Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม

เรื่อง

คืนประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนโดยเร็ว



เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม เรียกร้องให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะการ สิทธิในการชุมนุมมากกว่า 5 คน นำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาบังคับใช้เป็นการชั่วคราว และคัดเลือกรัฐบาลชั่วคราวที่มาจากบุคคลที่มาจากหลากหลายอาชีพ ซื่อสัตย์ มีจริยธรรม และมีเจตนารมณ์ในการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง


โดยเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การยึดอำนาจและการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยคณะปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตย หยุดชงักลงโดยสิ้นเชิง และบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างทั่วด้าน


เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม อันประกอบด้วยองค์กรท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความเชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นระบบการเมืองที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการรณรงค์ทุกรูปแบบตามวิถีทางประชาธิปไตย และยินดีจะประสานร่วมมือกับบุคคล หรือกลุ่ม องค์กรทุกฝ่าย เพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม อันนำไปสู่การฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ตั้งมั่นในสังคมไทยต่อไป
ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้บรรลุภารกิจในการปฏิรูปการเมืองและสังคม นำไปสู่การฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงมีข้อเสนอ ดังนี้



  1. ยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการชุมนุมมากกว่า 5 คน และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไขใดๆ


  2. ข้อเสนอต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว

    - ต้องนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาบังคับใช้แทนที่จะต้องมอบหมายให้บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน การปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอิสระ โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

    - ให้มีสภาการปฏิรูปการเมืองเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาชน และสาขาวิชาชีพต่างๆ จากภาคสังคม และมีกระบวนการคัดเลือกโดยการมีส่วนร่วมและอย่างโปร่งใส ทั้งนี้โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลงมติรับรองเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ


  3. การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว

    3.1 บุคคลที่เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี จะต้องมีเจตจำนงที่แน่วแน่ในการการปฏิรูปการเมือง

    3.2 ต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสาธารณะว่าเป็นคนที่ความซื่อสัตย์สุจริต

    3.3 ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับใช้ใกล้ชิดกับระบอบทักษิณ และกระทำตนเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย หรือบุคคลที่ทำให้ระบอบทักษิณขยายอาณาจักร เช่น การขายรัฐวิสาหกิจเพื่อแบ่งกำไรให้พรรคพวกกันเอง

    3.4 คณะรัฐมนตรีต้องประกอบไปด้วยบุคคลที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และคำนึงถึงสัดส่วนระหว่างเพศที่เหมาะสม


  4. ภารกิจของรัฐบาลชั่วคราว

    4.1 ต้องสนับสนุนคณะกรรมการเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งอย่างเที่ยงธรรมโดยเร่งด่วน

    4.2 ต้องทบทวนและยุตินโยบาย

    - การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทยในระยะยาว - การดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการสร้างเขื่อนโครงการชลประทานระบบท่อ

    - การนำรัฐวิสาหกิจไปขายในตลาดหลักทรัพย์- นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เช่น โครงการธนาคารอาหารทะเล (Sea Food Bank)- เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเพื่อการพัฒนาท่องเที่ยว

    4.3 ต้องดำเนินการ

    - ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน กลุ่มองค์กรทางสังคมมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับเพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง

    - ต้องร่วมมือและสนับสนุนให้คณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงอย่างไม่ไว้หน้า

    - จัดสวัสดิการทางสังคมแทนการอุปถัมภ์จากประชานิยมหรือพรรคการเมือง- ออกกฎหมายเก็บภาษีนักเล่นหุ้น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ทรัพย์สินต่าง ๆ

    - การปฏิรูปสื่อของรัฐให้เป็นอิสระและทำหน้าที่ ให้บริการสาธารณะและบริการชุมชน


ประกาศ ณ วันที่ 23 กันยายน 2549



สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.)
โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากรสถาบันเพื่อสิทธิชุมชนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA-Watch Group)
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต่อต้านคอรัปชั่น



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net