Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.skyd.org


 


วันที่ 11 กันยายน 2001 ชาย 11 คน เปลี่ยนเครื่องบินพาณิชย์ 4 ลำ ให้เป็นอาวุธแห่งความหวาดกลัว เข้าโจมตีเมืองหลายเมืองในสหรัฐฯ และคร่าชีวิตประชาชนพลเมืองไปกว่า 3,000 คน


 


เครก อาร์ วิทนีย์ เขียนไว้ในบทนำของหนังสือ สอบสวนเหตุการณ์ 11 กันยา (2004) ว่า "เช้าที่ฟ้าสกาววันนั้นได้พลิกผันโลกทั้งใบ สหรัฐฯตระหนกจนตระหนักว่าตนถูกผลักไสให้เข้าร่วมสงครามระดับโลกอย่างฉกาจฉกรรจ์ทันด่วน"


 


ในกาลต่อมา สหรัฐฯโจมตีอัฟกานิสถานเพื่อถอนรากขุดโคน "อิสลามสายสุดขั้วแห่งระบอบตาลิบัน" นอกจากนั้น ยังรุกรานอิรักเพื่อโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ด้วยอ้างว่าระบอบของชายผู้นี้ครอบครองอาวุธพลานุภาพทำลายล้างมหาศาล (Weapons of Mass Destruction)


 


พวกตาลิบันถูกบังคับให้ระเห็จออก ซัดดัมถูกจับ และไม่มีการค้นพบอาวุธทำลายล้างที่ว่าในอิรัก กระนั้นก็ตาม "สงครามที่แผ่ไพศาลเป็นวงกว้างขึ้น และภัยก่อการร้ายต่อมาตุภูมิแห่งชนชาติอเมริกันกลับดำเนินต่ออย่างไม่ลดละ" ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ณ ช่วงเวลาแห่งการโรมรันอันน่าสะพรึงพรั่น จนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน สหรัฐฯ "มีประธานาธิบดีผู้ถูกโน้มน้าวว่าไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากตีหัวพวกมารก่อการร้ายก่อนที่มันจะตีหัวเราอีกครั้ง" (วิทนีย์, 2004: หน้า 9)


 


มีหนทางมากมายเพื่อจดจำมรณกรรมของผู้เสียชีวิตในวันชะตาลิขิต  11 กันยายน


 


พวกเขาสามารถถูกจดจำพร้อมๆกับชาวบ้านอัฟกันจำนวน 3,125 ถึง 3,620 คน ซึ่งถูกปลิดชีวิตไปในช่วง 10 เดือนแรกของการสงครามในอัฟกานิสถาน ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ปี 2001  หรือถูกจดจำร่วมกับทหารจากนานาประเทศ ผู้สละชีพพลีกายให้แก่สงครามอิรัก จำนวน 2,083 นาย (นับแต่เดือนมีนาคม ปี 2003 จนสิ้นสุดเดือนมกราคม ปี 2005) โดย 1,887 นาย เป็นชาวอเมริกัน เช่นเดียวกัน ผู้คนเหล่านั้นสามารถถูกจดจำเคียงคู่กับพลเรือนจำนวน 24,865 คน ที่เสียชีวิตตั้งแต่สงครามในอิรักเริ่มขึ้น โดยตัวเลขของ ทีมงานอังกฤษนับผู้เสียชีวิตในอิรัก (UK-based Iraq Body Count Group) แสดงให้เห็นว่า และ 37% หรือ 9,200 คนในจำนวนนี้ ถูกคร่าชีวิตโดยทหารอเมริกัน ขณะที่อีก 9% หรือ 2,237 คน สิ้นชีพด้วยฝีมือกลุ่มต่อต้าน (The Wall Street Journal, 5 สิงหาคม 2005)


 


วิถีทางอื่นในการจดจำชะตากรรมของผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อไม่ว่าจะเป็นพลเรือน หรือทหาร ให้เปี่ยมด้วยความหมาย อาจคือ ปฏิเสธการชี้นำด้วยความเชื่ออันสิ้นสูญซึ่งความหวังที่ว่าโลกนี้ไม่มีทางเลือกใด เว้นแต่จมดิ่งลู่ลึกสู่ห้วงอเวจีที่มีแต่วิธีดับดิ้นความรุนแรงด้วยความรุนแรงเท่านั้น


