤหัสบดีน้ำเริ่มไหลเข้ามาท่วมบ้าน ก็ต้องเริ่มเก็บ นึกว่าขึ้นมาเมตรเดียวก็อยู่เหมือนครั้งก่อน"


 


"น้ำมาเร็วเกินไป บางอย่างก็จม ตู้เสื้อผ้าจมน้ำไปเลย โชคดีที่เก็บลำไยหมดต้นแล้ว" นายจรวยกล่าว แสดงว่าหนนี้น้ำมาเร็วและแรงเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดและเตรียมการได้ทัน


 


"ที่ ต.ต้นธง ต.บ้านแป้นที่น้ำทาผ่าน น้ำท่วมหมด น้ำแม่ทา น้ำแม่กวงมาบรรจบกันเลยทำให้น้ำท่วมเร็ว" นายจรวยขอสันนิษฐานสาเหตุที่น้ำขึ้นเร็วครั้งนี้


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความช่วยเหลือในขณะนี้ จากการเปิดเผยของนายจรวย ความช่วยเหลือไม่ได้อยู่ไกลตัวเลยแต่เป็นเรื่องของ "ประชานิยม" จริงๆ คือ ชาวบ้านช่วยเหลือกันเองเป็นประชานิยมไม่ได้อิงพรรคการเมืองไหน


 


"เห็นว่า อบต.จะเอาอาหารมาให้ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใคร มีแต่ชาวบ้านด้วยกันเอาอาหารมาให้กิน แล้วก็มีกำนันบุญเลิศ มหาบุญเป็ง กำนันตำบลต้นธง จะทำอาหารมาแจก" นายจรวยกล่าว


 


เกี่ยวกับความช่วยเหลือจากรัฐ เขากล่าวว่า "น้ำท่วมที่ผ่านมาไม่เคยได้ค่าชดเชย แห้งแล้วก็ผ่านไปเลย ครัวเสียก็เสียไปเลย มีแต่แจกอาหารครั้งสองครั้ง" นายจรวยกล่าวในที่สุด


 


หลังจากสนทนากับพี่จรวยแล้ว หลังจากนั้นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ก็เดินทางต่อไปยังปลายทางของการรายงานข่าวคืออำเภอป่าซาง อำเภอซึ่งประสบความเสียหายหนักที่สุดจากอุทกภัยครั้งนี้ ว่ากันว่าเป็นน้ำท่วมป่าซางที่หนักที่สุดในรอบ 48 ปี


 


 


....................................................


ข่าวประชาไทก่อนหน้านี้


ป่าซางอ่วม น้ำท่วมหนักในรอบ 48 ปี (1/9/2549)


ป่าซางน้ำลดแล้ว แต่น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่บ้านนายกฯ ยังระทึกต่อ (3/9/2549)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net