Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 12 ก.ย.49      พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้(กอ.สสส.จชต.)ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่แก้ปัญหาเหตุไม่สงบใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม2547-31พฤษภาคม2548 ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆนำมาเขียนเอกสารเรื่อง "การเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อเป็นพื้นฐานการค้นหาเส้นทางไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร


 


เอกสารแบ่งเป็น 7 บท คือบทที่ 1 จังหวัดชายแดนปัตตานี บทที่ 2 ที่มาของปัตตานี บทที่ 3 การก่อความไม่สงบ การแก้ปัญหาในอดีตและเหตุการณ์สำคัญ บทที่ 4 บทบาท และภารกิจการดำเนินงานของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)สมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯรับผิดชอบ บทที่ 5 บทบาทและภารกิจการดำเนินงานของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)สมัยที่ พ.อ.สิริชัย รับผิดชอบ บทที่ 6 บทบาทและภารกิจการดำเนินงานของคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กสชต.)สมัยที่ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ รับผิดชอบ และ บทที่ 7 ภาคผนวก แนวทางการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ


                               


ในบทที่ 3 ของเอกสารมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ภาคใต้เคยมีปัญหาความไม่สงบตั้งแต่ พ.ศ.2488 ในยุคของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์(ผกค.)และยุติการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.34 ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา และโจรคอมมิวนิสต์มาลายา นั้นเข้ามาตั้งฐานต่อสู้กับทางการมาเลเซียในไทยจำนวน 3 กรม แต่ทางหารไทยร่วมมือกับทางการมาเลเซีย ต่อต้านและปราบปรามและยุติปัญหาในการเจรจา 3 ฝ่าย ในวันที่ 2 ธ.ค.32


   


ส่วนขบวนการโจรก่อการร้ายเพื่อเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มเมื่อ พ.ศ.2491 โดยขบวนการแนวหน้าแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยปัตตานี(GAMPAR) ซึ่งผู้ก่อการเป็นทายาทของพระยาวิชิตภักดี อดีตเจ้าเมืองปัตตานี โดยยุยงให้ชาวไทยมลายูในพื้นที่กระด้างกระเดื่องกับรัฐบาล ต่อมาขบวนการนี้ได้แยกไปตั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนในชื่อต่างๆ คือ ขบวนการแนวร่วมแห่งชาติปัตตานี(BIPP) แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี(BRN) องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี หรือองค์การปัตตานีเสรี(PULO) ขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี( GMP) กลุ่มโจรมูจาฮีดีนปัตตานี(GMIP) กลุ่มเยาวชนกู้ชาติปัตตานี(PMP) ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี(BERSATU)


 


การแก้ปัญหาในอดีตนั้น รัฐบาลแบ่งสายงานการแก้ปัญหาให้ กอ.รมน. กองทัพภาคที่ 4 ศอ.บต.และ พตท.43 ร่วมกันแก้ไข แต่หลังจากที่รัฐบาลได้มีคำสั่งยกเลิก ศอ.บต.และ พตท.43 เมื่อวันที่ 30 เม.ย.45ได้เกิดเหตุร้ายครั้ง สำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นกรณี คนร้ายบุกปล้นปืนจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ น้ำตกซีโป ปล้นหน่วยทักษิณพัฒนา 2 แห่ง คือ ปล้นอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 จำนวน 17 กระบอก และเอ็ม.203 จำนวน2 กระบอก จากหน่วยทักษิณพัฒนาที่ 5 และปล้นอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 15 กระบอกและสังหารนาวิกโยธินเสียชีวิต 5นาย บาดเจ็บ 2 นาย ที่หน่วยทักษิณพัฒนาที่ 12 หลังจากนั้นก็มีการปล้นอาวุธปืนจาก อปพร.และอส.ในหลายอำเภอของ จ.นราธิวาส และ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี


 


กระทั่ง วันที่ 4 ม.ค.47 เกิดเหตุครั้งใหญ่คือ ปล้นปืนจากกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยทหารเสียชีวิต 4 นาย และปล้นปืนเอ็ม 16 จำนวน 380 กระบอก ปืนกลเอ็ม 60 อีก 2 กระบอก เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 7กระบอก ปืนพก 86 จำนวน 24 กระบอก กระสุนขนาด 5.56 มม.อีก 2263 นัด


 


อีกบทที่สำคัญคือ บทที่ 4 เป็นเรื่อง บทบาท และภารกิจการดำเนินงานของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) สมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รับผิดชอบ เอกสารระบุว่ามีปัญหา/ข้อขัดข้องในการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา คือ


 


กอ.สสส.จชต.มีภารกิจในการประสานหน่วยงานเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเกิดอุปสรรคในการบูรณการงาน ที่ยังไม่ให้รายงานผลการดำเนินงานตามห้วงเวลา ประการต่อมาคือมีความจำเป็นต้องได้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถ เข้าใจปัญหาในพื้นที่ของรัฐและหน่วยเหนือในการเข้าปฏิบัติงานใน กอ.สสส.จชต. ประการสุดท้าย การจัดการด้านงบประมาณที่กระทำได้ล่าช้าและลำบาก แต่ในช่วงนี้ เกิดเหตุลอบทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย โดย ตั้งแต่เดือน มค.- ต.ค.47 รวมกว่า 500 ครั้ง


