นิรโทษกรรมสากลประณามวางระเบิดหาดใหญ่ เรียกร้องรัฐไทยใช้แนวทาง กอส.

องค์การนิรโทษกรรมสากล แถลงประณามเหตุวางระเบิดหาดใหญ่ ทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไข-ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

 

ผู้แทนองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) นำโดยนางจอร์จินา เพอร์รีย์ (Georgina Perry) จากออสเตรเลีย, นายโจเซฟ รอย (Josef Roy) จากมาเลเซีย และนางเจสซิกา โซโท (Jessica Soto) จากฟิลิปปินส์ และ นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ร่วมกันแถลงข่าวประณามเหตุการณ์ระเบิดกลางเมืองหาดใหญ่

 

นายบุญแทน กล่าวว่า จากการประชุมผู้นำระดับภูมิภาคองค์การนิรโทษกรรมสากล ในวันนี้ (17 ก.ย.) มีข้อสรุปประณามการกระทำความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยผู้ก่อเหตุความรุนแรงดังกล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำตัวผู้ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยยึดหลักการสิทธิมนุษยชน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขหรือยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยด่วน นอกจากนี้ รัฐบาลต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

 

"แอมเนสตี้ฯ มีความห่วงใยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคใต้ ที่ทำให้ประชาชนบริสุทธิ์จำนวนมากเสียชีวิต และเผชิญชะตากรรมในหลายรูปแบบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเห็นว่า การระเบิดโรงเรียน สถานที่สาธารณะต่างๆ สาธารณูปโภค และธนาคารในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา เป็นการคุกคามชีวิตและความมั่นคงของประชาชน"

 

นายบุญแทน กล่าวต่อว่า แอมเนสตี้ฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในการใช้สันติวิธี และยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนกรกฎาคม 2548 (ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเรือน)

 

ทั้งนี้ จากรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในภาคใต้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างมาก อีกทั้ง พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ได้ระบุขอบเขตอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ถูกนำมาลงโทษหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

ด้านนางจอร์จินา เพอร์รีย์ (Georgina Perry) จากออสเตรเลีย ได้กล่าวสนับสนุนว่า รัฐบาลไทยได้ลงนามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกับนานาชาติ ยอมรับหลักการและกฎหมาย แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ปฏิบัติตาม และจงใจออกกฎหมายที่ละเมิดดังกรณีของ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉูกเฉิน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ นางเจสซิกา โซโท จากฟิลิปปินส์ ได้เริ่มเรื่องว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศฟิลิปปินส์ว่า มีความรุึนแรงไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีการลอบสังหารบุคคลที่ทำงานด้านนี้ไปแล้วกว่า 200 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าวกว่า 54 คน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องรับผิดชอบ กรรมการจากองค์กรนิรโทษกรรมสากล จากฟิลิปปินส์ผู้นี้ ยังได้กล่าวสนับสนุนให้รัฐไทยนำแนวทางของ กอส.มาใช้สร้างความสมานฉันท์ และต้องสร้างหลักกฎหมาย หลักนโยบายที่ดี

 

ส่วนนายโจเซฟ รอย (Josef Roy) จากมาเลเซีย ได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า ในมาเลเซีย กฎหมายความมั่นคงภายในั้นเป็นปัญหาสำคัญหลักของสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการบริหาร จัดการกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล มีการค้นโดยไม่มีหมายค้น มีการข่มขู่คุกคามโดยอำนาจของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ พ.ร.ก.สถานกาณณ์ฉุกเฉินของไทย

 

นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้อาเซียนให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมทั้งในประเทศไทยและประเทศสมาชิก ทั้งนี้อาเซียนยังเป็นองค์กรประชาคมนานาชาติ เพียงหนึ่งในสองแห่งเท่านั้นที่ไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นกลไกในการทำงานด้านนี้ขององค์กร

 

สำหรับองค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำงานปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่อยู่ภายใต้และรับการสนับสนุนจากรัฐบาล พรรคการเมือง ศาสนา หรือลัทธิใดๆ หรือผู้เคราะห์ร้ายทั้งสิ้น ทุนในการดำเนินการได้มาจากค่าสมาชิกและเงินบริจาคจากสมาชิกที่มีอยู่เกือบ 2 ล้านคนทั่วโลก ไม่รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อความเป็นอิสระในการทำงาน มีการจัดประชุมผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทุก 2 ปี ครั้งนี้จัดในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 16-17 กันยายนนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท