Skip to main content
sharethis

14 ก.ย.2549 -  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดอภิปราย "นักข่าว (หญิง) กับภัยคุกคามทางเพศ" ในโครงการเสวนามาตรการการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานและจากการทำงาน ครั้งที่ 4


 


วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ ตัวแทนพรรคชาติไทยกล่าวว่า เรื่องนักข่าวหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องมีการยกมาพูดเรื่อยๆ ผู้ที่ถูกละเมิดทางเพศมักไม่มีอำนาจทั้งอำนาจในหน้าที่การงาน และการเกิดมาเป็นเพศหญิงที่มีอำนาจน้อยกว่าเพศชาย วิธีแก้ไข คือออกมาพูดเลย ใช้กระบวนการทางกฎหมายค้นหาความจริง ดังเช่นกรณีบิ๊กขี้หลีที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้สื่อข่าวสาว เมื่อปี 2546 วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้คือ ต่างคนต่างต้องทำหน้าที่ของตน ผู้ให้ข่าวก็ควรให้ข่าวในที่สาธารณะ  ซึ่งโดยทั่วไปนักข่าวไม่ข้ามเส้นอยู่แล้ว


 


บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก กล่าวถึงการละเมิดต่อนักข่าวหญิงในที่ทำงานว่ามีหลายรูปแบบ เช่น ความรุนแรงทางกาย การที่นักข่าวต้องเป็นหญิงแกร่ง ข่าวต้องมาอันดับหนึ่ง ต้องกินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ถือตัว สามารถแต๊ะอั๋งได้เพื่อที่จะแลกกับข่าว นี่เป็นทัศนะของผู้ชายที่มองนักข่าวหญิง นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงทางจิตใจ เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่นักข่าวหญิงแม้มีมากกว่านักข่าวชาย แต่ไม่สามารถตัดสินใจได้ ถ้าผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งงานเดียวกับผู้ชายจะได้เงินเดือนน้อยกว่า  สามารถเลื่อนขั้นได้ง่ายกว่า ผู้หญิงถูกสอนให้ต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นความสามารถในการทำงานตลอดเวลา ทั้งยังถูกมองว่าจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เพราะต้องมีลูก เลี้ยงลูก


 


นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่การลวนลามนักข่าวผู้หญิงโดยผู้ชายนั้นถูกทำให้เป็นเรื่องเล็ก เช่น ฝ่ายชายออกมารับผิดว่าตนเมา ขาดสติ และถ้าผู้หญิงไม่ยอมก็คงไม่มาด้วย หลังจากนั้นปัญหาก็จบเพราะว่าเป็นการเมาขาดสติ หรือการสมยอมของฝ่ายหญิง คดีการล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่จบแบบเดียวกัน คือการยอมความ 


 


บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ คม ชัด ลึก กล่าวว่า อีกประการหนึ่งคือ ความรุนแรงทางสังคม ปัญหาเรื่องนักข่าวหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศพูดกันอยู่ตลอดแต่ไม่เคยกลายเป็นประเด็นหลัก เพราะสังคมมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ


 


อรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล ผู้สื่อข่าวอาวุโส ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. กล่าวว่า นักข่าวไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน บางทีเสี่ยงเพื่อที่จะได้ข่าวมา ซึ่งส่วนใหญ่การล่วงละเมิดทางเพศมักไม่เกิดกับคนที่สมยอม แต่มักเกิดกับคนที่ไม่ยินยอมเรื่อยมา  ที่สำคัญ ไม่มีการฝึกอบรมนักข่าวผู้หญิง มีเพียงแต่การสอนแบบพี่สอนน้องในการป้องกันตัวเอง และตอนที่ผู้หญิงตกเป็นผู้เสียหายต้องขึ้นศาล สื่อมักไม่ให้ความสำคัญ เพราะผู้ชายที่ทำสื่อมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีน้ำหนักมากพอ เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำมากกว่า ดังนั้น เมื่อกฏหมายเอาผิดไม่ได้ก็ต้องมีการลงโทษทางสังคม เช่น อย่าให้ความสำคัญกับคนคนนั้น ไม่ต้องหาข่าวจากเขาอีก


 


สุวรรรณา อุยานันท์ กล่าวว่า ปัญหาของผู้หญิงคือความไม่กล้าออกมาทำลายกำแพงความหวาดกลัว   ในขณะที่นักข่าวหญิงเสียหายหัวหน้าผู้ชายกลับบอกว่า ไม่อยากให้พนักงานตกเป็นข่าวเพราะกลัวที่ทำงานจะเสียชื่อเสียง แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะไม่ออกมาเรียกร้องอะไร มีหลายกรณีที่ผู้หญิงกล้าออกมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เป็นกรณีศึกษาที่น่ายกย่อง เพราะทำให้เกิดบรรทัดฐานในการปฏิบัติ


 


นายวีระศักดิ์ ได้นำเสนอตอนท้ายว่า รุ่นพี่ควรต้องมีการรวบรวมประสบการณ์เกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากภัยคุกคามทางเพศให้น้องๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน พร้อมแนะแนวทางแก้ไข นอกจากนี้ต้องมีผู้นำกลุ่มผู้หญิงมีก้าวหน้ามีความรู้ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อไม่ได้รับความยุติธรรม รวมถึง มีการจัดทีมสหวิทยากร เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน คุยให้เขารู้สึกอบอุ่น รู้สึกดี และมีการออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่ผู้ทีเสียหาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net