 


เพื่อเป็นเกียรติแก่ความทรงจำของผู้ที่จากไปในเหตุการณ์ 11 กันยา รวมถึงผู้ที่ลาลับด้วยผลจากเหตุการณ์นี้ การปลดโลกออกจากพันธนาการแห่งความโศกสลดหมดหวัง ด้วยการจดจำเหตุการณ์ 11 กันยา อีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปี ที่แล้ว จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เนื่องเพราะมันเป็นมรดกอันทรงพลังมหาศาล ที่เปลี่ยนผ่านโลกไปสู่ทิศทางแห่งเสรีภาพด้วยสันติวิธี


 


สันติวิธี 11 กันยา


วันที่ 22 สิงหาคม 1906 รัฐบาลทรานสวาล (Transvaal Government) แห่งแอฟริกาใต้ ภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ ได้ผ่านกฎหมายใหม่ ซึ่งบังคับให้ชาวอินเดีย อาหรับ และเตริ์ก ต้องลงทะเบียนกับรัฐบาล หากรอยนิ้วมือและ ไฝ ฟ้า หรือจุดสังเกตต่างๆตามร่างกายของใครถูกบันทึกเก็บไว้ บุคคลผู้นั้นจึงจะได้รับใบรับรองการลงทะเบียน ส่วนผู้ไม่มา หรือตกหล่นจากการลงทะเบียนที่ว่า ต้องเสียค่าปรับ จำคุก หรือกระทั่งถูกเนรเทศ ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆที่ต้องมาประทับรอยนิ้วมือที่ศูนย์ลงทะเบียนเช่นกัน


 


ณ ช่วงเวลานั้น ชาวอินเดียอาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้เกือบหนึ่งแสนคน  และในทรานสวาลนี้ มีทนายชาวอินเดียซึ่งทำงานให้กับบริษัทของชาวมุสลิม นามว่า โมฮานดาส เค กานดี (Mohandas K. Ghandhi)


 


วันที่ 11 กันยายน 1906 กานดีจัดประชุมครั้งใหญ่ โดยมีชาวทรานสวาลเชื้อสายอินเดียราวสามพันคนเข้าร่วมเพื่อหาหนทางทัดทานต่อต้านพระราชบัญญัติตราทะเทียน เขารู้ดีว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการก่อร่างสร้าง "ความเกลียดชังต่อชาวอินเดีย" เพียงไร หากความชิงชังเป็นที่ยอมรับ "การทำลายล้างชาวอินเดียในแอฟริกาใต้อย่างราบคาบย่อมเกิดขึ้นเป็นแน่แท้" ดังนั้น การต่อต้านมันจึงเท่ากับ "ปุจฉาต่อชีวิตและความตาย"


 


หลังจากฟังสุนทรพจน์ของกานดีจบ  ชีธ ฮัจี ฮาบิบ (Sheth haji Habib) หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นชาวมุสลิมและเป็นผู้พำนักเก่าแก่ในแอฟริกาใต้ ได้ลุกขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมว่า ชาวอินเดียจักต้องออกมติ โดยมีพระเจ้าเป็นประจักษ์พยาน อีกทั้งไม่ยอมจำนนอย่างขลาดเขลาต่อกฎหมายที่เหยียดหยันเราเยี่ยงนั้น


 


กานดี ได้เขียนถึง ชีธ ฮาบิบ ไว้ในหนังสือ สัตยาเคราะห์ในแอฟริกา (1982) ว่า "เขาลุกขึ้นด้วยท่วงท่าสง่าผ่าเผย เพื่อประกาศก้องพระนามแห่งพระเจ้า และว่าเขามิอาจยอมจำนนต่อกฎหมายนี้ ทั้งยังแนะให้ผู้ร่วมประชุมทั้งหมดปฏิบัติเช่นเดียวกัน" ถึงแม้ ชีธ ฮาบิบ จะได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ยิ่งนัก แต่กระนั้น การกระทำของเขาในวันที่ 11 กันยายน ถือว่าสลักสำคัญ เหตุเพราะ เขาตัดสินใจขัดขืนกฎหมายที่ไร้ความเป็นธรรม และยังสมัครพรักพร้อมที่จะทนทุกข์ทรมานรับผลจากการต่อสู้อันประสิทธ์ประสาทไว้ซึ่งจิตวิญญาณ ทั้งนี้เพื่อความยุติธรรมในนามของพระเจ้า


