Skip to main content
sharethis

17 ก.ย. 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลงมติเมื่อวันศุกร์ (15 ก.ย.) รับรองคำร้องของสหรัฐ ในการนำปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ขึ้นเป็นวาระในการหารือของคณะมนตรี ซึ่งถือเป็นชัยชนะของสหรัฐที่สามารถผลักดันประเด็นพม่าขึ้นหารือได้สำเร็จ หลังถูกคัดค้านจากจีนมาโดยตลอด


 


ที่ประชุมลงมติรับรองด้วยคะแนน 10-4 เสียง โดยชาติที่คัดค้าน ได้แก่ จีน คองโก กาตาร์ และรัสเซีย ส่วนแทนซาเนียงดออกเสียง ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าวถือว่าผิดปกติ เพราะการผลักดันประเด็นใดๆ ขึ้นเป็นวาระมักหารือกันแบบปิด แต่การที่จีนคัดค้าน ส่งผลให้สหรัฐเรียกร้องให้การลงมติครั้งนี้เป็นการประชุมแบบเปิด


 


นายจอห์น โบลตัน ทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่า สหรัฐมองว่าสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในพม่าเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง พร้อมกับขอให้คณะมนตรีหารือประเด็นพม่า หลังจากวันที่ 19 กันยายน ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ในนครนิวยอร์ก สหรัฐ


 


นายหวัง กั่วหยา ทูตจีนประจำยูเอ็น แถลงก่อนการลงมติว่า ข้อเรียกร้องของนายโบลตัน ในการนำประเด็นพม่าขึ้นหารือ ถือเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะปัญหาสิทธิมนุษยชนและยาเสพติดในพม่า ไม่ได้สะท้อนถึงภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ


         


ด้านกลุ่มรัฐบาลผสมแห่งสหภาพพม่า ซึ่งเป็นกลุ่มพม่าพลัดถิ่นกลุ่มใหญ่ในไทย ขานรับมติดังกล่าว โดยระบุว่า มติครั้งประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นคำเตือนต่อรัฐบาลพม่า ให้เลิกขัดขืนความเห็นของนานาชาติ พร้อมหวังว่า คณะมนตรีจะร่วมหารือและตัดสินใจเพื่อปูทางสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน และนักโทษการเมืองอื่นๆ


 


ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net