   


ส่วนใน บทที่ 5 บทบาท และภารกิจการดำเนินงานของ กอ.สสส.จชต. สมัยที่ พล.อ.สิริชัย รับผิดชอบ มีปัญหาข้อขัดข้อง ได้แก่การต้องสร้างความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เข้าใจปัญหาสภาพความเป็นจริง ขนบธรรมเนียม ประเพณีของท้องถิ่น เพื่อให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลโดยไม่สร้างเงื่อนไขทางสังคม


 


ประการที่สอง การเข้าถึงมวลชน เพราะมวลชนนั้นมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ดังนั้น จึงต้องทำงานในด้านนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างมวลชน มีอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องระมัดระวังมวลชนแอบแฝง อีกทั้งต้องคัดเลือกเจ้าหน้าที่ทำงานมวลชนอย่างรอบคอบ ประการที่สามการพัฒนา เป็นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของฝ่ายปกครองที่ต้องเข้าใจปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง มีการบูรณาการโครงการของทุกส่วน เพื่อให้การพัฒนาเป็นการแก้ปัญหาไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง


 


ประการที่สี่เจ้าหน้าที่รัฐควรได้รับการอบรม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจการใช้งบประมาณต้องให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด เครื่องมือเครื่องใช้ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอและทันเวลา ควรศึกษาแนวทางการปฎิบัติอย่างรอบคอบ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายการทำงาน ไม่ควรเปลี่ยนกลับไปกลับมา จนทำให้เกิดความสับสนในการปฎิบัติงาน ในช่วงนี้ เกิดเหตุการณ์ก่อเหตุร้ายตั้งแต่ 4 ต.ค.47-31 พ.ค. 48 รวมทั้งสิ้น 985 ครั้ง


  


บทที่ 6 บทบาท และภารกิจการดำเนินงานของคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กสชต.)สมัยที่ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ รับผิดชอบ มีการเปลี่ยนระบบการแก้ปัญหา โดยวันที่ 31 พ.ค. 48 นายกฯได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 200/2548 เพื่อนโยบายและการพัฒนาการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และให้มีการตั้ง กสชต.ขึ้นมา โดยในช่วงนี้ มีการออก พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ขึ้น เมื่อวันที่ 17 ก.ค.48 แต่กลับมีการก่อเหตุร้าย ตั้งแต่ มิ.ย.48- มิ.ย.49 รวมทั้งสิ้น 1,940 ครั้ง


 


บทที่ 7 ภาคผนวก แนวทางการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ การแก้ปัญหาความไม่สงบของรัฐบาลได้มีการดำเนินการหลายรูปแบบ แต่ได้ผลเฉพาะ ผกค. และ จคม.เท่านั้น แต่ ขจก.ยังไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะ ขจก.ได้มีการพัฒนารูปแบบที่ซับซ้อนและเงื่อนไขที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นการตอกย้ำความรู้สึก เหมือนเป็นตัวเร่งทำให้ความขัดแย้งพัฒนาเป็นการก่อการร้ายที่ขยายพื้นที่กว้างขวางกว่าในอดีต จนแทบไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงยากแก่การแก้ไขปัญหา


 


ดังนั้น ต้องตั้งใจและน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้จากปัญหาที่สลับซัอน บนพื้นฐานความแตกต่างด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์บางสถานการณ์ จากการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ ทั้งระดับนโยบาย และระดับบุคคล ตลอดจนการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่ม ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนถูกข่มเหง โดยที่ความรู้สึกดังกล่าวได้แผ่กระจายและสืบทอดอย่างต่อเนื่อง เป็นสภาพสังคมที่หวาดระแวง ไม่วางใจเจ้าหน้าที่และไม่ยอมรับความแตกต่าง


 


การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้บรรลุผลอย่างยั่งยืนถาวร ต้องแก้ที่สาเหตุของปัญหา ด้วยการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง มีความสามัคคี ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ พร้อมที่จะปกป้องตนเองและขยายเป็นเครือข่าย เพื่อโดดเดี่ยวฝ่ายก่อความไม่สงบ ซึ่งแนวทางดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาทางสังคมจิตวิทยานำทหาร สนับสนุนด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางกฎหมาย โดยกระทำกว้างขวางจากชุมชนที่เล็กที่สุด ขยายเป็นเครือข่ายไปสู่สังคมส่วนรวม ซึ่งเรียกว่า "การเอาชนะที่หมู่บ้าน"


 


การเอาชนะที่หมู่บ้าน เป็นการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา โดยกำหนดเป้าหมายที่ชุมชนเล็กที่สุดและเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของสังคม ก็คือ หมู่บ้าน


 


 "เข้าใจ"ต้องทำความเข้าใจชุมชนเป้าหมาย ในทุกแง่มุมประวัติศาสตร์ ความแตกต่างในทุกๆด้าน ต้องเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิด ปัญหา และความต้องการด้านต่างๆ "เข้าถึง"ต้องเข้าให้ถึงพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย คลุกคลี เกาะติด และเข้าให้ถึงจิตใจของชุมชน เพื่อลดความหวาดระแวง และยอมรับการมีส่วนร่วม "พัฒนา" ต้องพัฒนาไปสู่สภาพที่ดีกว่าเดิมในทุกๆด้าน ตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างทันเวลาและยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net