 


คำชี้แนะของสหายชาวมุสลิมทำให้กานดีประหลาดใจไม่น้อย  เขาเขียนเล่าว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้เตรียมใจมาก่อนว่า ที่ประชุมจะต้องมีมติหรือข้อเสนออันใดในลักษณะเช่นนั้น ซึ่งก็ต้องให้ความดีความชอบแก่ชีธ ฮัจี ฮาบิบ ขณะเดียวกันมันก็ผูกรัดเขาไว้ด้วยความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง ข้าพเจ้ายินดีแก่เขา และชื่นชมข้อแนะนำของเขาอย่างสุดซึ้ง แต่ถ้าคุณสมาทานมัน คุณก็ต้องแบ่งสรรความรับผิดชอบของเขาด้วย"


 


11 กันยายน 1906 ยังเป็นวันเดียวกับการถือกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวสันติวิธีในแอฟริกาใต้อีกด้วย ต่อมากานดีเรียกขบวนการเคลื่อนไหวชนชาติอินเดียของเขาว่า "สัตยาเคราะห์"  หรือ "กองกำลังซึ่งจุติจากสัจจะ และความรัก หรือสันติวิธี" ขบวนการนี้เองได้นำไปสู่การปลดปล่อยประชาชน 300 ล้านคน จากอุ้งมืออำนาจของจักรวรรดิอังกฤษ ตลอดจนการเดินขบวนประท้วงด้วยพลังการต่อสู้แบบสันติวิธีครั้งที่โดดเด่นที่สุดในศตวรรษที่ 20


 


จดจำสันติวิธี 11 กันยา


แต่อะไรเล่าคือความหมายของการ "จดจำ วันที่ 11 กันยายน 1906" ใน 100 ปีต่อมา?


 


ผู้เขียนเห็นว่า มันหมายถึงการจดจำว่าสันติวิธีในฐานะทางเลือกได้ก่อกำเนิดท่ามกลางการต่อสู้ของผู้คนเพื่อคะคานกับความอยุติธรรม 


 


สำหรับกานดีแล้ว มันหมายถึงกองกำลังแห่งสัจจะ ที่รวมผู้คนเข้าหากัน และสถิตซึ่งพลัง ให้แก่พวกเขา ในอันที่จะเอาชนะจักรวรรดิทรงอำนาจ นั่นเป็นคำเฉลยว่าเหตุใดการวิงวอนต่อพระเจ้าให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในกรณีนี้ คือการสะท้อนว่าเขาและเธอพร้อมยอมสละสิ้นทุกสิ่งอย่าง เพื่อ "สัจจะ" หรือ "พระเจ้า"


 


นอกจากนี้ ยังหมายถึง การจดจำบทบาทของมุสลิม ที่ส่งเสริมให้บังเกิดทางเลือกแห่ง สัตยาเคราะห์ หรือสันติวิธีแบบกานดี


          


บางทีความหมายของ "การจดจำ 11 กันยา 1906" (remembering September 11, 1906) ที่สำคัญที่สุดอาจคือ การที่ผู้คนสามารถเลือกให้ตนเข้าเป็นสมาชิกของชุมชนทางความทรงจำชุมชนหนึ่ง (as members of a community of memory) ที่ซึ่ง ในครานั้นคนธรรมดาตัดสินใจกระทำการบางอย่างที่เกินกว่าสามัญ ด้วยการปลดปล่อยตนเองจากความสิ้นหวังอาดูร และเปลี่ยนแปลงโลกของพวกเขาด้วยสันติวิธี


                                                                 


บทความ Remembering Nonviolent 9/11 เขียนโดย ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post วันที่ 11 กันยายน 2548  และ www.transcend.org) แปลโดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net