5 ปีไฟใต้ หญิงหม้าย-เด็กกำพร้า เต็มเมือง!

เรียบเรียงจาก สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

           

14 ก.ย.2549 -  ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี มีการจัดประชุมวิชาการ "เข้าใจ เข้าถึง สถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้" โดยมีการนำเสนอข้อมูลของ โครงการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.)  

 

นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวเปิดการประชุมว่า ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบคือ "บุคคลกลุ่มพิเศษ" การให้ความช่วยเหลือบุคคลกลุ่มพิเศษต้องทำความเข้าใจเข้าเป็นพิเศษว่าชีวิตของพวกเขาไม่มีอะไรเปรียบเทียบหรือตีราคาได้ และการสูญเสียผู้นำครอบครัวของพวกเขาคือ การสูญเสียความมั่นคงของชีวิต

 

การดูแลกลุ่มพิเศษนั้น ไม่ควรจำเพาะกับกลุ่มผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะหรือตากใบเท่านั้น แต่เหตุการณ์รายวันหรือเหตุการณ์เล็กๆ ที่ไม่ค่อยเป็นข่าว ก็ต้องได้รับการดูแลเยียวยาอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกัน

 

 "สิ่งหนึ่งที่ต้องเริ่มคิด โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ คือทำอย่างไรไม่ให้ผลกระทบมันขยายไปมากกว่านี้ และหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจหรือปล่อยปละละเลย ก็จะต้องสอบสวนแล้วลงโทษทางวินัยต่อไป"ผู้ว่าฯ ปัตตานีกล่าว

 

ดร.เมตตา กูนิง จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะคณะทำงานจากทีมฐานข้อมูล ศวชต.นำเสนอว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 5 ปี (2545-2549) ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 1,917 คน เสียชีวิต 1,198 คนปลอดภัยจากเหตุการณ์ 352 คน และที่ไม่สามารถระบุได้เนื่องจากไม่มีใครติดตามอีก 596 คน รวมทั้งหมด 4,063 คน โดยเพศชายได้รับผลกระทบมากที่สุดร้อยละ 86.3  ซึ่งคนจำนวนเหล่านี้ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

ในส่วนของเหตุการณ์พบว่าเกิดเหตุไม่สงบรวมทั้งสิ้น 4,483 ครั้ง เฉลี่ยเกิดเหตุวันละ 3 ครั้ง โดยจังหวัดนราธิวาส มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากที่สุด 1,731 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 38.6 เมื่อมองดูสถิติพบว่าเหตุการณ์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

 

"สิ่งที่น่าสนใจคือ ในจำนวนผู้เสียชีวิต 1,198 จะมีหญิงหม้ายกับเด็กกำพร้าอีกเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะลักษณะครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เหมือนครอบครัวคนไทยในภูมิภาคอื่น คนที่นี่มักจะมีลูกมาก ขณะนี้ยังไม่สามารถรวบรวมจำนวนหรือตัวเลขหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าทั้งหมดได้"

 

สำหรับการสำรวจหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น พบว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีช่วยเหลือมากที่สุดจำนวน 4,255 คน รวม 284,688,859 บาท กองสลากกินแบ่งรัฐบาลช่วยเหลือไปจำนวน 1,204 คน รวมเงิน 201,280,000 บาท จากกองทุนสมานฉันท์ 801 คน จำนวนเงิน 4,055,200 บาท กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)จำนวน 373 คน จำนวนเงิน 31,016,857 บาท รวมที่เหลืออีก 122 หน่วยงาน ได้ช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 2,369 คน เงินช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น 89,132,667 บาท และรวมเงินช่วยเหลือทั้งหมด 628,371,781

 

ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีเปิดเผยว่า โครงการ ศวชต.จัดตั้งโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ประธานกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติและ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.)

 

"เราพยายามตอบโจทย์ผลกระทบมีอะไรบ้าง และเราควรทำอย่างไร แต่เราไม่ตอบโจทย์ว่าเกิดเหตุการณ์อะไร ใครเป็นคนทำ  ก็เพราะเล็งเห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ต่างก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงด้วยกันทั้งสิ้น แต่การช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆทั้งจากภาครัฐและประชาชนยังไม่ทั่วถึง" ผศ.ปิยะ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท